แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ
เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (63)
(4/6/2556)
*ว่าด้วยการปลุกจักระในกุณฑาลินีโยคะ (ต่อ)*
หลังจากที่ฝึกปลุกจักระที่ 5 แล้ว ผู้ฝึกจะต้อง ฝึกสมาธิกระตุ้น จุดพินธุในสมอง ด้วย เนื่องเพราะจักระที่ 5 กับจุดพินธุทำงานติดต่อกัน คำว่า พินธุ หมายถึงหยดน้ำซึ่งก็คือฮอร์โมนของเหลวในสมองนั่นเอง วิชาโยคะเชื่อว่าส่วนบนสุดของสมองด้านในมีบ่อหรือหลุมที่เล็กมาก บ่อนั้นเป็นที่หลั่งของเหลวหรือฮอร์โมนออกมา ซึ่งแม้จะหลั่งออกมาไม่มากนักเพียงแค่สองสามหยดก็จริง แต่มันจะไปเพิ่มคุณภาพของการทำหน้าที่ของระบบต่างๆ ในร่างกายของคนเราอย่างมากมาย
คัมภีร์ตันตระโบราณได้กล่าวไว้ว่า จุดพินธุ เปรียบเหมือนดวงจันทร์ที่หลั่งของเหลวเป็นน้ำทิพย์ออกมาที่ให้ความสดชื่นไม่รู้คลาย ให้ความกระชุ่มกระชวยมีชีวิตชีวาแก่ผู้นั้น และสามารถทำให้ผู้นั้น “อิ่มทิพย์” ในระหว่างการบำเพ็ญ และอดอาหารอยู่ โดยให้ของเหลวหลั่งออกมาจากจุดพินธุนี้แทน
จุดพินธุติดต่อกับจักระที่ 5 โดยผ่าน จักระลลนา ซึ่งเป็นจักระเล็กๆ ภายในช่องจมูก ซึ่งเป็นที่กักเก็บของเหลวที่หลั่งออกมาจากจุดพินธุ เมื่อผู้ฝึกทำการฝึกมุทราในท่า “เขจรีมุทรา” ซึ่งต้องม้วนลิ้นไปดันเพดานบนภายในช่องปาก จุดพินธุ จักระลลนา และจักระที่ 5 (จักระวิสุทธิ) จะเชื่อมถึงกันทันที ทำให้เกิดการหลั่งของเหลวหรือ “น้ำทิพย์” จากจุดพินธุไปกักเก็บที่จักระลลนาก่อนที่จะนำมาทำให้บริสุทธิ์ที่จักระวิสุทธิ ดังนั้นจุดพินธุกับจักระลลนา จึงไม่ใช่ศูนย์กลางที่จะถูกปลุกให้ตื่นตัวเหมือนจักระที่ 5 เพราะถ้าผู้ฝึกสามารถปลุกจักระที่ 5 ได้ จุดพินธุกับจักระลลนาก็จะฟื้นตัวขึ้นมาทำหน้าที่ทันทีเช่นกัน
