แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (38) (11/12/2555)

แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (38) (11/12/2555)


แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ
 
เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (38)

(11/12/2555)

 

 
*แนวทางการพัฒนาศักยภาพของสมองด้วยกุณฑาลินีโยคะ (ต่อ)*



(2) ต่อมพิทูอิทารี


ต่อมนี้ก็เป็นต่อมหลักเช่นเดียวกับ ต่อมไพนีลที่ได้กล่าวไปแล้ว ต่อมนี้มีขนาดใหญ่เท่าเมล็ดถั่ว หนักราวๆ 0.5 กรัม อันที่จริง หน้าที่ของต่อมพิทูอิทารีนี้เป็นเพียงสถานีส่งผ่านถ่ายทอดฮอร์โมนต่างๆ ไปยังต่อมไร้ท่ออื่นๆ หรืออวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกายเท่านั้น โดยที่ต่อมพิทูอิทารีนี้จะต้องรับคำสั่ง และข่าวสารจากไฮโพทาลามัสอีกต่อหนึ่ง ไฮโพทาลามัสเป็นอวัยวะในสมองที่สังกัดจักระที่ 7 (สหัสธาร) ขณะที่ต่อมพิทูอิทารีเป็นอวัยวะในสมองที่สังกัดจักระที่ 6 (อาชญะ) ไฮโพทาลามัสทำหน้าที่ประสานงานระหว่างระบบประสาทกับต่อมไร้ท่อต่างๆ รวมทั้งยังทำหน้าที่ควบคุมปฏิกิริยาของร่างกายที่มีต่อสภาวะอารมณ์อันปั่นป่วนต่างๆ ด้วย



ถ้าพิจารณาในเชิงประสาทวิทยา ไฮโพทาลามัสคือ ศูนย์ควบคุมต่อมไร้ท่อในร่างกายทั้งหมดตัวจริง ในมุมมองของกุณฑาลินีโยคะจึงมองว่า ต่อมไพนีลกับไฮโพทาลามัสล้วนสังกัดอยู่ในจักระที่ 7 (เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ตำแหน่งของจักระที่ 7 จึงไม่น่าจะเป็นจุด แต่น่าจะเป็น “พื้นที่สามมิติ” ระหว่างไฮโพทาลามัสที่อยู่ส่วนหน้าของสมองกับต่อมไพนีลที่อยู่เยื้องไปด้านหลังของสมองมากกว่า)



ปัญหาอยู่ที่ว่า ไฮโพทาลามัสทำการควบคุมต่อมไร้ท่อทั้งหมดในร่างกาย โดยผ่านต่อมพิทูอิทารีได้อย่างไร? คำตอบนั้นอยู่ที่เส้นประสาท เพราะที่บริเวณไฮโพทาลามัสนี้เป็นที่ชุมนุมของเส้นประสาทสมองที่สำคัญเป็นจำนวนมากด้วย ในวิชากุณฑาลินีโยคะ จึงใช้การเพ่งจิต การทำปางมือ (มุทรา) การทำท่าอาสนะ การใช้ลมปราณ และการใช้เสียง (มนตรา) อย่างบูรณาการเพื่อไปกระตุ้นเส้นประสาทสมองเหล่านี้ทางอ้อม เพื่อส่งผลต่อไฮโพทาลามัสที่จะไปสั่งการต่อมไร้ท่อต่างๆ อีกทีหนึ่งโดยผ่านต่อมพิทูอิทารี



ต่อมพิทูอิทารีสามารถแบ่งได้ออกเป็น 3 ส่วนคือ กลีบหน้า กลีบกลาง และกลีบหลัง ฮอร์โมนที่ถูกขับออกมาจากกลีบหน้าที่สำคัญมีอยู่ 6 ชนิดได้แก่ (ก) ฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญเติบโต (ข) ฮอร์โมนกระตุ้นต่อมเพศ (ค) ฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์ (ง) ฮอร์โมนกระตุ้นผิวต่อมอะดรีนัล (จ) ฮอร์โมนกระตุ้นต่อมพาราไทรอยด์ และ (ฉ) ฮอร์โมนกระตุ้นต่อมนม



