ผู้หญิงที่ผมรู้จัก 14
โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย
5 พฤศจิกายน 2557
ผู้หญิงที่ผมรู้จักและอยากแนะนำคนนี้อาจเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีเพราะมีหลายท่านเป็นแฟนมานาน เธอผู้นี้คือ อมามิ ยุกิ (天海祐希)
เธอมี 2 ชีวิต แต่ผู้เขียนคิดว่าส่วนใหญ่จะรู้จักชีวิตที่สองของเธอเมื่อมาเป็นนักแสดงชื่อ ดังในชุดทางโทรทัศน์ในช่วงปี 2005-ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นบทของทนาย ครู ผู้ประกาศข่าว หญิงมั่นที่ประกาศว่าจะไม่แต่งงาน หรือตำรวจหัวหน้าหน่วยสืบสวน
อมามิมีชีวิตที่สองได้ก็เพราะชีวิตแรกของเธอที่โรงเรียนดนตรีทะกะระ ซึกะ และโรงละครทะกะระซึกะ อันอาจกล่าวได้ว่าเป็นแหล่งบ่มเพาะที่เจียระไนความสามารถของเด็กสาวญี่ปุ่น มาแล้วกว่า 100 ปี
ทะกะระซึกะ (宝塚) เป็นทั้ง ชื่อเมือง ชื่อสายรถไฟ ชื่อของโรงเรียนดนตรีและโรงละครที่มีการแสดงละครเพลงและรีวิวประกอบเพลงตาม แบบตะวันตกที่น่าจะเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในเอเชียที่ยังคงอยู่ ก่อตั้งขึ้นโดย โคบะยะชิ อิชิโซ (小林 一三) ที่เกิดวันที่ 3 เดือน 1 พ่อแม่เลยตั้งชื่อว่า อิชิโซ (一三)
โคบะยะชิเกิดเมื่อกว่า 100 ปีก่อน เป็นคน 3 แผ่นดิน คือเกิดในปี 1873 ในแผ่นดินของจักรพรรดิเมจิ (ตรงกับ ร.5 ไทย) จักรพรรดิไทโชจนมาถึงแก่กรรมปี 1957 ในแผ่นดินของจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ เป็นนักการเมือง นักอุตสาหกรรม ผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท ฮังคิว ที่เป็นเจ้าของกิจการรถไฟเอกชนสายสำคัญคือสายฮังคิว (阪急電鉄) ที่เชื่อมต่อระหว่างโอซะกะกับเกียวโตะและโกเบ
โรงเรียนดนตรีและโรงละครทะกะระซึกะ จึงเป็นการสร้างแหล่งความเจริญเพื่อรองรับการเปิดเส้นทางรถไฟสายทะกะระซึกะ ที่เชื่อมระหว่างทะกะระซึกะกับโอซะกะ
ความเชื่อมโยงระหว่างโรงเรียนดนตรีและโรงละครทะกะระซึกะจึงมิอาจแยก จากกันได้ กล่าวคือโรงละครทะกะระซึกะก็อาศัยวัตถุดิบคือนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาจาก โรงเรียนดนตรีทะกะระซึกะที่ก่อตั้งเมื่อปี 1913 มาเป็นนักร้องนักแสดงในสังกัด
แม้จะเป็นโรงเรียนอาชีวะหลักสูตรระยะสั้น 2 ปีที่รับเฉพาะนักเรียนหญิงที่จบ ม.ต้นเพียงปีละ 40 คน แต่กลับมีผู้ที่สนใจอยากจะเข้าเรียนเป็นจำนวนมาก การต่อสู้เพื่อแย่งชิงที่นั่งจึงเข้มข้นไม่แพ้การสอบเข้ามหาวิทยาลัยชื่อ ดังๆ แต่อย่างใด
