แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ
เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (24)
(15/11/2554)
*กินอย่างไรไม่ให้เป็นโรคท้องผูก*
ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า โรคท้องผูกเป็นอันตรายต่อสุขภาพมากกว่าที่คนทั่วไปคาดคิดมากมายนัก เพราะมันจะนำไปสู่ความเสื่อมของระบบภายในร่างกายได้ วิธีแก้ไขโรคท้องผูกที่สำคัญที่สุดคือ ต้องรับประทานอาหารที่มีเส้นใยอาหารให้มากขึ้น ก่อนอื่น เราต้องรู้เสียก่อนว่า เส้นใยอาหารมี 2 ชนิดด้วยกันคือ
(1) เส้นใยอาหารที่ละลายน้ำได้ เส้นใยอาหารชนิดนี้มีในผักผลไม้ถั่วต่างๆ และข้าวโอต และเส้นใยอาหารเหล่านี้จะทำให้การดูดซึมคาร์โบไฮเดรตเป็นไปอย่างช้าๆ มีผลให้น้ำตาลกลูโคสอยู่ในเลือดได้นาน แบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่สูงขึ้นทันที เหมือนกับดื่มพวกน้ำอัดลมหรือของหวานที่มีน้ำตาลเดี่ยวๆ ที่ร่างกายสามารถดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้โดยตรง เป็นเหตุให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นทันที ร่างกายจึงต้องส่งอินซูลินจำนวนมากมาเผาน้ำตาลเหล่านี้ แต่เนื่องจากอินซูลินจะเหลืออยู่ในเลือดหลังจากเผาน้ำตาลกลูโคสที่ถูกดูดซึมเข้าไป อินซูลินที่ยังอยู่ในเลือดก็จะเผาผลาญน้ำตาลกลูโคสที่ร่างกายเก็บสำรองไว้ใช้ในเวลาฉุกเฉิน จนเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เป็นเหตุให้มีอาการอ่อนเพลีย มือสั่น เหงื่อออก หิว หงุดหงิด ฯลฯ
นอกจากนี้ การที่ตับอ่อนต้องผลิตอินซูลินออกมาบ่อยๆ นานๆ เข้าจะทำให้ล้าและประสิทธิภาพในการผลิตอินซูลินได้น้อยลงหรือผลิตไม่ได้เลย ทำให้เป็นโรคเบาหวาน จึงเห็นได้ว่า ผู้ที่ทานอาหารที่มีเส้นใยอาหารน้อย ไม่เพียงแต่จะเป็นโรคท้องผูกเท่านั้น ยังอาจเป็นโรคเบาหวานตามมาด้วย ถ้ามีนิสัยชอบกินอาหารฟาสต์ฟูด และเครื่องดื่มน้ำอัดลม
(2) เส้นใยอาหารที่ไม่ละลายน้ำ เส้นใยอาหารชนิดนี้มีในเปลือกผลไม้ รำข้าวกล้อง เส้นใยอาหารชนิดนี้ช่วยทำให้กากอาหารเคลื่อนออกจากลำไส้ได้รวดเร็ว เพราะสามารถดูดน้ำได้มาก จึงทำให้อุจจาระอ่อนนุ่ม และมีน้ำหนักทำให้ถ่ายง่ายขึ้น อีกทั้งยังช่วยดูดซับไขมันและคอเลสเตอรอลในลำไส้แล้วถ่ายออกมาพร้อมกับอุจจาระ กากอาหารเหล่านี้จะใช้เวลาเพียง 12-14 ชั่วโมงเท่านั้น ที่จะถ่ายออกจากลำไส้ใหญ่ ซึ่งต่างไปจากอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ที่ต้องใช้เวลา 2-5 วันกว่าจะผ่านลำไส้ใหญ่และถ่ายออกมาได้
การเปลี่ยนมาทานอาหารที่มีเส้นใยอาหารมากขึ้น โดยทานอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ให้น้อยลง จะทำให้เส้นใยอาหารสามารถเข้าไปกวาดทุกซอกทุกมุมของลำไส้ใหญ่ ทำให้เศษอุจจาระเก่าๆ เศษเนื้อที่เหลือจากการย่อยที่ค้างอยู่ตามซอกหลืบของลำไส้ใหญ่มานาน ผลิตแก๊สขึ้นมาอย่างมากมายจึงมีอาการผายลมบ่อยๆ