จะเห็นได้ว่า ฮอร์โมนที่ถูกขับออกมาจากกลีบหน้าของต่อมพิทูอิทารีนั้น ได้ควบคุมหรือมีบทบาทอย่างสำคัญต่อการทำงานของต่อมหลักๆ ในร่างกายเกือบทั้งหมดเลยทีเดียว สำหรับฮอร์โมนที่ถูกขับออกมาจากกลีบกลางนั้น ที่สำคัญคือฮอร์โมนที่ให้ผิวหนังคล้ำขึ้น ส่วนฮอร์โมนที่ถูกขับออกมาจากกลีบหลังนั้น ที่สำคัญมีอยู่ 2 ชนิดคือ ฮอร์โมนที่ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นกับดูดซับน้ำ และฮอร์โมนที่ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณลำไส้กับกระเพาะปัสสาวะหดตัว อนึ่ง ฮอร์โมนที่หลั่งออกมาจากต่อมพิทูอิทารียังมีหน้าที่สำคัญในการเร่งการเคลื่อนไหวของลำไส้ต่างๆ ช่วยรักษาเส้นเลือดให้มีสมรรถนะดีขึ้น ช่วยกระตุ้นไตให้ทำงานได้อย่างสมบูรณ์ ช่วยควบคุมการเจริญเติบโต และยังช่วยควบคุมระดับอุณหภูมิของร่างกายให้เป็นปกติอีกด้วย



(3) ต่อมน้ำลาย


ต่อมนี้สังกัดจักระที่ 5 หรือวิสุทธะ ต่อมนี้นอกจากจะผลิตน้ำลายแล้ว ยังผลิตฮอร์โมนชนิดหนึ่งออกมา ซึ่งทำหน้าที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของอวัยวะที่แข็งๆ ในร่างกายคนอย่างกระดูกและฟัน นอกจากนี้ ยังมีบทบาทในการชะลอความแก่ อีกด้วย



(4) ต่อมพาราไทรอยด์


ต่อมนี้ก็สังกัดจักระที่ 5 (วิสุทธะ) ต่อมนี้มีขนาดเล็กเท่ากับเมล็ดข้าวอยู่ติดกับต่อมไทรอยด์ด้านหลัง ต่อมนี้ผลิตฮอร์โมนออกมาชนิดหนึ่งที่ทำหน้าที่ควบคุมระดับความเข้มข้นของแคลเซียมในกระแสเลือดกับช่วยการเจริญเติบโตของกระดูกและฟัน ถ้าร่างกายขาดฮอร์โมนประเภทนี้จะทำให้เกิดโรคทางประสาท โรคตา ผิวแห้ง ผมหยาบกระด้าง แต่ถ้าร่างกายมีฮอร์โมนประเภทนี้มากเกินไป ก็จะทำให้เป็นโรคกระดูกเปราะ



(5) ต่อมไทรอยด์


ต่อมนี้ก็สังกัดจักระที่ 5 (วิสุทธะ) เช่นกัน ต่อมนี้มีลักษณะคล้ายผีเสื้อที่เกาะอยู่บนหลอดเสียงบนลำคอ ทำหน้าที่คล้ายคันเร่งของรถยนต์ กล่าวคือ ต่อมไทรอยด์เป็นตัวเร่งการทำงานของร่างกาย หรือทำให้ช้าลงโดยผ่านการควบคุมการเผาผลาญอาหารในร่างกาย การควบคุมอุณหภูมิในร่างกายให้คงที่ และการควบคุมการผลิตพลังงานในร่างกายให้คงที่ นอกจากนี้ ต่อมนี้ยังทำหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโต และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ อีกทั้งยังควบคุมกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับของเสียในร่างกายอีกด้วย



เพราะฉะนั้น การที่คนเราจะใช้ชีวิตอย่างซึมเซาไร้ชีวิตชีวา หรือใช้ชีวิตอย่างคึกคักกระตือรือร้น ก็ขึ้นอยู่กับฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ที่ขับออกมานี้ด้วยเช่นกัน โดยปกติในวันหนึ่งๆ ฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์จะถูกขับออกมาราวๆ 1/100 มิลลิเมตร แต่เมื่อคนเราแก่ตัวลง ต่อมไทรอยด์ก็จะเริ่มเสื่อมถอยลงด้วยเช่นกัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนแก่มักกลายเป็นคนขี้หนาว ทั้งนี้เพราะการเกิดความร้อนในร่างกายเริ่มไม่พอเพียงนั่นเอง



