แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (35) (31/1/2555)

แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (35) (31/1/2555)


แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ
เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (35)

(31/1/2555)




 *โรคแห่งความเสื่อมของประสาทกับการแพทย์เชิงโภชนาการ*


       
       เราได้กล่าวไปแล้วว่า Oxidative Stress เป็นสาเหตุสำคัญของกระบวนการในการเกิดความเสื่อมในร่างกายของเรา โดยที่แม้แต่สมองซึ่งเป็นระบบประสาทส่วนกลาง และเส้นประสาทต่างๆ ของเราที่ประกอบอยู่ในร่างกายก็ไม่สามารถหนีพ้น Oxidative Stress นี้ไปได้ ศัตรูขาประจำเจ้านี้แหละที่เป็นต้นเหตุของโรคหลายโรค ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายกับสมองและเส้นประสาทอย่างที่เรารู้จักกันดีในนามว่า โรคความเสื่อมของประสาท โรคเหล่านี้รวมไปถึงโรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน โรคเนื้อเยื่อแข็งซ้ำซ้อน เป็นต้น


       
       มีสาเหตุหลายประการที่ทำให้สมองและเส้นประสาทของเราอ่อนแอต่อปฏิกิริยา Oxidative Stress ดังต่อไปนี้
       


       (1) สมองเป็นอวัยวะส่วนที่มีขนาดใหญ่ ดังนั้นจึงมีอัตราเสี่ยงเพิ่มต่อปฏิกิริยาออกซิเดชัน ซึ่งก่อให้เกิดอนุมูลอิสระจำนวนมาก
       


       (2) หน้าที่ปกติของสมองคือ การสร้างสารเคมีหลายชนิดเพื่อนำกระแสประสาทในส่วนต่างๆ ให้เกิดการทำงาน จึงสามารถสร้างอนุมูลอิสระได้ในเวลาเดียวกัน


       
       (3) เนื้อเยื่อของเส้นประสาทและสมองมีสารต้านอนุมูลอิสระในระดับต่ำ
       


       (4) ระบบประสาทส่วนกลางสร้างขึ้นจากเซลล์นับล้านที่ไม่สามารถสร้างตัวเองกลับคืนมาได้หากเกิดความเสียหายใดๆ นั่นหมายความว่า หากเนื้อเยื่อเหล่านั้นถูกทำลายด้วยเหตุผลใดๆ แล้ว พวกมันจะทำงานผิดปกติหรือไม่ทำงานไปตลอดชีวิต
       


       (5) ระบบประสาทและสมองสามารถถูกรบกวนได้อย่างง่ายดาย ความเสียหายที่เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยในพื้นที่สำคัญอาจก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงตามมา


       
       สมองเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดในร่างกายของเรา ความคิด อารมณ์ ความสามารถในการให้เหตุผลและสื่อสารกับโลกภายนอกของเราจะถูกลดทอนลง หากเกิดความเสียหายใดๆ ขึ้นกับสมอง มีงานวิจัยหลายชิ้นได้แสดงให้เห็นว่า ปฏิกิริยาออกซิเดชันสามารถทำลายไมโตคอนเดรีย (mitochondria) และดีเอ็นเอของเซลล์สมอง


       
       สาเหตุเหล่านี้สามารถนำไปสู่การทำงานที่ผิดปกติ หรือทำให้เซลล์สมองซึ่งอ่อนไหวต่อการถูกกระตุ้นจำนวนมากตายลง เนื่องจากเซลล์สมองไม่มีความสามารถในการสร้างเซลล์ตัวเองกลับคืนขึ้นมาใหม่ ดังนั้นหากเซลล์สมองของเราเสื่อมลงไป ในช่วงชีวิตซึ่งเกิดจากการทำลายของออกซิเดชัน การทำงานของสมองจะทำงานได้ไม่ดีเท่ากับยามที่เรายังมีอายุน้อย ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะนำไปสู่ภาวะการสูญเสียการรับรู้มากขึ้นเรื่อยๆ หรือสมองมีความสามารถในการคิด และการให้เหตุผลน้อยลง
       


       ความเสื่อมของสมองถือเป็นกระบวนการเริ่มแรกของความเสื่อมที่เกิดขึ้นในเซลล์สำคัญมากๆ ในร่างกายของเรา อย่างไรก็ตาม ความเสื่อมในสมองนี้จะเป็นไปอย่างช้าๆ โรคนี้ผู้ที่เริ่มเป็นมิได้หมายความว่า วันใดวันหนึ่ง เมื่อเขาตื่นขึ้นมาในตอนเช้าแล้วจะเป็นโรคอัลไซเมอร์ หรือโรคพาร์กินสันในทันที โรคเหล่านี้แค่แสดงถึงอาการในระยะสุดท้ายของการทำลายสมองจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน เท่านั้น
       


