ภูมิปัญญาหมากล้อมกับ วิถีแห่งกลยุทธ์เชิงบูรณาการ (1)
หมากล้อม นอกจากจะเป็น เกมกระดาน ที่เก่าแก่หลายพันปี ที่น่าทึ่งมีมนต์ขลัง มีความลุ่มลึก และสนุกที่สุดในโลกเกมหนึ่งที่คนรุ่นใหม่ทุกเพศทุกวัยไม่ว่าเด็ก เยาวชน ผู้ใหญ่ และผู้สูงวัยควรจะตื่นตัวหันมาให้ความสนใจศึกษาให้มากเพื่อการพัฒนาสติปัญญาแล้ว ในอีกด้านหนึ่ง
หมากล้อมยังเป็นเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์แทนความฉลาด ความมีปัญญาหลักแหลม ลึกซึ้งอีกด้วย เพราะเกมหมากล้อมได้รับการยอมรับมานับพันปีในแผ่นดินจีน โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นปกครองนักการทหาร และเหล่าปราชญ์บัณฑิตว่า เป็นเกมที่ต้องใช้กลยุทธ์ ใช้เล่ห์กล ใช้ปฏิภาณ ใช้จินตนาการ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ใช้กำลังสมาธิ และกำลังสติของผู้เล่นเป็นอย่างมากในการเอาชนะกัน เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เสน่ห์ของเกมหมากล้อมนี้มีมนต์ขลัง ขนาดดึงดูดคนฉลาด คนหัวดีที่สามารถจะเรียนอะไร จะเป็นอะไรก็ได้ในโลกนี้ ให้มาทุ่มเทชีวิตจิตใจทั้งชีวิตให้กับมันแบบมืออาชีพได้ เพราะเกมหมากล้อมเป็น เกมอัจฉริยะของเหล่าอัจฉริยะ (the game of geniuses) โดยแท้ สำหรับผู้ที่หลงใหลภูมิปัญญาตะวันออก การได้เรียนรู้หมากล้อมเป็นความสุข และเป็นปีติอันล้ำลึกอย่างหนึ่งในชีวิตเหมือนกับการได้เรียนพิณจีนกู่เจิง และมวยไท้เก๊ก
เกมหมากล้อมมีคุณสมบัติที่น่าทึ่งถึงเพียงนี้ แต่ก็ยังมีมุมมองให้วิจารณ์จนได้ว่า คนฉลาด อาจเห็นหมากล้อมเป็นเครื่องวัดความฉลาด คือยิ่งเอาชนะคนอื่นในเกมได้มาก ก็แสดงว่ายิ่งเป็นคนฉลาดมาก แต่ คนมีปัญญา (ทางธรรม) อย่าง ดังตฤณ นักเขียนนิยายแนวธรรมะร่วมสมัยชื่อดังแห่งยุค ผู้เขียน "กรรมพยากรณ์", "ทางนฤพาน", "เสียดายคนตายไม่ได้อ่าน" "7 เดือนบรรลุธรรม" และ "มหาสติปัฏฐานสูตร" ที่ขายดีก็ได้ วิจารณ์เกมกระดานอย่างหมากล้อม และหมากรุกฝรั่งไว้อย่างแหลมคมว่า
การหมกมุ่นครุ่นคิดอยู่กับหมากรุก (และหมากล้อม) ทั้งวันทั้งคืนตลอดชีวิตนั้น จัดเป็นการถูกหลอกให้เอาความฉลาดไปหมกมุ่นและ จมปลักอย่างโง่เขลา เสียมากกว่า แทนที่จะเอาความฉลาดมาพัฒนาโลกให้ดีขึ้น เพราะความจริงก็คือ นักหมากรุก (นักหมากล้อม) บางคนฉลาด ขนาดเป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็น ตั้งแต่วิศวกรขององค์การนาซา ตลอดไปจนกระทั่งแพทย์ในทีมวิจัยพัฒนารักษาโรคเอดส์" (จาก "เสียดาย...คนตายไม่ได้อ่าน", สำนักพิมพ์ดีเอ็มจี, 2547, หน้า 109 ข้อความในวงเล็บเป็นของผู้อ้าง)
สิ่งที่ดังตฤณกล่าวมีความจริงอยู่ไม่น้อย เพราะในญี่ปุ่นเองก็มีนักหมากล้อมอาชีพที่เรียนเก่งขนาดเรียนหมอจนจบออกมาเป็นหมอแล้ว แต่ความความที่รักและหลงใหลในศิลปะแห่งหมากล้อม ที่ตัวเขาเล่นเก่งขนาดเคยเป็นตัวแทนประเทศญี่ปุ่นไปแข่งขันระดับโลกในหมู่มือสมัครเล่น และเคยชนะมืออาชีพทั้งๆ ที่ยังเป็นแค่มือสมัครเล่นอยู่ จึงทำให้ในที่สุดเขาตัดสินใจทิ้งอาชีพหมอและหันมาเป็นนักหมากล้อมมืออาชีพอย่างเต็มตัว เพราะนี่คือสิ่งที่เขารัก! นี่คือสิ่งที่เป็นวิถีชีวิตของเขา!
