คมดาบซากุระ 2 : ทักษิณ VS รักไทย : คดีแชร์แม่ชม้อย โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (4 เมษายน 2555)

คมดาบซากุระ 2 : ทักษิณ VS รักไทย : คดีแชร์แม่ชม้อย โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (4 เมษายน 2555)

 

ทักษิณ VS รักไทย : คดีแชร์แม่ชม้อย

โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย

4 เมษายน 2555





คดีแชร์แม่ชม้อยก็ไม่ต่างจากคดีทุจริตที่ดินรัชดาฯ ของทักษิณแต่อย่างใด



ข้อเสนอประการหนึ่งของรายงานการศึกษาปรองดองของสถาบันพระปกเกล้าที่อยู่ๆ ก็โดดขึ้นมาโดยปราศจากพื้นฐานแนวคิดหรือการวิเคราะห์ที่เป็นเหตุเป็นผลก็คือการยกเลิกการกระทำต่างๆ ที่ คตส.ได้ทำไป



เท่าที่ทราบมีอยู่เพียงคดีเดียวที่ คตส.ยื่นให้อัยการฟ้องแล้วอัยการเห็นชอบเป็นคนฟ้องร้องให้เองก็คือคดีทุจริตเกี่ยวกับที่ดินรัชดาฯ ที่ทำให้ทักษิณต้องโทษจำคุก 2 ปีเนื่องจากประพฤติผิดตาม ม. 100 ของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.



ข้อเท็จจริงก็ไม่ได้สลับซับซ้อนอะไร เป็นคดีเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐประพฤติผิดมีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างผลประโยชน์ของตนเองกับผลประโยชน์ของรัฐจากตำแหน่งหน้าที่ที่ตนเองทำงานให้อยู่ พูดตามประสาชาวบ้านเขาเรียกโดยทั่วไปว่า “เอาตำแหน่ง(นายกฯ)มาหากิน” ก็เท่านั้นเอง มิได้เป็นเรื่องการขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์ทางการเมืองแต่อย่างใดไม่



แต่มีมุมให้เถียงก็คือ เป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมโดยคณะรัฐประหารฝ่ายผู้ชนะตั้งกรรมการพิเศษคือ คตส.มาทำหน้าที่แทนอัยการ



คณะผู้วิจัย “โครงการวิจัยสร้างความปรองดองแห่งชาติ” ส่วนใหญ่ยกเว้นหัวหน้าคณะฯ น่าจะอายุไม่ถึงเกณฑ์หรือยังไม่มีรายได้พอที่จะได้ประสบการณ์ตรงโดนชม้อยและพวกโกงเงิน



คดีชม้อยหรือที่รู้จักในชื่อ “คดีแชร์แม่ชม้อย” เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2520-8 โดยเหตุแห่งคดีเกิดจากการที่ชม้อยทำการกู้ยืมเงินจากประชาชนโดยมิได้เอาไปลงทุน หากแต่เอาเงินจากคนหลังมาจ่ายเป็นผลตอบแทนให้คนก่อนหน้าหรือ “การจัดคิวเงิน” ตามประสาชาวบ้านนั่นเอง เป็นเรื่องเดียวกับเบอร์นาร์ด แมดอฟ (Bernard Madoff) ผู้ถูกศาลสหรัฐฯ ตัดสินจำคุก 150 ปีทั้งๆ ที่ขณะถูกตัดสินมีอายุ 71 ปี ไม่ใช่กรณีแรกและคงไม่ใช่กรณีสุดท้าย



การกู้ยืมเงินของชม้อยกระทำโดยอาศัยธุรกิจการค้าน้ำมันเป็นเรื่องบังหน้า ในขณะที่อาศัยผลตอบแทนที่สูงถึงร้อยละ 6.5 ต่อเดือนหรือประมาณเกือบร้อยละ 80 ต่อปีและสร้างความเชื่อมั่นด้วยการจ่ายเงินดอกเบี้ยตรงเวลา จะเอาเงินต้นคืนเมื่อใดก็ได้ เป็นจุดขายชักจูงใจจนมีประชาชนหลงเชื่อนำเงินมาให้กู้ยืมนับหมื่นคนและมีวงเงินความเสียหายเท่าที่ปรากฏเป็นคดีในขณะนั้นประมาณ 5,000 ล้านบาท



ประเด็นก็คือก่อนปี พ.ศ. 2527 การกู้ยืมเงินของชม้อยไม่ได้เป็นความผิด กฎหมายที่มีอยู่จะเอาผิดการกู้ยืมเงินนี้ได้ก็ต่อเมื่อมีการผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินที่ชม้อยออกให้ หรือหากผิดสัญญาก็อาจต้องรับผิดทางแพ่งเท่านั้น



