แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ
เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (77)
(10/9/2556)
*จาก “กิริยา” สู่ตันตระ (ต่อ)*
(34) “จงเงี่ยหูฟัง เมื่อได้รับการถ่ายทอดวิชาเร้นลับเป็นที่สุด หยุดการเคลื่อนไหวของดวงตา และไม่กะพริบตาในทันใดนั้น เธอจะมีอิสรภาพอย่างสัมบูรณ์”
ขยายความ วิธีนี้เกี่ยวกับการกระซิบ ยามที่คุรุถ่ายทอดมนตราหรือเคล็ดวิชาให้แก่ศิษย์เป็นการส่วนตัว ในตอนนั้นศิษย์จะต้องหยุดการเคลื่อนไหวของดวงตา ทำใจให้สงบไม่ให้เกิดความคิดใดๆ เพียงแค่รอคอย รอรับคำสอนอันเร้นลับจากคุรุของตนเท่านั้น
(35) “จงเพ่งดูความลึกของน้ำที่ข้างบ่อ ตักน้ำจากบ่อที่ขุดลงไปลึกมาก จนกระทั่งเกิดสิ่งมหัศจรรย์ขึ้นมา”
ขยายความ วิธีนี้ใช้ตอนที่เรามองเข้าไปในบ่อน้ำลึก สิ่งที่เห็นคือภาพของตัวเองที่ฉายสะท้อนบนผิวน้ำของบ่อนั้น เราต้องหยุดความคิดโดยสิ้นเชิง เพียงแต่เพ่งมองเข้าไปในความลึกของน้ำเท่านั้น เพื่อที่ตัวเราจะได้สัมผัสกับความลึกล้ำข้างในจิตใจเรา
(36) “จงเพ่งสิ่งหนึ่งอยู่ จากนั้นค่อยๆ เลื่อนสายตาอย่างช้าๆ ไปจากสิ่งนั้น แล้วค่อยๆ ถอดถอนความคิดออกไปจากสิ่งนั้น...เมื่อนั้นแหละ”
ขยายความ วิธีนี้เป็นการฝึกค่อยๆ ถอดถอนออกจากตัวเองอย่างช้าๆ ตอนแรกถอดถอนจากเป้าข้างนอกก่อน จากนั้นค่อยๆ ถอดถอนออกจากจินตภาพข้างใน อันหลังถอดถอนยากกว่าอันแรกมาก ต้องหลับตาทำใจวางเฉยเป็นกลาง มีแค่ความรู้สึกว่าตัวเองไปจากภาพนั้นหรือสิ่งนั้นแล้ว เมื่อทำได้จะเหลือแค่ตัวเราที่เป็นตัวรู้หรือผู้รู้เท่านั้น และเราจะ “ตื่น” ในตัวเราเข้าถึงศูนย์กลางภายใน
ว่ากันว่า พลังงานในตัวเราราวๆ 80 เปอร์เซ็นต์จะหมดไปโดยผ่านดวงตา เพราะฉะนั้น การฝึกสมาธิภาวนาด้วยการมองแบบตันตระ จึงมีความสำคัญมากในการเปลี่ยนทิศทางการไหลของพลังงานของเราให้กลับเข้าไปข้างในอีก โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเปิด “ดวงตาที่สาม” หรือ “ปัญญาจักษุ” นั่นเอง
(37) “ยอดรัก เธอจงจินตนาการถึงตัวอักษรสันสกฤต ณ จุดเพ่งแห่งการรับรู้ที่เปี่ยมไปด้วยความหวานของอมฤต ในตอนแรกเป็นตัวอักษรก่อน แล้วต่อๆ มาค่อยเป็นเสียงอันพิสดาร และต่อมาเป็นความรู้สึกที่สุดแสนจะพิสดารก่อนที่จะจากมันไปสู่เสรี”
ขยายความ ภาษาคือเสียง ความคิดหรือการจัดแบบแผนทางตรรกะของภาษา ใจคือความคิด สมาธิภาวนาคือการข้ามพ้นใจ เพื่อเห็นสิ่งที่ไม่ใช่ใจ เสียงคือพื้นฐานที่สุดเพราะภาษาเกิดมาจากเสียง และความคิดเกิดมาจากภาษาอีกทีหนึ่ง ปรัชญา ศาสนาเกิดขึ้นมาจากความคิด และกลายเป็นที่มาของความแตกแยกในเวลาต่อมา วิธีใช้เสียงในการทำสมาธิภาวนาของตันตระ คือการทวนกระแสความคิดย้อนกลับไปหาเสียงซึ่งเป็นพื้นฐานที่สุด และสิ่งที่เป็นพื้นฐานของเสียงอีกทีนั้นคือ ความรู้สึกที่แสนจะละเอียดอ่อนของจิตวิญญาณ