เมื่อฝึกปลุกจักระที่ 1 (จักระมูลธาร) จนตื่นตัว จะมีอาการรู้สึกง่วงนอนขึ้นมาในขณะบำเพ็ญ เมื่อฝึกปลุกจักระที่ 2 (จักระสวาธิษฐาน) จนตื่นตัว ก็จะมีอาการรู้สึกง่วงนอนขึ้นมาในขณะบำเพ็ญเช่นกัน ครั้นพอฝึกปลุกจักระที่ 3 (จักระมณีปุระ) จนตื่นตัวขึ้นมา จะรู้สึกอบอุ่นบริเวณช่องท้องในขณะบำเพ็ญ เมื่อฝึกปลุกจักระที่ 4 (จักระอนาหตะ) จนตื่นตัวขึ้นมา จะมีอาการสั่นกระเพื่อมบริเวณทรวงอกเกิดขึ้นมาเองเป็นพักๆ หรือบางครั้งก็มีมโนภาพของแสงสว่างวูบวาบออกมา แม้ขณะกำลังหลับตานั่งสมาธิอยู่ท่ามกลางความมืด เมื่อฝึกปลุกจักระที่ 5 (จักระวิสุทธิ) จนตื่นตัวขึ้นมา จะรู้สึกว่า มีอาการชุ่มคออยู่เป็นนิจ เมื่อฝึกปลุกจักระที่ 6 (จักระอาชณะ) จนตื่นตัวขึ้นมา จะรู้สึกเหมือนมีอาการมึนงง มึนเมา และเคลิบเคลิ้ม หมดความใส่ใจในสิ่งภายนอกร่างกาย สนใจแต่สิ่งภายในตนเองเท่านั้น
อนึ่ง เมื่อจุดพินธุตื่นตัวขึ้นมา ผู้ฝึกจะรู้สึกถึงความกระจ่างของแสงจันทร์ครึ่งเสี้ยวยามราตรี แม้ขณะกำลังหลับตานั่งสมาธิอยู่ในความมืด เคล็ดในการฝึกจุดพินธุ มีดังนี้...นั่งในท่าอาสนะที่ถนัดสบายท่าใดท่าหนึ่ง มือทั้งสองซ้อนกันวางบนตักให้ผ่อนคลาย อย่าเกร็ง หลับตาเบาๆ หายใจตามธรรมชาติ พึงหลีกเลี่ยงเสียงที่จะมารบกวนทำให้จิตใจวอกแวก ขอให้มีสติรู้สึกตัวตลอดเวลา รู้ลมหายใจเข้าออก ถึงแม้ว่าจิตบางครั้งเขวออกไป เมื่อรู้ตัวก็ให้ค่อยๆ ดึงจิตกลับมาที่ศูนย์กลางการหายใจทุกครั้ง เมื่อหายใจเข้าก็ให้รู้ตัว เมื่อหายใจออกก็ขอให้รู้ตัวอยู่ตลอดเวลา ให้มีความมั่นคงสม่ำเสมอกับความรู้สึกเช่นนี้ไปเรื่อยๆ
จากนั้นหายใจเข้าให้นึกถึงคำว่า “โซ” หายใจออกให้นึกถึงคำว่า “ฮัม” (จะใช้ “พุท” “โธ” แทนก็ได้) ขอให้รู้ถึงโซ-ฮัมกับลมหายใจเข้าออกนี้ ทั้งในลำคอ จมูก ทรวงอก สะดือ คือให้รู้ทั่วร่าง จิตจดจ่ออยู่กับการหายใจ และโซ-ฮัมจนกลมกลืนสัมพันธ์กันแล้ว ก็ให้เพ่งสมาธิจิตไปที่จักระที่ 5 กับจุดพินธุในสมอง ให้รู้สึกว่าทั้งสองอยู่ในแนวเดียวกันเป็นเส้นตรงต่อจากกระดูกสันหลัง จนกว่าจะออกจากสมาธิ
ชื่อเต็มของพินธุคือ พินธุวิสาขา ที่แปลว่า การหยดของหยดน้ำ จุดพินธุเป็นจุดเล็กๆ อยู่ด้านบนทางหลังศีรษะภายในสมอง นอกจากการฝึกจุดพินธุดังข้างต้นแล้ว ผู้ฝึกยังสามารถฝึกจุดพินธุอีกวิธีหนึ่งดังต่อไปนี้...
