แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (81) (8/10/2556)

แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (81) (8/10/2556)




แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ
 
เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (81)

(8/10/2556)



 


*จาก “กิริยา” สู่ตันตระ (ต่อ)*


       
       (62) “ทุกแห่งที่จิตเธอสัญจรไป ภายในหรือภายนอก ณ จุดนี้แล คือสิ่งนี้”

       
       ขยายความ วิธีนี้ของตันตระ เป็นการใช้จิตของตัวเองเป็น ทวารไปสู่สมาธิภาวนา จิตที่ฟุ้งซ่านส่ายแส่ไปมานี้แหละ โดยตระหนักรู้หรือรู้สึกตัวในชั่วขณะนี้แหละคือทวาร จิตดวงนี้ที่เรามีอยู่นี่แหละที่คลาคล่ำไปด้วยความปรารถนาอันต่ำทราม และอยู่พ้นการควบคุมของเรานี้แหละ ที่ตันตระบอกว่าคือทวาร ไม่ว่ามันจะสัญจรไปไหน ภายในหรือภายนอก ณ จุดๆ นี้แลคือสิ่งนี้หรือคือทวาร ขอเพียงเรารู้สึกตัวในห้วงยามนั้นเท่านั้น เพราะฉะนั้น ยามที่เรารู้ตัวว่า จิตกำลังฟุ้งซ่านไปโน่นไปนี่ จงอย่าไปขัดขวางมัน และอย่าพยายามนำมันไปสู่จุดใดจุดหนึ่ง แต่จงยอมรับการสัญจรของจิตตนด้วยความรู้สึกตัว หากทำเช่นนี้ได้บ่อยๆ ตัวเราจะเข้าสู่สมาธิภาวะได้เอง


       
       (63) “ยามสำเหนียกรู้อย่างแจ้งชัดผ่านสัมผัสเฉพาะบางอย่าง จงอยู่ในความตระหนักรู้นั้น”

       
       ขยายความ วิธีนี้ของตันตระแนะว่า อายตนะทั้งหลายนั้นเป็นเพียงอวัยวะสัมผัส โดยมี “ผู้รู้” แอบเร้นอยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นหากฟังดนตรี จงอย่าสดับฟังจนลืมตัว จงหมั่นรำลึกถึงความตระหนักรู้ซึ่งแฝงเร้นอยู่เบื้องหลังให้บ่อยๆ หากกำลังดูอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ก็จงอย่าดูจอคอมพิวเตอร์จนลืมตัว แต่จงรู้สึกตัวให้บ่อยๆ ว่ากำลังดูจอคอมพิวเตอร์อยู่ ยามสัมผัส จงเพียงแค่สัมผัสผ่านมือแล้วเฝ้าสำเหนียกถึงศูนย์กลางด้านใน หรือ “ผู้รู้” ที่อยู่ในตัวเรา ยามดมกลิ่นหรือยามรับรสโดยลิ้นก็เช่นกัน จงรู้สึกถึงศูนย์กลางด้านในจากอายตนะเหล่านี้ให้จงได้


       
       (64) “ณ จุดเริ่มของการจาม ในช่วงยามหวาดผวา ในห้วงปริวิตก ขณะอยู่เหนือหุบเหว เผ่นโผนในการสู้รบยาม กระหายใคร่รู้อย่างแรงกล้า ณ จุดเริ่มต้นของความหิวโหย ณ จุดสิ้นสุดของความหิวโหย...จงตระหนักรู้โดยไม่ขาดสาย”

       
       ขยายความ วิธีแนะว่า จงหมั่นรู้สึกตัวในช่วงที่เริ่มต้นมีความรู้สึกที่แรงกล้า อย่างเช่น จงตื่นตัวเมื่อรู้สึกว่าใกล้จะจาม เนื่องจากการจามคือสิ่งที่อยู่นอกเหนืออำนาจจิตใจ การตื่นตัวในช่วงที่ใกล้จะจาม อาจนำตัวเราไปสู่สภาวะของ “มหาสติ” หรือการตระหนักรู้อันยิ่งได้ วิธีนี้เคล็ดสำคัญนั้นอยู่ที่ ต้องตื่นตัวเตรียมพร้อม ณ จุดเริ่มต้นก่อนที่ความรู้สึกที่ว่าจะเกิดขึ้น จงรวมสติของเราทั้งหมดไว้ที่ศูนย์กลางภายในของเรา ณ จุดเริ่มต้นนี้แหละ บางทีการจามจะสลายวับไป และพลังงานจะถูกแปรสภาพเป็นความตื่นตัวยิ่งขึ้น เพราะในขณะจาม ย่อมปราศจากจิตใจ ความนึกคิดชั่วขณะ เพราะตลอดทั่วร่างกายและกลไกทั้งมวล ล้วนลงไปเกี่ยวข้องกับการจาม
       

