คมดาบซากุระ 2 : “นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (14) โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (27 มีนาคม 2556)

คมดาบซากุระ 2 : “นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (14) โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (27 มีนาคม 2556)


 
นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (14)

โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย

27 มีนาคม 2556

 


ก่อนเลือกตั้ง : ล้างหนี้ประเทศ สร้างรายได้
เมื่อเป็นรัฐบาล : สร้างหนี้ประเทศ ล้างรายได้



เมื่อข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ในบทความสัปดาห์ที่แล้วปรากฏออกมาว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานซึ่งเป็นการเพิ่ม “ทุน” ด้วยจำนวนปูนซีเมนต์ก็ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจประเทศใดในโลกนี้แม้แต่ไทยเองโตได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งประสิทธิภาพการลงทุนโดยการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลก็พิสูจน์แล้วว่าต่ำกว่าการลงทุนโดยเอกชน คำถามคือรัฐบาลนี้จะดันทุรังทำไปทำไม?



รัฐบาลนี้จะสำเหนียกบ้างหรือไม่ว่าการกู้เงินจำนวนมหาศาลที่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยจะสร้างอะไรให้กับคนไทยบ้าง



1. วินัยทางการคลังที่เสียไป ประเด็นก็คือกฎระเบียบที่มีอยู่เกี่ยวกับการเงินในภาครัฐนั้นมีไว้เพื่อให้รัฐบาลสำนึกอยู่เสมอว่าไม่สามารถใช้จ่ายได้เหมือนเอกชน ต้องล่าช้าและยุ่งยากมากกว่า เหตุก็เพราะเอกชนเป็นเจ้าของเงินตัวจริง มีตัวมีตน แต่รัฐบาลใช้เงินแทนประชาชนซึ่งไม่รู้ว่าประชาชนคนไหน ไม่มีตัวไม่มีตนหรือเจ้าของเงินที่แท้จริง การตั้งงบประมาณจึงต้อง “หมายหัว” หรือ Ear Mark ว่าจะต้องใช้เพื่อวัตถุประสงค์ใด การจะกู้เงินก็ต้องมีเพดานหนี้ที่หมายถึงต้องมีขอบเขต หากไม่ใช้คืนเงินก้อนเก่าก็ไม่สามารถสร้างหนี้ใหม่ได้ ที่สำคัญก็คือต้องทำภายใต้ระบบงบประมาณประจำปีเพื่อให้การเงินรวมศูนย์และตรวจสอบได้


สิ่งที่รัฐบาลนี้กำลังทำอยู่เป็นการแหกกฎระเบียบที่มีอยู่ พยายามจะให้สภาฯ ผ่านกฎหมายกู้เงินที่ไม่มีการ “หมายหัว” ว่าจะใช้เงินเพื่ออะไรเหมือนการเซ็นเช็คเปล่าไม่ระบุผู้รับเงินและจำนวนเงิน ไม่ยอมอยู่ภายใต้ระบบงบประมาณเพราะอยากจะกู้เงินตามอำเภอใจโดยปราศจากการตรวจสอบ แม้รัฐบาลจะมีอำนาจมากในการหารายได้ เช่น การบังคับจัดเก็บภาษีกับประชาชนในจำนวนเท่าใดก็ได้ แต่อำนาจต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ การกู้เงินมาใช้จ่ายอย่างไม่มีวินัยจะมีความรับผิดชอบไปได้อย่างไร หากวินัยทางการคลังเสียไปความน่าเชื่อถือก็เช่นกัน ที่ EU และ IMF เขาบังคับให้ไซปรัสต้องเก็บภาษีจากเงินฝากประชาชนก็ไม่ใช่เพราะรัฐบาลไซปรัสขาดวินัยทางการคลังหรือ หากรัฐมนตรีคลัง “โต้ง” ไม่รักษาแล้วใครจะทำ?



2. หนี้สินกับรางรถไฟที่เป็นทรัพย์สินที่เป็นพิษจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเงินกู้ส่วนใหญ่จะไปจมอยู่กับรถไฟความเร็วสูงที่ขนแต่คน ไม่ใช่สินค้าและไม่ได้เชื่อมต่อกับใครในอาเซียนเลย กทม.-เชียงใหม่ กทม.-โคราช กทม.-หัวหิน จะลดต้นทุนการขนส่งสินค้าซึ่งเป็นข้อด้อยของประเทศด้วยรถไฟความเร็วสูงที่ขนแต่คนได้อย่างไร


