เพื่อมิให้เศรษฐกิจต้อง “ตาย” ตามรัฐบาลที่ “ตาย” ไปแล้ว ทางออกเดียวคือมีรัฐบาลตัวจริงอำนาจเต็ม สรุปสถานการณ์ของประเทศไทยในขณะนี้ มีคน 25 คนดื้อปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีโดยที่ไม่มีนายกฯ ตัวจริงที่มีอำนาจเต็ม ไม่สามารถมีนายกฯ จากการเลือกตั้งเกิดขึ้นได้ ขาดรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มมากว่า 6 เดือนแล้ว และที่ร้ายที่สุดก็คือ คน 25 คนดังกล่าวพร้อมพรรคร่วมรัฐบาลขัดขวางทุกวิถีทางไม่ยอมให้มีนายกฯ ตัวจริงเกิดขึ้นได้ แต่เศรษฐกิจไทยกำลังจะ “ตาย” ตามรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ “ตาย” ไปแล้วหากไม่สามารถแก้ไขพลิกฟื้นได้ทันท่วงที อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไตรมาส 1 ปี 57 ที่ขยายตัวติดลบร้อยละ 0.6 ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจที่เริ่มถดถอยมาตั้งแต่ต้นปี 56 กำลังอยู่ในสภาวะที่กำลังจะ “ตาย” ในไม่ช้า ตัวชี้วัดในด้านอุปสงค์รวมกำลังหดตัวลงในทุกๆ ด้านเช่นเดียวกับในด้านอุปทานรวม หากคน 25 คนยังไม่มีสำนึกดื้อด้านอยู่ต่อไปเพื่อขัดขวางมิให้มีนายกฯตัวจริงเกิดขึ้นได้ อัตราการขยายตัวก็อาจจะติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาสอันเป็นภาวะของเศรษฐกิจถดถอยอย่างเต็มรูปแบบ คน 25 คนนี้พร้อมกับรัฐมนตรีชุดเดิมที่ถูกไล่ออกไปแล้วได้สร้างความเสียหายกับเศรษฐกิจอย่างมหันต์ ความเสียหายที่ประเมินง่ายที่สุดก็คือจากการไร้ซึ่งความรู้ความสามารถ ผลงานที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ตั้งแต่ปี 54-56 เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 3 (0.1+6.5+2.9) ซึ่งเป็นระดับที่ค่อนข้างต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตถึงร้อยละ 2 - 3 เลยทีเดียว ดังนั้นความเสียหายที่ประเทศไทยเสียไปจากการให้โอกาสรัฐบาลยิ่งลักษณ์บริหารประเทศในช่วงประมาณ 3 ปีจึงอยู่ที่ประมาณปีละ 3.3 แสนล้านบาท (3% ของ GDP 11 ล้านล้านบาท) หรือ 1 ล้านล้านบาทต่อ 3 ปี นี่เป็นเพียงความเสียหายที่คิดคำนวณจากที่ควรจะได้แล้วไม่ได้ เป็นต้นทุนค่าเสียโอกาสของการให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์มาบริหารประเทศ ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริงจับต้องได้มาจากนโยบายเศรษฐกิจที่ทำร้ายประเทศไทยไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท รถคันแรก จำนำข้าวทุกเมล็ด และการปรับลดภาษีเงินได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ซึ่งล้วนส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ตัวเลขการบริโภค การลงทุน ทั้งรัฐและเอกชนเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ดีว่า การเบี้ยวไม่จ่ายค่าข้าวให้ชาวนาเกือบ 1 ล้านครัวเรือนมันทำให้ชาวนาคนเหล่านี้ไม่มีเงินไปใช้จ่ายบริโภค เช่นเดียวกับคนเมืองทั้งประเทศที่ไปติดกับดับกับรถคันแรกอีกกว่า 1.2 ล้านคัน แม้จะยังไม่ถูกยึดแต่ก็ต้องพยายามกระเหม็ดกระแหม่ลดรายจ่ายอื่นๆ ทุกวิถีทางเพื่อมิให้รถถูกยึดและตนเองต้องถูกฟ้องล้มละลาย ราคาสินค้าที่แพงขึ้นเรื่อยๆ ชี้ว่าการบังคับขึ้นค่าจ้างที่เป็นตัวเงินโดยไม่ได้มีนโยบายเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานนั้นจะมีผลร้ายส่งกลับมาในรูปของค่าจ้างที่แท้จริงลดลงพร้อมๆ กับการว่างงานที่เพิ่มขึ้น การบริหารประเทศตามอำเภอใจโดยอาศัยเสียงข้างมากแต่เพียงลำพังได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนเอกชนเมื่อมีกระแสต่อต้านจนตนเองต้องยุบสภาหนีความผิด