แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (71) (30/7/2556)

แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (71) (30/7/2556)


แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ
 
เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (71)

(30/7/2556)
 



*จาก “กิริยา” สู่ตันตระ (ต่อ)*
       


       (3) “หรือในช่วงขณะที่ลมหายใจเข้า กับลมหายใจออกหลอมรวมกัน จงสัมผัสศูนย์กลางที่ไร้พลังงานแต่เปี่ยมไปด้วยพลังงานนั้น”
       


       ขยายความ วิธีหายใจของตันตระแบบที่สามนี้ มุ่งไปที่การหาจุดศูนย์กลางอันเป็นจุดที่ลมหายใจเข้ากับลมหายใจออก หลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียว จุดศูนย์กลางนี้อยู่ที่สะดือ หรืออยู่ที่จุดใต้สะดือ (จุดตันเถียน) ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของร่างกาย และนี่แหละคือ ความสำคัญของการหายใจด้วยท้อง ตันตระบอกว่า หากคนเราหายใจด้วยท้องไปกระทำการใดๆ ก็ตาม การกระทำอันนั้นของเราจะเป็นการกระทำที่รอบด้านทั่วพร้อม เพราะมีความจดจ่อ ทุ่มเท อุทิศตัว คนเราเมื่ออยู่ที่ศูนย์กลางของตัวเองแล้ว จะมีลักษณะที่รอบด้านทั่วพร้อมเสมอ
       


       นอกจากนี้ เมื่อคนเราหายใจลึกจนถึงช่องท้อง (จักระที่ 2) ผู้นั้นจะได้รับพลังงานจากปราณ เนื่องจากปราณเป็นพลังที่มาจากลมหายใจมีทิศจากข้างบนลงข้างล่าง ส่วน “เพศ” เป็นพลังงานที่มีทิศจากข้างล่างขึ้นข้างบน พลังของปราณอยู่ที่ร่างกายท่อนบน พลังทางเพศอยู่ที่ร่างกายท่อนล่าง เมื่อพลังงานสองอย่างนี้เจอกัน หลอมรวมกัน เมื่อนั้นจะเป็นที่มาของชีวิต และศูนย์กลางก่อนที่พลังงานทั้งสองอย่างนี้จะมาหลอมรวมกันจึงเป็นศูนย์กลางที่ “ไร้พลังงาน” แต่จะ “เปี่ยมไปด้วยพลังงาน” เมื่อมีการหลอมรวมกัน
       


       (4) “หรือเมื่อลมหายใจไหลออกมาหมดจนหยุดหายใจเอง หรือเมื่อลมหายใจไหลเข้าจนหมดแล้ว หยุดหายใจเองช่วงขณะที่ลมหายใจหยุดนั้น อัตตา ตัวเล็กของคนเราจะหายไป การทำเช่นนี้เป็นเรื่องยากสำหรับผู้มีจิตไม่บริสุทธิ์เท่านั้น”


       
       ขยายความ นี่คือวิธีหายใจแบบที่สี่ของตันตระ อันเป็น วิธีหายใจแบบเซน กล่าวคือ คนเรามักจะหยุดกลั้นลมหายใจโดยอัตโนมัติ ในขณะที่อยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินคับขัน ยกตัวอย่างเช่น เรากำลังขับรถ แล้วรถบรรทุกคันอื่นกำลังตรงดิ่งพุ่งเข้ามาชนรถของเรา ในช่วงขณะนั้น เราจะลืมทุกสิ่งทุกอย่างหมด ไม่ว่าชื่อเสียง เงินทอง อำนาจ เพราะอีกชั่วขณะหลังจากนั้น “ความตาย” อาจกำลังรอเราอยู่ ในช่วงขณะนี้เองที่ลมหายใจของราจะหยุดกลั้นขึ้นมาเอง หากเราสามารถ “ตื่นรู้” ในช่วงขณะนั้นได้ คนเราอาจรู้แจ้งในฉับพลัน และเข้าถึงความจริงของชีวิตได้


