แนวทางการเสริมสร้างระบบภูมิชีวิตอย่างบูรณาการ
เพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคร้ายแรงอื่นๆ (31)
(3/1/2555)
*การใช้โปรไบโอติกตลอดวัฏจักรของชีวิต*
ดร.แกรี่ ฮัฟฟ์นาเกิล ผู้เขียนหนังสือ “โปรไบโอติก มหัศจรรย์จุลินทรีย์ ทางเลือกใหม่เพื่อสุขภาพดี” (สำนักพิมพ์มติชน, 2553) กล่าวว่า คนเราสามารถได้รับประโยชน์จากโปรไบโอติกไปจนตลอดชีวิต แต่ความต้องการของคนเราเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ในขณะที่เราเคลื่อนจากวัยหนึ่งไปสู่อีกวัย และเมื่อเราเผชิญกับปัญหาบางอย่างที่คาดการณ์ล่วงหน้าได้ โปรไบโอติกก็อาจเป็นทางออกให้แก่เราได้ เริ่มจากสตรีมีครรภ์ สตรีที่ตั้งครรภ์พึงตระหนักว่า สิ่งใดที่ดีต่อไมโครฟลอร่า ก็ย่อมดีต่อสตรีผู้ตั้งครรภ์ และทารกในครรภ์ด้วย
สตรีที่ตั้งครรภ์ควรเลือกรับประทานผลิตภัณฑ์นมหมักบ่ม เช่น โยเกิร์ตเข้าไปด้วยเพื่อได้รับโปรไบโอติกมากมายในแต่ละวัน รวมทั้งควรทานอาหารที่มีพรีไบโอติกอย่างผัก ผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด ที่อยู่ในรูปของใยอาหาร รวมถึงสารประกอบอื่นๆ ที่เกื้อกูลต่อโปรไบโอติก เหตุที่โปรไบโอติกเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสตรีที่ตั้งครรภ์ เพราะสามารถช่วยจัดการกับปัญหาอาหารไม่ย่อย ป้องกันการท้องผูก รวมทั้งป้องกันการติดเชื้อในช่องคลอดและท่อปัสสาวะได้
สำหรับทารกแรกเกิด ปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับการพัฒนาไมโครฟลอร่าของทารกคือ วิธีการให้อาหาร ท่อในต่อมน้ำนมของมารดากลายเป็นดินแดนที่ถูกยึดครองโดยจุลินทรีย์โปรไบโอติก ซึ่งมารดาสามารถส่งผ่านพวกมันไปให้ทารกของเธอในระหว่างการให้นมได้ น้ำนมมารดามีสารประกอบหลายอย่างที่ยับยั้งการเจริญของแบคทีเรีย อันเป็นต้นเหตุของโรคและส่งเสริมการเจริญของโปรไบโอติก ไมโครฟลอร่าในลำไส้ของทารกที่ดื่มนมแม่ จะอุดมด้วยโปรไบโอติกมากกว่าไมโครฟลอร่าในลำไส้ของทารกที่เลี้ยงด้วยนมผง
ด้วยเหตุนี้ ทารกซึ่งมีไมโครฟลอร่าที่ประกอบด้วยโปรไบโอติกเป็นหลัก จะมีอัตราการเป็นโรคภูมิแพ้และหอบหืดต่ำกว่า ทำให้การบริโภคโปรไบโอติกในช่วงเป็นทารก น่าจะสามารถช่วยป้องกันการเกิดภูมิแพ้ในเด็กได้ วิธีที่ดีที่สุดสำหรับการได้รับโปรไบโอติกสำหรับทารกก็คือ จากน้ำนมมารดา และเมื่อทารกกำลังเริ่มรับประทานอาหารแข็ง โยเกิร์ตก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี เพราะมีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่า เด็กที่ดื่มนมเสริมโปรไบโอติก มักไม่ค่อยมีท่าทางการเกิดโรคโคลิก (Colic) หรือที่คนไทยเรียกว่า “โรคเด็กร้อง 3 เดือน”
เนื่องจากไมโครฟลอร่าวิวัฒนาการไปพร้อมกับการเจริญเติบโตของทารกจากวัยเด็กไปสู่วัยผู้ใหญ่ การเปลี่ยนแปลงสำคัญครั้งแรกเกิดขึ้น เมื่อทารกเปลี่ยนจากการดื่มนมมารดาหรือนมผง มาเป็นการรับประทานอาหารแข็ง ซึ่งเปิดโอกาสให้เชื้อหลากหลายชนิดเข้าสู่ร่างกาย และทำให้ไมโครฟลอร่าในลำไส้มีความหลากหลายมากขึ้น แต่ถ้าโภชนาการของเด็กไม่ดี ยกตัวอย่างเช่น อาหารมีผัก ผลไม้น้อย แต่มีน้ำตาลสูง ก็อาจทำให้จำนวนประชากรของจุลินทรีย์โปรไบโอติกลดลง ส่วนเด็กที่แข็งแรง มีสุขภาพดีอยู่แล้วก็จะยิ่งดีขึ้น เมื่อได้รับโปรไบโอติกเช่นเดียวกับทารกและผู้ใหญ่