จะเห็นได้ว่า อาหารที่ป้องกันและรักษาโรคท้องผูก ควรจะเป็นอาหารธรรมชาติที่ผ่านการแปรรูปมาน้อยที่สุด เช่น ผักสด ผลไม้ และข้าวกล้อง จะว่าไปแล้ว มนุษย์ได้วิวัฒนาการเพื่อรับประทานอาหารจำพวกผัก ผลไม้ ข้าว และถั่วต่างๆ เป็นหลัก จึงทำให้มนุษย์มีฟันบดมากกว่าฟันเขี้ยวที่ใช้ฉีกเนื้อสัตว์ โดยมีฟันเขี้ยว 4 ซี่ แต่มีฟันบด 20 ซี่สำหรับบดเคี้ยวธัญพืช และมีฟันตัด 8 ซี่สำหรับตัดผักและผลไม้ ดังนั้นตามธรรมชาติ มนุษย์จึงควรทานเนื้อในอัตราส่วน หนึ่งส่วนต่อผักผลไม้ธัญพืชแปดส่วนเท่านั้น
นอกจากนี้ มนุษย์ยังมีลำไส้ที่ยาวกว่าพวกสัตว์ที่กินเนื้อสัตว์เป็นอาหารมาก ทำให้มีกากอาหารค้างอยู่ในลำไส้นาน เนื้อสัตว์จึงมักจะเน่าเหม็นเป็นพิษในลำไส้ ก่อนจะถูกขับออกมา ยิ่งในยุคปัจจุบันที่อาหารแปรรูปได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และผู้คนก็รับประทานเนื้อสัตว์กันมากขึ้นกว่าคนสมัยก่อน จึงไม่น่าแปลกใจที่คนสมัยนี้เป็นโรคแห่งความเสื่อมที่เกี่ยวข้องกับอาการท้องผูกมากกว่าคนสมัยก่อนที่รับประทานผักสด และผลไม้มากกว่าคนสมัยนี้
นายแพทย์เดนนิส เบอร์กิทท์กับนายแพทย์ฮิว โทรเวลล์ จากประเทศอังกฤษได้เคยอาศัยอยู่ในประเทศแอฟริกาเป็นเวลา 25 ปี พวกเขาพบว่า คนพื้นเมืองในแถบนั้น ไม่เคยมีปัญหาเรื่องโรคท้องผูกเลย และไม่พบว่าเป็นโรคมะเร็งอีกด้วย (ข้อมูลจากหนังสือ “มะเร็งทำอย่างไรไม่เป็นมะเร็ง” โดยสุวัฒน์ สินสุวงศ์ พิมพ์โดย ชมรมคนรักสุขภาพ 7 ก้าว อ., พ.ศ. 2553) นอกจากนี้ พวกเขายังพบว่า คนพื้นเมืองเหล่านี้ถ่ายอุจจาระวันละ 1 ปอนด์ (0.454 กิโลกรัม) ซึ่งเป็นสี่เท่าของคนอังกฤษ ลักษณะอุจจาระอ่อนไม่มีกลิ่นเหม็น อีกทั้งยังถ่ายทุกวัน เมื่อเทียบกับคนอังกฤษที่เฉลี่ยแล้วถ่ายทุก 3 วัน ซึ่งหมายความว่า คนอังกฤษได้เก็บสารพิษไว้ในร่างกายนานกว่าคนแอฟริกันถึงสามเท่า ทั้งนี้พวกเขายังพบอีกว่า อาหารหลักที่คนพื้นเมืองรับประทานคือ อาหารจำพวกข้าวโพด ถั่ว กล้วย มัน ส่วนเนื้อสัตว์หรือน้ำตาลรับประทานกันน้อยมาก
จากข้อมูลข้างต้น เราน่าจะได้ข้อสรุปว่า คนไทยควรหันกลับมากินอาหารพื้นบ้านให้มากขึ้นเหมือนคนรุ่นก่อนๆ และควรลดการกินอาหารแปรรูป และอาหารแบบตะวันตกที่ทำจากเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อแดงของสัตว์ใหญ่ให้น้อยลง หรือถ้าหลีกเลี่ยงได้เลยก็ยิ่งดี
ขอย้ำอีกครั้งว่า อาการท้องผูกเป็นประจำ เป็นสัญญาณที่ร่างกายกำลังส่งมาเตือนคนผู้นั้นว่า ขณะนี้สภาพร่างกายของผู้นั้นกำลังจะแย่ลงไปเรื่อยๆ ถ้ายังไม่ได้รับการแก้ไขโดยด่วน ทั้งนี้ก็เพราะว่า เมื่อเกิดอาการของโรคท้องผูก ร่างกายของคนเราจะช่วยเหลือตัวเองในเรื่องนี้ได้น้อยมาก ร่างกายจึงต้องใช้วิธีการต่างๆ เพื่อที่จะเตือนเจ้าของร่างกายให้รู้ตัว จึงเห็นได้ว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่คนเราจะต้องรับประทานผักผลไม้ธัญพืช และถั่วต่างๆ ที่มีเส้นใยอาหารสูง เพื่อช่วยดูดซึมไขมัน และยังช่วยอุ้มน้ำทำให้อุจจาระไม่แข็ง ง่ายต่อการบีบตัวไล่กากอาหารของลำไส้ใหญ่ ทำให้ลดความเสี่ยงจากโรคมะเร็งได้อีกด้วย
