คมดาบซากุระ 2 : เหตุสนับสนุนขบวนการเสธ.อ้าย 24 พ.ย.: ภาคผู้ไม่เอากังฉิน โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (21 พฤศจิกายน 2555)

คมดาบซากุระ 2 : เหตุสนับสนุนขบวนการเสธ.อ้าย 24 พ.ย.: ภาคผู้ไม่เอากังฉิน โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย (21 พฤศจิกายน 2555)



เหตุสนับสนุนขบวนการเสธ.อ้าย 24 พ.ย.: ภาคผู้ไม่เอากังฉิน

โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย
 
21 พฤศจิกายน 2555


 
ประเทศไทยไม่มีนายกฯที่แท้จริงมากว่า 1 ปีแล้ว
ถึงเวลาแล้วที่จะมีนายกฯ ที่แท้จริงเสียที



ผลงานรัฐบาลที่ผ่านมาเพียง 1 ปีเศษก็เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาคนไทยและชาวโลกแล้วว่าไร้ซึ่งความรู้ความสามารถในการบริหารประเทศ



ตั้งแต่ทำให้น้ำท่วมทั้งแผ่นดิน กระชากราคาค่าครองชีพ(ให้สูงขึ้น)จนสินค้า “แพง” ทั้งแผ่นดิน จนถึงจำนำข้าวที่ทำให้เศรษฐกิจ “เจ๊ง” ทั้งแผ่นดิน มีการงานใดของบ้านเมืองบ้างที่นางนายกฯ ผู้นี้ “เอาอยู่”



เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะการเป็น “กังฉิน” ของคนในรัฐบาลตั้งแต่หัวจรดหาง จะมีคนใดบ้างที่ไม่เป็น? คุณสมบัติสำคัญของ “กังฉิน” ก็คือการโกหก พูดจาสับปรับไม่อยู่กับร่องกับรอย “คนพูดโกหกไม่ทำชั่วจึงไม่มี” จึงเป็นคำจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้



ไล่มาตั้งแต่หัวนางนายกฯ ที่ให้การเท็จกับศาลฯ ว่าหุ้นที่ถือแทนพี่ชายเป็นของตนเองทั้งๆ ที่พฤติกรรมการจ่ายเงินค่าหุ้นที่ซื้อได้ราคาถูกก็มิได้จ่ายเงินซื้อโดยตรง กลับต้องรอให้ได้รับเงินปันผลมาเสียก่อนแล้วจึงจะจ่ายเป็นค่าหุ้นคืน แถมยังเผลอคืนเงินมากกว่าค่าหุ้นที่ซื้อมาเสียอีก เมื่อกล้าพูดเท็จกับศาลฯ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่จะกล้าพูดเท็จกับประชาชนและไม่ห้ามปรามรัฐมนตรีอื่นๆ อีกด้วย “กังฉิน” จึงมีอยู่เต็มรัฐบาล



การกล้าพูดเท็จโดยไม่มีความละอายหรือไม่มีหิริโอตตัปปะ จึงเป็นบ่อเกิดของการทำชั่วไม่คิดทำการดีของรัฐบาล



การทำงานหามรุ่งหามค่ำอย่างเอาเป็นเอาตายขยายเวลาสมัยประชุมสภาฯเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันและการออกกฎหมายปรองดองเพื่อแก้ผิดของพี่ชายให้เป็นถูก จึงเป็นข้อพิสูจน์ของคำกล่าวข้างต้นของนางนายกฯ



วาทกรรมที่ใช้อยู่เสมอก็คือ เรื่องนั้นเรื่องนี้ได้มอบหมายให้... ไปแล้ว เรื่องนั้นเรื่องนี้ต้องเป็นไปตามหลักการกระบวนการตามกฎหมายตามระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นจึงควรใช้กระบวนการทางสภาฯ มาแก้ไขปัญหา



ก่อนมาเป็นนางนายกฯ เคยไปสนับสนุนม็อบคนเสื้อแดงที่ออกมาเผาบ้านเผาเมืองป่วนประเทศเพื่อยึดเมืองเอามาให้ใช่ไหม? เมื่อได้เป็นนายกฯ แล้วเคยไปสภาฯ เพื่อแสดงตนว่าเข้าใจและเคารพกระบวนการตามกฎหมายตามระบอบประชาธิปไตยหรือไม่? ระหว่างหน้าที่ไปเมืองนอกที่ไม่เคยแถลงว่าได้รับความสำเร็จอย่างไรกับการมาสภาฯ ในฐานะสมาชิกและนายกฯ อันใดสำคัญกว่ากัน? พฤติกรรมจึงเป็นคำตอบที่แจ้งชัดว่าคำพูดที่กล่าวอ้างนั้นพูดอย่างทำอย่างใช่หรือไม่?



