คำนิยมของ อ.ปกป้อง จันวิทย์
(จากหนังสือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงลึก)
1
จะว่าไปผมรู้จักอาจารย์สุวินัยห่างๆมาร่วมสิบสองปีแล้วครั้งแรกที่ผมกับอาจารย์เริ่มมีสัมพันธ์กันคือวันที่ผมซื้อหนังสือ ปรัชญาอภิมนุษย์มานั่งอ่านเมื่อครั้งเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย
ก่อนหน้านั้นผมก็พอรู้จักอาจารย์บ้างผ่านทางบทบาทอาจารย์นักปฏิบัติการทางการเมืองในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬและในฐานะตัวตั้งตัวตีกลุ่มเพื่อนอานันท์รวมถึงเจ้าของคอลัมน์มองอย่างตะวันออกในผู้จัดการรายวันยุคภูมิปัญญาเข้มข้นที่สร้างแรงบันดาลใจให้ใครหลายคน
ด้วยความมุ่งมั่นอยากเข้าเรียนที่คณะเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ผมเลยสนใจผลงานของอาจารย์คณะนี้เป็นพิเศษเมื่อแรกอ่านหนังสือของอาจารย์สุวินัยนอกจากรู้สึกชื่นชมใน วิถี แบบสุวินัยแล้วงานเขียนของอาจารย์ยัง เปิด โลกอีกด้านหนึ่งซึ่งผมในฐานะเด็กบ้าการเมืองคนหนึ่งในขณะนั้นไม่เคยและไม่คิดที่จะเข้าไปค้นหามาก่อน
จากปรัชญาอภิมนุษย์ผมก็ตามอ่านงานเขียนของอาจารย์อีกหลายเล่มจนถึงมูซาชิฉบับท่าพระจันทร์
สารภาพว่าขณะนั้นผมยังไม่รู้สึกดื่มด่ำลงลึกไปกับงานเขียนของอาจารย์มากเท่าไหร่เมื่อเทียบกับงานเขียนของอาจารย์สาย สมอง คนอื่นๆจะด้วยความเยาว์หรือความสนใจส่วนตัวหรืออะไรก็แล้วแต่ผมรู้สึกตื่นเต้นกับการอ่านงานเศรษฐ- ศาสตร์งานรัฐศาสตร์มากกว่างานเขียนสาย จิตใจของอาจารย์สุวินัย
เรียกได้ว่าอาจารย์สุวินัย แง้ม ประตูให้เข้าไปค้นหา โลกภายใน มาตั้งนานแล้วแต่ผมยังไม่มีความกระหายพอที่จะเข้าไปก็ได้แต่แอบดูอยู่ห่างๆหน้าประตูแล้วโลดแล่นอยู่กับการพยายามเปลี่ยนแปลงโลกภายนอกตัวเองเสียเป็นส่วนใหญ่ตลอดระยะเวลาสิบสองปีที่ผ่านมา
2
ผมห่างเหินจากการอ่านงานของอาจารย์สุวินัยไปพักใหญ่โดยเฉพาะในช่วงที่อาจารย์เขียนหนังสือชุด มังกรจักรวาล การถูกฝึกฝนให้เป็นนักสังคมศาสตร์ที่ใช้ระเบียบวิธีการศึกษาแบบวิทยาศาสตร์และถูกสอนให้มีวิธีคิดแบบสมัยใหม่ได้ กัน ผมออกจากอาจารย์ไปเรื่อยๆแม้ว่าความเคารพนับถือจะไม่ด้อยลงก็ตาม
เมื่อผมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคณะเศรษฐศาสตร์ท่าพระจันทร์ในฐานะนักศึกษาก็ไม่ได้ลงเรียนกับอาจารย์สุวินัยทั้งที่ผมสนใจศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมืองและตอนนั้นอาจารย์ก็กำลังสอนวิชาเอกทางเศรษฐศาสตร์การเมืองที่คณะ