รัฐบาลในขณะนั้นได้ติดตามพฤติกรรมและพบว่ามิได้มีการนำเงินไปลงทุนค้าน้ำมันตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด แต่ชม้อยได้ใช้วิธีนำเงินจากผู้ให้กู้ยืมรายหลังๆ มาจ่ายเป็นดอกเบี้ยให้กับผู้ให้ยืมรายก่อนๆ ซึ่งจะสามารถทำต่อไปได้เรื่อยๆ ตราบเท่าที่สามารถหาเงินจากผู้ให้กู้ยืมรายใหม่เพิ่มขึ้นได้มากกว่าร้อยละ 6.5 ต่อเดือนของวงเงินที่มีอยู่ แต่หากหาไม่ได้ทันก็หมายความว่าแชร์วงนี้ก็จะพบจุดจบเนื่องจาก “เท้าแชร์หรือหัวหน้าวงแชร์” ไม่สามารถหาเงินมาจ่ายดอกเบี้ยได้ทันนั่นเอง ส่วนเงินต้นไม่ต้องพูดถึงเพราะไม่มีใครมาถอนเงินพร้อมกันหากไม่เกิดเหตุอะไรมากระทบความเชื่อมั่น ดังนั้นหากไม่ต้องคืนเงินต้นและหาเงินมาจ่ายดอกเบี้ยให้ทันก็อยู่ได้



เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดกับเศรษฐกิจของประเทศหากปล่อยให้มีการกู้ยืมเงินในลักษณะหลอกลวงเช่นนี้ รัฐบาลจึงได้ออก พ.ร.ก.การกู้เงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ขึ้นมาเพื่อให้พฤติกรรมการกู้ยืมเงินของชม้อยที่ทำอยู่ให้เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน แต่ชม้อยและพวกก็ยังฝ่าฝืนดำเนินการเช่นเดิมต่อไปเป็นปกติเช่นเดิมโดยสร้างหลักฐานการกู้ยืมเงินว่าเกิดก่อนกฎหมายนี้จะใช้บังคับ เนื่องจากการกู้ยืมเงินลักษณะนี้โดยธรรมชาติของตัวมันเองไม่สามารถหยุดและคืนเงินให้ครบทุกคนโดยไม่มีใครเสียหายได้เพราะเอาเงินต้นมาจ่ายเป็นดอกเบี้ย



จุดจบเกิดขึ้นในต้นปี พ.ศ. 2528 ไม่กี่เดือนหลัง พ.ร.ก.ดังกล่าวออกมามีผลบังคับใช้ เมื่อชม้อยเริ่มปฏิเสธการจ่ายดอกเบี้ยและไม่สามารถจ่ายเงินต้นคืนให้กับผู้ที่ไม่ต้องการให้กู้ต่อได้ครบทุกคนเหมือนเช่นเคย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีผู้เห็นโอกาสไปจัดตั้งวงแชร์ของตนเอง เช่น แชร์มิลเลี่ยนแนร์ หรือแชร์ชาร์เตอร์เลียนแบบดึงลูกวงไป แต่สาเหตุหลักน่าจะอยู่ที่การหาเงินเข้าใหม่ให้เกินร้อยละ 6.5 ต่อเดือนเพราะเมื่อวงเงินมีขนาดใหญ่เป็นหมื่นล้านบาทก็ทำได้ลำบากมากขึ้น



ผลก็คือมีผู้เสียหายเข้าร้องทุกข์แจ้งความจำนวนมาก ชม้อยกับพวกถูกดำเนินคดี มีการต่อสู้ในชั้นศาลกว่า 4 ปีจึงถูกพิพากษาว่ามีความผิดตามกฎหมายฉ้อโกงประชาชนที่ออกมาเมื่อปี พ.ศ. 2527 ถูกสั่งจำคุกคนละ 154,005 ปี ผู้เสียหายเกือบทั้งหมดได้รับเงินคืนในจำนวนที่น้อยมาก



ประเด็นแรก ก็คือ คดีแชร์แม่ชม้อยนี้เป็นความขัดแย้งระหว่างเอกชนคือชม้อยกับรัฐไทย เช่นเดียวกับทักษิณกับรัฐไทย มีที่ใดต่างกันบ้าง? ทำไมจึงไม่เลือกมาเป็นกรณีศึกษา?