หากเก็บค่าโดยสารต่ำกว่าทุน ผู้ที่ได้ประโยชน์มากที่สุดก็คือคนรวย คนชั้นกลางล่างจะมีโอกาสมากเท่าคนรวยหรือที่จะมานั่ง หากเก็บตามต้นทุนค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูงทั่วโลกมีราคาพอๆ กับนั่งเครื่องบิน แล้วใครจะนั่งสาย กทม.-โคราช กทม.-หัวหิน ที่มีทางเลือกนั่งรถยนต์ที่ใช้เวลาเพียง 2-3 ชม.แต่ราคาถูกกว่า 3-4 เท่า ส่วน กทม.-เชียงใหม่จะสู้ Low-Cost Airline ได้หรือเพราะรถไฟความเร็วสูงก็ยังช้ากว่าและราคาอาจแพงกว่าด้วยซ้ำ



แต่อีกด้านหนึ่งของทรัพย์สินก็คือหนี้สิน พันธบัตรรัฐบาลมิใช่เครื่องแสดงความมั่งคั่งแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามพันธบัตรรัฐบาลที่จะออกมากู้เงินจากระบบเศรษฐกิจไทยถึง 2 ล้านล้านบาทในเวลา 7 ปีจะสร้างความเสี่ยงให้กับระบบเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก



การกู้เงินภายในประเทศโดยรัฐบาลครั้งนี้คือการแย่งเงินกู้กับภาคเอกชนต่อไปอีก 7 ปี แน่นอนว่ารัฐบาลจะต้องได้เงินกู้ไปเพราะโดยเปรียบเทียบจะมีความเสี่ยงต่ำกว่า แต่รัฐมนตรีคลัง “โต้ง” อ้างว่ามีสภาพคล่องเหลือในระบบจะปล่อยทิ้งไว้ทำไม ต้องกู้ทุกทางเท่าที่ทำได้ใช่ไหม?



ประเด็นที่ “โต้ง” ควรเข้าใจเสียก่อนเพื่อตอบโจทย์ก็คือ จำเป็นหรือที่ต้องกู้มาใช้อย่างสิ้นคิดเช่นนี้ ขณะนี้เป็นช่วงเศรษฐกิจซบเซาไม่มีคนกู้หรืออย่างไร หากลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลงไปอีกตลาดหุ้นและอสังหาฯ จะเข้าใกล้ภาวะฟองสบู่อีกมากน้อยเพียงใด ดอกเบี้ยที่เป็นอยู่อาจเพิ่มสูงขึ้นได้ในอนาคตพร้อมกับการเจริญเติบโตที่อาจไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย ทำไมรัฐบาลจึงต้องมากู้และเพิ่มความเสี่ยงให้กับตนเอง ทั้งๆ ที่ปล่อยให้เอกชนทำก็ได้ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนแต่อย่างใดแถมมีประสิทธิภาพมากกว่ารัฐบาลทำเองเสียอีก หากไม่คิด “โต้ง” เองนั้นแหละที่ควรได้ F เพราะตอบโจทย์ไม่ได้



สรุปง่ายๆ ว่าด้านทรัพย์สินมีโอกาสสูงที่จะเป็นทรัพย์สินที่เป็นพิษ (Toxic Assets) เพราะไม่ก่อให้เกิดรายได้ ในขณะที่หนี้สินจะสร้างความเสี่ยงด้านการคลังเป็นภาระให้กับประเทศ ทำไม “โต้ง” ไม่คิดบ้างว่าการลดจำนวนหนี้สาธารณะก็เป็นอีกทางหนึ่งในการเพิ่มสวัสดิการและความสุขให้กับเศรษฐกิจและคนไทย



3. อาจมีคนไทยอีกหลายคนบอกว่าเป็นเรื่องของรัฐบาลหรือของประเทศ ที่ไกลตัวไม่เกี่ยวข้องกับตนเอง แต่ทั้งกรีซ สเปน หรือแม้แต่ไซปรัส ที่ประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจสร้างความทุกข์ยากให้กับคนในชาติก็มิใช่จากเรื่องไกลตัวเช่นการสร้างหนี้สินของรัฐบาลเพื่อมาสร้างทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้แบบนี้หรือ? ข้อเท็จจริงจึงขัดแย้งกับใน facebook ของนางนายกฯ


การกู้เงินในครั้งนี้ไม่จำเป็นต้องแยกออกไปทำนอกงบประมาณเพราะใช้เงินปีละ 3 แสนล้าน รัฐบาลทำโครงการจำนำข้าวก็ใช้เงินใกล้เคียงกัน สามารถประหยัดเอาเงินจำนำข้าวมาใช้โครงการนี้ได้ ทำไมไม่ทำ? ประเทศไทยไม่ใช่ลูกเสี่ยที่จะมีเงินมาทำทุกอย่างในเวลาเดียวกันได้