จะโทษใครไม่ได้เพราะผมเป็นคนเลือกที่จะไม่ลงเรียนเองก็เมื่อพูดถึงเศรษฐศาสตร์การเมืองนักเรียนเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ย่อมต้องคิดถึงเศรษฐศาสตร์การเมืองแบบคลาสสิกเศรษฐศาสตร์การเมืองแนวมาร์กซ์หรือเศรษฐศาสตร์สถาบันไม่ใช่บูรณาการศาสตร์ที่ผสมผสานปรัชญาตะวันออกตามวิถีแบบสุวินัย
เมื่อแรกเข้าเป็นอาจารย์ใหม่ผมมีโอกาสได้คุยกับอาจารย์สุวินัยบ้างตามโต๊ะอาหารและระเบียงทางเดินแต่มิได้สนิทสนมเป็นเพียงความสัมพันธ์ทางสังคมเสียมากกว่านานๆครั้งจึงจะได้ถกเถียงกันเรื่องเศรษฐกิจการเมืองยิ่งเมื่ออาจารย์เผชิญวิกฤตใหญ่จนเร้นกายจากสังคมความสัมพันธ์ก็ดูห่างออกไป
เวลาผ่านไปสักพักอาจารย์สุวินัยก็เริ่ม กลับมา ปรากฏการณ์ของระบอบทักษิณทำให้เราได้คุยกันมากขึ้นเกี่ยวกับเศรษฐกิจการเมืองไทยการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ทั้งทางด้านเศรษฐกิจการเมืองและสังคมภายใต้รัฐบาลทักษิณส่งผลให้อาจารย์เลือกที่จะหวนกลับมาสู่บทบาทคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันอีกครั้ง
และบัดนี้งานเขียนทั้ง 3 ภาคได้ถูกนำมารวมเล่มโดยสำนักพิมพ์ open books รวม 3 เล่มด้วยกันถือเป็นการปิดขบวนงานเขียนชุดนี้
เส้นทางเดินของหนังสือไตรภาคชุดนี้เองที่ทำให้อาจารย์สุวินัยและผมยกระดับความสัมพันธ์เป็น คนร่วมทาง ที่ใกล้ชิดกันมากขึ้นจนในที่สุดผมได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัส โลก และ วิถี แบบสุวินัยด้วยประสบการณ์ตรง
ผมเคยเขียนไว้ในคำนิยมของหนังสือภาคสองว่าโดยส่วนตัวผมเห็นว่าหนังสือไตรภาคชุดนี้ (คือ แกะรอยทักษิโณมิคส์กับความจำเป็นของทางเลือกที่สาม-การเมืองเชิงบูรณาการ - การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงลึก) แสดงถึงการ กลับมา อย่างตกผลึกงดงามหมดจดและถึงพร้อมของอาจารย์สุวินัย
ผมยังคงยืนยันประโยคดังกล่าว
อาจารย์เริ่มต้นภาคแรกของงานเขียนชุดนี้ด้วยการแกะรอยและชำแหละระบอบทักษิณซึ่งมิใช่เพียงตั้งคำถามในระดับความชอบธรรมเท่านั้นหากยังลงลึกถึงระดับความเป็นของแท้ของตัวระบอบและตัวคนของคุณทักษิณด้วยท่วงทำนองที่เต็มไปด้วยความเมตตาและมุมมองที่แตกต่างเฉียบคม
ในภาคสองอาจารย์พยายามอธิบายระเบียบวิธีคิดเชิงบูรณาการและพื้นฐานที่สร้างมันขึ้นมาซึ่งช่วยให้เราเข้าใจระเบียบวิธีคิดที่อาจารย์ใช้อธิบายปรากฎการณ์ระบอบทักษิณในเล่มแรกอย่างลึกซึ้งขึ้นบทสังเคราะห์ของอาจารย์สุวินัยถือเป็นความแปลกใหม่ที่ลึกซึ้งและเป็นอีกครั้งหนึ่งที่อาจารย์ช่วยถางทางนำพาสังคมไทยไปสู่ภูมิปัญญาใหม่