การสร้างชาติญี่ปุ่นจึงมาจากการสร้างคนอย่างเป็นระบบโดยแท้จริง นักเรียนที่จบการศึกษาจากโรงเรียนดนตรีทะกะระซึกะแม้จะได้รับความรู้จากการ ศึกษาแต่ก็ยังเป็นแค่พื้นฐาน ยังสดๆ จากไร่ การบ่มเพาะและสร้างชื่อเสียงในวงการแสดงของแต่ละบุคคลจึงเกิดขึ้นเมื่อมา เป็น เคงคิวกะ (研究科 . . . 年) ที่ต่อท้ายด้วยจำนวนปีที่มาอยู่ในโรงละครทะกะระซึกะ หรือเรียกย่อๆ ว่า เคง (ปี)
การเข้าสู่โลกความเป็นจริงนั้นมิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป เคงปี 1 เมื่อแรกเข้าจะถูกจัดให้เข้าไปสังกัดอยู่ในคณะต่างๆ 5 คณะ ต่างคนจึงต้องขวนขวายสร้างชื่อเสียงด้วยฝีมือที่ตนเองมีอยู่ แต่เนื่องจากเป็นโรงละครที่มีแต่หญิงล้วนและต้องโสดด้วย จุดสูงสุดที่ใฝ่ฝันคือ บทตัวพระหรือนักแสดงนำบทชายหรือ ชุเอง โอโตะยะคุ (主演男役) ที่ดูไปแล้วอาจจะโดดเด่นมากกว่า บทตัวนางหรือนักแสดงนำบทหญิง หรือ ชุเอง มุซึโกะยะคุ (主演娘役) ดังจะเห็นได้จากแม่ยกหรือแฟนๆ ที่มาสนับสนุนมักมีจำนวนมากกว่า
อมามิเด็กสาวจากโตเกียวที่ถูกบ่มเพาะมาจากโรงเรียนดนตรีและสามารถ ก้าวขึ้นสู่นักแสดงนำบทชายในระยะเวลาที่รวดเร็วมาก เพียงเคงปี 7 หรือ 7 ปีจากการเข้าสู่โรงละคร (สำเร็จการศึกษาและเข้าสู่โรงละครฯ ปี 1987 ได้ตำแหน่งนักแสดงนำบทชายในปี 1993 และลาออกในปี 1995) ขณะที่อีกหลายคนใช้เวลามากกว่านี้ (มากที่สุด 18 ปี) กว่าจะได้ตำแหน่งนักแสดงนำฯ หรืออาจไม่มีโอกาสเลยในชีวิตการแสดงของตนเองก็มีอยู่มากมาย ความสามารถ หน้าตา รูปร่าง หรือความรัก ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญส่วนบุคคลที่มีส่วนในการกำหนดการเข้าสู่จุดสูงสุดใน ชีวิตการแสดงของตนเอง
มีการประมาณการโดยหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้เมื่อครบรอบการก่อตั้ง 100 ปีว่าทุกปีจะมีการแสดงประมาณ 1,300 รอบสำหรับผู้ชม 2.5 ล้านคนโดยเคงทั้งหลายกว่า 400 คน
หลายคนรู้จักการ์ตูนที่เจ้าพ่อการ์ตูน เท็ทซึกะ โอซามุ (手塚 治虫) เขียนไม่ว่าจะเป็น Astro Boy คิมบาเจ้าป่า แต่อาจไม่มีใครรู้ว่าเขามีวัยเด็กที่เติบโตมาจากโรงละครทะกะระซึกะ ริบบอน โนะ เคชิ (リボンの騎士) ในชื่อภาษาอังกฤษว่า Princess Knight ซึ่งเป็นต้นแบบการ์ตูน “ตาโต” นั้นน่าจะได้รับแรงบันดาลใจจากบรรดาเคงทั้งหลายที่เขาได้รับชมจากโรงละครทะ กะระซึกนั่นเอง
ความโด่งดังของอมามิในชีวิตแรกของการแสดงจึงวัดด้วยวันแสดง รอบสุดท้ายที่มีบรรดาแฟนๆ ที่เป็นแม่ยกมาให้กำลังใจเป็นจำนวนมากถึงกับมีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์อีก ด้วย เป็นจุดสิ้นสุดของชีวิตแรกแต่เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตที่สองของเธอ