แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (70) (23/7/2556)

แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (70) (23/7/2556)


แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ
 
เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (70)

(23/7/2556)
 


*จาก “กิริยา” สู่ตันตระ*


       
       เมื่อผู้ฝึกได้ผ่านขั้นตอนการฝึกอาสนะ ปราณายามะ พันธะ มุทรา และกิริยาตาม ระบบการฝึกของกุณฑาลินีโยคะ ที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมดได้แล้ว ผู้ฝึกจะอยู่บนเส้นทางสองแพร่งที่ต้องเลือกว่าจะเดินต่อไปบนเส้นทางใด กล่าวคือ ถ้าจริตของผู้ฝึกมีความโน้มเอียงไปในแนวทางแบบเจโตวุมุติอยู่แล้ว ผู้ฝึกก็ควรมุ่งหน้าเจริญฌานสมาบัติเพื่อชำระ กายทิพย์ทุกๆ ชั้นต่อไป จนกระทั่งถึงกายทิพย์ชั้นสุดท้ายตามแนวทางที่ปตัญชลีได้เขียนไว้ในคัมภีร์โยคสูตร แต่แนวทางนี้เป็นแนวทางที่ฝึกให้สำเร็จยากมาก ถ้าไม่มีบุญบารมีเก่ามาหนุนเสริม แนวทางแบบเจโตวิมุติจึงเป็นหนทางที่เล็กแคบราวกับต้องรอดรูเข็ม ด้วยเหตุนี้ คนทั่วไปจึงควรหันมาเลือก แนวทางแบบปัญญาวิมุติ น่าจะเหมาะกว่า เพราะแนวทางแบบปัญญาวิมุติเป็นเส้นทางที่กว้างขวางราวกับเดินอยู่บนทางเอกที่เป็นถนนสายใหญ่
       


       ด้วยเหตุนี้ เมื่อผู้ฝึกได้ฝึกฝนกุณฑาลินีโยคะ จนมาถึงขั้น “กิริยา” ซึ่งเป็นขั้นตอนของการ “บำเพ็ญบารมี” และเป็นขั้นตอนของการชำระกายทิพย์แต่ละชั้นไปเรื่อยๆ อันเป็นขั้นตอนและกระบวนการที่ควรฝึกไปตลอดชีวิตในฐานะที่เป็นการฝึกตามรูปแบบ ได้แล้ว ต่อไปผู้ฝึกก็ควรหันมาเริ่มฝึก ตันตระ ซึ่งเป็น การฝึกเจริญสติแบบไร้รูปแบบ ไม่เป็นทางการ และเป็นการฝึกในกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน โดยที่ผู้ฝึกไม่ต้องหาเวลาไปแยกฝึกต่างหากอย่างมีรูปแบบอย่างเป็นทางการเหมือนอย่าง “กิริยา” ควบคู่กันไปด้วย (ผู้ฝึกไม่ควรฝึกตันตระอย่างเดียว โดยละทิ้งการฝึก “กิริยา” แต่ควรฝึกควบคู่กันไปจนตลอดชีวิต)
       


       ตันตระคือวิธีการฝึกสติและการภาวนา 112 วิธีที่เก่าแก่โบราณที่สุดที่ถ่ายทอดโดยพระศิวะ ซึ่งครอบคลุมความเป็นไปได้ทุกชนิดในการกำราบใจ และขจัดความระแวงสงสัยให้หมดสิ้นไป หลักของตันตระนั้นอยู่ที่การใช้พลังงานทางเพศ โดยไม่คิดจะไปต่อสู้หรือกดข่มมัน เพียงแต่เปลี่ยนแปลงมันให้เป็นมิตร เพราะตันตระถือว่า พลังงานทางเพศก็คือพลังชีวิตของคนเรานั่นเอง ด้วยเหตุนี้ ตันตระจึงไม่เห็นว่ากิเลสหรือตัณหาของคนเราเป็นศัตรู เพียงแต่ตันตระสอนให้เรามีสติกับความเข้าใจในกิเลสตัณหาของตัวเราเอง โดยไม่คิดต่อสู้กดข่มมัน แต่ให้ใช้สติกับความตระหนักรู้ของเราเข้าไปในกระแสกิเลสตัณหานี้ แล้วค่อยข้ามพ้นมันไปเสีย
       


