แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (26) (29/11/2554)

แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (26) (29/11/2554)


แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ
เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (26)


(29/11/2554)




*การปฏิวัติโปรไบโอติก*
       


       หากการค้นพบ ยาปฏิชีวนะ เพื่อรักษาโรคที่เกิดจากเชื้อโรค เป็นการปฏิวัติทางการแพทย์ในศตวรรษที่ 20 บางที การค้นพบบทบาทของจุลินทรีย์หรือโปรไบโอติกที่อยู่ในตัวเราว่า สามารถช่วยปรับปรุงการทำงานของระบบภูมิชีวิต หรือระบบภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันและควบคุมอาการป่วย และโรคเรื้อรังที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค อาจเป็นการปฏิวัติทางการแพทย์ในศตวรรษที่ 21 ก็เป็นได้ ทั้งนี้ก็เพราะว่านับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 เป็นต้นมา ผู้คนเจ็บป่วยจากโรคที่เกิดจากเชื้อโรคน้อยลง มีการค้นพบโรคใหม่ๆ อีกมากมายที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค เช่น โรคหอบหืดอันเป็นโรคยอดนิยมมาตลอด 4 ทศวรรษ ไม่ใช่โรคติดต่อ และไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อใดๆ
       


       การศึกษาบทบาทของจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในลำไส้ของคนเรา เริ่มต้นจากการตั้งคำถามว่า ชีวิตจะเป็นอย่างไรถ้าปราศจากจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในลำไส้ แล้วทำการทดลองสมมติฐานนี้กับหนู โดยการให้ยาปฏิชีวนะแก่หนูตัวแม่ท้องแก่ และผ่าท้องทำคลอดเจ้าหนูตัวน้อยๆ เหล่านั้นออกมา เจ้าหนูตัวน้อยเหล่านี้จะถูกเลี้ยงในสถานที่ปลอดเชื้อ ได้กินอาหารและน้ำที่สะอาดปลอดเชื้ออย่างสิ้นเชิง แม้แต่อากาศที่มันหายใจเข้าไปก็ถูกฆ่าเชื้อเรียบร้อยแล้วด้วย ผลลัพธ์ก็คือ พวกมันไม่มีจุลินทรีย์ใดๆ ที่ควรมีอยู่ในธรรมชาติ ในลำไส้เหมือนที่หนูปกติทั่วไปมี และหนูรุ่นต่อๆ ไปก็เกิดมาในลักษณะเดียวกัน
       


       สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบก็คือว่า แทนที่เจ้าหนูปราศจากเชื้อจุลินทรีย์อย่างสิ้นเชิงเหล่านี้ จะเป็นสัตว์ที่แข็งแรงมีสุขภาพพลานามัยดีเยี่ยม ตรงกันข้ามพวกมันกลับติดเชื้อได้ง่ายดายอย่างเหลือเชื่อ เมื่อสัมผัสกับเชื้อโรคและเกิดการเจ็บป่วยอย่างไม่ปกติธรรมดา เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของพวกมันไม่สามารถทำงานตามปกติที่ควรจะเป็นได้
       


       จึงเห็นได้ว่า บทบาทของจุลินทรีย์ในลำไส้ของคนเรา มีความสำคัญในฐานะเป็นปัจจัยพื้นฐานต่อการมีสุขภาพพลานามัยของเราทีเดียว จุลินทรีย์เหล่านี้ ต้องถือว่าเป็นเสมือนส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของร่างกายมนุษย์ ไม่ต่างจากอวัยวะชิ้นหนึ่ง เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบและความสำคัญที่มันมีต่ออวัยวะหลักอื่นๆ อาทิ หัวใจ ไต ปอด เพราะภาระหน้าที่ของจุลินทรีย์เหล่านี้คือการช่วยทำให้เราสามารถมีชีวิตอย่างปกติสุขท่ามกลางจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายที่เราต้องพบ และสัมผัสอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะฉะนั้นถ้าพวกโปรไบโอติกเหล่านี้ ไม่สามารถทำงานอย่างที่ควรจะเป็นได้แล้ว ก็จะส่งผลให้เราสูญเสียความสามารถในการรักษาสุขภาพพลานามัยที่ดีไว้ได้
       


       ความรู้ใหม่เกี่ยวกับโปรไบโอติกที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นการยืนยันด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ และความสามารถในการระบุชื่อจุลินทรีย์ และการทำงานเฉพาะเจาะจงของพวกมันแต่ละตัวได้อย่างแม่นยำในสิ่งที่ การแพทย์จีนโบราณได้ค้นพบมาก่อนล่วงหน้าเป็นพันปีแล้วว่า ในช่องท้องของคนเรา มิได้เป็นเพียงศูนย์รวมอวัยวะย่อยอาหารเท่านั้น แต่มันคือศูนย์กลางของชีวิต และสุขภาพของคนเราด้วย 
       