ประชาชนจึงเฝ้ามองนางนายกฯ ผู้นี้ทุกฝีก้าว มิใช่ด้วยความชื่นชมหรือจ้องแต่จะจับผิด หากแต่มองว่าเมื่อใดจะทำความอับอายให้ประชาชนผู้เป็นเจ้านายของเธอต่างหาก



การพูดเท็จไม่ว่าจะสีอะไรจึงไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาอะไร จึงไม่แปลกที่คนในรัฐบาลจะพูดเท็จโดยอ้างว่าพูดเท็จสีขาวแล้วไม่ผิดมีคนอนุญาตให้พูดได้ พูดเท็จว่าของไม่แพงก็ได้ พูดเท็จว่า “เอาอยู่” แต่น้ำกลับท่วมทั้งแผ่นดิน พูดเท็จว่าเหตุการณ์ความไม่สงบภาคใต้ควบคุมได้ทั้งที่เกิดเหตุร้ายฆ่ากันตายเป็นรายวันก็ได้ พูดเท็จว่าขายข้าวที่จำนำไปแล้วทั้งที่ยังกองพะเนินเทินทึกอยู่ก็ได้ เมื่อสามารถพูดเท็จได้อย่างไร้ยางอาย ความสามารถหรือผลงานในการบริหารบ้านเมืองจึงไม่ใช่คุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับคนในรัฐบาล



การออกมาต่อต้านเสธ.อ้ายจึงเป็นไปอย่างหลากหลายแต่มีเป้าประสงค์เพียงประการเดียวคือไม่ต้องการถูกประชาชนเช็กบิลจากการกระทำที่ไร้ความชอบธรรมของตนเอง



เหตุผลหลักๆ ที่ใช้ประโคมหลอกลวงพูดเท็จกับประชาชนอีกเช่นกันก็คือ การล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลที่ประชาชนนิยมชมชอบเป็นการกระทำที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและการ “แช่แข็ง” ประเทศไทย



โดยหลักการผู้ที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลจะต้องเป็นผู้ที่ประชาชนเสียงข้างมากให้การสนับสนุนผ่านจำนวน ส.ส.ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา แต่ประชาธิปไตยมิได้มีหลักการนี้แต่เพียงกติกาเดียว การได้เป็นรัฐบาลไม่ได้หมายความว่าจะทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ หากขัดกับกฎหมายที่มีอยู่ก็อ้างเสียงข้างมากแก้กฎหมาย หากขัดกับจริยธรรมจารีตประเพณีก็อ้างเสียงส่วนใหญ่ที่ได้รับเลือกมา กลายเป็นอำนาจนิยมหรือคณาธิปไตยใช้เสียงข้างมากตัดสินแต่ประการเดียวในเรื่องความถูกผิดชั่วดี ทั้งที่ความชั่วดีนั้นมันอยู่เหนือการเมืองที่จะมาตัดสินด้วยเสียงข้างมากในสภาฯ หาได้ไม่



ตัวอย่างขั้นต่ำที่สุดก็คือ ความผิดที่ต้องรับโทษจำคุกของทักษิณนั้นมิได้ตัดสินที่สภาฯ หากแต่อยู่ที่ศาลฯ หากจะใช้แต่เสียงข้างมากไม่ต้องสงสัยเลยว่าฝ่ายที่ผิดจะเป็นฝ่ายใด ประชาธิปไตยจึงไม่ใช่เรื่องของเสียงข้างมากจากการเลือกตั้งแต่เพียงลำพัง หากอยู่ที่สำนึกของความถูกผิดชั่วดีเป็นที่ตั้งขณะที่เคารพเสียงส่วนใหญ่แต่ไม่ละเลยเสียงส่วนน้อยต่างหาก



ความเป็น “กังฉิน” ของรัฐบาลจึงทำให้ขาดสำนึกของความชั่วดี กล้าพูดเท็จต่อประชาชน ส.ส.ของฝ่ายรัฐบาลก็ไม่สำนึกไม่คำนึงรับฟังเสียงทักท้วงของประชาชนแต่อย่างใดจึงกล้าสนับสนุนรัฐบาลที่ทำชั่วคิดร้ายต่อประเทศชาติอาศัยแต่เสียงข้างมากละเลยส่วนน้อย (ในสภาฯ) โดยไม่คำนึงถึงความถูกผิดชั่วดี ประชาธิปไตยของพวกเขาจึงเป็นประชาธิปไตยส่วนตัวเพื่อพวกเขาแต่เพียงลำพัง หาได้สนใจเสียงคนนอกกลุ่มแต่อย่างใดไม่ ความชอบธรรมทางการเมืองของรัฐบาลและพรรคที่สนับสนุนรัฐบาลจึงหมดไปเมื่อไม่เคารพกติกาประชาธิปไตยอันนี้



ประชาธิปไตยของทักษิณและพวกจึงเป็นเพียงรูปแบบและวาทกรรมที่อ้างขึ้นมาดุจดังรองนายกฯ ที่ชอบเอาปริญญากฎหมายมาอ้างความเป็นผู้รู้ ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงเป็นเพียงคณาธิปไตยเพื่อทักษิณและพวกก็เท่านั้นเอง



ส่วนการ “แช่แข็ง” ประเทศไทยนั้นเป็นเพียงวาทกรรมเพื่อบิดเบือนความจริงที่ว่า ปัญหาที่แท้จริงของประเทศไทยในขณะนี้อยู่ที่นักการเมืองเป็นสำคัญที่ทำให้ประเทศชาติล้าหลังไม่พัฒนาดุจดังถูกแช่แข็งเอาไว้



ประเทศไทยติดหล่มทักษิโณมิกส์มากว่า 10 ปีแล้ว ไม่เห็นประเทศจะก้าวหน้าไปได้อย่างไรด้วยชุดนโยบายประชานิยม มีข้อเท็จจริงใดบ้างที่สนับสนุน?



การปฏิวัติรัฐประหารเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรม แต่เหตุเมื่อ 19 ก.ย. 49 มิได้เป็นเหตุประการเดียวที่ทำให้ประเทศถอยหลัง นักการเมืองก็เป็นเหตุด้วยมิใช่หรือ หากรัฐบาลทักษิณมีการแต่งตั้งโยกย้ายอย่างมีหลักการมีคุณธรรมไม่อาศัยพวก บริหารประเทศโดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม สนธิ(บัง)จะปฏิวัติไปทำไม? หากไม่ชอบธรรมทำไมประชาชนส่วนใหญ่จึงไม่ออกมาต่อต้านเสียเอง? ทำไมต้องรอ นปช.ของทักษิณออกมาต่อต้าน? เหตุเมื่อ 19 ก.ย. 49 จึงน่าจะเป็น “ผลจากเหตุ” ที่มาจากนักการเมืองที่ไร้สำนึกของความถูกผิดชั่วดีเป็นที่ตั้ง ไม่เคารพเสียงส่วนใหญ่ ละเลยเสียงส่วนน้อยต่างหากจริงหรือไม่?



การ “แช่แข็ง” นักการเมือง หาใช่ประเทศ จึงน่าจะเป็นการป้องกันประเทศไทยเอาไว้ไม่ให้เสื่อมทรามไปมากกว่าที่เป็นอยู่ ประเทศจีนไม่เคยมีนักการเมืองอาชีพก็สามารถก้าวหน้าไปได้อย่างที่เห็น เขาก็บอกด้วยซ้ำว่าเป็นประชาธิปไตยในแบบฉบับของเขา บริบทของแต่ละประเทศที่แตกต่างกันจึงเป็นตัวกำหนด หาใช่เอาแต่ “กระพี้” แค่เลือกตั้งกับเสียงข้างมากมาเป็นกติกาของประชาธิปไตยแต่อย่างใดไม่



เมื่อประพฤติผิดหรือไร้ซึ่งความสามารถก็ไร้ซึ่งความชอบธรรมที่จะเป็นตัวแทนประชาชนใช้อำนาจ ประชาชนจึงมีสิทธิอย่างเต็มที่ที่จะถอดถอนรัฐบาลที่เขาเลือกเข้ามา คนที่อ้างไม่อธิบายบ้างหรือว่าทำไมรัฐบาลในหลายๆ ประเทศจึงต้องลาออก/ยุบสภาก่อนกำหนดทั้งที่โดยหลักการมีเสียงข้างมากอยู่แล้ว “จำนวน” จึงไม่ใช่กติกาของประชาธิปไตยเสมอไป



การจะอ้างเสียงส่วนใหญ่จากการเลือกตั้งที่ผ่านมาหรืออ้างกระบวนการประชาธิปไตยที่ต้องทำที่สภาฯ เท่านั้นจึงเป็นการพูดเอาตัวรอดเอาแต่ได้อย่างน่าไม่อาย เป็นการอ้างคณาธิปไตยเพื่อพยายามตัดสินหาความชอบธรรมในหมู่คณะของตนเองต่างหาก เพราะประชาชนเจ้านายของพวกเขาไม่ได้มอบอำนาจไว้ให้คงอยู่ตลอดไปและการหมดอำนาจก็มิได้จำเป็นต้องตัดสินที่สภาฯ หรือใช้เสียงข้างมากเสมอไป โจรจึงได้เสียงข้างมากให้ปล้นฆ่าจากหมู่โจรด้วยกันเอง แต่โจรจะอาศัยมติโจรจากสภาโจรมาต่อสู้กับความถูกต้องชั่วดีของบ้านเมืองได้หรือ?



ประเทศไทยขาดซึ่งนายกฯ ที่แท้จริงมากว่า 1 ปีแล้ว เวลาของรัฐบาลนางนายกฯ คงจะเริ่มนับถอยหลังนับจาก 24 พ.ย.นี้เพราะไร้ซึ่งความชอบธรรมที่จะใช้อำนาจจากประชาชน ประเทศไทยสมควรจะมีนายกฯ ที่แท้จริงเป็นตัวเป็นตนเสียที อย่าถามว่าใครเพราะด้วยมาตรฐานที่เป็นอยู่ใครก็เป็นได้





Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้