       
       จึงเห็นได้ชัดว่า “อัตตา” ที่เป็นตัวตนตัวเล็กของคนเรานั้น จะใช้งานได้ก็แต่ในสถานการณ์ปกติหรือในชีวิตประจำวันเท่านั้น พวกพระเซนในญี่ปุ่นสายรินไซ นิยมใช้วิธีหายใจแบบนี้มาก วิธีการของพวกท่านจึงดูประหลาด เช่น อยู่ดีๆ ก็จับลูกศิษย์โยนออกนอกบ้าน หรืออยู่ดีๆ ก็ใช้ไม้เท้าตีลูกศิษย์โดยไม่มีเหตุผล โดยไม่ให้รู้ตัว เป้าหมายที่แท้จริงในการกระทำเช่นนี้ของพวกท่านก็คือ เพื่อให้ลูกศิษย์ของท่านประสบกับภาวะที่ “ลมหายใจหยุดกลั้น” ในช่วงขณะนั้นนั่นเอง เพราะถ้าหากเป็นการตีโดยมีเหตุผลรองรับแล้ว “ใจ” ของลูกศิษย์จะทำงานใช้ความเข้าใจมาอธิบาย ซึ่งจะไม่เกิดภาวะหยุดกลั้นลมหายใจ


       
       ในทางกลับกัน ต่อให้ลูกศิษย์ด่าว่าอาจารย์เซนอย่างรุนแรง อาจารย์เซนจะหัวเราะตอบ แทนที่จะโกรธตอบ เพราะในขณะที่ท่านหัวเราะ ขณะนั้นเป็นช่วงขณะที่ลมหายใจของท่านหยุดกลั้น และเป็นขณะที่ท่านได้พบกับ “ตัวตนที่แท้จริง” ของท่านด้วย ในทางโยคะ โดยเฉพาะกุณฑาลินีโยคะ เราอาจใช้การฝึกกุมภกะ (กลั้นลมหายใจ) ที่เราฝึกทำบ่อยๆ จนเคยชินมาช่วยให้เข้าถึงภาวะนี้ได้ด้วยเช่นกัน
       


       (5) “จงเพ่งความเอาใจใส่ที่จุดกึ่งกลางหว่างคิ้ว เอาใจวางไว้ที่เบื้องหน้าความคิด บรรจุลมปราณให้เต็มทั่วร่างกาย ไปจนถึงศีรษะเบื้องบนและปล่อยให้แสงเปล่งพุ่งออกมาจากเบื้องบนศีรษะนั้น”


       
       ขยายความ วิธีหายใจแบบที่ห้าของตันตระ เป็นการฝึกหายใจลึกๆ โดยเพ่งจิตไปที่กึ่งกลางหว่างคิ้วอย่างมีสติรู้ตัวตลอดเวลา วิธีนี้เป็นวิธีฝึกสมาธิที่ลึกล้ำมากวิธีหนึ่ง เพราะที่กึ่งกลางหว่างคิ้วนี้ เป็นที่ตั้งของ “ตาที่สาม” หรือ “ศิวะเนตร” ซึ่งง่ายมากต่อการกำหนดจิต และความรู้สึกตัวเมื่อเราวางจิตของเราไว้ที่ตำแหน่งนี้”
       


       “เอาใจวางไว้ที่เบื้องหน้าของความคิด” หรือเมื่อความคิดของเรามาปรากฏอยู่ที่เบื้องหน้าของตัวเรา หากเราฝึกเจริญภาวนาด้วยวิธีนี้ ตัวเราจะกลายเป็น “ผู้รับรู้” หรือ “ผู้ดู” หรือ “ผู้เห็น” ความคิดของเรา และการเคลื่อนไหวของความคิดของเราไปในทันใด ตรงนี้แหละคือความสำคัญของการฝึกแบบนี้ เพราะเมื่อตัวเรากลายเป็น “ผู้เห็น” ความคิดของเรา ตัวเราก็จะไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับความคิดของเรา นั่นย่อมหมายความว่า ในขณะนั้น ตัวเราไม่ได้ถูกความคิดซึ่งอาจเป็นตัวความโลภ ความโกรธ ความหลงในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งครอบงำ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากเรา “เห็น” ความโกรธของตัวเรา โดยที่ตัวเราไม่ได้เป็นตัวความโกรธในขณะนั้น ความโกรธที่เป็นความคิดของเราในตอนนั้น จะไร้อำนาจหรือไร้พลังในการครอบงำหรือควบคุมตัวเราทันที


       
       “บรรจุลมปราณให้เต็มทั่วร่างกาย ไปจนถึงศีรษะเบื้องบน และปล่อยให้แสงเปล่งพุ่งออกมาจากเบื้องบนศีรษะนั้น”
       