ผลการศึกษาของคณะผู้วิจัยที่อ้างว่า รากเหง้าของความขัดแย้งทางการเมืองไทยมาจากปัญหา “มุมมองที่แตกต่างกันต่อความเป็นประชาธิปไตยของประเทศที่เกี่ยวข้องกับระบบการจัดสรรอำนาจและทรัพยากรในสังคม ระหว่างฝ่ายหนึ่งที่ให้น้ำหนักต่อการเลือกตั้งซึ่งความชอบธรรมของผู้บริหารประเทศอยู่ที่ “เสียงข้างมาก” ของประชาชน กับอีกฝ่ายหนึ่งที่ให้น้ำหนักต่อ “คุณธรรมจริยธรรม” ของผู้บริหารประเทศมากกว่าความเป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่” จึงมาจากการวิเคราะห์ที่ผิดพลาดเพราะนอกจากจะ “หักดิบข้อเท็จจริง” แล้วยังไม่สนใจกรณีเหมือนกันที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตเสียอีก



ทักษิณกระทำผิดต่อรัฐจากการใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปหาผลประโยชน์ อันเป็นการ “ขัดกันของผลประโยชน์” ที่กฎหมาย ป.ป.ช.พ.ศ. 2542 ม. 100 บัญญัติไว้ว่าเป็นความผิดเช่นเดียวกับชม้อยที่หากเลิกการกู้ยืมที่ทำหลัง พ.ร.ก.เมื่อปลายปี พ.ศ. 2527 มีผลบังคับใช้ กฎหมายดังกล่าวก็ยากที่จะเอาผิดชม้อยได้ ทักษิณก็เช่นเดียวกันหากไม่ทำผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช.ห้ามจะผิดติดคุกได้อย่างไร



ใจกลางรากเหง้าปัญหาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจึงมาจากการที่ทักษิณมีตำแหน่งสำคัญใหญ่โตถึงขั้นนายกฯ และใช้ตำแหน่งนั้นโดยอ้าง “เสียงข้างมาก” ที่มีในระบอบประชาธิปไตยมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตนต่างหาก หาใช่ “มุมมองที่แตกต่างกันต่อความเป็นประชาธิปไตยของประเทศที่เกี่ยวข้องกับระบบการจัดสรรอำนาจและทรัพยากรในสังคม” จนนำมาซึ่งความขัดแย้งในสังคมตามที่คณะผู้วิจัยอ้างถึงแต่อย่างใดไม่



ประเด็นที่สอง ในเรื่องปัจจัยหรือกระบวนการที่สามารถทำให้คนในสังคมสามารถกลับมาอยู่ร่วมกันได้โดยสันตินั้น คณะผู้วิจัยได้เสนอ (ก) การให้อภัยแก่การกระทำที่เกี่ยวข้องผ่านกระบวนการนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่อง และ (ข) ใช้การยกเลิกการกระทำของ คตส.เพื่อลดเงื่อนไขของข้อกล่าวอ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมของผู้ถูกกล่าวหาเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม



กล่าวง่ายๆ เพื่อความเข้าใจก็คือ การทำตามข้อเสนอ (ก) นั้นมีพื้นฐานหลักมาจากการอ้างว่าการกระทำของ คตส.ตาม(ข) นั้นละเมิดหลักนิติรัฐ หากยกเลิก (ข) เสียก็จะไม่มีเงื่อนไขให้ขัดแย้งและหากยกเลิกความผิดด้วยการนิรโทษกรรมคดีที่ตัดสินไปแล้วตาม (ก) ด้วย เช่น คดีทุจริตที่ดินรัชดาฯ ของทักษิณ ก็จะเป็นการทำให้สังคมสามารถกลับมาอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ



หากใช้กรณีชม้อยเป็นกรณีศึกษาเปรียบเทียบแทนตัวอย่างในต่างประเทศที่ไม่ใกล้เคียงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแต่อย่างใดจะเห็นได้ว่า คตส.มิได้ออกหรือใช้กฎหมายพิเศษมาเล่นงานใครคนใดคนหนึ่งเป็นการเฉพาะแต่อย่างใด เช่นเดียวกับกรณีชม้อย แม้จะมีการออกกฎหมายออกมาเพื่อให้การกู้ยืมเงินที่ชม้อยเคยทำก่อนหน้าเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนแต่ก็มีอีกหลายคนทั้งในเวลานั้น เช่น แชร์ชาร์เตอร์ หรือในภายหลังที่ถูกกฎหมายนี้เล่นงาน กฎหมายนี้ยังคงอยู่และไม่เห็นว่าคณะผู้วิจัยหรือ ส.ส.จะเสนอให้ยกเลิกเพราะมาจากเผด็จการหรือเป็นความยุติธรรมของผู้ชนะตามขอบเขตการศึกษาที่กล่าวอ้างอย่างสวยหรูแต่อย่างใดไม่