ผู้คนส่วนใหญ่มีชีวิตอยู่ท่ามกลางระบบความคิด เป็นทาสของระบบความคิดจึงสามารถทำร้ายคนอื่นได้ง่ายๆ เพียงแต่ความต่างของระบบความคิด ทั้งๆ ที่ตัวความคิดก่อรูปขึ้นมาจากภาษา และตัวภาษาก่อรูปขึ้นมาจากเสียง และเสียงก็คือเสียงเท่านั้น แต่ใจคนต่างหากที่ไปให้ “ความหมาย” กับมันและกลายเป็นเครื่องมือของมัน
วิธีในการใช้เสียงทำสมาธิของตันตระนี้ ให้เริ่มจากใช้ดวงตามองอักษรโอมที่เป็นภาษาสันสกฤตก่อน เมื่อใช้ตาดูอักษรโอมแล้ว จากนั้นค่อยๆ ลืมการใช้ตาไปเสีย โดยหลับตาแล้วเพ่งจิตไปที่หูแทน โดยใช้การพบเสียงผ่านตัวอักษรโอม และใช้การสัมผัสความรู้สึกผ่านเสียงอีกทีหนึ่ง เมื่อเข้าถึงเสียงได้แล้ว ผู้นั้นก็จะสามารถเข้าถึงศูนย์กลางภายในที่เป็นที่ตั้งของ “ความรู้สึกที่สุดแสนจะพิสดาร” ได้จากความรู้สึกนี้เองที่ผู้นั้นจะสามารถก้าวกระโดดไปสู่ความเป็นอิสระอย่างสัมบูรณ์ได้ ซึ่งความเป็นอิสระที่เกิดจากการละทิ้งปรัชญา ความเชื่อ ความคิด ละทิ้งภาษา ละทิ้งอักษร ละทิ้งเสียง และสุดท้าย ละทิ้งความรู้สึกที่สุดแสนจะพิสดารนั้นในที่สุด ในตอนฝึก ถ้าผู้ฝึกยังไม่สามารถได้ยิน “เสียงภายใน” อันพิสดารนั้นได้ ก็ให้บริกรรมมนตราไปก่อน จนกระทั่งคำบริกรรมนั้นค่อยๆ หายไปเอง แล้วเข้าถึงความรู้สึกที่สุดแสนจะพิสดารนั้นได้
(38) “จงอาบเสียงท่ามกลางเสียงเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ในท่ามกลางเสียงของน้ำตกที่ไหลมาไม่ขาดสาย หรือใช้นิ้วแหย่ไปในรูหูแล้วฟังเสียงในท่ามกลางเสียงอีกทีหนึ่ง”
ขยายความ วิธีนี้ใช้การรู้สึกถึงตัวตนของตัวเองในท่ามกลางเสียง โดยที่เราต้องไม่ลืมว่า ไม่ว่าเราจะไปอยู่ที่ไหนก็ตาม ไม่ว่าในป่าเขา ในเมือง ในวัด หรือในห้างสรรพสินค้า ตัวเราก็ยังคงอยู่ท่ามกลางเสียงอยู่ดี ในตอนที่เราได้ยินเสียงน็ฯ เราใช้ตัวเองเป็นศูนย์กลางแล้วเสียงเข้ามาหาตัวเราจากรอบทิศ ตรงนี้แหละที่เป็นเคล็ดสำคัญ กล่าวคือ เมื่อเรานั่งหลับตาภาวนาทำสมาธิ เราจะเป็นศูนย์กลางของเสียงต่างๆ ที่เข้ามาหาตัวเราเสมอ โดยเราจะต้องตระหนักให้ได้ว่า ตัวเราคือศูนย์กลางที่ไร้เสียง และเป็นศูนย์กลางของจักรวาลด้วย เพราะศูนย์กลางคือความสงัดงันที่ไร้เสียงใดๆ ตัวเราแค่รู้ แค่ฟังเสียงอยู่เท่านั้น “เสียงในท่ามกลางเสียง” คือเสียงที่ไร้เสียง หรือเสียงแห่งความเงียบสงัดนั่นเอง
(39) “สวดท่องเสียงๆ หนึ่งอย่างช้าๆ เชน โอม...เมื่อเสียงนั้น กระจายไปทั่วทุกสารทิศ ตัวเธอก็เช่นกัน”