นั่งขัดสมาธิอย่างมั่นคง ตัวตรง หลังตรง แต่ผ่อนคลายร่างกายทั่วร่าง ห่อลิ้นทำเขจรีมุทรา สูดหายใจเข้าทางจมูกพร้อมกับค่อยๆ เงยศีรษะไปข้างหลัง และ ทำ “ศามภวี มุทรา” (การทำสมาธิแบบลืมตา โดยเพ่ง “ตาใน” จดจ่อไปที่กลางกระหม่อม) จากนั้นให้กักลมหายใจให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้โดยไม่ฝืน โดยยังคงทำ “ศามภวี มุทรา” อยู่ เพียงแต่คราวนี้ให้จดจ่อไปที่จุดพินธุแทน ในระหว่างนั้น แขนสองข้างควรเหยียดตรง ศอกตึง และใช้ฝ่ามือกดหัวเข่าเอาไว้ จิตจดจ่ออยู่ที่จุดพินธุ ค่อยๆ งอแขนพร้อมกับระบายลมหายใจออกทางจมูกช้าๆ ขณะเดียวกัน ค่อยๆ ยกศีรษะขึ้นตั้ง พร้อมกับค่อยๆ ปิดตา เมื่อหายใจออกหมดศีรษะควรกลับมาตั้งตรง และปิดตาอย่างสมบูรณ์ จงผ่อนคลายอย่างสิ้นเชิง และยังคงหลับตาอยู่ ให้คลายเขจรีมุทรา และหายใจตามปกติ จงตระหนักถึงความเบา และความสงบที่แผ่คลุมไปทั่วจิตใจขณะนั้น นี่คือการฝึกหนึ่งรอบให้พักสักครู่ก่อนฝึกรอบต่อไป ให้ฝึกไปเรื่อยๆ จนกว่าจะออกจากสมาธิ
อนึ่ง เนื่องจากจักระที่ 2 (จักระสวาธิษฐาน) มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับจุดพินธุ ผู้ฝึกจึงสามารถใช้ การฝึก “วัชโรลิ มุทรา” เพื่อกระตุ้นจุดพินธุได้ดังต่อไปนี้---นั่งในท่าสิทธะอาสนะ หลับตา ผ่อนคลาย พยายามดึงอวัยวะเพศขึ้นโดยการเกร็งท้องน้อย และท่อปัสสาวะเหมือนในช่วงที่กำลังอั้นปัสสาวะ ให้ทำการขมิบและคลายที่บริเวณนั้สลับกันไปเรื่อยๆ พร้อมกับส่งสมาธิจิตไปที่บริเวณก้นกบ ซึ่งเป็นที่ตั้งของจักระที่ 2 ในกระดูกสันหลัง จากนั้นให้ชักนำสมาธิจิตจากตรงนั้นไต่ขึ้นสูงตามท่อสุษุมนะ (ท่อปราณตรงกลาง) ไปยังจุดพินธุในสมอง เพื่อรวมพลังทางเพศ
จากจักระที่ 2 เข้ากับพลังทางจิตวิญญาณที่จุดพินธุ จากนั้นจึงค่อยออกจากสมาธิและคลาย “วัชโรลิ มุทรา” นี่คือการฝึกหนึ่งรอบ ให้พักสักครู่ก่อนฝึกรอบต่อไปให้ฝึกไปเรื่อยๆ จนกว่าจะยุติการฝึก การฝึกข้างต้นนี้ควรกระทำทันทีหลังจากที่ได้ฝึก “ศามภวี มุทรา” อันเป็นการฝึกก่อนหน้าที่ได้ถ่ายทอดไปแล้ว เพราะการฝึกทั้งสองแบบนี้ จะช่วยกระตุ้นจุดพินธุเหมือนกัน
เมื่อผู้ฝึกได้ฝึกปลุกจักระต่างๆ มาถึงขั้นนี้แล้ว ต่อไปการทำสมาธิสำหรับปลุกจักระที่ 7 หรือจักระสหัสธารก็จะเป็นเรื่องง่าย เพราะผู้ฝึกแค่นั่งขัดสมาธิในท่าสิทธะอาสะสองมืออยู่ในท่าชินมุทรา หลับตาเบาๆ หายใจเข้านึกถึงคำว่า “โซ” พร้อมกับ ขมิบกล้ามเนื้อรอบรอยฝีเย็บเบาๆ เพื่อให้พลังกุณฑาลินีพุ่งขึ้นผ่านช่องสุษุมนะ และไหลออกผ่านทวารที่ยอดศีรษะออกไปสู่จักรวาล กลั้นลมหายใจนานเท่าที่ทำได้โดยไม่ฝืน พร้อมกับจินตนาการว่า พลังกุณฑาลินีกำลังไปรวมตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับปรมาตมัน หรือพรหมมันในจักรวาล
ตอนหายใจออกนึกถึงคำว่า “ฮัม” พร้อมกับนึกว่ามีปราณจากปรมาตมันในจักรวาลไหลผ่านทวารบนยอดศีรษะลงไปตามช่องสุษุมนะ แล้วเข้าไปพบกับกุณฑาลินีศักติที่จักระที่ 1 หรือจักระมูลธาร กลั้นลมหายใจนานเท่าที่ทำได้โดยไม่ฝืน พร้อมกับจินตนการว่าปราณกับกุณฑาลินีศักติกำลังหลอมรวมกัน จากนั้นให้เพ่งสมาธิจิตไปที่ยอดศีรษะที่จักระที่ 7 หรือจักระสหัสธาร จนกว่าจะออกจากสมาธิ