นักการเมืองกับการปฏิรูปประเทศไทย
โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย
25 ธันวาคม 2556
การเลือกตั้งจะมีไปเพื่ออะไร
ในเมื่อปวงชนขณะนี้ไม่ได้ต้องการแต่อย่างใด
หากสังคมเห็นตรงกันว่าต้องมีการปฏิรูปประเทศไทย ทำไมจึงปล่อยให้นักการเมืองทำการปฏิรูปแทนประชาชนไม่ได้
อำนาจอธิปไตยของปวงชนมีช่องทางใช้ผ่าน ฝ่ายบริหารคือรัฐบาล ฝ่ายนิติบัญญัติคือสภา และ ฝ่ายตุลาการคือศาล
ข้อเท็จจริงที่ปรากฏเห็นเป็นประจักษ์ก็คือ ส.ส.และส.ว.บางส่วนในสภาฯ ที่เป็นตัวแทนรับมอบอำนาจของปวงชนกลับมิได้กระทำการเพื่อประโยชน์ของประชาชน ผู้เป็นเจ้าของอำนาจแต่อย่างใด
กรณีกฎหมายนิรโทษกรรม การแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 190 ว่าด้วยการจัดทำสนธิสัญญากับต่างชาติ และกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ต่างเป็นตัวอย่างที่ดีของการมิได้ทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ทำ
กฎหมายนิรโทษกรรมเป็นการเข้าไปก้าวก่ายแย่งอำนาจการตัดสินพิจารณาคดี ความของฝ่ายตุลาการเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพราะไม่ใช่หน้าที่ของตน เองที่จะมาตัดสินคดีความที่ศาลจะได้พิจารณาหรือที่ได้ตัดสินไปแล้ว
ส่วนการแก้มาตรา 190 และกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทเป็นการเอาอำนาจที่ตนเองรับมอบมาไปยกให้กับรัฐบาลเป็นการละเว้น การปฏิบัติหน้าที่เพราะหน้าที่ในการตรวจสอบฝ่ายบริหารที่อำนาจหน้าที่โดยตรง
การยอมให้ฝ่ายบริหารไปทำสัญญาโดยไม่ได้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ให้รอบด้านหรือไม่ต้องมาขออำนาจจากสภาฯ เสียก่อนมันเป็นการทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนตรงที่ใด ในทำนองเดียวกัน การยอมให้รัฐบาลกู้เงินจำนวนมหาศาลโดยปราศจากรายละเอียดว่าจะนำไปใช้อย่างไร มันเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประชาชนอย่างไร
หลักการสำคัญเกี่ยวกับกฎหมายการเงินของรัฐก็คือ หากจะจ่ายต้องมาขออนุมัติจากประชาชนผ่านตัวแทนและต้องเป็นรายจ่ายที่ “หมายหัว” หรือ ear-mark เอาไว้แล้วว่าจะจ่ายไปเพื่อการใด
เหตุก็เพราะเงินหลวงหรือเงินแผ่นดินแม้ประชาชนจะเป็นเจ้าของ แต่ก็เป็นนามธรรมที่จับต้องไม่ได้เหมือนเช่นจุดยืนทหาร “ถั่งเช่า” ทั้งหลายที่บอกว่ายืนอยู่ข้างประเทศไทย ดังนั้นการใช้จ่ายจึงต้องรัดกุมเพราะขาดเจ้าของเงินที่มีตัวตนที่แท้จริงมา กำกับดูแล
แม้จะมี ส.ส.และส.ว.มาเป็นตัวแทนประชาชน แต่กระบวนการที่รัดกุมจำต้อง “หมายหัว” ไว้ล่วงหน้าว่าจะจ่ายเงินเพื่อการใดและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ของ การจ่ายเงินได้โดยง่าย
วิธีการงบประมาณของภาครัฐจึงตรงกันข้ามกับเอกชนที่กำหนดรายจ่ายขึ้น มาเสียก่อนตามความจำเป็นแล้วจึงไปหาเงินมาให้เพียงพอต่อรายจ่าย เงินทุกบาททุกสตางค์ที่หามาได้ไม่ว่าจะโดยการเก็บภาษีหรือกู้มาจึงเป็นเงิน แผ่นดินทั้งสิ้น
เพราะประเทศไทยมิใช่ Thailand Inc. หรือบริษัทประเทศไทยจำกัดที่สามารถล้มละลายได้ เงินแผ่นดินที่ได้มาจากเงินกู้จึงต้องชดใช้กลับคืนผู้ให้กู้ยืมด้วยการเก็บ ภาษีจากประชาชนเป็นหนทางสุดท้าย
แต่กลายเป็นว่าสภาฯ กลับนิ่งเฉยต่อการใช้อำนาจตรวจสอบที่ตนเองมีอยู่ ยอมศิโรราบยอมยกอำนาจการตรวจสอบกลายเป็นพวกเดียวกับรัฐบาลที่มาขอกู้ ไม่แม้แต่จะถามหรือสงสัยว่าเหตุใดเงินกู้จึงไม่ใช่เงินแผ่นดินตามที่รัฐบาล อ้าง