       เมื่อการแพทย์ยุคปัจจุบันเข้าใจธรรมชาติของพวกโปรไบโอติกอย่างถ่องแท้ว่า ทำไมมันทำได้อย่างนั้น ซึ่งจะนำมาเป็นหลักในการประยุกต์ใช้เพื่อการบำบัดรักษาโรคได้อย่างกว้างขวางต่อไป สิ่งที่เป็นการปฏิวัติความรู้จริงๆ ก็คือ การใช้โปรไบโอติกเหล่านี้ในฐานะเป็นวิถีทางที่ปลอดภัย และเป็นสารธรรมชาติที่อาจจะสามารถนำไปช่วยคลี่คลายสิ่งที่ยังคงเป็นปัญหาสร้างความงุนงงสงสัยเกี่ยวกับสภาวะของโรคต่างๆ ที่เรายังคงหาคำตอบไม่ได้ 
       


       นายแพทย์แกรี่ ฮัฟฟ์นาเกิล ผู้เขียนหนังสือ “โปรไบโอติกมหัศจรรย์จุลินทรีย์ ทางเลือกใหม่เพื่อสุขภาพดี” (สำนักพิมพ์มติชน, 2553) ได้เล่าว่าในตอนเด็กเขามีอาการหอบหืดและภูมิแพ้ อาการหอบหืดนี้จู่โจมมาโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้า มันมักจะมาในเวลากลางคืน เขาต้องตื่นขึ้นทันทีทันใด และพยายามที่จะหายใจ เขารู้สึกราวกับว่ากำลังหายใจผ่านรูของหลอดเล็กๆ ซึ่งไม่ว่า เขาจะพยายามหายใจแรงขึ้นเท่าไหร่ ก็ไม่ทำให้เขารู้สึกได้ว่าได้สูดอากาศเข้าไปอย่างเพียงพอเสียที
       


       อาการภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจ ของเขามีสาเหตุมาจากละอองเกสรจากหญ้าแร็กวีด สปอร์ของเชื้อรา ฝุ่นและสิ่งสามัญอื่นๆ อีกมากมันเลวร้ายเหลือเกิน เพราะมันคอยรบกวนการใช้ชีวิตตามปกติในวัยเด็กของเขาเพราะแทนที่เขาจะได้ไปวิ่งเล่นกับเพื่อนๆ ทุกวันหลังโรงเรียนเลิก เขากลับต้องไปหาหมอเพื่อรับการฉีดยาแก้ภูมิแพ้สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เขาต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในเดือนกรกฎาคม และสิงหาคมในห้องปรับอากาศเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับละอองเกสรในช่วงฤดูร้อนที่บ้านเกิดของเขาที่เพนซิลเวเนีย
       


       ภูมิแพ้และหอบหืดยังทำลายความฝันในวัยเด็กของเขาที่อยากเป็นนักเบสบอล แต่มันก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาสนใจศึกษาวิจัยค้นคว้าทางการแพทย์เมื่อเขาโตขึ้น สำหรับเขาแล้ว “จุลชีววิทยา” เปรียบได้กับ “อวกาศ” อันเป็นดินแดนที่ยังไม่ค่อยมีคนสำรวจและรู้จักอย่างถ่องแท้ทั่วถึง
       


       เขาศึกษาจุลชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยเพนท์สเตต และศึกษาต่อด้านภูมิคุ้มกันวิทยาจากโรงเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเซาท์เวสเทิร์นในรัฐเทกซัส ในช่วงทศวรรษ 1980 ตอนนั้น เขาได้เรียนรู้ว่า หน้าที่หลักของระบบภูมิคุ้มกันคือการทำลายเชื้อโรค แต่ไม่มีใครพูดถึงโปรไบโอติกในช่วงนั้นเลย
       


       อย่างไรก็ดี เขาได้อ่านเรื่องราวของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์จากบทความอัตชีวประวัติของผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันวิทยาผู้ชนะเลิศรางวัลโนเบลชื่อ อิลยา เม็คนิคอฟ (Ilya Mechnikov) ในช่วงต้นทศวรรษ 1900 อิลยา หันไปสนใจศึกษาเรื่องสุขภาพและการมีอายุยืนยาว โดยอิลยาได้รับการกระตุ้นจาก ข้อมูลสถิติอายุเฉลี่ยอันยืนยาวผิดปกติกว่าชาวยุโรปอื่นๆ ของชาวนาบัลแกเรียผู้ยากไร้ และอยู่ในถิ่นทุรกันดาร 
       


       อิลยา พบว่า โภชนาการของชาวนาบัลแกเรีย อุดมไปด้วยการกินของที่ได้จากการหมักบ่มด้วยเชื้อจุลินทรีย์ รวมถึงโยเกิร์ตด้วย อิลยาได้ทำการเพาะเชื้อและแยกแบคทีเรียที่ใช้ในการหมักบ่มอาหารเหล่านี้ออกมา พร้อมทั้งชื่อให้ว่า “แล็กโตบาซิลลัส บัลการิคัส” (Lactobacillus bulgaricus) ซึ่งอิลยาเชื่อว่าเป็นสาเหตุหลักในการมีอายุยืนยาวของชาวบัลแกเรียกลุ่มนี้ และทำนายต่อไปด้วยว่า คุณประโยชน์ของแบคทีเรียพวกนี้ต้องสำคัญมากต่อสุขภาพของมนุษย์ในการรักษาโรคที่เกิดจากแบคทีเรีย
       


       แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า 80 ปีหลังจากนั้น ไม่ได้มีการศึกษาสำรวจสมมติฐานของอิลยา เม็คนิคอฟข้างต้นเลยทำให้เกิดการหยุดชะงักในการศึกษาระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของมนุษย์ จนกระทั่งย่างเข้าสู่ทศวรรษ 1980 จึงได้มีการค้นพบว่า ระบบภูมิคุ้มกันของคนเรา ไม่เพียงป้องกันเราจากโรคต่างๆ แต่ยังอาจกลายเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคอย่างโรคภูมิแพ้ได้ด้วย 
       


       นักวิจัยได้ค้นพบแล้วว่า อาการภูมิแพ้ที่เกิดกับระบบทางเดินหายใจนั้น ไม่ได้มีสาเหตุมาจากสิ่งที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ แต่มันมาจากระบบภูมิคุ้มกันที่ทำหน้าที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมต่างหาก เพราะแทนที่มันจะปฏิบัติต่อละอองเกสรดอกไม้หรือสปอร์เชื้อรา ในฐานะสิ่งที่ไม่มีอันตรายต่อร่างกาย มันกลับแสดงท่าทีราวกับว่า พวกนี้คือภัยร้ายคุกคามชีวิต และต้องถูกกำจัดออกไปโดยการบีบหดช่องทางเดินหายใจเพื่อป้องกันการผ่านเข้ามาของสิ่งเหล่านี้แล้วก็ระดมเอาเซลล์เม็ดเลือดขาวมาต่อสู้กับ “ผู้รุกราน” ผลก็คือต่อมน้ำตาจะหลั่งน้ำตาออกมาเพื่อขับไล่ “ศัตรู” มีกลไกไปกระตุ้นหลอดลมให้เกิดการไอเพื่อ “ขับ” สิ่งแปลกปลอมออกมา อาการเหล่านี้เกิดขึ้นมาโดยไม่มีสาเหตุจำเป็น แถมยังก่อความไม่สบายตัวอย่างมากสำหรับมนุษย์
       


       นายแพทย์แกรี่ ฮัฟฟ์นาเกิล ผู้เขียนหนังสือ “โปรไบโอติกมหัศจรรย์จุลินทรีย์ ทางเลือกใหม่เพื่อสุขภาพดี” ได้ใช้เวลากว่า 20 ปี เพื่อศึกษาระบบภูมิคุ้มกัน แต่ผลวิจัยข้างต้นทำให้ตัวเขาต้องทบทวนองค์ความรู้ที่เขาเคยเรียนมาเสียใหม่ และทำให้ตัวเขาหันไปสนใจแนวคิดของ อิลยา เม็คนิคอฟ มากยิ่งขึ้น เนื่องจากมันเห็นเด่นชัดมากยิ่งขึ้นแล้วว่า หน้าที่สำคัญอันดับหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันนั้น ไม่ใช่การทำลายเชื้อโรคอย่างที่เราเคยเข้าใจ แต่เป้าหมายของระบบภูมิคุ้มกันคือการอยู่ร่วมกับจุลินทรีย์ที่ห้อมล้อมเรา โดยยอมรับพวกที่ไม่ก่ออันตรายกับเรา และเลือกทำลายเฉพาะพวกที่มีความเสี่ยงที่จะก่อปัญหา 
       


       นายแพทย์แกรี่ ยังได้ทดลองใช้โปรไบโอติกมาแก้ปัญหาสุขภาพที่มีอาการโรคหอบหืด และภูมิแพ้มาตั้งแต่เด็กของตัวเขาเอง โดยเขาเปลี่ยนมากินโยเกิร์ตทุกวัน เพิ่มปริมาณบริโภคธัญพืชเต็มเมล็ดไม่ขัดขาว กินผัก ผลไม้สด และเพิ่มเครื่องเทศ รวมถึงอาหารเสริมโปรไบโอติกลงในเมนูอาหารแต่ละวันของเขา ภายในเวลาเพียง 1 เดือนเท่านั้น อาการภูมิแพ้รุนแรงที่ดำเนินมาเป็นสิบๆ ปีของเขาก็หายไป บัดนี้อาการภูมิแพ้ที่เกิดกับระบบทางเดินหายใจ และอาการหอบหืดไม่มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของเขาอีกต่อไปแล้ว ต่อไปเราควรมาทำความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของโปรไบโอติกกับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน เพื่อตระหนักว่า โปรไบโอติกสามารถช่วยป้องกันและบำบัดโรคร้ายแรงต่างๆ ได้อย่างไร






Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้