คมดาบซากุระ 2 : รัฐบาลโจร โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (1 กุมภาพันธ์ 2555)

คมดาบซากุระ 2 : รัฐบาลโจร โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (1 กุมภาพันธ์ 2555)


รัฐบาลโจร

โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย

1 กุมภาพันธ์ 2555




ประชาชนคนไทยควรระวัง
รัฐบาล “หุ่นโชว์” กำลังประพฤติตนเยี่ยงโจร



คนดีกับโจรไม่ต่างกันเนื่องจากมี “จุดประสงค์” อยากได้เงินเหมือนกัน แต่ที่ทำให้ต่างกันก็ตรงที่คนดีสนใจ “วิธี” การได้มาซึ่งเงิน แต่โจรนั้นไม่สนใจว่าจะได้มาอย่างไร จะตีชิงวิ่งราวหรือทำอย่างไรก็ได้ขอให้ได้มาซึ่งเงินก็เพียงพอ หากรัฐบาลใดประพฤติปฏิบัติตนไม่สนใจ “วิธี” ได้มาซึ่งเงินเพื่อนำไปใช้จ่ายก็ไม่แตกต่างอะไรกับโจรนั่นเอง



ภาษี อันเป็นรายได้ที่รัฐบาลเรียกเก็บจากประชาชน มีลักษณะสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ (1) เป็นการบังคับเก็บ (2) ไม่มีการให้ผลประโยชน์ตอบแทนโดยตรงแก่ผู้เสียภาษีอากร ทั้งนี้ รัฐบาลไทยบังคับจัดเก็บภาษีตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ให้อำนาจแต่ละหน่วยงานเป็นผู้จัดเก็บ เช่น กรมสรรพากร กรมศุลกากร หรือกรมสรรพสามิต ส่วนผลประโยชน์ที่ผู้เสียภาษีอากรได้รับนั้นจะอยู่ในรูปบริการส่วนรวม สวัสดิการส่วนรวม และผลได้ทางอ้อมอื่นๆ จากการที่รัฐบาลใช้จ่ายเงินงบประมาณเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ และการพัฒนาเศรษฐกิจ



พระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555 ที่กำลังถูกตรวจสอบว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่ยังมีประเด็นสำคัญกว่าที่ควรพิจารณานอกเหนือจากนี้ว่า กฎหมายนี้ตราขึ้นเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือไม่



ม. 8 ใน พ.ร.ก.ดังกล่าวกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจเรียกให้สถาบันการเงินนำส่งเงิน เป็นอัตราร้อยละของยอดเงินฝากจากบัญชีที่ได้รับการคุ้มครองเงินฝากตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศจะกำหนด แต่เมื่อรวมอัตราดังกล่าวกับอัตราที่กำหนดให้สถาบันการเงินนำส่งเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝากตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝากแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละหนึ่งต่อปีของยอดเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเงินฝาก



กล่าวง่ายๆ ก็คือ บังคับให้ ธปท.ไปเรียกเก็บ “เงินเพิ่ม” ในลักษณะเช่นเดียวกันกับเงินนำส่งตามกฎหมายคุ้มครองเงินฝากได้อีกไม่เกินร้อยละ 0.6 จากผู้ฝากเงินที่เสียอยู่แล้วร้อยละ 0.4 ของเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันเพื่อนำเงินส่วนเพิ่มดังกล่าวมาชดใช้ดอกเบี้ยและเงินต้นของหนี้จำนวน 1.14 ล้านล้านบาทซึ่งเป็นหนี้สาธารณะที่รัฐบาลไม่รับผิดชอบและโอนมาให้ ธปท.ใช้คืนแทนโดยออกกฎหมายเป็น พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว



ประเด็นก็คือ “เงินเพิ่ม” อีกไม่เกินร้อยละ 0.6 จากที่เคยเก็บอยู่เดิมร้อยละ 0.4 ของเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์เอกชนนั้นเป็น เงินอะไร เป็นภาษี หรือ เป็นเงินนำส่งกองทุนคุ้มครองเงินฝาก ตาม ม. 49 ของ พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551



หากเป็นเงินนำส่งกองทุนคุ้มครองเงินฝาก อันเนื่องมาจากเรียกเก็บเงินตามฐานเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเงินฝาก ก็มิใช่เงินที่รัฐบาลจะสามารถเอาไปใช้ได้ตามอำเภอใจเพราะมีอยู่เพียง 4 กรณีตาม ม. 47 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองเงินฝากที่จะสามารถนำออกไปใช้ได้ และไม่มีกรณีที่เข้าข่ายให้เอาไปใช้หนี้จำนวนดังกล่าวเพราะเป็นเงินของผู้ฝากเงิน