กระทั่งถึงภาคสุดท้ายอาจารย์สุวินัยได้เสนอทางออกต่อการเมืองไทยด้วยข้อเสนอปฏิรูปโครงสร้างเชิงลึกของประเทศด้วยวิถีบูรณาการโดยมุ่งหวังที่จะยกระดับจิตวิญยาณของสังคมไทยเพื่อ ข้ามพ้น ระบอบทักษิณ
จริงๆแล้วผมมีความเห็นว่าข้อเสนอของอาจารย์สุวินัยก้าวไปไกลกว่าการข้ามพ้นระบอบทักษิณหากเป็นการเตรียมตัวเพื่อข้ามพ้นระบบทุนนิยมด้วยซ้ำไป
น่าสนใจที่ทางออกของการเมืองไทยยุค หลัง ทักษิณในความเห็นของอาจารย์สุวินัยคือการหันกลับมาพัฒนาตัวคนที่ขั้นรากฐานซึ่งมิได้มีความหมายผิวเผินเพียงแค่การให้ความรู้เพิ่มความสามารถในการใช้เหตุใช้ผลและยกระดับสติปัญญาเท่านั้นหากเป็นการพัฒนาถึงระดับจิตวิญญาณให้คนมีศักยภาพในการเข้าถึงความดีความจริงและความจริงในระดับจริงแท้ที่สุดให้ได้
สำหรับนักปฏิบัติการทางการเมืองระดับเข้มข้นเนื้อหาที่ปรากฎในหนังสือเล่มนี้อาจดูเหินห่างไปจากชีวิตจริงดูไกลตัวจนหลายคนอาจจะละเลยไม่ให้ความสำคัญเพราะคิดว่าโลกการเมืองกับโลกจิตวิญญาณไม่น่าจะประสานร่วมกันได้อย่างแน่นอน
ผมเองก็เคยคิดเช่นนั้นจนถึงบ่ายวันหนึ่งเมื่อสี่เดือนก่อน
3
หนังสือเล่มนี้มุ่งสร้างนักปฏิบัติการทางการเมืองในอุดมคติที่มีความเป็นพลเมืองมีจิตสำนึกมีสติปัญญารู้จักตัวเองรู้จักสังคมมีคุณธรรมใจกว้างใส่ใจในการพัฒนาจิตวิญญาณมีโลกทัศน์แบบองค์รวมและพหุนิยม
ในฐานะที่ผมถือว่าตัวเองเป็นนักปฏิบัติการทางการเมืองคนหนึ่งหนังสือเล่มนี้ได้เปิดโลกอีกด้านให้เราได้มีโอกาสสำรวจตัวเองถึงส่วนที่ยังพร่องและมักละเลย
ผมเองเป็นคนชอบการเมืองมาตั้งแต่เด็กเคยมีความฝันอยากเป็นนักการเมืองที่ผ่านมาผมมักหมกมุ่นอยู่กับความพยายามที่จะเปลี่ยนโลกภายนอกรอบตัวให้ดีขึ้นมาตลอดแม้จะไม่ได้เป็นนักการเมืองแต่ที่หันเหมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยก็ยังไม่ท้ิงบทบาทนักปฏิบัติการทางการเมืองเล่นการเมืองนอกสภาด้วยการเขียนบทความสอนหนังสือและวิจารณ์สภาพเศรษฐกิจการเมืองและสังคมไทยตามโอกาสอำนวยบางจังหวะก็ต้องลงมือเคลื่อนไหวเองด้วย
สมัยผมเริ่มติดตามการเมืองใหม่ๆก็เริ่มต้นจากการมองการเมืองในเชิงอุดมคติและชอบเรียกร้องว่านักการเมืองที่ดี ควร จะเป็นอย่างไรต่อมาเมื่อมาสนใจในด้านเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการเมืองและเศรษฐศาสตร์สถาบันแนวใหม่มุมมองก็เริ่มเปลี่ยนมาสนใจหาคำอธิบายสภาพการเมืองแบบที่เป็นอยู่จริงให้ความสนใจกับ ระบบ กติกา หรือ สถาบัน เหนือตัวบุคคลด้วยคิดว่าระบบเป็นเหตุที่ส่งผลต่อไปยังพฤติกรรมของตัวละครในตลาดการเมือง