เพราะฉะนั้น ผู้ที่ต้องการชะลอวัย คงความเป็นหนุ่มเป็นสาวให้ยาวนาน ก็ต้องหาวิธีทำให้ต่อมไทรอยด์นี้คงสมรรถภาพที่ดีเยี่ยมตลอดไปให้ได้ อนึ่ง ความไม่สมดุลในต่อมไทรอยด์จะส่งผลรุนแรงมาก ถ้ามีการหลั่งสารฮอร์โมนออกมามากเกินไปเพียงเล็กน้อย ก็จะทำให้โกรธฉุนเฉียวง่าย หรือถ้าหากหลั่งสารฮอร์โมนออกมาน้อยเกินไป ก็จะรู้สึกเหนื่อยง่าย หรือรู้สึกอ่อนล้า เฉื่อยชา เงื่องหงอย เป็นต้น



(6) ต่อมไทมัส


ต่อมนี้สังกัดจักระที่ 4 หรืออนาหตะ ต่อมนี้ตั้งอยู่บนด้านหลังของกระดูกทรวงอกบริเวณเหนือหัวใจ ในบรรดาอวัยวะภายในทั้งหมด ต่อมนี้เป็นอวัยวะที่เสื่อมถอยเร็วที่สุด กล่าวคือ ในวัยเด็กทารกต่อมนี้จะมีขนาดใหญ่มาก แต่เมื่อแตกเนื้อหนุ่มหรือเป็นสาว มันจะค่อยๆ หดเล็กลงเหลือเพียง ¼ ของขนาดเดิมเท่านั้น ต่อมไทมัสนี้มีบทบาทสำคัญในการควบคุมภูมิคุ้มกันโรคในร่างกายของคนเรา



(7) ตับอ่อน


ตับอ่อนสังกัดจักระที่ 3 หรือมณีปุระ ตับอ่อนอยู่ในบริเวณเกือบใต้กระเพาะอาหาร ตับอ่อนนอกจากจะหลั่งน้ำย่อยที่ใช้ในการย่อยอาหารลงในลำไส้เล็กแล้ว มันยังหลั่งฮอร์โมนที่เรียกว่า อินซูลินออกมาอีกด้วย อินซูลินมีหน้าที่ช่วยลดปริมาณของกลูโคสในกระแสเลือดให้น้อยลง ความบกพร่องในตับอ่อนจะก่อให้เกิดโรคเบาหวานได้



(8) ต่อมอะดรีนัล


ต่อมนี้สังกัดจักระที่ 2 หรือสวาธิษฐาน ต่อมนี้มีความสำคัญรองจากต่อมพิทูอิทารีเท่านั้น เพราะเป็นต่อมที่มีบทบาทเฉพาะยามเกิดเหตุฉุกเฉินหรือวิกฤตที่ทำให้ต้องสู้หรือหนี ต่อมนี้จะผลิตฮอร์โมนซึ่งให้พลังงานในการต่อสู้ หรือมีพฤติกรรมที่หาญกล้าในยามฉุกเฉินสูงกว่ายามปกติถึง 10 เท่า ฮอร์โมนนั้นคืออะดรีนาลิน



(9) ต่อมเพศ


ต่อมนี้สังกัดจักระที่ 1 หรือมูลธาร ต่อมเพศเป็นต่อมที่ให้กำเนิดเซลล์สืบพันธุ์ และทำหน้าที่เกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศทั้งหมด นอกจากนี้ยังผลิตสารฮอร์โมนที่ควบคุมพัฒนาการทางกายภาพของคนเราด้วย ต่อมเพศจะหลั่งสารฮอร์โมนแอนโดรเจนกับฮอร์โมนเอสโทรเจนออกมาโดยที่แอนโดรเจนเป็นฮอร์โมนเพศชาย และเอสโทรเจนเป็นฮอร์โมนเพศหญิง แอนโดรเจนจะเพิ่มมวลของกล้ามเนื้อในร่างกายให้มากขึ้น และโน้มนำให้เกิดพฤติกรรมที่ก้าวร้าว ส่วนเอสโทรเจนจะเพิ่มความอ่อนนุ่มเพิ่มไขมัน และโน้มนำให้เกิดพฤติกรรมที่ใฝ่สันติ ในร่างกายของคนเราทุกคนจะผลิตทั้งแอนโดรเจน และเอสโทรเจนออกมา โดยที่ความได้สัดส่วนของฮอร์โมน 2 ชนิดนี้ จะทำให้บุคลิกภาพของคนผู้นั้นมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น คือมีดุลยภาพระหว่างหยินกับหยาง



ต่อไปจะขอกล่าวถึงเคล็ดการฝึกฝนกุณฑาลินีโยคะอย่างเป็นรูปธรรม






Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้