แต่หากจะโต้แย้งว่าเป็นภาษีที่รัฐบาลอนุญาตให้ ธปท.เป็นผู้จัดเก็บแทนโดย ม. 8 ของ พ.ร.ก.ฉบับนี้ก็ต้องมาดูต่อไปว่ากฎหมายนี้ขัดแย้งกับบทบาทและหน้าที่ของ ธปท.ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายที่ใหญ่กว่าของ ธปท.นั่นคือ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 หรือไม่ เพราะใน ม. 7 ธปท.มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินภารกิจอันพึงเป็นงานของธนาคารกลางเพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพทางการเงิน และเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินและระบบการชำระเงิน และใน ม. 8 ก็ได้ขยายความว่า ธปท.มีอำนาจดำเนินการเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ตาม ม. 7 จำนวน 11 ข้อโดยมีข้อที่อาจจะเข้าข่ายมากที่สุดก็คือ (10) การปฏิบัติการตามที่กฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ ธปท.



การเก็บ “เงินเพิ่ม” ดังกล่าวเป็นหน้าที่อันพึงเป็นงานของธนาคารกลางหรือไม่ เพราะการบังคับเก็บเงินดังกล่าวกับเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์เอกชนนอกจากจะก่อให้เกิดภาระกับผู้ฝากและผู้กู้อันอย่างหลีกเลี่ยงได้ยากเนื่องมาจากธนาคารจะผลักภาระมาให้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งแล้ว ยังก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันระหว่างสถาบันการเงินที่เป็นธนาคารของรัฐอื่นๆ เช่น ธนาคารออมสิน ที่จะมีความได้เปรียบมากยิ่งขึ้นจากเดิมที่ไม่มีภาระต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝากและไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.ก.ฉบับนี้แต่อย่างใด
ผลของการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น ธปท.กำลังจะกระทำการอันเป็นที่ต้องห้ามตาม ม. 9 ที่กำหนดมิให้มีส่วนได้เสียโดยตรงในกิจการพาณิชย์หรือไม่



เสถียรภาพของสถาบันการเงินอันจะนำมาซึ่งความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศจะเกิดขึ้นได้อย่างไรจากการเก็บ “เงินเพิ่ม” ในลักษณะนี้จากผู้ฝากเงิน เพราะเงินดังกล่าวไม่ได้ถูกนำส่งเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝาก หากแต่นำไปใช้จ่ายตามแต่รัฐบาลจะสั่งการให้ ธปท.กระทำ อย่าลืมว่ากองทุนคุ้มครองเงินฝากเพิ่งเก็บเงินเข้ากองทุนมาได้เพียง 3-4 ปีเท่านั้นเงินเข้ากองทุนมีอย่างมากก็ไม่เกินร้อยละ 1.6 (0.4 x 4ปี) ของยอดเงินฝาก และ ธปท.อาจถูกรัฐบาลสั่งให้เรียกเก็บ “เงินเพิ่ม” เต็มร้อยละ 1 ภายใต้ พ.ร.ก.ดังกล่าวโดยไม่แบ่งเป็นเงินนำส่งเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝากก็ย่อมได้



หากเกิดเหตุอะไรขึ้นมาจำนวนเงินกองทุนคุ้มครองเงินฝากจะมีพอเพียงกับความเสียหายที่ต้องคุ้มครองตามกฎหมายหรือไม่ ถ้าไม่พอเพียงแล้วเกิดความโกลาหลทางเศรษฐกิจขึ้นผู้ฝากเงินจะเรียกร้องเอากับใครเพราะรัฐบาลอาจตัดตอนไม่ให้นำส่งเงินเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝากเลยก็ได้ ที่สำคัญจะเป็นการสร้างทัศนคติที่ไม่ดีต่อไปว่า การออมด้วยการฝากเงินในธนาคารมีความเสี่ยงและภาระที่มากขึ้น ความมั่นคงทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นได้อย่างไร



รัฐบาลกำลังนำเอาตัวเองและเศรษฐกิจการเงินของประเทศเข้าไปในวังวนเช่นอดีตที่ผ่านมาที่ไม่มีหน่วยงานทำหน้าที่คุ้มครองเงินฝากจากการแทรกแซงทั้งในอิสระของ ธปท.ที่จะดำเนินหน้าที่ธนาคารกลางและกลไกการคุ้มครองเงินฝากของสถาบันคุ้มครองเงินฝากด้วย พ.ร.ก.ดังกล่าว ดังจะเห็นได้จากกฎหมายของทั้งสองหน่วยงานต่างก็กำหนดคล้ายๆ กันให้เป็นนิติบุคคลที่มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น รวมถึงมาตรการป้องกันการถอดถอนหัวหน่วยงานโดยพลการเพื่อให้มีความเป็นอิสระจากนโยบายรัฐบาลที่อาจเปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้