ต่อมาเมื่อได้ศึกษาเศรษฐศาสตร์สถาบันแนววิวัฒน์ก็เริ่มคิดได้ว่าลำพังสถาบันหรือกติกาที่ดีอย่างเดียวคงไม่เพียงพอหากคุณภาพของความพอใจ (Preference) ของคนในสังคมรวมถึงค่านิยมและวัฒนธรรมที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จของสถาบันที่ดีไม่ได้ดีตามไปด้วยระบบที่ดีโดยเฉพาะกติกาที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่ดีเพียงลำพังก็มิอาจนำพาไปสู่ระบบการเมืองที่ดีได้
ทั้งนี้ตัวกติกาหรือสถาบันเป็นตัวแปรฝั่งหนึ่งกับพฤติกรรมความพอใจและค่านิยมของคนเป็นตัวแปรอีกฝั่งหนึ่งจะวิวัฒน์ร่วมกันและส่งผลกระทบกลับไปกลับมากระทบกันและกันพูดง่ายๆคือกติกาที่ดีอาจช่วยให้คนที่ใช้กติกานั้นมีคุณภาพขึ้นเมื่อคนดีขึ้นกติกาก็จะประสบความสำเร็จมากขึ้นดีขึ้นไปอีกประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่การออกแบบสถาบันให้ดีแล้วจบแต่ต้องศึกษาด้วยว่าภายใต้บริบทแบบใดที่ตัวกติกากับตัวคนจะวิวัฒน์ร่วมกันได้เพื่อนำพาสังคมไปสู่ระดับที่ดีขึ้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ถึงวันนี้ผมยิ่งกลับมาคิดใหม่ว่าตัวคนมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาการเมืองอย่างยั่งยืนการยกระดับคุณภาพจิตใจหรือจิตวิญญาณของคนในฐานะสัตว์การเมืองมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดระบบการเมืองที่มีคุณภาพต้องการทั้งกติกาที่มีคุณภาพและคนใช้กติกาที่มีคุณภาพและถึงพร้อม
คนที่มีคุณภาพควรมีลักษณะอย่างไร?
ถ้าฝันไปให้ไกลที่สุดก็คือคนที่มีวัตรปฏิบัติใกล้เคียงกับแก่นที่หนังสือเล่มนี้แนะนำ
ตั้งแต่เด็กผมมักชื่นชมคนที่มีบุคลิกเป็น นักรบ ต่อสู้เพื่อความถูกต้องอย่างไม่กริ่งเกรงสู้เพื่อสิ่งที่ตนเชื่อไม่มุ่งหวังลาภยศเงินทองไม่แยแสเปลือกนอกจอมปลอมของสังคมมีความเป็นขบถอยู่ภายในมุ่งหวังเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นและมีส่วนลงมือร่วมสร้างมันมุ่งมั่นต่อสู้อย่างมืออาชีพมีคุณธรรมและภาคภูมิใจในเกียรติของตัวเอง
น่าเศร้าที่ในสังคมอนุรักษ์นิยมเช่นสังคมไทยต้นทุนของการเป็นนักรบสูงยิ่งแทนที่จะได้รับคำชื่นชมกลับถูกมองด้วยสายตาแปลกแยกถูกค่อนแคะว่าเป็นพวกงี่เง่าไม่รู้รักษาตัวรอดถูกมองว่าเป็นตัวสร้างปัญหาก่อความวุ่นวายบ้างก็โดนตราหน้าและกลั่นแกล้งโดยผู้เสียประโยชน์หรือผู้เกลียดชังการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้แล้วการออกรบแต่ละครั้งย่อมเหนื่อยยากแสนเข็ญ
