ภาคผนวก 2 วัชรเฉทิกปรัชญาปารมิตาสูตร

ภาคผนวก 2 วัชรเฉทิกปรัชญาปารมิตาสูตร



วัชรเฉทิกปรัชญาปารมิตาสูตร
 

ในบรรดาคัมภีร์ปัญญาบารมีที่ใช้เป็นเครื่องมือในการฝึกสมาธิ-วิปัสสนานั้นนอกจากคัมภีร์ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตรแล้วก็ยังมีคัมภีร์อีกเล่มหนึ่งที่จะแนะนำให้ฝึกฝนควบคู่กันไปด้วยนั่นคือ คัมภีร์วัชรเฉทิกปรัชญาปารมิตาสูตรหรือคัมภีร์เพชร (วัชระ) ที่สามารถตัดทำลายกิเลสอวิชชาและมายาได้


ความสำคัญของคัมภีร์เล่มนี้มีมากขนาดไหนนั้นแค่ดูจากข้อเท็จจริงที่ว่าท่านฮุ่ยเหนิงหรือปรมาจารย์แห่งนิกายเซนรุ่นที่ 6 ของจีนในสมัยที่ท่านยังเป็นฆราวาสอยู่นั้นแค่ท่านได้ฟังคนอ่านคัมภีร์เล่มนี้ให้ท่านฟังโดยบังเอิญเนื่องจากท่านไม่รู้หนังสือก็สามารถกระตุ้นท่านให้ตั้งปณิธานออกบวชเพื่อบรรลุธรรมได้ก็เป็นที่กระจ่างชัดแล้ว


ณที่นี้จะไม่ขอถ่ายทอดข้อความทั้งหมดซึ่งค่อนข้างยาวในคัมภีร์เล่มนี้แต่จะคัดเลือกเอาเฉพาะข้อความที่สำคัญๆในคัมภีร์เล่มนี้มาให้อ่านแทนขอให้อ่านมันด้วยดวงจิตที่สงบด้วยใจที่ปราศจากทิฐิให้กายและใจอันใสสะอาดที่ได้เกิดขึ้นนี้สัมผัสกับถ้อยคำเหล่านั้นด้วยตัวของมันเองและจงพยายามทำความเข้าใจความหมายของมันจากประสบการณ์และความทุกข์ของเราเอง


ซึ่งเราก็จะค้นพบได้เองว่าคัมภีร์เล่มนี้เป็นคัมภีร์ที่อรรถาธิบายเรื่อง “ความว่างหรือ “สุญญตาโดยที่ไม่ได้ใช้คำว่า “สุญญตา” เลยตรงนี้แหละที่กลายเป็นเสน่ห์ที่สุดของคัมภีร์เล่มนี้และเป็นความไม่ธรรมดาของมันด้วย


1) “อาจารย์ครับ ถ้าหากเหล่ากุลบุตรกุลธิดา ปรารถนาจะตรัสรู้ธรรม บรรลุจิตแห่งอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณอันเลิศ พวกเขาและเธอควรตั้งจิตและ ควบคุมจิตของตนอย่างไรครับ?”

2) “เหล่าพระโพธิสัตว์ มหาสัตว์ หรือผู้แสวงธรรมทั้งหลาย ควรตั้งจิต ดังนี้ว่า
“สรรพสัตว์ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นประเภทใด ไม่ว่าจะเกิดจากฟองไข่ เกิดจากครรภ์ เกิดจากคราบไคลความชื้น หรือผุดเกิดขึ้นเองก็ตาม ไม่ว่าจะ มีรูปหรือไม่มีรูปก็ตาม ไม่ว่าจะมีสัญญา (ความจำได้) หรือไม่มีก็ตาม ไม่ว่าจะมี สัญญาก็มิใช่ หรือไม่มีสัญญาก็มิใช่ก็ตาม เราจักต้องนำพาพวกเขาทั้งหมด ให้บรรลุนิพพานได้วิมุติให้จงได้

“แต่เมื่อเรานำพาสรรพสัตว์จำนวนนับไม่ถ้วนเหล่านี้ไปสู่ความหลุดพ้น แล้ว เราจะไม่คิดว่าเราได้นำพาสัตว์ใดๆ ไปสู่ความหลุดพ้นเลย”

“ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นเล่า ศิษย์รัก?      