       ตันตระมองว่า ไม่มีความเป็นปฏิปักษ์ระหว่าง “ตัวเราที่เป็นอยู่” กับ “ตัวเราที่ควรจะเป็น” และไม่เห็นว่ามีช่องว่างระหว่าง “โลกนี้” กับ “โลกหน้า” ตันตระจึงแนะให้เรายอมรับตัวเราที่เป็นอยู่ และข้ามพ้นมันไปเสียโดยใช้ร่างกายอันนี้ของเรานี่แหละ เอกลักษณ์แห่งวิธีของตันตระ เห็นได้ชัดจากเรื่องการจัดการความโกรธ กล่าวคือ เมื่อคนเรารู้สึกโกรธ ตันตระจะไม่แนะว่า “จงอย่าโกรธ” หรือ “จงต่อสู้กับความโกรธ” แต่ตันตระจะแนะให้ “จงโกรธจริงๆ เมื่อรู้สึกโกรธ แต่ก็จงรักษาสติในขณะที่โกรธด้วย”
       


       จะเห็นได้ว่า ตันตระไม่ได้ปฏิเสธความโกรธ แต่ตันตระปฏิเสธความไร้สติ ความไร้จิตสำนึก และความเฉื่อยชาทางจิตใจต่างหาก เพราะตันตระเห็นว่า ถ้าคนเรามีสติตื่นรู้อยู่แล้ว ตัวความโกรธจะถูกแปรสภาพไปเองกลายเป็นความเมตตากรุณาได้ นี่แหละคือ เคล็ดลับของตันตระ เพราะเมื่อตันตระบอกว่า “ความโกรธไม่ใช่ศัตรูของเรา” เมื่อนั้น ตันตระหมายความว่า ความโกรธเป็นเมล็ดพันธุ์ของความเมตตากรุณาได้ เพราะพลังงานที่ใช้ไปในความโกรธนั้น ที่แท้ก็เป็นพลังงานอันเดียวกับที่ใช้ไปเพื่อความรัก ความเมตตากรุณานั่นเอง
       


       ต่อไปจะขอกล่าวถึงเคล็ดการฝึกตันตระทั้ง 112 วิธีดังต่อไปนี้

       

       (1)“โอ เธอผู้เปล่งประกายแสง ประสบการณ์นี้เกิดขึ้นใน ระหว่าง ลมหายใจเข้าออก คือภายหลังจากลมหายใจเข้ากับก่อนที่ลมหายใจออก...ที่นั่นมีของขวัญจากฟ้าดำรงอยู่”
       

       ขยายความ ความจริงดำรงอยู่ที่นั่นเสมอมา ความจริงไม่ใช่สิ่งที่จะบรรลุได้ในอนาคต แต่ตัวเราที่ดำรงอยู่ในขณะนี้นี่แหละคือตัวความจริงในทัศนะของตันตระ ขณะที่ “ใจ” เป็นสิ่งที่อยู่กับอนาคตหรืออดีต แต่ไม่เคยสนใจที่จะอยู่กับปัจจุบัน เพราะถ้าหาก “ใจ” อยู่กับปัจจุบัน มันจะไม่อาจเคลื่อนไหวอะไรได้ เพราะในปัจจุบันไม่มีที่ว่างให้ “ใจ” เคลื่อนไหว “ใจ” จะเคลื่อนไหวได้ จำเป็นต้องมีอนาคตหรือไม่ก็อดีต ดังนั้นใจจึงไม่เคยพบกับความจริงซึ่งอยู่ในปัจจุบันขณะได้เลย การพบความจริงเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่การค้นหาความจริงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลยในทัศนะของตันตระ เพราะตัวการค้นหานี่แหละที่เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงความจริง เนื่องจากพอเริ่มการค้นหา เราก็จะห่างจากปัจจุบันขณะและตัวเราทันที
       


