แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (80) (1/10/2556)

แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (80) (1/10/2556)





แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ
 
เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (80)

(1/10/2556)
 

 

*จาก “กิริยา” สู่ตันตระ (ต่อ)*


       
        (55) “ณ จุดแห่งนิทรารมณ์ ขณะที่นิทรารมณ์ยังไม่ล่วงถึง และความตื่นรู้ภายนอกได้อันตรธานไป ณ จุดนี้ ย่อมสำแดงออกซึ่งภาวะ”

       
        ขยายความ วิธีนี้ แนะให้ใช้การฝึกช่วงใกล้หลับในการเจริญสติ โดยที่ในขณะกำลังล่วงสู่นิทรานั้น จงผ่อนคลาย หลับตาลงเสีย ทำห้องหับให้มืดมิด แล้วตั้งตารอคอยอาการหลับใหลที่ใกล้จะมาถึง ให้เราแค่เฝ้ารอ อย่าได้กระทำสิ่งใด เพียงแค่เฝ้ารอเท่านั้น ในตอนนั้นเราจะเริ่มรู้สึกว่า ร่างกายของเราค่อยๆ หนักขึ้นเรื่อยๆ จงรู้สึกถึงมันอย่างตระหนักรู้ และเฝ้ารอไปเรื่อยๆ สักวันหนึ่ง เราจะสัมผัสได้รางๆ ถึงชั่วขณะอันคงอยู่ ณ จุดกึ่งกลางระหว่างการตื่นนอนกับการหลับใหล อันเป็นภาวะที่ล้ำลึกดุจหุบเหวลึกที่ปราศจากก้นบึ้ง อันหาที่สิ้นสุดไม่ได้ ทันทีที่เราล่วงรู้ถึงมัน เราย่อมล่วงรู้ว่า เราเป็นใครและอะไรคือภาวะจริงแท้ของเรา


       
        (56) “มายาภาพนั้นลวงหลอก สีสันมีแวดวงจำกัด แม้สิ่งที่อาจแบ่งส่วนได้ ก็มิอาจแบ่งส่วน”
       

        ขยายความ วิธีนี้ แนะให้มองโลกทั้งมวลคือมายา เฉกเช่นสีสันของสายรุ้ง ให้เข้าใจว่าสรรพสิ่งล้วนเป็นอนัตตา ไม่มีแก่นสาร สิ่งใดก็ตามที่เราได้เห็นได้ยิน รู้สึกอยู่นั้น ล้วนเป็นภาพลวงตาทั้งสิ้น มันมิใช่ความจริง เพราะความเป็นจริงนั้น มิอาจเชื่อมโยงได้ด้วยประสาทสัมผัส ทุกสิ่งล้วนไม่เที่ยงแท้ เป็นแค่กระแสของอนิจจังหรือการเปลี่ยนแปลง หากเรามองโลกอย่างนี้ได้ เราย่อมวกกลับสู่ตัวเราเองโดยอัตโนมัติ และโดยธรรมชาติ เพราะในเมื่อเราเห็นว่า โลกไม่มีแก่นสาร เราย่อมมีศูนย์รวมเพียงจุดเดียวได้ในภาวะของตัวเราเองเท่านั้น เพราะเมื่อความจดจ่อทั้งมวลของจิตสำนึกเราวกเข้าสู่ด้านใน ณ จุดนั้นมันจะมีแรงกระตุ้นอันลึกล้ำที่จะบรรลุถึงสัจธรรมความจริงแท้ กล่าวคือ หากโลกทั้งมวลนี้ไม่เป็นจริง สิ่งที่เชื่อถือได้เพียงอย่างเดียวก็คือ “ผู้รู้” ที่ตระหนักรู้ว่า “ฉันเป็นอยู่” เท่านั้น


       
        (57) “ในห้วงอารมณ์แห่งความปรารถนาอันแรงกล้าจงสงบนิ่งไม่ไหวคลอน”

       
        ขยายความ วิธีนี้แนะให้ไม่ต่อต้านความปรารถนา แต่ให้คงอยู่ในห้วงปรารถนา โดยต้องคอยรำลึกถึงศูนย์กลางภายในซึ่งไม่เคยกระเพื่อม เพราะพายุหมุนแห่งความปรารถนาใดๆ ย่อมไม่อาจดำรงอยู่ได้โดยปราศจากใจกลางอันสงบนิ่ง จงอยู่ในใจกลางนั้น ในฐานะผู้เป็นสักขีพยาน หรือผู้สังเกตการณ์อันลุ่มลึก วิธีนี้ของตันตระคือการตระหนักรู้ถึงความรู้สึกสุดขั้วของจุดสุดปลายทั้งสองในตัวเราเอง มันคงอยู่ที่นั่นเสมอ และเมื่อใดก็ตามที่เราตระหนักถึงสภาพตรงข้ามดังกล่าว เราจะกลับกลายเป็นนายเหนือจิตใจของเราได้
       