“ก็เพราะว่า ถ้าพระโพธิสัตว์หรือผู้แสวงธรรมยังมีจิตยึดมั่นผูกพันอยู่ กับตัวตน บุคคล สัตวะ และชีวะ แล้วไซร้ เขาก็ยังหาใช่พระโพธิสัตว์แท้จริงไม่”

3) “ศิษย์รัก เมื่อพระโพธิสัตว์บำเพ็ญทาน เขาย่อมไม่ยึดติดอยู่กับ สิ่งใด คือ ไม่ยึดรูป ไม่ยึดเสียง ไม่ยึดกลิ่น ไม่ยึดรส ไม่ยึดสัมผัส ไม่ยึด ธรรมารมณ์ ผู้แสวงธรรมพึงมีจิตใจเช่นนี้ในการบำเพ็ญทาน คือไม่ยึดติด กับความคิดที่ว่า จะหลงเหลือหลักฐานร่องรอยความเป็นตัวตนของตนเอาไว้

“ทำไมถึงเป็น เช่นนั้นเล่า? ก็เพราะว่า เมื่อผู้แสวงธรรมบำเพ็ญทาน ด้วยความไม่ยึดถือมั่นแล้ว ผลบุญและความปีติปราโมทย์ที่ได้รับจะไม่อาจ ประมาณได้เลย ศิษย์รัก เธอคิดว่าอวกาศในฟากฟ้าตะวันออกเป็นสิ่งที่วัด ประมาณได้ไหม?”

“ไม่ได้ครับ อาจารย์”

“แล้วอวกาศในฟากฟ้าด้านตะวันตก ด้านใต้ และด้านเหนือเล่า ตลอดจนอวกาศทิศเบื้องบน และเบื้องล่างเล่า เป็นสิ่งที่วัดประมาณได้ไหม?”

“ไม่ได้ครับอาจารย์”

“เพราะฉะนั้น หากผู้แสวงธรรมไม่ยึดมั่นถือมั่นอยู่กับสิ่งใดในการ บำเพ็ญทานแล้ว ผลบุญและความปีติปราโมทย์ที่ได้จากการบำเพ็ญทานนั้น ย่อมไพศาลดุจห้วงอวกาศที่ประมาณมิได้นี้ ขอเธอจงจำใส่ใจไว้ให้ดีนะ”

4) “ศิษย์รัก เธอมีความเห็นเช่นใด การเห็นตถาคต (ธรรมกาย) สามารถเห็นได้ด้วยรูปลักษณ์หรือไม่?”

“หามิได้ครับ อาจารย์ เราไม่ควรใช้รูปลักษณ์มามองธรรมกายครับ แล้วจะใช้อะไรมามองหรือครับ ก็อาจารย์เคยสอนผมเองว่า รูปลักษณ์ของ ธรรมกายก็คือ การไม่มีรูปลักษณ์นี่ครับ”

“ใช่แล้วศิษย์รัก ที่ใดมีรูปลักษณ์ที่นั่นเป็นมายา ถ้าหากสามารถเห็น ได้ว่า ธรรมชาติของรูปลักษณ์ทั้งปวงคือสิ่งที่ไร้รูป คนผู้นั้นย่อมเห็นตถาคต (ธรรมกาย) ได้”

5) “อาจารย์ครับ พระสูตรนี้มีนามอันใดครับ และพวกเราควรปฏิบัติ ต่อพระสูตรนี้อย่างไรครับ”

“พึงเรียกพระสูตรนี้ว่า วัชรเฉทิก เพราะพระสูตรนี้สามารถตัดทำลาย มายากิเลสทั้งปวง และนำสรรพสัตว์ให้ถึงฝั่งแห่งวิมุติได้ จงเรียกพระสูตร ตามนามนี้ และปฏิบัติตามพระสูตรนี้เถิด ทำไมถึงกล่าวเช่นนั้น ก็เพราะสิ่ง ที่ตถาคตเรียกว่า ปัญญาบารมี แท้จริงแล้วหาใช่ปัญญาบารมีไม่ ศิษย์รัก เธอคิดอย่างไรเล่า ตถาคตได้แสดงธรรมอยู่หรือ”

“หาไม่ครับ ตถาคตไม่มีธรรมใดต้องแสดงครับ

6) “อาจารย์ครับ นับตั้งแต่ที่ศิษย์ได้ดวงตาเห็นธรรมจากการแนะนำ สั่งสอนของอาจารย์มา ศิษย์ก็ไม่เคยได้ฟังคำสอนใดลึกซึ้งเท่าพระสูตรอันนี้มา ก่อนเลยครับ หากแม้นผู้ใดได้ฟังพระสูตรนี้ แล้วบังเกิดศรัทธาเลื่อมใสด้วย จิตบริสุทธิ์ เขาก็จะบรรลุธรรมสัจจะอันเป็นกุศลธรรมที่หาได้ยากนัก

“อาจารย์ ครับ การบรรลุถึงธรรมสัจจะนี้แท้จริงแล้วมิได้มีการบรรลุ เลย ตถาคตจึงเรียกว่า บรรลุถึง ธรรมสัจจะ ใช่ไหมครับ”

