ภูมิปัญญาหมากล้อมกับ วิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการ (2)
หมากล้อมเป็นเกมแห่งการประชันปัญญาและกลยุทธ์ระหว่างผู้เล่น มันเป็นเกมที่มาจากการเคลื่อนไหวของเม็ดหมาก และโอกาสที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น ในสายตาของผู้ที่สามารถดื่มด่ำกับความลึกล้ำของมันได้ เกมหมากล้อมที่เล่นกันระหว่างผู้ที่มีฝีมือในระดับสูง แทบไม่ต่างจากงานศิลปะที่ผู้เล่นสองคนร่วมกันรังสรรค์สร้างขึ้นมาเลย น่าเสียดายที่ความงามของเกมหมากล้อมเป็น ความงามในเชิงคณิตศาสตร์ ซึ่งต้องฝึกฝนเสียก่อนถึงจะ "เห็น" ความงามแบบนี้ได้ กล่าวในความหมายนี้ ความน่าทึ่งของเกมหมากล้อมจึงยังไม่เป็นที่รับรู้สำหรับคนทั่วไปเท่าไหร่นัก
ทั้งๆ ที่คุณประโยชน์ของการฝึกฝนหมากล้อมเพื่อความสามารถในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์นั้นมีมากมายยิ่ง เรียกได้ว่า แก่นความคิดเชิงภูมิปัญญาของหมากล้อมนั้น สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในเรื่องของธุรกิจ การเมือง สงคราม กีฬา ความสัมพันธ์ และการบริหารชีวิตโดยรวม เลยทีเดียว จักรพรรดิของจีนในยุคโบราณ ก็ใช้หมากล้อมนี้แหละสั่งสอนบุตรของตนให้รู้วิธีการปกครองจักรวรรดิของตน เหมาเจ๋อตงเองในการทำศึกเพื่อยึดอำนาจรัฐ ก็วางแผนผ่านการเล่นหมากล้อม หรือผู้บริหารระดับสูงของบริษัทชั้นนำระดับโลกอย่างโตโยต้าก็ใช้หมากล้อมเป็นเครื่องมือในการกระตุ้น หลักคิดเชิงกลยุทธ์ทางธุรกิจของพวกตน
เหตุที่ เกมหมากล้อมมีประโยชน์ต่อการฝึกฝนกลยุทธ์มากมายขนาดนี้ ก็เพราะว่าการเล่นหมากล้อม ทำให้ผู้เล่นต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ดังต่อไปนี้เสมอ กล่าวคือ
(1) เราจะใช้ทรัพยากรและเวลาที่มีอยู่จำกัดของเราไปบรรลุเป้าหมายของเราได้อย่างไร
(2) เราจะบรรลุทั้งความยืดหยุ่น และความมีใจจดจ่อในการทำศึกไปพร้อมๆ กันได้อย่างไร
(3) เราจะประเมินสถานการณ์แยกแยะผลได้ผลเสียของแนวทางต่างๆ ที่มีให้เลือกได้หลายทางได้อย่างไร
(4) การริเริ่มในโครงการไหนที่ควรสานต่อ และโครงการไหนที่ควรหันกลับมาทบทวนว่าควรถอนออกหรือไม่
(5) เมื่อไหร่ถึงควรจะบุกลุยไปข้างหน้า และเมื่อไหร่ควรจะอดกลั้นรอคอยจังหวะโจมตี
(6) เมื่อไหร่ควรเป็นฝ่ายนำเกม และเมื่อไหร่ควรแค่เกาะตามสถานการณ์ไปก่อน