       ความเสียหายที่เกิดขึ้นในสมองจะเกิดขึ้นตามกาลเวลาที่ผ่านไป และเมื่อเซลล์สมองถูกทำลายในระดับที่พอเพียงต่อการเป็นโรคใดโรคหนึ่ง โรคนั้นจึงจะเริ่มออกอาการ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อคนไข้ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคพาร์กินสันแล้ว เซลล์สมองกว่า 80% ที่มีชื่อว่า substantia nigra ได้ถูกทำลายไปแล้ว คนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ก็เกิดจากสาเหตุนี้เช่นกัน โรคประสาทเสื่อมเหล่านี้จึงใช้เวลาในการก่อตัวราว 10-20 ปี
       


       มีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่า Oxidative Stress ที่เพิ่มขึ้นตามอายุนั้น เป็นสาเหตุสำคัญต่อการเป็นโรคอัลไซเมอร์ มีหลักฐานสำคัญอีกหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์มีสารต้านอนุมูลอิสระในสมองที่น้อยลง แต่มีระดับของ Oxidative Stress ที่สูงขึ้น อนุมูลอิสระ จึงน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์ การบำบัดโรคอัลไซเมอร์ด้วยแนวทางแบบการแพทย์เชิงโภชนาการ หรือการให้ผู้ป่วยรับสารต้านอนุมูลอิสระ อย่างเช่น การบริโภควิตามินอีในระดับสูง สามารถลดการพัฒนาอาการของโรคอัลไซเมอร์ได้ แม้ว่าไม่อาจรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ก็ตาม
       


       โรคพาร์กินสันก็เช่นกัน ท่าทางการยืนห่อตัว การเคลื่อนที่อย่างช้าๆ หรือเกิดอาการสั่นเทาของร่างกาย เป็นอาการที่เกิดจากโรคพาร์กินสัน ผู้ที่เป็นโรคพาร์กินสัน จะเริ่มมีปัญหาในการพูดมากขึ้นเรื่อยๆ และความสามารถในการเดินก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะร่างกายของผู้ป่วยจะรู้สึกราวกับว่าตัวเองกำลังว่ายน้ำอยู่ในบ่อทรายดูด อย่างไรก็ดี มีงานศึกษาพบว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคพาร์กินสันในช่วงแรกๆ แต่ได้รับวิตามินซี วิตามินอี โคเอนไซม์คิว 10 และสารสกัดจากเมล็ดองุ่นในระดับสูง จะสามารถหน่วงการลุกลามของโรค หรือทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นได้
       


       จะเห็นได้ว่า แม้การบริโภคอาหารเสริมที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระจะไม่อาจรักษาโรคอัลไซเมอร์ และโรคพาร์กินสันได้ก็จริง อย่างดีก็แค่ช่วยยับยั้งการพัฒนาอาการของโรคให้ช้าลง หรือทำให้มีอาการดีขึ้นได้บ้างเท่านั้นก็ตาม แต่การบริโภคอาหารเสริมที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระนี้ เป็นเครื่องมือที่ดีเยี่ยมในการป้องกันเซลล์สมองของเราให้มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคแห่งความเสื่อมของประสาทน้อยลงได้ 
       


       สารต้านอนุมูลอิสระที่เหมาะสมกับสมองมีดังต่อไปนี้
       


       (1) วิตามินอี วิตามินอีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ละลายในไขมัน ซึ่งมีความสำคัญต่อการปกป้องสมอง และเส้นประสาทรอบนอก วิตามินอีสามารถข้ามผ่านประตูในเส้นเลือดของสมอง แต่ก็มีความยากลำบากในการเข้าไปเช่นกัน จึงมีความจำเป็นต้องใช้วิตามินอีในระดับสูงเพื่อเพิ่มระดับวิตามินอีในพื้นที่ส่วนนี้ของร่างกาย
       


       (2) วิตามินซี วิตามินซีสามารถรวมตัวได้ในเนื้อเยื่อและของเหลวรอบสมองและเส้นประสาท วิตามินซีจึงสามารถผ่านเข้าประตูไปได้เช่นกัน ซึ่งระดับของวิตามินซีในเนื้อเยื่อจะสูงกว่าในพลาสมาสิบเท่า นอกจากวิตามินซีจะเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่เป็นประโยชน์มากแล้ว มันยังมีความสามารถในการสร้างวิตามินอี และ glutathione ขึ้นใหม่ด้วย วิตามินซีจึงกลายเป็นสารอาหารที่มีความสำคัญมากในการปกป้องสมองและเซลล์ประสาท
       


