แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ
เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (69)
(16/7/2556)
*เคล็ดการฝึก “กิริยา” ในกุณฑาลินีโยคะ (ต่อ)*
กิริยาท่าที่ 11 “ศักติ จาลนิ” (ปิดทวาร ชักนำปราณ)
กิริยาท่านี้ ควรฝึกในท่าสิทธะอาสนะ หรือปัทมะอาสนะ ให้ปิดตาตลอดการฝึก และห่อลิ้นทำ เขจรีมุทรา จากนั้นหายใจออกให้ผมส่งกระแสจิตจดจ่อไปที่จักระที่ 1 (จักระมูลธาร) ก้มหน้าเล็กน้อยพร้อมกับดึงลมปราณจากจักระที่ 1 ขึ้นไปทางช่องลมปราณด้านหน้าของลำตัว พร้อมๆ กับการหายใจเข้าแบบอุชชายี เมื่อชักนำปราณไปถึงจุดพินธุ ค่อยๆ ยกศีรษะตามขึ้นไปด้วย โดยให้ศีรษะตั้งตรงตอนที่ชักนำปราณไปถึงจุดพินธุพอดี จากนั้นให้กักลมหายใจพร้อมกับปิดทวารทั้ง 7 คือ สองหู สองตา สองรูจมูก และหนึ่งริมฝีปากด้วยนิ้วทั้งห้าทั้งสองข้าง ในระหว่างนั้น ให้ขับเคลื่อนปราณให้ไหลเวียนเป็นวงโคจร โดยไหลลงจากช่องปราณด้านหลังของลำตัวไปถึงจักระที่ 1 และไหลขึ้นจากจักระที่ 1 ขึ้นไปตามช่องปราณด้านหน้าของลำตัวไปยังจุดพินธุ จากจุดพินธุไหลลงไปยังจักระที่ 6 แล้วไหลลงผ่านช่องปราณด้านหลังของลำตัว ไหลวนเวียนอยู่เช่นนี้ไม่ขาดสาย ในระหว่างที่กักลมหายใจอยู่จนกระทั่งไม่อาจกักลมหายใจได้อีกต่อไป จึงค่อยคลายนิ้วทั้งหมดออกจากการปิดทวารทั้ง 7 วางฝ่ามือลงที่หัวเข่า กำหนดจิตไปที่จุดพินธุพร้อมกับค่อยๆ ระบายลมหายใจออกแบบอุชชายี แล้วชักนำจิตลงไปที่จักระที่ 1 อีกครั้ง เพื่อเตรียมฝึกรอบต่อไป ทั้งนี้ควรฝึกกิริยานี้ให้ได้ 5 รอบขึ้นไป หรือ 5 ลมหายใจต่อเนื่องกันไป
กิริยาท่าที่ 12 “ศามภวี” (ท่าบัวบาน)
กิริยาท่านี้ ควรฝึกในท่าสิทธะอาสนะหรือปัทมะอาสนะ ปิดตาและห่อลิ้นทำเขจรีมุทรา ให้จินตนาการว่ามีดอกบัวที่ยังหุบอยู่ตั้งอยู่บนจักระที่ 7 กลางกระหม่อม โดยที่ก้านของดอกบัวนี้ทอดยาวลงมาตามช่องปราณด้านหลังของลำตัว โดยรากของดอกบัวอยู่ที่จักระที่ 1 จากนั้นให้หายใจเข้าแบบอุชชายี พร้อมทั้งชักนำจิตไต่ขึ้นจากจักระที่ 1 ขึ้นไปตามช่องปราณด้านหลังของลำตัว จนมาสุดที่จักระที่ 7 (สหัสธาร) พอมาถึงจักระที่ 7 แล้วให้กักลมอยู่ ณ ตำแหน่งดอกบัวหุบดอกนั้น พร้อมกับจินตนาการว่า ดอกบัวดอกนี้ค่อยๆ บานออกมาอย่างช้าๆ โดยที่ตัวเองก็ค่อยๆ ระบายลมหายใจออกแบบอุชชายีออกมาอย่างช้าๆ พร้อมกันด้วย ชักนำจิตกลับไปที่จักระที่ 1 อีกครั้ง โดยจินตนาการว่าดอกบัวบนจักระที่ 7 กลับมาหุบอีกตามเดิม เพื่อเตรียมที่จะฝึกท่าบัวบานนี้อีก ให้ฝึกอย่างนี้ 11 ครั้งก่อนที่จะออกจากสมาธิ