คนเราถ้าเลือกทำในสิ่งที่ตนเองรัก อย่างทุ่มเทชีวิตจิตใจให้ ต่อให้ในสายตาของผู้อื่นจะเห็นว่าเป็นการ หมกมุ่นและจมปลักอย่างโง่เขลา" ก็ตามแต่เขาก็มิได้พะวง ยังคงมุ่งพัฒนาทักษะฝีมือในศิลปะของตน จนกระทั่งมันกลายเป็น ทาง สายหนึ่ง อย่างนี้ไม่ดีกว่าการทำอาชีพอื่นที่คนอื่นเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์กว่า แต่ตัวเองไม่ได้รัก ไม่ได้ทุ่มเทจิตใจให้ดอกหรือ?
ดังตฤณวิจารณ์ใน เชิงอรรถประโยชน์นิยม (utilitarianism) และ เชิงสังคม ซึ่งก็มีความจริงอยู่ส่วนหนึ่ง แต่ไม่ทั้งหมด เพราะ คุณค่าของศิลปะอย่างหมากล้อม และหมากรุกนั้น มันเป็นคุณค่าเชิงวัฒนธรรม มันเป็นเรื่องของวัฒนธรรมล้วนๆ ซึ่งไม่ควรถูกประเมินจากบรรทัดฐานของอรรถประโยชน์นิยม แต่ควรถูกประเมินจากบรรทัดฐานของตัวคุณค่าทางวัฒนธรรมของตัวศิลปะนั้นเองถึงจะถูกต้อง
เพราะถ้าหาก หมากล้อมในฐานะที่เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง มันได้รับการส่งเสริมพัฒนาโดยเหล่านักหมากล้อมอาชีพผู้มีอัจฉริยภาพ ช่วยยกระดับองค์ความรู้ของวิชาหมากล้อม และเป็นแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนคนรุ่นหลังจำนวนมากในการเพิ่มพูนสติปัญญาผ่านหมากล้อมแล้ว คุณูปการที่นักหมากล้อมอาชีพผู้นั้น ที่ผันตัวเองมาจากการเป็นหมอที่มีต่อสังคม ก็คงหาได้ด้อยกว่าการที่คนผู้นั้นยังคงเป็นหมอที่มีศักยภาพปานกลางแต่อย่างใดเลย บางทีอาจมีคุณูปการมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะสังคมแค่สูญเสียหมอระดับปานกลางไปคนหนึ่ง แต่ได้นักหมากล้อมระดับอัจฉริยะคนหนึ่งทดแทนซึ่งหาได้ไม่ง่ายด้วย
กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ คุณค่าบางอย่างนั้น บางทีมันก็ไม่ได้อยู่ที่ เราทำอะไร (doing) แต่มันอยู่ที่เราเป็นใคร เป็นอะไร (being) ต่างหาก อย่างผู้เขียนเอง ถ้าให้เลือกได้ระหว่างเป็นนายกรัฐมนตรีผู้กุมอำนาจเบ็ดเสร็จ และมีเงินล้นฟ้ากับการเป็นคนซื่ออย่าง ฟอร์เรสท์กัมพ์ ผู้เขียนก็คงยินดีเลือกที่จะเป็นแบบหลังมากกว่า แม้ว่าถ้ามองจากมุมมองแบบอรรถประโยชน์นิยม แล้วการเลือกแบบนี้จะเป็นการเลือกที่ "โง่เขลา" ก็ตาม เพราะระดับความสะอาดบริสุทธิ์ข้างในจิตใจ มิใช่สิ่งที่จะเป็นกันได้ง่ายๆ ต่อให้คนผู้นั้นมี "ภายนอก" อย่างสมบูรณ์พร้อมแล้วก็ตาม