(7) เราจะรุกเข้าไปอย่างไรในสถานการณ์ที่ฝ่ายตรงข้ามมีอิทธิพลเข้มแข็ง
(8) ถ้าคู่แข่งของเขาเป็นฝ่ายบุกรุกเข้ามาในเขตอิทธิพลของเรา ฝ่ายเราควรจะรับมืออย่างไรดี
(9) ถ้าเรามีจุดแข็งในสินค้าบางตัว และก็มีจุดอ่อนในสินค้าอีกกลุ่มหนึ่ง เราจะจัดสรรทรัพยากรของเราอย่างไรดีให้เหมาะสม เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนของกลุ่มธุรกิจของเราโดยรวม
(10) เมื่อไหร่ที่เราควร "เสียสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต" และเมื่อไหร่ที่เราควรกล้าลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ เพื่ออนาคต
(11) เมื่อสถานการณ์ผันแปรไปอย่างรวดเร็ว เราจะมีแผนปฏิบัติการเชิงกลยุทธ์ที่เหมาะสมได้อย่างไร
จะเห็นได้ว่า คำถามหลายคำถามข้างต้น ล้วนแล้วแต่เป็นคำถามที่พวกผู้นำทั้งหลายในวงการต่างๆ ล้วนแล้วแต่เคยเผชิญ กำลังเผชิญ และจะต้องเผชิญต่อไปทั้งสิ้น ซึ่งภูมิปัญญาจากเกมหมากล้อมสามารถให้แนวคิด และคำตอบในเชิงฐานคิดแบบกลยุทธ์แก่ผู้นั้นได้ อย่างน้อยก็ในเชิงอุปมาอุปไม ก่อนที่จะต้องตัดสินใจจริงๆ เพราะ การฝึกฝนกลยุทธ์จากการเข้าไปทำสงครามจริงๆ หรือเข้าไปลุยในโครงการธุรกิจจริงๆ เลยนั้น มันมี "ต้นทุน" ที่สูงมาก เพื่อที่จะได้เรียนรู้ "บทเรียนทางกลยุทธ์" บางอย่าง หรือแม้แต่การศึกษา "กรณีศึกษา" เพื่อฝึกฝนวิธีคิดเชิงกลยุทธ์จากโครงการ MBA ผู้ศึกษาอาจจะศึกษาได้ไม่กี่กรณีภายในเวลาสองปีที่เรียนในโครงการ ขณะที่ภายในเวลาสองปีเช่นกัน ผู้ฝึกฝนหมากล้อมอาจได้ฝึกฝนวิธีคิดเชิงกลยุทธ์หลายสิบครั้งในหนึ่งเกม และหลายพันครั้งจากหลายร้อยเกมภายในเวลาสองปีเลยทีเดียว จึงเห็นได้ว่า การฝึกฝนกลยุทธ์จากเกมหมากล้อมนั้น ใช้ต้นทุนที่ต่ำมากและมีความเสี่ยงน้อยกว่ามาก ก่อนที่จะเข้าสู่สนามรบจริงๆ ซึ่งผู้นั้นจะไม่มีโอกาส "แก้มือ" เท่าไหร่นัก ถ้าหากล้มเหลวหรือพ่ายแพ้
เกมหมากล้อมเป็นเกมที่ยอดเยี่ยมมากในการที่จะสอนเราว่า เราจะชนะได้อย่างไรในสถานการณ์ที่เราไม่มีความได้เปรียบใดๆ เลย นอกจากความสามารถในการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีกลยุทธ์เท่านั้น แล้วถ้าเปรียบกับ เกมหมากรุกฝรั่ง (chess) เล่า เกมหมากรุกฝรั่งสามารถทดแทนเกมหมากล้อมในการช่วยฝึกฝนเรื่องกลยุทธ์ให้แก่เราได้หรือไม่?