7) “อาจารย์ครับ วันนี้ศิษย์ได้ฟังพระสูตรอันน่าอัศจรรย์นี้ บังเกิด ศรัทธาเลื่อมใสเข้าใจและรับไปปฏิบัติได้ไม่ยาก แต่ในกาลข้างหน้าอีก ๕๐๐ ปีหน้า ถ้าหากมีผู้ใดได้ฟังพระสูตรนี้แล้วเกิดศรัทธาเลื่อมใสเข้าใจรับไป ปฏิบัติอีก ศิษย์คิดว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องเป็นเลิศที่หาได้ยากโดยแท้ครับ

“ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นหรือครับ ก็เพราะว่า จิตของบุคคลผู้นั้นจะไม่ถูก ครอบงำด้วยตัวตน บุคคล สัตวะ และชีวะ

“เพราะเหตุใดหรือครับ ก็เพราะ ความคิดเกี่ยวกับตัวตน แท้จริงแล้ว ไม่ใช่ความคิด ความคิดเกี่ยวกับบุคคล สัตวะ และชีวะ ก็มิใช่ความคิดเช่นกัน ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นหรือครับ ก็เพราะว่า พุทธะ” หรือผู้ตื่นทั้งหลายก็คือ ผู้ที่ล้วนเป็นอิสระแล้วจากความคิดทั้งปวงนั่นเอง”  

8) “ใช่เช่นนั้นแล้ว ใช่เช่นนั้นแล้ว ศิษย์รัก ถ้าหากผู้ใดได้ฟังพระสูตร นี้แล้วไม่ตกใจ ไม่หวาดหวั่น ไม่ครั่นคร้าม บุคคลผู้นั้นย่อมเป็นคนที่หาได้ ยากยิ่ง เพราะเหตุใดหรือ ก็เพราะว่า สิ่งที่ตถาคตเรียกว่า บรมบารมี” หรือ บารมีอันเลิศนั้น แท้จริงแล้วไม่ใช่บรมบารมี ดังนั้นจึงได้ชื่อว่าบรมบารมี”

9) “ตถาคต คือ ผู้พูดทุกสิ่งตามที่เป็นจริง พูดแต่ความจริง พูดตรงกับ ความจริง ไม่พูดลวงให้หลง ไม่พูดเพื่อเอาใจผู้คน”
10) “ศิษย์รัก หากมีกุลบุตรกุลธิดาในปลายสมัยแห่งพระสัทธรรม (กลียุค) ได้เลื่อมใส สาธยายศึกษาภาวนา และปฏิบัติตามพระสูตรนี้ พวกเขา และเธอจะได้รับกุศลใหญ่หลวงนัก หากเราแจกแจงอธิบายเรื่องนี้ออกมา บางคนอาจจะสงสัย ไม่เชื่อ เกิดความระแวงขึ้นในจิต

“แต่เธอพึงรู้ไว้เถิดว่า อรรถธรรมแห่งพระสูตรนี้อัศจรรย์เกินหยั่งคาด นัก และผลานิสงส์จากการเลื่อมใส และปฏิบัติตามพระสูตรนี้ก็อัศจรรย์เกิน หยั่งคาดเช่นกัน”

11) “อาจารย์ครับ ศิษย์ขอเรียนถามอีกครั้งว่า ถ้าหากกุลบุตรกุลธิดา ปรารถนาจะตรัสรู้บรมธรรม พวกเขาและเธอควรตั้งจิตและควบคุมจิตของ ตนอย่างไรครับ”

“ศิษย์รัก หากกุลบุตรกุลธิดาปรารถนาจะตรัสรู้บรมธรรมพวกเขาและ เธอ พึงตั้งจิตดังนี้ว่า

เราจักนำสรรพสัตว์ไปให้ถึงฝั่งแห่งความตื่น และเมื่อปวงสัตว์ เหล่านั้น ได้วิมุติ หลุดพ้นเป็นอิสระแล้ว เราจักไม่คิดเลยว่า สัตว์ใดได้วิมุติ หลุดพ้นเป็นอิสระ”

“ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นหรือ ก็เพราะว่า ถ้าโพธิสัตว์ยังมีจิตยึดมั่นผูกพัน อยู่กับตัวตน บุคคล สัตวะ และชีวะแล้ว บุคคลผู้นั้นก็ยังหาใช่พระโพธิสัตว์ แท้จริงไม่”

12) “โดยเหตุผลเดียวกัน ถ้าพระโพธิสัตว์มีปณิธานว่า จะต้องช่วยให้ สรรพสัตว์หลุดพ้นเป็นอิสระแล้วไซร้ นั่นก็ยังหาใช่พระโพธิสัตว์ไม่

“ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นหรือศิษย์รัก เพราะไม่มีธรรมารมณ์ใดที่เรียกได้ ว่าเป็นพระโพธิสัตว์ ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ธรรมทั้งปวงไม่เป็นตัวตน บุคคล สัตวะ และชีวะ