       (3) glutathione (กลูตาไธโอน) สารอาหาร glutathione เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีศักยภาพสูงมาก มักพบในทุกๆ เซลล์ของร่างกาย จากการศึกษากับผู้ป่วยหลายรายได้แสดงให้เห็นว่า เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ระดับของ glutathione จะลดลง glutathione ยังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีความสำคัญมากที่สุดในสมองและเซลล์ประสาท แต่สารอาหารชนิดนี้ยากต่อการดูดซึมจากการรับประทาน และความสามารถในการผ่านเข้าประตูในเส้นเลือดสู่สมองนั้นยังประเมินได้ไม่ชัดเจน
       


       เพราะฉะนั้น หนทางที่ดีที่สุดที่จะช่วยเพิ่มระดับ glutathione ในระดับหน่วยเซลล์ก็คือ เราต้องให้สารอาหารที่ร่างกายต้องการมาสร้าง glutathione ด้วยตนเอง เช่น วิตามินบี 2 ซีลิเนียม ไนอาซิน เป็นต้น นอกจากนี้ร่างกายเรายังต้องการสารต้านอนุมูลอิสระที่พร้อมในการสร้าง glutathione ขึ้นใหม่ ซึ่งมันจะสามารถถูกนำมาใช้ครั้งแล้วครั้งเล่า สารต้านอนุมูลอิสระที่ว่านั้น ได้แก่ วิตามินซี กรดอัลฟา-ไลโปอิค และโคเอนไซม์คิว 10
       


       (4) กรดอัลฟา-ไลโปอิค กรดอัลฟา-ไลโปอิคเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญอีกตัวหนึ่ง มันเป็นสารที่ละลายในไขมันและในน้ำได้ และยังมีความสามารถในการเข้าสู่ประตูของเส้นเลือดในสมองได้อีกด้วย ไม่แต่เท่านั้น กรดอัลฟา-ไลโปอิคยังสามารถผลิตวิตามินซี วิตามินอี glutathione ในหน่วยเซลล์ และโคเอนไซม์คิว 10 ขึ้นมาใหม่ได้อีกด้วย ลักษณะสำคัญอีกอย่างหนึ่งของกรดอัลฟา-ไลโปอิคก็คือ มันสามารถจับตัวกับโลหะที่เป็นพิษในสมอง และช่วยกำจัดมันออกจากร่างกาย โลหะหนักอย่างปรอท อะลูมิเนียม แคดเมียม และตะกั่วก่อให้เกิดความเสี่ยงของการเพิ่มขึ้นของการลุกลามของโรคความเสื่อมของประสาท โลหะเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะสะสมตัวเองในเนื้อเยื่อสมอง เนื่องจากสมองเป็นส่วนที่มีปริมาณไขมันเข้มข้น โลหะเหล่านี้ยังสามารถก่อให้เกิดปริมาณ Oxidative Stress ที่เพิ่มมากขึ้น และเป็นเรื่องยากมากที่จะกำจัดพวกมันออกไปจากระบบประสาทส่วนกลาง หากพวกมันได้เข้าไปแทรกตัวอยู่แล้ว
       


       อย่างไรก็ดี สารต้านอนุมูลอิสระอย่างกรดอัลฟา-ไลโปอิค สามารถช่วยในการขับโลหะหนักที่เป็นพิษเหล่านี้ออกไป จึงมีผลต่อการป้องกัน และรักษาโรคความเสื่อมของประสาทเป็นอย่างยิ่ง กรดอัลฟา-ไลโปอิค ยังทำหน้าที่ร่วมกับสารต้านอนุมูลอิสระอื่นๆ เช่น วิตามินซี วิตามินอี ในการช่วยต่อต้านการอักเสบ ช่วยเพิ่มเมตาบอลิซึมของเซลล์เพิ่มพลังงาน และความสามารถในการซ่อมแซมเซลล์ได้อีกด้วย กรดอัลฟา-ไลโปอิคมีมากในบรอคโคลี และเครื่องในสัตว์
       


       (5) โคเอนไซม์คิว 10 เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพ และเป็นสารอาหารที่สำคัญที่สุดต่อการสร้างพลังงานภายในเซลล์ เมื่อคนเราอายุมากขึ้น ระดับของโคเอนไซม์คิว 10 ในสมองและเซลล์ประสาทจะลดลงอย่างมาก การมีโคเอนไซม์คิว 10 ไม่เพียงพอ จะทำให้ไม่สามารถที่จะป้องกันโรคความเสื่อมของประสาทได้
       


       (6) สารสกัดจากเมล็ดองุ่น (grape seed) สารสกัดจากเมล็ดองุ่นสามารถผ่านประตูในเส้นเลือดสู่สมองได้ดี และเป็นผู้เล่นหลักในการรักษาโรคความเสื่อมของประสาทที่สำคัญมาก





Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้