หากจะอ้างว่าไม่ต่อเนื่องก็ไม่เป็นความจริงเพราะกฎหมายที่ออกผ่านสภาฯ ก็สามารถลบล้างโดยสภาฯ ได้เช่นเดียวกัน การออกเป็นกฎหมายพิเศษจึงไม่ได้เป็นการรับประกันว่าจะไม่ถูกยกเลิกในภายหลัง ประเด็นคือหากขอเงินประชาชนมาทำทีละปีผ่านงบประมาณจะมีความรอบคอบและชอบธรรมในการใช้เงินมากกว่า ส่วนจะผูกพันอีกกี่ปีก็แล้วแต่ความคุ้มค่าของการลงทุน



4. หากรัฐบาลนี้ยังดึงดันไม่ฟังเหตุและผล ใช้เสียงข้างมากลากไป ในฐานะเจ้าของเงินกู้ ประชาชนคนไทยมีสิทธิในระบอบประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ที่จะทำดังต่อไปนี้


(ก) จับตาดูการประชุมสภาฯ เพื่อออกกฎหมายกู้เงินนี้ ส.ส. ส.ว.ใดพูดจาไม่เข้าท่า หรือพรรคใดสนับสนุนชเลียร์ก็จดจำเอาไว้ที่ข้างฝาหรือไว้ในใจเพื่อจะคิดบัญชีในเวลาต่อไป


(ข) แสดงออกไม่เห็นด้วยผ่านการเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกตั้งซ่อมที่เชียงใหม่ที่จะมีในไม่ช้านี้ แม้ไม่ได้อยู่ในเขตเลือกตั้งซ่อมก็บอกคนรู้จักในเขตเลือกตั้งถึงเหตุและผลที่ไม่ควรเลือกพรรคที่สนับสนุนกฎหมายนี้ได้ การเลือกฝ่ายตรงข้ามจะส่งสัญญาณที่ Loud and Clear เพราะทุกคะแนนมีความหมาย


(ค) หากยังไม่สำเร็จก็ไม่ต้องเสียใจรอทำในการเลือกตั้งครั้งต่อไป พรรคใดหาเสียงสัญญาว่าจะเข้ามายกเลิกหรือทบทวนโครงการนี้ก็เลือก จะไปสนใจทำไมว่าจะเป็นพรรคใดเพราะเราไม่ได้มีพรรคเข้ามาทำเอง อย่าลืมว่าคนไทยยังมีเวลาอีก 7 ปีที่จะคิดบัญชี การนิ่งเฉยไม่เอาธุระ ไม่แสดงออก ไม่เลือกใคร ไม่ใช่ทางเลือกที่ถูกต้อง แม้จะถูกสบประมาทว่ามีอำนาจแค่ 4 วินาทีก็เป็นอำนาจของเราที่มีอิทธิฤทธิ์แม้เสาไฟฟ้าก็โค่นลงดินมาแล้ว


(ง) อาวุธที่สำคัญที่สุดก็คือ การประหยัดเก็บออมไม่ฟุ้งเฟ้อ ใช้จ่ายแต่พอเพียง รัฐบาลที่มุ่งจะทำนโยบายประชานิยมล้างผลาญเศรษฐกิจประเทศล้วนมีจุดอ่อนที่ต้องพึ่งพาการบริโภคจากภาคเอกชนเป็นสำคัญ การล่อหลอกให้ประชาชนฟุ้งเฟ้อใช้จ่ายเงินเกินตัวจึงเป็นกโลบายหลัก หากประชาชนรู้เท่าทันว่าอนาคตตนเองหรือลูกหลานก็ต้องใช้หนี้ที่เกิดขึ้นจากปัจจุบัน การประหยัดออมเงินเอาไว้ไม่บริโภคเกินตัวจะเกราะป้องกันตนเองและครอบครัวจากความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นและยังเป็นการสั่งสอนรัฐบาลให้เห็นว่าเศรษฐกิจจะไม่โตอย่างที่คาดหวังหากประชาชนไม่ร่วมมือ ญี่ปุ่นในช่วง Lost Decade เป็นตัวอย่างที่ดีในกรณีนี้ ที่แม้รัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรเศรษฐกิจก็ไม่กระเตื้อง เหตุก็เพราะประชาชนไม่ใช้จ่ายตามรัฐบาลนั่นเอง



มีแต่หนี้เท่านั้นที่มาเร็วกว่ารถไฟความเร็วสูง คนชั้นกลางล่างจะสำเหนียกบ้างหรือไม่ว่าตนเองมีหนี้ที่จะต้องชดใช้ไม่ทางตรงก็โดยอ้อมเท่ากับคนอื่นๆ ที่รวยกว่าจากการกู้เงินนี้กว่า 3 หมื่นบาทต่อคนไม่เลือกเด็กหรือผู้ใหญ่ แล้วด้วยประชานิยมคุณได้อะไรมาบ้างคิดเป็นเงินกี่บาท คุ้มค่าหรือไม่?





Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้