        (58) “สิ่งที่ขนานนามว่าเอกภพนี้ ปรากฏขึ้นเสมือนดั่งมายากลหรือจอภาพ พึงพิศดูเยี่ยงนี้ ย่อมบังเกิดสุขล้ำ”

       
        ขยายความ วิธีนี้แนะให้มองโลกนี้ดุจละคร อย่าได้เคร่งเครียดกับมันเกินเหตุ อย่าได้จริงจังกับมันจนเกินไป เพราะหากเราสามารถมองโลกทั้งมวลเช่นละครได้ เราย่อมหวนคืนสู่จิตสำนึกดั้งเดิมอีกครั้ง ในการฝึกวิธีนี้ ตันตระแนะให้เราทดลองปฏิบัติดูสักเจ็ดวัน โดยที่ระหว่างเจ็ดวันนี้ ให้ยึดถือทุกสิ่งเป็นเช่นละครหรือการแสดงเท่านั้น แล้วจงกระทำทุกสิ่งด้วยท่าทีสนุกสนาน ร่าเริง ชื่นชม ยินดี คือจงแสดงบทบาทต่างๆ ในชีวิตประจำวันของตนแบบหยอกเย้า หยอกล้อ หรือขี้เล่น แล้วเราจะค้นพบความสุขล้ำในชีวิตได้เอง
       


        (59) “โอ ยอดกานดา จงอย่าได้นำพาทั้งต่อความเพลิดเพลินหรือความปวดร้าว แต่จงจดจ่อใจระหว่างสองสิ่งนี้”

       
        ขยายความ มันเป็นกฎธรรมชาติของจิตที่จะขยับย้ายจากสภาพขั้วหนึ่งสู่อีกขั้วหนึ่ง โดยไม่เคยคงอยู่ในระหว่างกลาง หากว่าตอนนี้จิตเป็นสุข ไม่ช้าก็เร็วจิตก็จะบ่ายมุ่งสู่ทุกข์ วิธีนี้ของตันตระจึงแนะว่า จงเลือกเฟ้นสภาพขั้วชนิดใดชนิดหนึ่ง และจงพยายามคงอยู่ในระหว่างกลางเท่านั้น นี่คือการวางจิตให้เป็นกลางนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นสภาพขั้วอันใด การเป็นผู้ดู ผู้เห็น จะทำให้เราคงอยู่ ณ จุดกึ่งกลางนี้ได้ กล่าวคือ ยามที่มีความทุกข์โศก ก็จงเป็นเพียงผู้เฝ้ามองจิตของตน ยามที่ความสุขบังเกิดขึ้น เราก็ยังเป็นผู้เฝ้ามองจิตของตนเช่นเดิม หากเราสามารถเฝ้ามองโดยปราศจากความลุ่มหลงหรือเดียดฉันท์แล้ว เราย่อมดิ่งลงสู่จุดกึ่งกลางได้ และเราย่อมล่วงรู้ว่าอะไรคือความจริงและโลกคือสิ่งใด
       


        (60) “จุดมุ่งหมายและความปรารถนาดำรงอยู่ในตัวเราเช่นในบุคคลอื่นพึงยอมรับเยี่ยงนี้ และปล่อยให้สิ่งเหล่านี้แปรสภาพ”

       
        ขยายความ วิธีนี้แนะให้เรามีมาตรฐานเดียวในการปฏิบัติต่อตนเองและคนอื่น เพราะฉะนั้น จงอย่ามีจิตที่ก่นประณามผู้อื่น เพราะหากเราไม่ก่นประณามผู้อื่นแล้ว เราจะเกิดความกรุณาอันลึกล้ำต่อผู้คน จิตที่ไม่ก่นประณามนั้นจะมีความเมตตากรุณา และจะเกิดการยอมรับอย่างลึกซึ้ง เราจะเข้าใจดีว่า นี่คือ วิถีทางที่มวลมนุษย์เป็นอยู่และแล้วโลกทั้งมวลย่อมกลายเป็นเพียงภาพสะท้อนตัวตนของเรา มันจะกลายเป็นกระจกเงา เมื่อนั้น ทุกดวงหน้าของผู้คนจะกลายเป็นกระจกเงาสำหรับเรา ตัวเราย่อมยลดูตัวเราเองในทุกๆ ดวงหน้านั้น จงยอมรับความเป็นมนุษย์ ความเป็นเดรัจฉานของเรา จงยอมรับมันโดยปราศจากการประณามใดๆ มันคงอยู่ที่นั่น จงตระหนักรู้ถึงมัน กิเลสคงอยู่ ณ จุดนั้น อย่าได้พยายามทำให้มันกลายเป็นความไม่มีกิเลส เราทำไม่ได้หรอก