ส่วนการละเมิดวินัยทางการคลังของประเทศไปกู้เงินนอกงบประมาณนั้นทำให้งบลงทุนภาครัฐไม่สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อศาลชี้ว่าไม่สามารถทำได้ ส่วนการส่งออกแม้จะมิได้ขึ้นอยู่กับอุปสงค์ภายในประเทศ แต่การไม่เข้าใจหลักเศรษฐศาสตร์ เพิ่มแต่เงินในกระเป๋าแต่ไม่พยายามเพิ่มรายได้จากการจ้างงานหรือประสิทธิภาพของแรงงานโดยการเพิ่มเทคโนโลยีด้วยการออมมีผลทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตในประเทศลดลงไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดโลกได้ อัตราการค้า หรือ Terms of Trade ของไทยที่แสดงถึงขีดความสามารถในการแข่งขันช่วงระบอบทักษิณจึงย่ำเท้าอยู่กับที่ สั่งวัตถุดิบเข้ามาผลิตสินค้า 100 บาทแต่ผลิตขายได้เพียงไม่เกิน 105 บาท กำไรหรือมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการไทยจึงมีเพียงน้อยนิด ประเทศไทยในปัจจุบันจึงหาได้ยากที่จะมีภาคการผลิตใดที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงเพราะขาดซึ่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นของตนเอง แม้จะอาศัยอำนาจผูกขาดจากภาครัฐแต่ก็ตั้งราคาให้เกิดส่วนต่างสูงหากินได้เฉพาะในขอบเขตรัฐเท่านั้น ไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกที่อำนาจรัฐไทยไปไม่ถึงได้ การขาดทุนของการบินไทยเป็นตัวอย่างที่ดี เมื่อไม่มีอำนาจรัฐในการผูกขาดและขีดความสามารถในการแข่งขันก็ไม่มีเมื่อต้นทุนการผลิตนั้นสูงกว่าคู่แข่งขัน ต้นทุนกว่า 3 บาทต่อที่นั่งต่อก.ม.ของการบินไทยนั้นจะไปสู้กับคู่แข่งอื่นๆ ที่ต่ำกว่าได้อย่างไร จะเอาความได้เปรียบอะไรไปสู้เริ่มต้นก็แพ้แล้ว ยังมีธุรกิจภาคการผลิตอื่นๆ ที่เป็นเช่นนี้อีกมาก ยิ่งบ้าเรื่องเปิดเสรีอาเซียนมากเท่าใดก็ยิ่งฉิบหายเร็วมากขึ้นเท่านั้น เครื่องยนต์ การบริโภค การลงทุน และการส่งออกที่เคยผลักดันเศรษฐกิจไทยให้ก้าวไปข้างหน้าต่างก็ดับไปแล้วหรือกำลังจะดับไปในไม่ช้าอันเป็นผลจาก (1) นโยบายที่ผิดพลาด และ (2) การไม่มีรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มเข้ามาแก้ไข ทางออกของประเทศไทยเพื่อมิให้เศรษฐกิจไทยต้อง “ตาย” ตามรัฐบาลที่ “ตาย” ไปแล้วก็คือต้องได้รัฐบาลที่มีอำนาจเต็มเข้ามาแก้ไขความเดือดร้อนโดยเร็วที่สุด การกู้เงินเพื่อมาใช้หนี้ชาวนาที่ค้างอยู่ การจัดทำงบประมาณเพื่อเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาและมิให้เศรษฐกิจชะงักงัน การ “ทวงหนี้” จากผู้ที่ทำให้เศรษฐกิจเสียหายเพื่อเป็นเยี่ยงอย่างไม่ให้คนที่ทำชั่วลอยนวล จึงล้วนเป็นหน้าที่ที่สำคัญที่รัฐบาลมีอำนาจเต็มเท่านั้นที่สามารถทำได้ มิใช่ที่มีอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้แล้ว การเข้ามาปฏิรูปการเมืองเพื่อฟื้นฟูกลไกตลาดให้สามารถทำงานได้ก็เป็นภารกิจในเชิงโครงสร้างที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปจะละเลยไปมิได้ ทุนนิยมแบบผูกขาด หรือทุนนิยมสามานย์ ที่เรียกกันนั้นเกิดจากการผูกขาดด้วย “เสียงข้างมาก” ทางการเมือง หากไม่มีวาระปฏิรูปการเมืองก็เท่ากับว่าแก้ปัญหาเพียงชั่วคราวเท่านั้นปัญหาในเชิงโครงสร้างยังมิได้แก้ไข เป็นฤกษ์งามยามดีที่ประตูแห่งการปฏิรูปได้เปิดออกแล้ว “ผู้ใหญ่” ที่มีหน้าที่ทั้งหลายจึงต้องฉกฉวยโอกาสนี้ทำหน้าที่ที่ตนเองมีอย่างเต็มกำลังความสามารถ หาไม่แล้วท่านจะกลายเป็นสิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์ที่จะจารึกเอาไว้ว่ามีส่วนทำร้ายประเทศ |
||
|