นอกจากผักสด ผลไม้ ธัญพืช และถั่วต่างๆ ที่คนเราควรกินมากขึ้นในแต่ละวันเพื่อป้องกันโรคท้องผูกแล้ว ผมคิดว่า โยเกิร์ต หรือ อาหาร “โปรไบโอติก” (Probiotics) ก็มีความสำคัญต่อสุขภาพของคนเรามากกว่าที่คนทั่วไปคาดคิดมากมายนักเช่นกัน คนทั่วไปมักจะเข้าใจว่า การดื่มนมวัวนั้นดีต่อสุขภาพ หรือนมวัวเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ แต่จริงๆ แล้ว นมวัวก็มีข้อเสียอยู่หลายประการ เช่น ไขมันในนมวัวเป็นไขมันอิ่มตัว ซึ่งมีโมเลกุลขนาดยาวทำให้มันเคลื่อนที่ช้าและย่อยยาก ไม่เปลี่ยนไปเป็นพลังงานที่ตับ แต่จะไปสะสมเป็นไขมันในส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้คนกินนมวัวมากๆ แล้วอ้วนได้
นอกจากนี้ โปรตีนในนมวัวยังเป็นชนิดเคซีน (casein) ซึ่งเหนียวและย่อยยาก เมื่อดื่มนมวัวเข้าไป เคซีนซึ่งย่อยยากจะถูกแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ย่อยสลายให้บูดเน่า กลายเป็นเมือกเหนียวตกค้างในลำไส้ใหญ่ที่ก่อให้เกิดโรคของทางเดินอาหาร เช่น ท้องผูกเรื้อรัง ท้องเสียสลับท้องผูก แม้กระทั่งมะเร็งลำไส้ใหญ่ โปรตีนในนมยังก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้อีกด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น น้ำตาลในนมวัวเป็นชนิดแล็กโทส (lactose) ที่คนส่วนใหญ่ในเอเชียที่ไม่ได้ดื่มนมเป็นประจำไม่สามารถย่อยได้ เพราะไม่มีเอนไซม์ แล็กเทส (lactase) ทำให้ระบายท้อง ท้องร่วง แม้ว่าเด็กเล็กจะสามารถสร้างเอนไซม์ย่อยน้ำตาลแล็กโทสได้ น้ำตาลที่ได้ก็มีพลังงานสูง จึงต้องออกกำลังกายเพื่อใช้พลังงานให้หมด ไม่เช่นนั้นพลังงานนั้นก็จะเปลี่ยนเป็นไขมันสะสมในร่างกายทำให้อ้วนได้ จึงเห็นได้ว่า นมวัวเป็นอาหารเสริมสุขภาพที่ควรบริโภคในปริมาณจำกัด หากจะดื่มนมวัวทุกวันก็ต้องออกกำลังกายทุกวันเพื่อเผาผลาญพลังงานที่ได้จากน้ำตาลในนมวัวให้หมดไป จึงจะทำให้ไม่อ้วน
หากไม่ดื่มนมวัวแล้วหันไปดื่มนมถั่วเหลืองแทน ก็จะเผชิญกับความเสี่ยงอีกแบบหนึ่ง อันเนื่องมาจาก สารพิษที่มีอยู่ในถั่วเหลือง แม้การกล่าวว่า ถั่วเหลืองเป็นอันตรายต่อสุขภาพนั้น เป็นเรื่องที่ขัดกับความรู้สึกของคนทั่วไป แต่นี่คือเรื่องจริงที่มีผลงานวิจัยรองรับ เพราะตัวถั่วเหลืองเองมีสารพิษตามธรรมชาติอยู่แล้ว ไม่ว่าจะปลูกด้วยวิธีอินทรีย์หรือใช้ปุ๋ยเคมีก็ตาม เพราะในถั่วเหลืองมีสารที่เป็นอันตรายหลายชนิดที่เป็นสารก่อมะเร็งในปริมาณที่สูง ในอดีตคนโบราณจึงต้องเอาถั่วเหลืองไปหมักเสียก่อน แล้วถึงนำมาใช้เป็นอาหาร เช่น ซีอิ๊ว ถั่วหมัก เป็นต้น
ขณะที่ถั่วเหลืองที่ไม่ได้ผ่านการหมัก กลับเป็นสาเหตุของโรคร้ายต่างๆ ของมนุษย์ในปัจจุบัน เพราะสารพิษต่างๆ ในถั่วเหลือง ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันเสื่อมลง และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านมในสตรี เราต้องไม่ลืมข้อเท็จจริงอีกอย่างหนึ่งว่า ปัจจุบันถั่วเหลืองเกือบทั้งหมด ปลูกในพื้นที่ที่ใช้สารกำจัดศัตรูพืช และยาฆ่าวัชพืชในปริมาณสูง นอกจากนี้ สองในสามของอาหารแปรรูปที่ผู้คนบริโภคอยู่ขณะนี้ ก็ประกอบด้วยถั่วเหลืองอยู่แล้ว จึงเห็นได้ว่า ทั้งนมวัว และนมถั่วเหลืองล้วนเป็นอาหารเสริมสุขภาพที่ควรบริโภคในปริมาณจำกัด และไม่ควรดื่มทุกวัน ซึ่งต่างจากโยเกิร์ตหรืออาหาร “โปรไบโอติก” ที่ควรทานทุกวัน