       
        และหากเราพยายามทำให้มันกลายเป็นความไม่มีกิเลสแล้ว เราจะเพียงแค่เก็บสะกดกลั้นมันไว้ “ความไม่มีกิเลส” ของเราจะเป็นเพียงอีกรูปแบบหนึ่งของกิเลสเท่านั้น อย่าได้พยายามเปลี่ยนมันให้เป็นอื่นเลย เราเปลี่ยนมันไม่ได้หรอก แต่ถ้าเราตระหนักรู้และยอมรับกิเลสในตัวเราเช่นที่เป็นอยู่ และกระทำทุกสิ่งที่เรากระทำอยู่โดยสำเหนียกรู้แก่ใจว่ามีกิเลสอยู่ ความตระหนักรู้เช่นนี้จะแปรสภาพเราเอง มันแปรสภาพ เพราะเหตุว่า เราไม่อาจมีกิเลส หรือมีจิตที่อกุศลได้ ทั้งๆ ที่รู้ตัวอยู่ ความไม่รู้ตัว ไม่รู้สึกตัว ไม่มีสติคือรากฐานที่จำเป็นสำหรับกิเลส ขณะที่การยอมรับคือช่องทางให้เกิดความตระหนักรู้ ความรู้สึกตัว การยอมรับจึงเป็นการแปรสภาพ


       
        (61) “ดุจระลอกคลื่นที่เกิดกับห้วงนที แลเปลวเพลิงที่มาพร้อมอัคคี เฉกฉะนี้ คลื่นแห่งสกลจักรวาลจึงอุบัติร่วมกับเรา”

       
        ขยายความ วิธีนี้แนะให้กระทำการใดก็ตาม ล้วนทำให้มันกลายเป็นสมาธิภาวนาเสมอ คือทำให้ทุกๆ สิ่งสามารถกลายเป็นการภาวนาได้ เพราะหากทุกๆ สิ่งไม่กลับกลายเป็นการภาวนาแล้ว สมาธิที่แท้จริงก็ยังไม่บังเกิดแก่เราได้ การกระทำใดก็ตาม ล้วนกลายเป็นสมาธิภาวนาได้ และทันทีที่เราล่วงรู้ว่าการกระทำกลายเป็นสมาธิได้อย่างไร เราย่อมแปรเปลี่ยนการกระทำทั้งหมดของเราให้เป็นสมาธิได้ เนื่องเพราะสมาธิมิได้ขึ้นอยู่กับการกระทำ แต่ขึ้นอยู่กับคุณลักษณ์ที่ตัวเราน้อมเข้าสู่การกระทำต่างหาก วิธีนี้แนะให้เราใช้ จิตสำนึกแห่งคลื่น หยั่งล่วงสู่สมาธิ โดยตระหนักว่า พวกเราเป็นเพียงระลอกคลื่นในห้วงสมุทรแห่งเอกภาพ จงเพิ่งพินิจมัน ปล่อยความรู้สึกนี้ให้หยั่งลึกลงไปภายในตัวเรา จงเริ่มรู้สึกถึงการหายใจของตน ประหนึ่งการผุดขึ้นของระลอกคลื่น เราหายใจเข้า หายใจออก และลมหายใจที่ล่วงเข้าสู่ตัวเรา ก็คือ ลมหายใจของใครคนอื่นเพียงชั่วขณะก่อนหน้านี้ ดุจระลอกคลื่น ส่วนลมหายใจที่ไหลละจากเราไป ก็จะกลายเป็นลมหายใจของคนอื่นๆ ในขณะถัดมา

       
        การหายใจเป็นเพียงการไหวกระเพื่อมในห้วงสมุทรแห่งชีวิต เรามิได้แยกตัวเป็นเอกเทศ หากเป็นเพียงระลอกคลื่น ลึกลงไปนั้น เราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับห้วงสมุทรแห่งชีวิต ปัจเจกภาวะนั้นเป็นสิ่งหลอกลวงและมายาภาพ ด้วยเหตุนี้ อัตตาจึงเป็นอุปสรรคกีดกั้นเพียงอย่างเดียวที่ทำให้ระลอกคลื่นคิดว่าตัวมันเองแยกขาดจากห้วงสมุทร เพราะฉะนั้น อัตตาจึงกลัวตาย แต่ถ้าระลอกคลื่นรู้ว่าตัวมันมิได้มีอยู่ มีเฉพาะห้วงสมุทรเท่านั้น ความกลัวตายย่อมไม่บังเกิดขึ้น (ยังมีต่อ)







Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้