ขยายความ วิธีนี้ใช้การสวดท่องเสียง “โอม” ช้าๆ และกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเสียง “โอม” นั้น เคล็ดในการออกเสียง “โอม” นี้ครั้งแรก ให้เปล่งเสียงดังๆ สู่ข้างนอก จากนั้นค่อยๆ รู้สึกถึงความปรองดองที่ตัวเองมีกับเสียง “โอม” นั้น รู้สึกถึงความสั่นไหวของมันดุจร่างกายของตัวเองเป็นพิณอันหนึ่ง ให้เสียง “โอม” ผ่านกาย ผ่านใจ ผ่านระบบประสาทของตัวเองไปสั่นสะเทือนเซลล์ทุกเซลล์ อณูทุกอณูในร่างกายของตัวเอง จนกระทั่งตัวเองกลายเป็นเสียง “โอม” ที่สำคัญคือต้องให้เสียงนี้เข้าไปถึงหัวใจตัวเอง ให้มันสั่นไหวจักระหัวใจ หรือจักระที่ 4 ของตัวเอง จนเกิดความรู้สึกตื่นขึ้นจากภายในยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่เสียง “โอม” กลับแผ่วเบาลงทุกทีๆ จนกระทั่งไร้เสียงหรือกลายเป็นสภาพที่เสียงกระจายไปทั่วทุกสารทิศแล้ว
(40) “เธอจะใช้อักษรอะไรก็ได้ ในตอนต้นของเสียงของอักษรนั้น จากนั้นค่อยๆ ชำระให้บริสุทธิ์...แล้วตื่น”
ขยายความ วิธีนี้ใช้การฟังเสียงที่ค่อยๆ เลือนหายไป อย่างเช่น การสั่นกระดิ่งหรือระฆังเล็กๆ ที่ข้างหูศิษย์ที่กำลังอยู่ในสมาธิ ศิษย์จะต้องคอยสังเกตสภาพก่อนเสียงจะปรากฏกับสภาพก่อนเสียงจะหายให้ดี เพราะนั่นคือกระบวนการของการตื่นจากภายใน
(41) “ในขณะที่ฟังเสียงจากเครื่องดนตรีประเภทสาย จงฟังเสียงใจกลางที่ซ้อนกันอยู่นั้น...เมื่อทำเช่นนั้นทั่วทุกสารทิศจะ...”
ขยายความ วิธีนี้ใช้การฟังดนตรีด้วยความมีสติตื่นรู้เข้าไปสู่ใจกลางข้างในของมัน จนกระทั่งลืมคิด ลืมใจของตัวเองอย่างสิ้นเชิง มีแต่ความตระหนักรู้อยู่เท่านั้น
(42) “สวดท่องเสียงออกมาดังๆ ให้ได้ยิน จากนั้นค่อยๆ หรี่เสียงให้เบาลงเรื่อยๆ ประสานไปพร้อมกับความรู้สึกที่กำลังดิ่งลึกสู่ความเงียบสงัด”
ขยายความ วิธีนี้มุ่งใช้เสียงเป็นทางผ่านไปสู่หัวใจ ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์กลางที่สงบสงัด ไร้ความคิดใดๆ เมื่อเต็มเปี่ยมไปด้วยความตระหนักรู้ และตัวผู้ฝึกจะประจักษ์ได้เองว่า ความตระหนักรู้นั้นคือความรัก ความเมตตากรุณาที่ลึกล้ำ วิธีนี้ควรฝึกในห้องเล็กๆ เพื่อให้ห้องนี้ประสานคลื่นแห่งความสั่นสะเทือนเดียวกับตัวผู้ฝึกจนเกิดเป็น “สนามพลัง” อันเป็นทิพย์ขึ้นมา
(43) “เผยอปากเล็กน้อย วางจิตไว้ที่กลางลิ้นหรือสูดลมหายใจเข้าไปนิดหน่อย จนพอรู้สึกได้ถึงเสียง “เฮิง” (hh)
ขยายความ วิธีนี้ใช้การฝึกวางจิตไว้ที่ลิ้นเพื่อไม่ให้พูดมาก เพราะ “ความคิด” ก็คือการพูด แต่เป็นการพูดข้างใน เคล็ดสำคัญคือใช้การม้วนลิ้นให้ปลายลิ้นไปแตะที่เพดานปากด้านบนเบาๆ และหมั่นรู้สึกตัวว่ากำลังใช้ปลายลิ้นแตะเพดานปากอยู่ ขณะเดียวกัน ก็ให้หัดรู้สึกถึงการหายใจเข้าแบบอุชชายี หรือรู้สึกถึงลมหายใจเข้าจมูกที่เป็นเสียง “เฮิง” เบาๆ เล็กน้อยพอได้ยิน เพื่อดึงตัวเองเข้าสู่ข้างใน (ยังมีต่อ)