       เมื่อเราเพ่งจิตไปที่ดวงตาที่สาม แล้วใช้จินตนาการของเราว่ามีลมปราณไหลเข้ามาจนเต็มสมอง ซึ่งเป็นที่ตั้งของจักระที่ 7 ตรงกลางกระหม่อม จิตของเราจะมีพลังมาก และให้ความคึกคักความมีชีวิตชีวาแก่ตัวเรา โดยที่เงื่อนไขสำคัญในการฝึกเพ่งจิตไปที่ดวงตาที่สามนั้นก็คือ การมีจิตใจที่บริสุทธิ์สะอาดของตัวผู้ฝึกเอง เมื่อนั้นการมีจินตนาการว่ามีลำแสงเปล่งพุ่งออกมาทางจักระที่ 7 ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
       


       (6) “รักษาความมีสติ ในช่วงระหว่างการหายใจ ในขณะใช้ชีวิตประจำวัน ถ้าฝึกเช่นนี้ไปได้เรื่อยๆ ไม่ช้าจะรู้สึกเหมือนกับได้เกิดใหม่”
       


       ขยายความ หัวใจของการฝึกหายใจแบบที่หกของตันตระนี้ อยู่ที่ การมีสติรู้ตัวบ่อยๆ ในช่วงระหว่างการหายใจเข้ากับการหายใจออก แม้ในขณะที่กำลังทำกิจกรรมอย่างอื่นในชีวิตประจำวัน ที่ไม่ใช่การฝึกนั่งสมาธิหรือการปฏิบัติธรรมตามรูปแบบ


       
       (7) “ลมหายใจที่ไม่อาจสัมผัสได้ ตรงกึ่งกลางหน้าผากเมื่อลมปราณอันนี้บรรลุถึงหัวใจ ในขณะที่ใกล้หลับจะสามารถควบคุมการนอน และการควบคุมการตายได้”
       


       ขยายความ เคล็ดของวิธีฝึกหายใจแบบที่เจ็ดของตันตระนี้ อยู่ที่การรู้สึกถึงลมปราณที่เข้า-ออกที่จักระที่ 6 ในขณะที่เพ่งจิตอยู่ที่จักระที่ 6 ได้ ผู้ที่ฝึกสำเร็จจะสามารถรับรู้วันตายของตัวเองล่วงหน้าหกเดือนได้ และจะสามารถควบคุมความฝันของตัวเองได้ เพื่อการนี้ ผู้ฝึกจะต้องมีสติตระหนักถึงลมปราณที่เข้ามาบรรจุเต็มหัวใจ ในขณะหายใจตอนใกล้หลับให้จงได้ คนที่สามารถควบคุมความฝันของตัวเองได้ เขาจะไม่กลัวความตายอีกต่อไป เพราะการตายได้กลายเป็นการหลับลึกที่ยาวนานสำหรับตัวเขาไปเสียแล้ว โดยที่ตัวเขายังมีสติรู้ตัวในยามหลับลึกโดยไม่ฝันได้


       
       (8) “ปรับศูนย์กลางให้อยู่ที่รอยต่อระหว่างลมหายใจเข้าออก กระทำด้วยความอุทิศตัวสูงสุด แล้วจะรู้ในตัวผู้รู้”
       


       ขยายความ วิธีหายใจแบบที่แปดของตันตระนี้ จะใช้จุดหมุนที่เป็นรอยต่อระหว่างลมหายใจซึ่งมีอยู่สองจุด คือ จุดหมุนตรงรอยต่อในขณะลมหายใจเข้า กับจุดหมุนตรงรอยต่อในขณะลมหายใจออก จากนั้น เราต้องหายใจเข้าออกโดยตระหนักถึงจุดหมุนหรือจุดเชื่อมนี้ด้วยจิตศรัทธาสูงสุด การจะทำเช่นนี้ได้ เราต้องมองว่าร่างกายของเราคือ วิหารศักดิ์สิทธิ์ที่มีพระเป็นเจ้าสถิตอยู่ภายใน เมื่อมองได้เช่นนี้ ทุกความเคลื่อนไหวของเรา จักเป็นพระเป็นเจ้าที่เคลื่อนไหวอยู่ในตัวเราด้วย เมื่อนั้นทุกๆ สิ่งจะกลับกลายเป็นความอุทิศตัวสูงสุด และความศรัทธาสูงสุด เพราะเราได้ตระหนักรู้ในตัวผู้รู้หรือพระเป็นเจ้าในตัวเรา (ยังมีต่อ)





Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้