ส่วนผู้ใหญ่นั้นโดยทั่วไป ระบบต่างๆ ในร่างกายของคนที่เป็นผู้ใหญ่ สามารถทำงานอย่างกระฉับกระเฉงแข็งแรงอย่างไม่ต้องใช้ความพยายามใดๆ ในวัยยี่สิบ หรือในวัยสามสิบต้นๆ เท่านั้น แต่ถ้าผู้นั้นละเลยการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโภชนาการ การออกกำลังกาย การนอนหลับ และการบริหารความเครียด พวกเขาก็ย่อมสะสม “หนี้สุขภาพ” ไปเรื่อยๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งมักจะออกอาการเมื่อผู้นั้นย่างเข้าสู่วัยกลางคนแล้ว ทั้งนี้ก็เพราะว่า สุขภาพที่ดีไม่มีวันได้มาเปล่าๆ พวกเราต้องเป็นคนสร้างมันขึ้นมาด้วยตัวของเราเอง
เมื่อคนเราย่างเข้าสู่วัยกลางคน จะเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายของเราหลายอย่าง รวมถึงองค์ประกอบของไมโครฟลอร่าในลำไส้ ซึ่งมีแนวโน้มที่จำนวนสมาชิกโปรไบโอติกจะลดลง ขณะที่มีการเพิ่มขึ้นของจุลินทรีย์ที่อันตราย โชคยังดีที่แม้อายุของคนเราจะเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้ผู้มีอายุได้รับประโยชน์จากโปรไบโอติกลดน้อยถอยลง โดยปกติเมื่อคนเราสูงวัยขึ้น มักจะทรมานจากเรื่องปัญหาระบบการย่อยอาหาร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องท้องผูก หรือท้องร่วงก็ตาม
อย่างไรก็ดี มีงานวิจัยออกมาแล้วว่า แบคทีเรียโปรไบโอติกสามารถบรรเทาอาการท้องผูกในผู้สูงวัยได้ เมื่อผู้หญิงเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน การเปลี่ยนแปลงของไมโครฟลอร่าในช่องคลอดของพวกเธอ มักทำให้พวกเธอติดเชื้อในช่องคลอดได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม ซึ่งการรับประทานโปรไบโอติกสามารถช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องนี้ได้แม้แต่เพศชายเอง ซึ่งมักมีปัญหาที่ต่อมลูกหมากเมื่อมีอายุมากขึ้น โปรไบโอติกก็มีประโยชน์สำหรับการบำบัด และป้องกันอาการเหล่านี้ รวมทั้งป้องกันการติดเชื้อในท่อปัสสาวะด้วย
เราต้องไม่ลืมว่า ระบบภูมิคุ้มกัน (ระบบภูมิชีวิต) ของเรา จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนเมื่อเราแก่ตัวลง เพราะระบบภูมิคุ้มกันของเราก็เหมือนกับระบบการทำงานอื่นๆ ในร่างกาย มันทำงานไม่ได้ดีเหมือนดังเช่นตอนที่เรายังเป็นหนุ่ม-สาว แต่การศึกษาหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า การได้รับโปรไบโอติกหลากชนิด สามารถช่วยเพิ่มจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวในผู้สูงอายุได้ เพราะฉะนั้นขอให้เราทำความเข้าใจดังนี้ว่า ถ้าหากการออกกำลังกายมีส่วนช่วยชะลอความชราภาพของกล้ามเนื้อ กระดูก และระบบหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจแล้วไซร้ โปรไบโอติกก็มีบทบาทที่สำคัญยิ่งในการช่วยเราดูแลรักษาความเป็นหนุ่ม-สาวของพวกไมโครฟลอร่า ซึ่งเอื้อประโยชน์อย่างกว้างขวางต่อสุขภาพโดยรวมของเรานั่นเอง เพราะโปรไบโอติกสามารถช่วยเราบำบัดโรคในระบบย่อยอาหารอย่างโรคลำไส้อักเสบได้
โรคลำไส้อักเสบ 2 รูปแบบที่พบมากที่สุดคือ โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผล (ซึ่งจะทำให้ลำไส้ใหญ่ตลอดลงไปถึงทวารหนักบวมขึ้นมา) และโรคโครห์น (ซึ่งเกิดได้ตลอดทางเดินอาหาร) โรคลำไส้อักเสบเป็นอาการแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเอง มันเริ่มขึ้น เมื่อระบบภูมิคุ้มกันเกิดเข้าใจผิดว่า แบคทีเรียธรรมดาในทางเดินอาหารของเราเป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นอันตราย และเข้าโจมตีพวกมัน ผลก็คือมีเลือดไหลไปยังบริเวณดังกล่าว และกระบวนการอักเสบก็เริ่มต้นขึ้น อาการของโรคลำไส้ใหญ่อักเสบและโรคโครห์นมีความคล้ายคลึงกันมาก ยากที่จะแยกแยะได้หากไม่มีการตรวจลำไส้โดยตรง