ผมเองก็ใฝ่ฝันอยากใช้ชีวิตตามวิถีของนักรบที่ดีแต่ที่ผ่านมายังนับว่าห่างไกลจากการเป็นนักรบที่ดีแม้ว่ายังเป็นไม่ได้จะมีก็แต่ความมุ่งมั่นแต่ยังไม่ถึงพร้อมทางใจและบางครั้งก็ใช้สมองในการต่อสู้ไม่มากนักเพราะชอบแทงตรงแบบอาฮุยไม่ต้องมีกระบวนท่าให้มากความที่สำคัญมัวแต่สนใจทำศึกนอกแต่ไม่เคยให้เวลาเอาชนะศัตรูภายในใจตัวเองเลย
เพื่อนสนิทของผมรู้ดีว่าผมมีปัญหาสุขภาพมาช้านานแทบทุกครั้งที่ต้องออกศึกสู้รบมักจบลงด้วยอาการล้มป่วยด้วยความเป็นเด็กผมยังไม่สามารถจัดการกับอารมณ์บางเรื่องได้มักเก็บความทุกข์ของสังคมเข้ามาแบกเป็นความทุกข์ส่วนตัวง่ายที่จะรู้สึกผิดหวังล้มเหลวในการปล่อยวางรับความกดดันไม่ค่อยได้และเป็นโรคภูมิแพ้เวลาพายุขวาจัดคลั่งชาติพัดแรงและเวลาที่เห็นความขัดแย้งจบลงด้วยรอยเลือดแทนที่จะด้วยสันติ
ศัตรูในใจของผมคอยฉุดรั้งศักยภาพในการต่อสู้อยู่เนืองๆในอดีตเมื่อป่วยไข้ทางกายก็พึ่งการแพทย์แผนปัจจุบันที่รักษาแบบแยกส่วนซึ่งผมก็เข้าใจว่าไม่ใช่ทางออกเพราะไม่ได้รักษาเหตุแห่งทุกข์แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรและจริงๆก็ชอบปล่อยผ่านไม่ค่อยใส่ใจดูแลตัวเองเท่าไหร่จัดการความเครียดได้ไม่ดีไม่ใส่ใจออกกำลังกายจนช่วงหลังมีอาการผิดปกติทางกายเช่นรู้สึกวิงเวียนโคลงเคลงบ่อยครั้งแม้จะยังอายุไม่มาก
กระทั่งบ่ายวันหนึ่งหลังเสร็จการทำศึกในสมรภูมิหนึ่งผมมีอาการเครียดเวียนศีรษะจะเป็นลมไปห้องพยาบาลที่ตึกโดมกินยาก็ช่วยไม่ได้มากผมกลับมาที่ห้องทำงานเดินสวนกับอาจารย์สุวินัยที่ริมระเบียงทางเดินอาจารย์ทักทันทีว่าเป็นอะไรหน้าซีดมากจับชีพจรและเลือดลมดูแล้วเห็นท่าอาการไม่ค่อยดีเลยรีบแสดงท่ามวยจีนให้ผมทำตาม
ผมไม่เคยมีประสบการณ์ด้านนี้เลยแม้แต่น้อยแม้ชอบดูหนังจีนแต่ก็ไม่เคยเชื่อในพลังของมันที่ไม่เชื่อก็เพราะไม่เคยเจอพลังของมันกับตัวเองตามสันดานนักวิชาการประสบการณ์นิยมสารภาพว่าตอนแรกผมก็ทำไปอย่างนั้นด้วยท่าทีแหยงๆเพราะไม่แน่ใจว่าจะช่วยอะไรได้แต่ไม่อยากให้เสียน้ำใจความหวังดีของอาจารย์
แต่อาจารย์สุวินัยกลับเอาจริงเอาจังคอยจับตาแก้ไขท่าให้ผมอย่างใกล้ชิดและสังเกตอาการป่วยจนผมต้องเริ่มจริงจังและใส่แรงทุ่มเทผมทำท่ามวยอยู่ประมาณหนึ่งธูปเหงื่อเริ่มออกเลือดลมสูบฉีดผมหายจากอาการวิงเวียนเป็นปลิดทิ้งจนไปร่วมงานเลี้ยงคณะต่อได้ท่ามกลางความประหลาดใจของเพื่อนอาจารย์จำนวนหนึ่งที่เพิ่งเห็นผมหน้าซีดตัวเย็นเมื่อไม่กี่นนานมานี้
นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้สัมผัสพลังมหัศจรรย์ของการฝึกมวยจีนเพื่อปรับสภาพภายในร่างกายวันต่อมาผมไปคุยกับอาจารย์สุวินัยเล่าอาการป่วยทางกายซึ่งสัมพันธ์กับสภาพจิตใจที่มักเกิดขึ้นกับผมให้อาจารย์ฟัง
ด้วยความหวังดีกลัวผมอายุสั้นอาจารย์เลยกรุณาเปิดคอร์สเร่งรัดบำบัดจิตวิญญาณฟื้นฟูกำลังภายในให้ผมด้วยวิถีมวยจีนเชิงบูรณาการซึ่งเป็นการรักษาโรคแบบองค์รวม
อาจารย์บางท่านที่ได้เห็นอาการของผมดีขึ้นทันตาเมื่อบ่ายวันนั้นก็ขอเข้าร่วมฝึกมวยจีนกันด้วยเราฝึกกันสัปดาห์ละครั้งเป็นเวลาประมาณสี่เดือนก่อนที่ผมจะกลับมาเขียนวิทยานิพนธ์ต่อที่สหรัฐอเมริกาเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์
ท่วงท่าที่อาจารย์สุวินัยสอนมิได้มีเป้าประสงค์เพื่อการบริหารกายภายนอกเท่านั้นแน่นอนว่าท่าเหล่านั้นถือเป็นท่าออกกำลังกายก็ได้แต่ยังมีคุณค่าในการบริหารอวัยวะภายในเสริมพลังภายในตัวและฝึกจิตใจด้วยนอกจากนั้นอาจารย์ยังสอนศิลปะในการหายใจฝึกลมปราณการทำสมาธิการบริหารสมองการบริหารฝ่ามือและนิ้วที่เป็นศูนย์รวมระบบประสาทในร่างกายการเดินช้าเปิดจุดสำคัญในร่างกายท่าป้องกันตัวฯลฯช่วงท้ายยังแนะนำให้เราได้รู้จักหมากล้อมและฝึกสมาธิหมากล้อมอีกด้วย
ประสบการณ์ที่ผมได้เรียนรู้ตลอดสี่เดือนที่ผ่านมาเคล็ดจำนวนมากอยู่ในหนังสือเล่มนี้แล้ว
ดังเช่นที่อาจารย์สุวินัยได้เขียนไว้ความรู้บางประเภทอาจได้จากการอ่านและใช้เหตุผลแต่ความรู้บางประเภทต้องเกิดจากการปฏิบัติฝึกตนต้องเคยมีประสบการณ์ตรงจึงจะเข้าถึงได้ความรู้ที่ผมได้เรียนตลอดช่วงสามเดือนที่ผ่านมาเป็นอย่างหลังถึงวันนี้ผมตระหนักรู้ชัดเจนว่าทำไมนักปฏิบัติการทางการเมืองควรฝึกฝนตัวเองด้านในและใส่ใจเรื่องจิตวิญญาณแม้จะเป็นวัตรปฏิบัติที่ดูแปลกแยกจากผู้คนทั่วไปแต่มิใช่เรื่องตลกไร้สาระหากมีคุณค่าลึกซึ้ง
สี่เดือนผ่านไปสุขภาพกายของผมดีขึ้นมากอาการเครียดไม่มาเยือนอาการวิงเวียนโคลงเคลงหายไปความสามารถในการฝึกจิตเพื่อจัดการภาวะความเครียดดีขึ้นกว่าเดิมมากนิ่งจนต่อสู้กับศัตรูภายในได้สูสีมากขึ้นเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันโดยไม่ถูกมันครอบงำด้านอาจารย์บางท่านที่เป็นโรคเบาหวานสภาพร่างกายแข็งแรงขึ้นจนคุณหมอร้องทักและสั่งลดยา
ผมเพิ่งเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นรากฐานสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโลก
พูดไปก็เท่านั้นต้องลงมือทำด้วยตัวเองถึงจะเข้าใจว่ามันช่วยเพิ่มความสมบูรณ์พร้อมในตัวอย่างไรและช่วยขับศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวเราออกมาได้อย่างไร
ความสามารถในการรบชนะ ย่อมเกิดจากการขัดเกลาฝึกฝนตนเองอย่างถึงที่สุดและเอาชนะศัตรูภายในตัวเองก่อนเป็นเบื้องแรกดังเช่นวิถีของมูซาชิ
แท้ที่จริงแล้วหนังสือเล่มนี้มิได้เพียงต้องการสร้างนักปฏิบัติการทางการเมืองเพื่อเตรียมพร้อมที่จะสร้างจุดเปลี่ยนเชิงบูรณาการเพื่อปูทางให้กับการเมืองใหม่ยุคหลังทักษิณหรือหลังทุนนิยมเท่านั้นแต่ใครก็ตามที่เคยผ่านการเคี่ยวกรำด้วยวิถีเช่นนี้ย่อมมีคุณภาพและยกระดับตัวเองมุ่งสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
และถ้าหากใครรู้จักอาจารย์สุวินัยและเฝ้ามองการใช้ชีวิตของอาจารย์อย่างใกล้ชิดคงไม่ลังเลที่จะกล่าวว่าเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้คือวัตรปฏิบัติและตัวตนที่แท้ของมังกรธรรมผู้นี้นั่นเอง
4
บทเรียนสำคัญบทหนึ่งในคัมภีร์ห้าห่วงของมูซาชิคือจงต่อสู้เมื่อคิดว่าจะชนะ
ในช่วงที่เราคงคัดง้างกับการเมืองกระแสหลักในรัฐสภาไม่ได้มากด้านหนึ่งนับเป็นโอกาสอันดีที่เราจะหันหน้ามุ่งแสวงหาภูมิปัญญาใหม่ๆโดยสนใจกับประเด็นฉาบฉวยทางการเมืองน้อยลงเข้าห้องสมุดมากขึ้นฝึกฝนเคี่ยวกรำตัวเองให้หนักขึ้นติดตามพรมแดนความรู้ใหม่ๆและค้นคว้าวิจัยแสวงหาทางเลือกเชิงนโยบายที่แตกต่าง
การออกรบต้องมีพักเป็นระยะไม่มีนักรบคนใดที่สามารถใช้กระบี่เล่มเดิมท่วงทำนองเพลงดาบเดิมๆแล้วรบชนะได้อย่างต่อเนื่องยาวนานยิ่งรบมากดาบก็ยิ่งบิ่นคู่ต่อสู้จับทางได้ทางกระบี่ก็ถูกแก้เช่นนี้แล้วสภาพการเมืองไทยหลังการเลือกตั้งเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่มาพร้อมกับชัยชนะถล่มทลายของพรรคไทยรักไทยนับเป็นช่วงที่เหมาะเจาะที่จะพักรบกลับไปตีดาบเล่มใหม่ฝึกฝนเพลงกระบี่ใหม่ๆแสวงหาภูมิปัญญาใหม่ฝึกจิตฝึกสมาธิให้เข้มแข็งเพื่อรอจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการกลับมา
ไม่ใช่เรื่องตลกหากจะบอกว่าวิถีการต่อสู้ทางการเมืองที่ทรงพลังภายใต้สถานการณ์การเมืองเช่นนี้อาจอยู่ที่การหวนย้อนคืนสู่โลกด้านในจมดิ่งไปกับการเคี่ยวกรำตัวเองด้วยการฝึกมวยจีนฝึกสมาธิฝึกลมหายใจเล่นกู่เจิ้งหรือเล่นหมากล้อมก็เป็นได้
จะหยิบมูซาชิฉบับท่าพระจันทร์กลับมาอ่านใหม่อีกรอบเหมือนผมก็เป็นความคิดที่ไม่เลว
ปกป้องจันวิทย์
ต้นมีนาคม 2548
Amherst, Massachusetts