รัฐบาลสามารถให้คำตอบได้อย่างไรว่าจะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจด้วยการออก พ.ร.ก.ฉบับนี้ เพราะแม้แต่แผนงาน โครงการที่จะป้องกันภัยพิบัติก็ยังไม่มี แล้วจะอ้างว่าจำเป็นเร่งด่วนต้องแก้หนี้จำนวนนี้ ทั้งๆ ที่มีปรากฏอยู่แล้วกว่า 10 ปีผ่านมาหลายรัฐบาลและหลายสภาวะเศรษฐกิจ



การให้ ธปท.เป็นหนังหน้าไฟไปเก็บภาษีแทนทั้งที่ไม่มีหน้าที่อย่างปิดบังซ่อนเร้นเช่นนี้เป็นการผิดวัตถุประสงค์ของการออก พ.ร.ก.นี้หรือไม่ ดูจากชื่อกฎหมายแล้วไม่ได้สื่อเลยว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเก็บภาษีชนิดใหม่เพิ่มเติม การออกเป็น พ.ร.ก.เพื่อมากำหนดบทบาทหน้าที่ของ ธปท.เสียใหม่นั้นเป็นการ “เขียนด้วยมือ ลบด้วยเท้า” โดยแท้ เพราะใช้อำนาจฝ่ายบริหารเกินขอบเขตและล่วงล้ำเข้าไปในอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติโดยไม่มีเหตุฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด หากจะตรากฎหมายเป็น พ.ร.บ.ที่อาจกำหนดวันแล้วเสร็จไม่ได้แน่นอน แต่ก็ไม่ได้ทำให้ผู้ฝากเงินสามารถนำเงินหลบหนีการเก็บภาษีชนิดใหม่นี้ไปได้



“เงินเพิ่ม” ที่นำส่งตาม ม. 8 ของ พ.ร.ก.ดังกล่าวจึงเป็นเครื่องแสดงความป่าเถื่อนและไม่สนใจ “วิธี” การได้มาซึ่งเงินโดยแท้ เพราะเนื้อหาตัวกฎหมายขัดแย้งกันเองและขัดกับกฎหมายอื่นๆ ไม่รู้ว่า “เงินเพิ่ม” ที่ว่านี้เป็นภาษี หรือ เงินนำส่งเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝากและทำไมจึงต้องจัดเก็บในตอนนี้



หากเป็นภาษีทำไมจึงไปคิดแบบเดียวกับเงินนำส่งเข้ากองทุนฯ ตามกฎหมายคุ้มครองเงินฝาก การใช้เกณฑ์ตามกฎหมายคุ้มครองเงินฝาก เช่น ไม่ให้เก็บเกินกว่าร้อยละ 1 ของเงินฝากหรือเป็นเงินที่เก็บจากฐานเงินฝาก ก็น่าจะเป็นเงินนำส่งฯ ตามกฎหมายคุ้มครองเงินฝากมิใช่เป็นภาษี



หากเป็นภาษีทำไมไม่แสดงหลักการและเหตุผลให้ประชาชนรับทราบอย่างเปิดเผยก่อนจะดำเนินการใดๆ และให้หน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรง เช่น กรมสรรพากร ไปจัดเก็บดังเช่นภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก พ.ร.ก.นี้จึงไม่ใช่ พ.ร.ก.โอนหนี้ฯตามชื่อหรือตามเหตุผลและความจำเป็นที่ปรากฏต่อท้าย พรก.แต่อย่างใด หากแต่เป็นการเก็บภาษีแบบใหม่ที่ไม่มีกฎหมายใดรองรับและไม่ยอมผ่านสภาฯ ให้ตัวแทนประชาชนได้ตรวจสอบ หากแต่ซ่อนเร้นให้ ธปท.ที่ไม่มีหน้าที่หารายได้เป็นผู้เรียกเก็บแทน เป็นกฎหมายที่ผิดฝาผิดตัวไปหมดหรือไม่



ศาลรัฐธรรมนูญสมควรหรือไม่ที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้ดุลพินิจของคณะรัฐมนตรีเพื่อควบคุมไม่ให้รัฐบาลกระทำการที่ขัดต่อกฎหมายที่มีอยู่โดยการตรากฎหมายดังเช่น พ.ร.ก.ฉบับนี้ เพราะโดยข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์จากพฤติกรรมของรัฐบาลนี้ อำนาจฝ่ายบริหารได้กลืนอำนาจตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติไปแล้วจากการมีเสียงข้างมากในรัฐสภา และการแทรกแซงการตรวจสอบโดยองค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นที่พึ่งแหล่งสุดท้ายในการถ่วงดุลอำนาจ การจะตีความอย่างแคบโดยอ้างเหตุเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้ก้าวล่วงฝ่ายอื่นๆ ในการตรวจสอบจึงเป็นเสมือนการผลักปัญหาไปให้คนอื่นที่จะเป็นใครก็ไม่รู้ทำหน้าที่แทน แล้วความมั่นคงของประเทศจะเกิดขึ้นได้อย่างไร




Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้