ในขณะที่อักเสบและมีแผลเกิดขึ้นนั้น ผู้ป่วยจะประสบกับอาการท้องร่วงบ่อยๆ บางครั้งก็ถ่ายเป็นเลือด รวมถึงมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ตามมาด้วยความอ่อนเปลี้ยเพลียแรง น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ขาดสารอาหาร ผู้ที่เป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบหรือโรคโครห์นถูกบังคับให้วางแผนการใช้ชีวิตให้สามารถเข้าห้องน้ำได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งกระทบต่องานและความสัมพันธ์กับผู้คน อีกทั้งโรคซึมเศร้ามักจะพ่วงมากับโรคลำไส้อักเสบนี้ด้วย ปัจจุบันคนอเมริกันกว่า 1 ล้านคนเป็นโรคลำไส้อักเสบ
เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงการผลิตไปสู่ระบบอุตสาหกรรมนั้น เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงโภชนาการของผู้คนที่รับประทานอาหารฟาสต์ฟูด อาหารที่ผ่านการแปรรูป และอาหารที่มีใยอาหารน้อยลงมากเพิ่มขึ้น จึงทำให้มีผู้คนที่ป่วยเป็นโรคในระบบย่อยอาหาร ไม่ว่าจะเป็นโรคลำไส้อักเสบ โรคลำไส้แปรปรวน โรคแผลในกระเพาะอาหาร โรคไวรัสลงกระเพาะ รวมทั้งโรคภูมิแพ้มากขึ้น ทั้งนี้และทั้งนั้นก็เพราะผู้คนส่วนใหญ่ในยุคสมัยนี้ มักทานอาหารที่ขาดแหล่งโปรไบโอติกนั่นเอง
ขอย้ำอีกครั้งว่า โปรไบโอติกคือตัวกระตุ้นที่ทรงพลังของระบบควบคุมการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน คนที่สนใจเรื่องโภชนาการกับสุขภาพย่อมรู้ดีว่า อาหารป้องกันโรคมะเร็งที่ดีที่สุดคืออาหารที่เน้นธัญพืชที่ไม่ขัดสี รวมทั้งผักและผลไม้สด แต่ทำไมมันถึงได้ผล คำตอบก็คือ นอกจากบทบาทของสารต้านอนุมูลอิสระใน “อาหารสุขภาพ” เหล่านี้แล้ว บทบาทของไมโครฟลอร่าก็น่าจะเกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะถ้าเกี่ยวกับโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ สารต้านอนุมูลอิสระส่วนใหญ่เป็นสารอาหารจำพวกพรีไบโอติกที่ช่วยสนับสนุนโปรไบโอติก เพราะฉะนั้นนอกเหนือจากบทบาทโดยตรงในการต่อต้านมะเร็งแล้ว สารประกอบเหล่านี้ยังทำงานทางอ้อม โดยส่งผลทางบวกต่อประชากรจุลินทรีย์ในไมโครฟลอร่าอีกด้วย
คนทั่วไปมักรู้แค่ว่า การสูบบุหรี่ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปอด แต่คนทั่วไปคงไม่ค่อยรู้กันว่า คนที่สูบบุหรี่ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยเช่นกัน เพราะการสูบบุหรี่เกี่ยวโยงไปถึงโรคมะเร็งที่กระเพาะปัสสาวะ ลำคอ ไต ตับอ่อน และกระเพาะอาหารด้วย กล่าวคือ สารก่อมะเร็งซึ่งเข้าสู่ปอดของผู้นั้นผ่านควันบุหรี่ยังเข้าไปในระบบทางเดินอาหารของผู้นั้นด้วย
นอกจากนี้ เนื่องจากโปรไบโอติกมีบทบาทในการป้องกันการอักเสบโดยเฉพาะ การอักเสบในระบบทางเดินอาหารได้ โปรไบโอติกจึงมีส่วนสำคัญในการป้องกันโรคระบบหัวใจ และหลอดเลือดซึ่งมีสาเหตุหนึ่งมาจากการอักเสบในหลอดเลือดด้วยเช่นกัน จะเห็นได้ว่า สมมติฐานไมโครฟลอร่า และการบำบัดด้วยโปรไบโอติก อาจเป็นวิวัฒนาการก้าวใหม่สำหรับการรักษาโรคเรื้อรังร้ายแรงต่างๆ ก็เป็นได้ ขอเพียงคนเราผนวกเอาโปรไบโอติกเข้าไปในเมนูอาหารประจำวันด้วยเท่านั้น