ดังนั้นหากชม้อยไม่กระทำขัดต่อด้วยกฎหมายนี้ก็ไม่น่าจะเอาผิดได้ แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก็คือชม้อยยังคงฝ่าฝืนหลังกฎหมายใช้บังคับต่างหาก ในขณะที่คดีทุจริตที่ดินรัชดาฯ นั้นทักษิณจงใจฝ่าฝืนกระทำผิดต่อกฎหมายที่มีมาก่อนโดยการเตรียมการล่วงหน้าใช้ทั้งคนขับรถคนสวนในครั้งแรกและใช้บริษัทบังหน้าในครั้งที่สอง จะอ้างว่า “กระทำผิดโดยสุจริต” หรือไม่จงใจได้อย่างไร การกระทำของ คตส. เป็นการละเมิดหลักนิติรัฐตรงที่ใด



การสอบสวนดำเนินคดีกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยทั่วไปไม่สามารถกระทำได้เช่นเดียวบุคคลธรรมดา กรณีประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายคลินตันมีสัมพันธ์ทางเพศกับเจ้าหน้าที่ฝึกงานก็ถูกสอบสวนโดยอัยการพิเศษที่ตั้งขึ้นมาเพื่อคดีนี้โดยเฉพาะแต่ก็ยังใช้กฎหมายตามปกติ คตส.ก็ตั้งอยู่บนหลักการนี้เช่นเดียวกันเพราะจะให้อัยการมาสอบสวนกล่าวหานายกฯ ที่เป็นผู้บังคับบัญชานั้นเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว



ดูข้อเท็จจริงที่ปรากฏได้จากหลายคดี เช่น คดีนายกฯ หุ่นโชว์กล่าวให้การเท็จในศาลเพื่อช่วยพี่ชาย หน่วยงานรัฐก็ชี้แทนศาลเสียเองว่าไม่ผิด ทั้งที่การเป็นพยานยืนยันข้อเท็จจริงว่า “เป็นเจ้าของหุ้นหรือไม่” กับการให้ความเห็นมันคนละเรื่องเดียวกัน ให้ความเห็นต่างไม่ผิดแต่ยืนยันให้การต่อศาลในสิ่งที่ตนเองรู้ว่าไม่ได้เป็นเจ้าของนั้นจะไม่เป็นการให้การเท็จเพื่อช่วยจำเลยได้อย่างไร จะบอกว่าไม่ผิดด้วยเหตุนี้นั้นช่างสมเป็น “ศรีธาริตชัย” ยิ่งนัก



ในทางตรงกันข้ามหากจะยกเลิกการกระทำของ คตส.ก็จะเป็นการปิดโอกาสความยุติธรรมที่มีต่อผู้ที่ คตส.กล่าวหา อย่าลืมว่าส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองและยังเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหายังมิใช่ผู้มีความผิดแต่อย่างใดไม่ อีกทั้ง คตส.ก็ไม่อยู่แล้วการดำเนินคดีจึงเป็นหน้าที่ของอัยการทำไมจึงไม่ให้โอกาสนี้กับผู้ที่ถูกกล่าวหามาพิสูจน์ว่าไม่มีความผิดเพื่อให้สังคมได้เข้าใจและยอมรับ การตัดตอนมิให้มีการนำคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต่างหากที่จะเป็นการสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในสังคม



ดังนั้นหากทำตาม (ข) แล้วจะไปให้อภัยยกโทษได้อย่างไรเพราะยังไม่ได้พิสูจน์ว่ามีความผิดมีโทษเกิดขึ้น ในทำนองเดียวกันการนิรโทษกรรมเกี่ยวกับคดีทางการเมืองไม่ว่าจะทั้งหมดหรือไม่ตาม (ก) คดีทุจริตที่ดินรัชดาฯ ก็ไม่เข้าข่ายเนื่องจากเป็นความผิดระหว่างเอกชนกับรัฐ หากจะฝืนนิรโทษกรรมคดีนี้ก็ต้องรวมคดีอื่นๆ เช่น คดีแชร์แม่ชม้อยไปด้วยมิเช่นนั้นก็ส่อว่าทำเพื่อคนเพียงคนเดียวเท่านั้น แต่ข้อสำคัญจะหาความยุติธรรมให้ชม้อยหรือพระรักเกียรติที่ติดคุกชดใช้กรรมไปแล้วด้วยกฎหมายเดียวกันหรือผู้ที่ถูกชม้อยโกงเงินคืนกลับมาได้อย่างไร



พื้นฐานแนวคิดและตรรกะเรื่องข้อเสนอเพื่อการปรองดองทั้งสองประการนี้ของคณะผู้วิจัยจึงไม่ถูกต้องที่จะเสริมสร้างความปรองให้เกิดขึ้นแต่อย่างใด เมื่อปราศจากพื้นฐานทางวิชาการจะให้คนอื่นเขายอมรับได้อย่างไร





Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้