กิริยาท่าที่ 13 “อมฤตพาน” (ท่ากระตุ้นน้ำอมฤตในกาย)
กิริยาท่านี้ควรฝึกในท่าสิทธะอาสนะหรือปัทมะอาสนะ หลับตาและห่อลิ้นทำเขจรีมุทรา กำหนดจิตไปที่จักระที่ 3 (มณีปุระ) ตรงสะดือ จากนั้นค่อยๆ หายใจเข้าแบบอุชชายี ดึงปราณจากจักระที่ 3 ผ่านช่องปราณด้านหลังของลำตัวขึ้นไปที่จักระที่ 5 กักลมหายใจ ขณะที่ค่อยๆ เคลื่อนปราณจากจักระที่ 5 ไปที่จักระลลนาที่ช่องเพดานปากบน จากนั้นค่อยๆ ระบายลมหายใจออกแบบอุชชายี พอระบายลมหายใจออกหมด ให้กำหนดจิตไปที่จักระที่ 3 อีกเพื่อเริ่มทำกิริยาท่านี้ใหม่ ให้ทำทั้งหมด 9 ครั้ง
กิริยาท่าที่ 14 “จักระเภทาน” (ทะลวงจักระ)
กิริยาท่านี้ควรฝึกในท่าสิทธะอาสนะหรือปัทมะอาสนะปิดตา ห่อลิ้นทำเขจรีมุทรา และหายใจแบบอุชชายีทั้งเข้าและออก เริ่มจากหายใจออก ส่งจิตไปที่จักระที่ 2 ตรงช่องปราณด้านหลังของลำตัว ซึ่งตรงกับบริเวณก้นกบ จากนั้นหายใจเข้าชักนำจิตไปที่จักระที่ 1 บริเวณรอยฝีเย็บ ก่อนที่จะชักนำจิตผ่านช่องปราณด้านหน้าของลำตัวขึ้นไป ผ่านจักระต่างๆ ก่อนไปสิ้นสุดที่จักระที่ 5 แล้วค่อยระบายลมหายใจออก พร้อมๆ กับส่งจิตไปที่จุดพินธุ แล้วส่งไปยังจักระที่ 6 ก่อนที่จะส่งจิตลงตามช่องปราณด้านหลังของลำตัว ผ่านจักระต่างๆ จนกระทั่งกลับมายังจักระที่ 2 ที่บริเวณก้นกบอีกครั้ง ถือเป็น 1 รอบให้ฝึกอย่างนี้ 59 รอบหรือจนกว่าจะออกจากสมาธิ
กิริยาท่าที่ 15 “ปราณ อหุติ” (รับพลังศักดิ์สิทธิ์)
กิริยาท่านี้ ควรฝึกในท่าสิทธะอาสนะหรือปัทมะอาสนะปิดตา หายใจตามปกติ จงรู้สึกสัมผัสอันอ่อนโยนราวกับว่ามีมือศักดิ์สิทธิ์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตัวเองเคารพบูชา วางอยู่บนศีรษะของตัวเอง และมือศักดิ์สิทธิ์นี้กำลังถ่ายพลังปราณเข้าสู่ร่างกายและจิตใจของเราผ่านจักระที่ 7 จักระที่ 6 จักระที่ 5 ไปตามช่องปราณด้านหลังของลำตัว ผ่านจักระที่ 4 จักระที่ 3 จักระที่ 2 จนมาถึงจักระที่ 1 หรือจักระมูลธาร เมื่อปราณไหลมาถึงจักระที่ 1 แล้วให้ผู้ฝึกหันไปฝึกกิริยาท่าอื่นทันที โดยไม่ต้องฝึกกิริยาท่านี้ซ้ำ