เกมหมากรุกฝรั่ง ซึ่งเป็น เกมของเหล่าพระราชา (the game of kings) (ในขณะที่เกมหมากล้อมเป็น เกมของเหล่าอัจฉริยะ) ก็เป็นเกมที่ยอดเยี่ยมมากเช่นกันในการฝึกฝนกลยุทธ์ แม้ว่าจะไม่สมบูรณ์เท่าเกมหมากล้อม ความแตกต่างระหว่างเกมหมากรุกฝรั่งกับเกมหมากล้อมนั้นมีดังต่อไปนี้
(1) หมากรุกฝรั่งมี 64 ตา และ 32 ตาถูกยึดครองด้วยหมากชนิดต่างๆ ตั้งแต่เริ่มต้นเกม ขณะที่หมากล้อมมีจุดตัด 361 จุด และเริ่มต้นจากกระดานที่ว่างเปล่า หมากต่างๆ ในหมากรุกฝรั่งมีความเคลื่อนไหวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกัน เช่น ม้า บิสชอป เรือ ควีน คิง เบี้ย ขณะที่เม็ดหมากของหมากล้อมแค่วางลงบนจุดตัดในกระดานที่จุดไหนก็ได้อย่างเสรี (ยกเว้นจุดที่ผิดกติกา)
(2) หมากรุกฝรั่งเป็น เกมในเชิงยุทธวิธี (tactical game) ซึ่งพึ่งพาการวิเคราะห์ด้วย สมองซีกซ้าย เป็นหลัก ขณะที่หมากล้อมนอกจากจะใช้ยุทธวิธีเหมือนหมากรุกฝรั่งแล้ว ยังเน้นไปที่การใช้กลยุทธ์ (strategy) เป็นหลัก ซึ่งต้องพึ่ง ญาณทัสนะ (intuition) จาก สมองซีกขวา ของผู้เล่นเป็นสำคัญ ขณะที่เซียนหมากรุกฝรั่งระดับโลกกล้าที่จะฟันธงว่า หมากรุกฝรั่งเป็นเรื่องของยุทธวิธีถึง 99% แต่จะไม่มีเซียนหมากล้อม (โกะ) คนไหนที่กล้าฟันธงเช่นนั้นในเกมหมากล้อม
(3) ความเป็นไปได้ของเกมหมากรุกฝรั่งจะอยู่ที่ 10120 (สิบยกกำลังหนึ่งร้อยยี่สิบ) ขณะที่ความเป็นไปได้ของเกมหมากล้อมจะอยู่ที่ 10170 (สิบยกกำลังหนึ่งร้อยเจ็ดสิบ) หรือมากกว่านั้น
(4) หมากรุกฝรั่งมีสนามรบแค่สนามเดียว ซึ่งถ้าฝ่ายใดได้เปรียบในสนามนั้น อีกฝ่ายก็ยากจะพลิกสถานการณ์กลับมาได้ ขณะที่ หมากล้อมมีสนามรบได้มากกว่าห้าสนามของหมากรุกฝรั่ง และต่อให้เราพ่ายแพ้ในบางสนามรบ ก็ยังสามารถชนะสงครามทั้งกระดานได้
(5) ปัจจุบันโปรแกรมคอมพิวเตอร์หมากรุกฝรั่งที่ดีที่สุดสามารถเอาชนะแชมป์โลกหมากรุกฝรั่งได้แล้ว แต่โปรแกรมคอมพิวเตอร์หมากล้อมที่ดีที่สุด ยังแค่สามารถเอาชนะนักหมากล้อมมือสมัครเล่นในฝีมือระดับกลางๆ ได้เท่านั้น
(6) มีเซียนหมากรุกฝรั่งระดับอาจารย์จำนวนไม่น้อยที่หันไปเล่นหมากล้อมแทน และกล้าประกาศว่า เกมหมากล้อมเป็นเกมที่เหนือกว่า แต่ยังไม่มีเซียนหมากล้อมระดับอาจารย์คนไหนที่หันไปเล่นหมากรุกฝรั่งแทน และกล้าประกาศว่า เกมหมากรุกฝรั่งเป็นเกมที่เหนือกว่า