       การดูรูปโป๊หรือภาพเปลือย จึงสามารถนำมาใช้ในการทำให้จิตตื่นตัวแบบตันตระได้ด้วยวิธีนี้ คือ เฝ้าดูรูปโป๊ เพียงเพื่อเฝ้ารอความรู้สึกแรกในศูนย์กามารมณ์หรือจักรเพศ (จักระที่ 2) ของตนเอง พอเกิดความรู้สึกให้หลับตาลง ลืมเลือนภาพโป๊ที่เห็น และตื่นเร้ากับความรู้สึก นี่คือวิธีที่ตันตระใช้แปรสภาพพลังทางเพศไปสู่ความรู้สึกตัว ความตื่นตัว
       

       การฝึกข้างต้นจะได้ผลต่อเมื่อผู้นั้นทำให้เกิดสติโดยไร้ความคิด ขึ้นมาได้เท่านั้น ถ้าปลอดความคิดแต่ไร้สติจะไม่ได้ผล หรือมีสติร่วมไปกับความคิดก็ไม่ได้ผลเช่นกัน
       

       ในทำนองเดียวกัน ความหวาดกลัว ความวิตกกังวล ความหิวโหย ความตื่นเต้นก่อนการแข่งขัน ความรู้สึกที่แรงกล้าเหล่านี้ล้วนสามารถนำมาใช้ฝึกสติ ฝึกความตื่นตัวได้ทั้งสิ้น โดยเฝ้ารู้สึกตัวในช่วงที่เริ่มต้นมีความรู้สึกที่แรงกล้านั้น
       


       (65) “ความบริสุทธิ์แห่งหลักคำสอนอื่น คือมลทินสำหรับเราในความเป็นจริงแล้ว ไม่พึงจำแนกว่าสิ่งใดบริสุทธิ์หรือมีมลทิน”

       
       ขยายความ วิธีนี้ตันตระแนะให้เราไม่แบ่งแยก ไม่ตัดสินในขณะที่รับรู้เรื่องราวต่างๆ เพื่อหลุดจาก “ทวิภาวะ” ลองนึกถึงโลกที่ปราศจากมนุษย์ดูสิ เมื่อนั้นอะไรเล่าคือความดีและอะไรเล่าคือความชั่ว อะไรเล่าที่บริสุทธิ์ และอะไรเล่าที่เป็นมลทิน สรรพสิ่งแค่ “คงอยู่” ล้วนๆ เท่านั้น จะเห็นได้ว่า การแบ่งแยก ตัดสิน ล้วนเป็นการรังสรรค์ หรือสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ทั้งสิ้น หาใช่ความเป็นจริงไม่ ตันตระจึงแนะว่า เพื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับทุกสิ่ง จงอย่าประณาม จงอย่าได้ตัดสินว่า “สิ่งนี้” ดี และ “สิ่งนั้น” เลว เพียงแค่ถอนตัวจากแนวคิดว่าด้วยความบริสุทธิ์ และมลทินทั้งมวลเสีย แล้วมองดูโลกด้วยสายตาเยี่ยงนี้ หากเราสามารถธำรงความสงบเงียบต่อโลกได้โดยไม่ปิดฉลาก ไม่ตัดสิน ไม่ประณาม แค่คงอยู่อย่างสงบ หากเราสามารถทำเช่นนี้ได้ ในไม่ช้าความสงบเงียบจะค่อยๆ ชำแรกเข้าสู่ภายใน
       

       ตันตระจะไม่กล่าวว่า คนโกงชาตินั้น เลวทรามต่ำช้า แต่จะกล่าวแค่ว่า เขาคนนั้นเป็นคนโกงชาติแค่นั้นคือ กล่าวเพียงข้อเท็จจริงโดยไม่มีการประณามในจิตใจ หากเราสามารถปฏิบัติแบบนี้ได้ในทุกเรื่องราว ในไม่ช้าเราจะรู้สึกถึงความไม่แบ่งแยกภายในตัวเอง ขั้วตรงข้ามของเราจะมารวมตัวกัน “ความดี” และ “ความเลว” ของเราจะรวมเข้าด้วยกัน ผนวกรวมเป็นหนึ่งเดียว เป็นองค์เอกภาพเดียวกัน จะไม่มีสิ่งใดบริสุทธิ์ ไม่มีสิ่งใดเป็นมลทิน แค่รู้ซึ้งถึงความเป็นจริงเท่านั้น
       