กิริยาท่าที่ 16 “อุทธาน” (ดูพลังกุณฑาลินี)
กิริยาท่านี้ ควรฝึกในท่าสิทธะอาสนะ หรือปัทมะอาสนะปิดตา หายใจตามปกติ ส่งจิตไปที่จักระที่ 1 จินตนาการว่าพลังกุณฑาลินีที่จักระที่ 1 พยายามเคลื่อนตัวขึ้นสู่ข้างบน ให้เฝ้าดูว่าพลังกุณฑาลินีนี้ขึ้นมาได้ถึงจักระใด โดยแค่เฝ้าดูเฉยๆ ไม่ต้องไปบีบเค้นมัน ให้ฝึกแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าพลังกุณฑาลินีจะขึ้นไปถึงจักระที่ 7 ได้เอง
กิริยาท่าที่ 17 “สวารูปาดารชัน” (ดูตัวเอง)
กิริยาท่านี้ ควรฝึกในท่าสิทธะอาสนะหรือปัทมะอาสนะปิดตา ตระหนักรู้ใน กายเนื้อ กายนี้ของตนเอง ร่างกายต้องไม่ขยับเขยื้อนให้แน่นิ่งอยู่เช่นนั้นราวกับตัวเองเป็นหินผา พอตระหนักรู้และ “ดู” กายของตน ที่แน่นิ่งได้แล้ว ต่อไปให้หันมาตระหนักรู้ในลมหายใจตาม ดู “ลม” หายใจเข้าออกของตนแทน โดยที่กายของตนจะต้องแน่นิ่งดุจหินผาไม่เปลี่ยนแปลง ให้ฝึกจนกระทั่งร่างกายของตัวเองแน่นิ่ง จนตัวเองก็ยากที่จะขยับมันได้แล้ว ให้หันไปฝึกกิริยาท่าต่อไปทันที
กิริยาท่าที่ 18 “ลึงค ศัลจาลนะ” (ฝึกกายทิพย์)
ให้อยู่ในท่าที่ร่างกายแข็งทื่อต่อจากกิริยาท่าที่แล้ว โดยยังหลับตาอยู่ ในตอนนี้ผู้ฝึกจะหายใจเข้าออกแบบอุชชายีเอง และก็ห่อลิ้นเองแบบเขจรีมุทราด้วย ความใส่ใจจดจ่อของผู้ฝึกจะอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกอย่างเดียวเท่านั้น ในตอนหายใจเข้า ผู้ฝึกจะรู้สึกว่ากายของตนกำลังขยายออกไป และในตอนหายใจออกผู้ฝึกจะรู้สึกว่ากายของตนกำลังหดตัวลง ความรู้สึกที่ว่านี้ เกิดจาก “กายทิพย์” ของผู้ฝึก ขยายขึ้นตอนหายใจเข้าและหดตัวลงตอนหายใจออกนั่นเอง ให้ฝึกจนกระทั่งตอนหายใจเข้า “กายทิพย์” ของตนขยายแผ่กว้างออกไปไม่มีประมาณ และตอนหายใจออก “กายทิพย์” ของตนหดเล็กลงเหลือแค่เป็นจุดแห่งแสงเท่านั้น ถ้าฝึกได้ถึงขั้นนี้แล้วถึงจะฝึกกิริยาท่าต่อไปได้
กิริยาท่าที่ 19 “ธารณะ” (ฝึกฌาน)
การฝึกธารณะ ซึ่งเป็นขั้นตอนต่อจากปรัตยาหาระ จะทำได้ก็ต่อเมื่อผู้ฝึกสามารถตระหนักถึง “กายทิพย์” ของตนว่าเป็นจุดแห่งแสงตามกิริยาท่าที่ 18 ได้แล้วเท่านั้น จากนั้นผู้ฝึกก็แค่จดจ่ออยู่ที่จุดแห่งแสงนี้ (ตรงบริเวณหว่างคิ้ว หรือจักระที่ 6) ต่อไป จนกระทั่งเข้าสู่สภาวะของฌานสมาบัติได้ในที่สุด