ไม่ถามหรือสงสัยเลยหรือว่ารถไฟความ “เลว” สูงจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องทำ มันคุ้มค่ากับเงินที่ได้ลงทุนไปในของฟุ่มเฟือยราคาแพงที่มิใช่โครงสร้างชั้น พื้นฐานที่จำเป็นนี้หรือไม่ เพราะระหว่างรถไฟความ “เลว” สูงนี้กับรถไฟทางคู่ ประโยชน์หรือความคุ้มค่าของเงินลงทุนย่อมต่างกันโดยสิ้นเชิง ประเทศจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีของฟุ่มเฟือยเช่นนี้เอาไว้
หรือนี่เป็นเพียงแค่โครงการที่จะเนรมิตเงินทุนไว้สำหรับซื้อเสียง เลือกตั้งในครั้งต่อๆ ไปเพราะแค่การกินสินบนเพียงร้อยละ 20 ของมูลค่าโครงการก็สร้างรายได้จำนวนมหาศาลเป็นแสนๆ ล้าน
หรือเป็นชุดของนโยบายประชานิยมที่แบ่งแยกประชาชนออกเป็นส่วนๆ จำนำข้าวไว้ซื้อประชาชนภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง รถคันแรกสำหรับคน กทม. ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันหรือ 15,000 บาทสำหรับปริญญาตรีไว้ซื้อใจแรงงานตั้งแต่ระดับล่างจนถึงจบใหม่ ส่วนภาคใต้ก็ทิ้งได้เลยเพราะเจาะไม่เข้า ดังนั้นราคายาง ปาล์ม จะตกต่ำเท่าใดก็ยกให้เป็นเรื่องของกลไกตลาดไปเสียฉิบเช่นเดียวกับภาคเหนือ หรืออีสานที่ไม่ต้องเอาใจเพราะเป็นหมูอยู่ในอวยเสียแล้ว
ความล้มเหลวของนโยบายประชานิยมที่ปรากฏ เช่น จำนำข้าวเพียง 2 ฤดูกาลผลิตแต่ขาดทุนไปแล้วกว่า 3 แสนล้านบาทและยังไม่รู้ว่าจะเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าใดเพราะปิดบังตัวเลขทุก วิถีทาง นี่จึงเป็นตัวอย่างที่ดีของความพยายามในการประมูลประเทศเพื่อให้ได้คะแนน เสียงโดยไม่สนใจหายนะที่เกิดขึ้นกับบ้านเมือง
หากจะปฏิรูปประเทศโดยให้เป็นภาระของนักการเมืองอาสาเสนอตัวเข้ามา การประมูลประเทศเพื่อให้ได้คะแนนเสียงก็จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนเก่าก็นั่งทับขี้จำนวนมหาศาลลุกออกจากตำแหน่งไม่ได้ขณะที่คนใหม่ก็ อยากเข้ามาเต็มแก่ แต่ที่แน่ๆ ต่างคนต่างก็ทุ่มประมูลประเทศสุดตัว
การซื้อเสียงด้วยเงินโดยตรงหรือผ่านนโยบายประชานิยมชนิดต่างๆ ผ่านการเลือกตั้งจึงทำให้กลไกประชาธิปไตยในการเข้าสู่อำนาจบิดเบี้ยวฉ้อฉนไป ด้วยอำนาจเงินและอำนาจรัฐ
คิดหรือว่า กกต. 5 คนจะเข้ามาทำอะไรเกี่ยวกับการซื้อเสียงให้หมดไปได้ คิดหรือว่านักการเมืองและพรรคการเมืองที่อยู่ในข่ายต้องถูกปฏิรูปจะยอม ปฏิรูปตนเอง เมื่อการซื้อเสียงเป็นการลงทุนก็จะต้องมีการถอนทุนในภายหลังอย่างแน่นอน ที่แล้วมาเสียงข้างมากในสภาฯ พิสูจน์แล้วว่ามิได้เป็นเสียงสวรรค์ที่ใช้เพื่อประโยชน์ของประชาชนแต่อย่าง ใดมิใช่หรือ
คำตอบจึงชัดเจนเข้าใจอย่างง่ายๆ ว่าไม่สามารถปล่อยให้นักการเมืองมาทำหน้าที่ปฏิรูปนี้ได้เพราะมีผลประโยชน์ ส่วนตนขัดแย้งกับประชาชน วาทะเลือกตั้งก่อนค่อยปฏิรูปจึงเป็นการบิดเบือนกระแสการปฏิรูป เป็นเพียงแค่ความพยายามที่จะอยู่ในอำนาจทุกวิถีทางก็เท่านั้นเอง
ขณะนี้ประชาชนได้ลุกขึ้นมาทวงสิทธิอันชอบธรรมของตนเองคืนมาจากตัวแทน เพื่อการปฏิรูป การเลือกตั้งเพื่อหาตัวแทนจึงไม่ได้ตอบโจทย์การปฏิรูปประเทศแต่อย่างใด จะมีเลือกตั้งหรือไม่มีจึงไม่ใช่ประเด็น
ประเด็นก็คือ ยิ่งลักษณ์ ทักษิณและรัฐบาลในระบอบทักษิณจึงเป็นสิ่งเสื่อมทรามทางการเมืองที่ขัดขวาง การปฏิรูปประเทศของปวงชนไม่ยอมสละซึ่งอำนาจโดยอ้างการเลือกตั้งที่ไม่สามารถ ตอบโจทย์ของการปฏิรูปได้แต่อย่างใด ถ้าไม่หวงไม่ยึดติดอำนาจทำไมไม่ถอยออกไป
ไปเสียเถิดยิ่งลักษณ์เมื่อยังมีโอกาส หาไม่แล้วคุณกำลังเข้าสู่ทางเดินสายเดียวกับพี่ชายตนเอง จุดจบเป็นอย่างไรก็รู้อยู่แล้วมิใช่หรือ?