       ในขณะที่มีคำสอนจำนวนหนึ่งซึ่งตั้งอยู่บนฐานของ “พรหมจรรย์” พวกเขาจะเชื่อว่า “พรหมจรรย์” คือสิ่งดีงาม และกามารมณ์คือสิ่งต่ำช้า แต่ตันตระมิได้มองเช่นนั้น ตันตระเพียงกล่าวแค่ว่า กามารมณ์ก็คือ กามารมณ์ และพรหมจรรย์ก็คือพรหมจรรย์ในฐานะเป็นข้อเท็จจริงธรรมดาเท่านั้น ไม่มีคุณค่าให้ติดยึด
       

       ตันตระจะไม่มีวันกล่าวว่า พรหมจรรย์คือสิ่งดีงาม ส่วนผู้ที่ติดข้องในกามนั้นต่ำช้า ตันตระจะไม่กล่าวเช่นนั้นเป็นอันขาด เพราะตันตระยอมรับสิ่งต่างๆ เช่นที่เป็นอยู่ ก็เพียงเพื่อบันดาลความเป็นเอกภาพที่ไม่แบ่งแยกขึ้นในตัวเราเท่านั้น เพราะนี่คืออุบายวิธีที่ช่วยสร้างความเป็นเอกภาพในตัวเรา ช่วยให้เกิดการดำรงอยู่อันพร้อมมูลภายใน ไม่แตกแยก ไม่ขัดแย้ง ไม่เป็นปฏิปักษ์เช่นนี้แหละ ความสงบเงียบจึงจะบังเกิดขึ้นได้ ตันตระมองว่า คนที่แตกแยกภายในตัวเอง ต่อสู้กับตัวเอง พยายามต่อต้านบางสิ่งในตัวเอง จะไม่มีวันสงบสุขได้ มีแต่สิ้นเปลืองพลังชีวิตในการต่อสู้ ต่อต้านโดยใช่เหตุ

       
       โดยการ “ไม่ตัดสินผู้อื่น” ตันตระจะไม่พูดว่า โสเภณีต่ำช้า และคนเคร่งศาสนาเป็นผู้ประเสริฐ ตันตระเพียงมองว่า ทั้งคู่ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของเกมการละเล่นเดียวกัน พวกเขาต่างมีรากฐานบนกันและกัน บนการดำรงอยู่ของแต่ละฝ่าย
       

       เมื่อใดก็ตามที่เราไม่ตัดสิน ไม่ประณาม ไม่ต่อต้าน เพียงแต่ดำรงอยู่อย่าง “เหนือโลก” สังเกตข้อเท็จจริงเช่นที่เป็นอยู่ ไม่ตีความสิ่งเหล่านี้ไปตามจริตความชอบความชังของตัวเอง เมื่อนั้น ตัวเราย่อมอยู่เหนือคำตัดสิน คำพิพากษาใดๆ เราย่อมแปรสภาพ กลายสภาพไปแล้วโดยสิ้นเชิง ด้วยการเป็นผู้ดู ผู้รู้ ผู้เห็น ผู้ตระหนักรู้เยี่ยงนี้
       

       ขอเน้นย้ำอีกครั้งในที่นี้ว่า อุบายวิธีนี้ของตันตระที่แนะว่า “ความบริสุทธิ์แห่งหลักคำสอนอื่นคือ มลทินสำหรับเรา ในความเป็นจริงแล้ว ไม่พึงจำแนกว่าสิ่งใดบริสุทธิ์ หรือมีมลทิน” คือ คำสอนที่มีลักษณะ “ปฏิวัติ” ที่สุดของตันตระในการฝึกจิต เพราะธรรมชาติของจิตนั้นคือตัวการแบ่งแยก การแบ่งแยกของจิตปุถุชนเยี่ยงนี้ ไม่เพียงบันดาลความแตกแยกขึ้นในโลก แต่ยังสร้างความแตกแยกในตัวผู้แบ่งแยกอีกด้วย หากตัวเราแบ่งแยก เราเองก็จะถูกแบ่งทอนในการแบ่งแยกดังกล่าวเช่นกัน และเราก็ไม่อาจอยู่เหนือความแตกแยกภายในได้ เว้นแต่เราจะลืมการแบ่งแยกภายนอกเสีย เนื่องเพราะ สิ่งใดก็ตามที่เรากระทำต่อโลก เราได้กระทำต่อตัวเราเองด้วยเช่นกัน (ยังมีต่อ)







Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้