ถึงแม้หมากล้อมจะเป็นสัญลักษณ์ของความฉลาดก็จริง แต่ก็ยังคงเป็น ความฉลาดที่แฝงโทษ ของตัวเองเอาไว้อยู่ดี ตราบใดที่การฝึกฝนเพื่อเพิ่มพูน ความฉลาดเชิงกลยุทธ์ โดยผ่านการฝึกหมากล้อมนี้ยังไม่ได้ บูรณาการเข้ากับการปฏิบัติธรรมแบบเซน (หรือแบบสติปัฏฐาน) ซึ่งเป็น สัญลักษณ์ของความมีปัญญาทางธรรม ไม่เพียงแต่หมากล้อมเท่านั้น วิทยาศาสตร์ธรรมศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งเป็น สัญลักษณ์ของความก้าวหน้าล้ำยุค ก็เป็นความฉลาดที่แฝงโทษในระดับหายนะ ถ้าหากไม่สามารถบูรณาการความรู้แบบนี้เข้ากับการยกระดับจิตสำนึก จิตวิญญาณโดยผ่านการปฏิบัติธรรมรูปแบบต่างๆ
ดังนั้น การบูรณาการภูมิปัญญาหรือศาสตร์แขนงต่างๆ ในระดับต่างๆ จึงมีความสำคัญยิ่งในเชิงญาณวิทยา ซึ่งในยุคนี้จำเป็นจะต้องเป็น "พหุนิยมทางญาณวิทยา" (Epistemological Pluralism) ซึ่งนำเสนอว่า องค์ความรู้แบบองค์รวมของมวลมนุษยชาตินั้น สามารถจำแนกได้ตามระดับของ "วิถีแห่งการรับรู้" (mode of knowing) ซึ่งจัดแบ่งได้เป็น 3 ระดับด้วยกันคือ
(1) การรับรู้ในระดับ "ตาเนื้อ" (the eye of flesh)
(2) การรับรู้ในระดับ "ตาใจ" (the eye of mind)
(3) การรับรู้ในระดับ "ตาปัญญา" (ปัญญาจักษุ) (the eye of spirit) (ดู แผนภาพ ประกอบ)
โดยที่ วิถีแห่งการรับรู้ แต่ละระดับก็จะสามารถรับรู้ถึงขอบเขตทางภววิทยา (Ontological realms) ที่แตกต่างกัน กล่าวคือ
(ก) ขอบเขตความรับรู้ในระดับประสาทสัมผัส (Sensibilia)
(ข) ขอบเขตความรับรู้ในระดับความคิด (Intelligibilia)และ
(ค) ขอบเขตความรับรู้ในระดับเหนือโลก
จะเห็นได้ว่า การรับรู้ด้วยประสาทสัมผัส โดยตรง เช่น ตาดูหูฟัง กายสัมผัสคือ ความรู้จากโหมดที่ 5 ใน แผนภาพ แต่ถ้าเอาประสาทสัมผัสทั้งห้า หรือเครื่องขยายประสาทสัมผัสทั้งห้า เช่น กล้องจุลทรรศน์ กล้องดูดาว เป็นต้น ไปรับรู้ศึกษาสิ่งต่างๆ ที่เข้าถึงได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า แล้วประมวลขึ้นมาเป็น "ความรู้" อย่าง วิทยาศาสตร์ทางเดียว (monological science) เช่น ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา เป็นต้น ก็จะกลายเป็น ความรู้จากโหมดที่ 4 เพราะต้องใช้ "ตาใจ" ไปประมวลความรู้จากสิ่งที่รับรู้ด้วย "ตาเนื้อ" ส่วน ความรู้จากโหมดที่ 3 เป็น วิทยาศาสตร์สองทาง (dialogical science) ที่สร้างองค์ความรู้ขึ้นมาจากความคิด และการเสวนา (dialogue) จะเป็นการเสวนากันโดยตรง หรือการเสวนาผ่านความคิดในหนังสือก็ได้ มีการใช้สื่อที่เป็นสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น ภาษา สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ การตีความ เพื่อเข้าถึงองค์ความรู้ที่เป็นความจริงทางนามธรรมชนิดหนึ่ง ความรู้จากโหมดที่ 3 นี้จึงเป็นความรู้ที่ได้จาก "ตาใจ" ล้วนๆ ไปศึกษาสิ่งที่เป็นนามธรรม เป็นสัญลักษณ์อีกทีหนึ่ง ตัวอย่างองค์ความรู้ในระดับนี้ได้แก่ ภาษาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ปรัชญา จิตวิทยา ศิลปะต่างๆ หมากล้อมและหมากรุก ก็เป็นความรู้ในระดับโหมดที่ 3 นี้ เช่นเดียวกับวิชาเศรษฐศาสตร์ วิชาการบริหารและการจัดการ
ส่วน ความรู้จากโหมดที่ 2 เป็นศาสตร์เพื่อการรู้แจ้งหรือเพื่อการหลุดพ้น อันเป็น องค์ความรู้ที่ใช้ "ตาใจ" ไปศึกษาในเรื่องที่เกี่ยวกับจิตวิญญาณ และเป็นเรื่องเหนือโลกหรือโลกุตรธรรม ตัวอย่างองค์ความรู้จากโหมดที่ 2 นี้ได้แก่ พระไตรปิฎก งานเขียนเรื่อง "พุทธธรรม" ของพระธรรมปิฎก งานเขียนเรื่อง "สติปัฏฐานสูตร" ของดังตฤณ และงานเขียนส่วนใหญ่ของท่านพุทธทาสภิกขุ รวมทั้งความรู้เชิงเทววิทยาของศาสนาต่างๆ
ส่วน ความรู้จากโหมดที่ 1 เป็นประสบการณ์โดยตรงในระดับจิตวิญญาณ ซึ่งไม่ใช่ระดับประสาทสัมผัสอย่างโหมดที่ 5 อันเป็นขอบเขตความรับรู้ในระดับเหนือโลกที่ ได้มาจากการลงมือปฏิบัติภาวนาด้วยตนเองของผู้นั้น จนมี "ตาปัญญา" หรือ "ปัญญาจักษุ" เกิดขึ้น มันจึงไม่ใช่ความรู้ของ "ตาใจ" ที่เป็น โหมดที่ 2 แต่เป็นความรู้ที่เป็นประสบการณ์จริงของผู้นั้น ที่รู้ได้เฉพาะตนเท่านั้น จึงเป็น โหมดที่1
ถ้าเราเข้าใจองค์ความรู้อย่างเป็นองค์รวมของมวลมนุษยชาติทั้งหมดในเชิงพหุนิยมทางญาณวิทยาดังข้างต้น เราก็ย่อมสามารถบูรณาการหมากล้อม (ความรู้จากโหมดที่ 3) เข้ากับการศึกษาธรรมะ (ความรู้จากโหมดที่ 2) และการเจริญภาวนาปฏิบัติธรรม (ความรู้จากโหมดที่ 1) ได้ แล้วจะเห็นได้เองว่า ความรู้ในระดับต่างๆ ในโหมดต่างๆ มีความจำเป็นและมีความสำคัญในตัวของตัวมันเอง โดยไม่จำเป็นต้องปฏิเสธความรู้ประเภทใดๆ ทั้งสิ้น มันขึ้นอยู่กับว่า เราจะเลือกบูรณาการ ความรู้ในระดับต่างๆ ในทุกโหมดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราอย่างกลมกลืน และมีความหมายในเชิงวิวัฒนาการของจักรวาฬ (Kosmos) ทั้งในระดับปัจเจกและในระดับรวมหมู่ได้อย่างไรต่างหาก ถ้าทำได้อย่างนี้แล้ว การมีความฉลาดกับการมีปัญญาทางธรรม ก็เป็นสิ่งที่ไปด้วยกันได้ และสมควรจะไปด้วยกันด้วยอย่างยิ่ง
การศึกษาฝึกฝนหมากล้อม จึงควรดำเนินไปใน วิถีแห่งบูรณาการ ดังข่างต้นนี้ เพื่อให้เกิดความฉลาดและปัญญาสูงสุดโดยไม่แฝงโทษเอาไว้เลย