(7) ขณะที่เกมหมากรุกฝรั่งเป็นเรื่องของการกินกัน กำจัดกันจนไม่เหลือฝ่ายตรงข้ามคือขุนหรือคิง ส่วนเกมหมากล้อมโดยเฉพาะเกมที่แต่ละฝ่ายมีฝีมือทัดเทียมกันจะเป็นเรื่องของการแบ่งปัน ต่างฝ่ายต่างได้พื้นที่ไปครองกันมากกว่า โดยที่ผู้ชนะคือผู้ที่ได้เปรียบพื้นที่มากกว่านิดหน่อยเท่านั้น กล่าวโดยนัยนี้ เกมหมากล้อม จึงเป็นเกมที่สามารถสู้รบแบบอหิงสาได้ หรือแค่ป้องกันตัวเองเฉยๆ อย่างเดียว ก็ยังสามารถเป็นฝ่ายชนะได้ ซึ่งถ้าเป็นเกมหมากรุกฝรั่งจะไม่มีทางทำเช่นนั้นได้
แม้จะมีความแตกต่างกันมากขนาดนี้ แต่ทั้งเกมหมากรุกฝรั่งและเกมหมากล้อม ต่างก็เป็นเกมกระดานที่น่าทึ่ง น่าหลงใหลทั้งคู่ (ผู้เขียนเองก็ชื่นชอบทั้งหมากรุกฝรั่งและหมากล้อม) เพียงแต่หมากล้อมนั้นลุ่มลึกกว่า ซับซ้อนกว่า และน่าท้าทายกว่าในเชิงกลยุทธ์เท่านั้น ทรอย แอนเดอร์สัน ผู้เขียน "วิถีแห่งโกะ" (The Way of Go) (2004) อันโด่งดังได้กล่าวว่า วิถีแห่งโกะหรือวิถีแห่งหมากล้อม ก็เฉกเช่นวิถีอื่นๆ ในศาสตร์ตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นวิถีแห่งศิลปะการต่อสู้ หรือวิถีแห่งการชงชาคือ การเดินหน้าเพื่อเข้าถึงสัจธรรมของวิชานั้น ซึ่งสำหรับ วิถีแห่งหมากล้อมแล้วคือ การมุ่งเข้าถึง "หัตถ์เทวะ" หรือการวางหมากที่สมบูรณ์แบบดุจเทพเจ้าแห่งหมากล้อมเป็นผู้วางหมากด้วยตนเอง ในสถานการณ์นั้นๆ
เซียนโกะ (Go master) ที่แท้จริงจะเดินอยู่บนวิถีแห่งหมากล้อมอย่างไม่มีวันหยุดยั้งเพื่อเข้าถึง หมากล้อมที่แท้จริง เหมือนอย่างที่มือกระบี่ที่แท้จริงย่อมเดินอยู่บนวิถีกระบี่เพื่อเข้าถึงความจริงของกระบี่อันเป็นกระบวนการแสวงหาที่ไม่มีวันสิ้นสุด เพื่อที่จะค้นพบว่า หมากล้อม หรือกระบี่มันเป็นยิ่งกว่าหมากล้อมหรือเป็นยิ่งกว่ากระบี่ แต่มันคือการเผยตัวออกมาของตัวธรรมจิต (Spirit) เอง และศิลปะทั้งหลายที่สะท้อน "ความจริง ความดี ความงาม" ของจักรวาฬ (Kosmos) จากแง่มุมมิติต่างๆ ที่ถูกรังสรรค์ขึ้นมาจากภูมิปัญญาของมนุษยชาติต่างก็เป็นการเผยตัวออกมาของตัวธรรมจิตนี้ทั้งสิ้น มูซาชิเอง หลังจากที่ได้ย่ำเดินอยู่บนวิถีแห่งดาบมาเกือบตลอดชีวิต เขาจึงสามารถเข้าถึงแก่นแท้ของศิลปะทั้งหลายทั้งปวงได้ จากหลักการ "ใช้หนึ่งไปเข้าถึงหมื่น" และจาก "หมื่นกลับคืนสู่ความว่าง" น่าเสียดายที่มูซาชิไม่มีโอกาสได้สัมผัสหมากล้อมหรือโกะอย่างลึกซึ้งในชั่วชีวิตของเขา หาไม่แล้วเขาจะต้องหลงใหลและทุ่มเทจิตใจให้กับ ศิลปะแห่งกลยุทธ์ นี้อย่างแน่นอน