       วิธีฝึกของตันตระที่ถ่ายทอดโดยพระศิวะนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นวิธีการดึง “ใจ” ออกจากอดีตหรืออนาคตให้กลับมาอยู่ที่ปัจจุบันทั้งสิ้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เคล็ดของตันตระช่วงแรกๆ จะกล่าวถึงเรื่องการหายใจ มนุษย์เราตั้งแต่เกิดจนตาย ต้องมีการหายใจอยู่ตลอดเวลา ในระหว่างการเกิดกับการตายนี้แหละที่ทุกสิ่งทุกอย่างทั้งปวงล้วนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การหายใจเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับชีวิต การหายใจยังเป็นสะพานที่เชื่อม “ตัวเรา” กับ “ร่างกายของเรา” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาล การหายใจยังเป็นสะพานที่เชื่อมตัวเรากับเวลาและสถานที่ และการหายใจยังเป็นสิ่งที่จะทำให้ตัวเราข้ามพ้นโลกนี้ ทั้งๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้
       


       สิ่งที่พระศิวะได้ถ่ายทอดให้แก่พวกเราในคัมภีร์ตันตระนี้ เป็นวิชาตันตระ เพราะเคล็ดของมันไม่ใช่อยู่ที่วิธีการฝึกบังคับลมหายใจแบบปราณายามะของโยคะ แต่อยู่ที่การใช้การหายใจเพื่อเป็นวิธีการในการเข้าสู่ภายในตัวเองของผู้ฝึกอย่างมีสติ อย่างในเคล็ดอันที่ 1 พระศิวะทรงตรัสว่า ถ้าหากเรามีสติตื่นตัวในระหว่างลมหายใจเข้าออกจะเกิดสิ่งนั้น หรือเกิดประสบการณ์เกี่ยวกับสิ่งนั้นขึ้นมา


       
       ในช่วงก่อนที่ลมหายใจจะออก และก่อนที่ลมหายใจจะเข้า ช่วงขณะนั้นซึ่งสั้นมากเหลือเกิน เป็นช่วงที่เราไม่ได้หายใจ เมื่อเราไม่ได้หายใจในช่วงขณะนั้น มันจึงเป็นช่วงที่เราไม่ได้อยู่ในโลกนี้ มันเป็นช่วงที่เราตายไปแล้ว ทั้งๆ ที่เรายังมีชีวิตอยู่ แต่เนื่องจากมันเป็นช่วงที่สั้นมากเหลือเกิน คนส่วนใหญ่จึงไม่รู้สึกตัวในทัศนะของตันตระ ทุกครั้งที่ลมหายใจออกคือ การตาย และทุกครั้งที่ลมหายใจเข้าก็คือ การเกิดใหม่
       


       ทุกครั้งที่เราหายใจ เราจึงเกิด-ตาย เกิด-ตายอยู่ตลอดเวลา ช่องว่างระหว่างสองสิ่งนี้สั้นมากเหลือเกิน แต่ถ้าเราตื่นรู้ มีสติที่จะสังเกตช่องว่างอันนี้ได้ เมื่อนั้นเราจะได้ของขวัญหรือพรจากฟ้าหรือเบื้องบน วิธีฝึกอันนี้ต่อมาชาวพุทธจะได้รู้จักมันในนามของ “อานาปานสติ” ซึ่งเป็นวิธีฝึกสติที่ได้ช่วยผู้คนนับล้านๆ คนให้สามารถเติบโตทางจิตวิญญาณได้ตลอดช่วงหลายศตวรรษมานี้
       


       (2) “เมื่อลมหายใจเปลี่ยนลงล่างมาเป็นขึ้นบน และเมื่อลมหายใจเปลี่ยนจากบนลงมาล่างอีกครั้ง จนตื่นรู้ โดยผ่าน การหมุน ของลมหายใจเข้าออกนี้”
       


       ขยายความ วิธีหายใจ วิธีที่สองของตันตระนี้ต่างกับวิธีแรกอยู่นิดนึงตรงที่แทนที่จะเน้นที่ “ช่องว่าง” เหมือนอย่างวิธีแรก แต่กลับไปเน้นที่ “การหมุน” ของลมหายใจ โดยมองว่า ลมหายใจเข้ากับลมหายใจออก ต่อกันเป็นวงจรหรือวงกลมอันหนึ่ง โดยลมหายใจเข้าประกอบเป็นครึ่งวงกลมแรก และลมหายใจออกประกอบเป็นครึ่งวงกลมหลัง การที่ตันตระสอนให้ตื่นรู้ใน “การหมุน” ของลมหายใจเข้าออก คือการสอนให้ผู้นั้นมีสติคอยตามรู้การเปลี่ยนทิศขึ้นลงของลมหายใจเข้าออกนั่นเอง (ยังมีต่อ)




Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้