“ดังนั้น ถ้าผู้แสวงธรรมหรือพระโพธิสัตว์องค์ใด เห็นแจ้งความไม่มี ตัวตน ไม่มีธรรม ดังนี้แล้ว ตถาคตย่อมเรียกบุคคลเช่นนั้นว่า พระโพธิสัตว์ แท้จริง”

13) “อาจารย์ครับ บรมธรรม หรือ อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ที่พระ พุทธเจ้าทรงตรัสรู้นั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจบรรลุหรือครับ”

“ใช่เช่นนั้นแล้ว ศิษย์รัก ถ้าว่าถึงบรมธรรมแล้ว เรามิได้บรรลุถึงสิ่งใด ดังนี้จึงเรียกว่า บรมธรรม หรือนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ

“อนึ่งธรรม นี้มีอยู่ทุกหนทุกแห่งเสมอกันไม่มีต่ำมีสูง จึงเรียกว่าสูงสุด ผลานิสงส์ของบรมธรรมอันนี้จะประจักษ์ได้ ก็โดยการปฏิบัติอย่างไม่ยึดมั่นกับ ตัวตน บุคคล สัตวะ และชีวะ ทุกประเภท

“สิ่งทีเรียกว่า การปฏิบัตินั้น แท้จริงแล้วไม่มีการปฏิบัติเลย จึงได้ชื่อว่า การปฏิบัติที่แท้”

14) “บุคคลใดก็ตามยึดติดตัวเราตถาคต ด้วยรูปหรือด้วยเสียง เขา ย่อมเดินผิดทาง และจะไม่มีวันเห็นตถาคตได้เลย”

15) “สรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ล้วนเป็นสิ่งปรุงแต่ง ดุจความฝัน ดุจ มายา ดุจฟองน้ำ ดุจภูตหลอน ดุจน้ำค้าง ดุจฟ้าแลบ จงดูให้เห็นเช่นนี้ด้วย การเพ่งวิปัสสนามนตรา

16)         นะ โมะ ยะ เกียะ บะ เท  ฮะ ระ ยะ  ฮะ ระ มิ ตะ เอย
   โอม อิ ริ เตะ  อิ ชิ ริ ชุ โระ ตะ
   บิ ชะ ยะ บิ ชะ ยะ โซะ วะ กะ


 
คัมภีร์วัชรเฉทิปรัชญาปารมิตาสูตรนี้มีความเป็นวิภาษวิธี” (Dialectic)  อันเป็นตรรกะของลัทธิมาร์กซ์อยู่เพียงแต่คัมภีร์ได้ใช้ตรรกะแบบวิภาษวิธีเพื่อมาอธิบายลักษณะแห่งจิตใจของผู้แสวงธรรมที่แท้จริงหรือพระโพธิสัตว์เท่านั้นหาได้นำมาใช้เพื่อมุ่งอธิบายกฎการเคลื่อนไหวของประวัติศาสตร์และสังคมอย่างลัทธิมาร์กซ์ไม่


สรรพสัตว์ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นประเภทใดเราจักต้องนำพาพวกเขาทั้งหมดให้บรรลุนิพพานได้วิมุติให้จงได้แต่เมื่อเรานำพาสรรสัตว์จำนวนนับไม่ถ้วนเหล่านี้ไปสู่ความหลุดพ้นแล้วเราจะไม่คิดว่าเราได้นำพาสัตว์ใดๆไปสู่ความหลุดพ้นเลย


นี่คือตัวอย่างของจิตปฏิญาณของพระโพธิสัตว์และเป็นเงื่อนไขหลักของการจะได้เป็นพระโพธสัตว์ซึ่งเป็นผู้ตื่นและเป็นผู้ที่ฝึกฝนตนเองตลอดชีวิตเพื่อความรู้แจ้งเพื่อความมีชีวิตอันเป็นเลิศ (Excellent)


เมือ่จิตปฏิญาณนี้ถูกนำเข้าไปเชื่อมต่อกันหลักการของอนัตตาหรือความไม่มีตัวตนดังคัมภีร์วัชรเฉทิกฉบับนี้เราก็จะพบว่าผู้ปฏิบัติธรรมหรือผู้แสวงธรรมที่แท้จริงนั้นย่อมช่วยสรรพสัตว์อย่างทันท่วงทีและเป็นธรรมชาติยิ่งดุจการหายใจเข้าออก


เมื่อศึกษาคัมภีร์วัชรเฉทิกฉบับนี้ตรรกะหรือประโยคที่เห็นบ่อยมากที่สุดก็คือ “A ไม่ใช่ A” ซึ่งถ้าหากผู้อ่านไม่ชนกับตรรกะแบบวิภาษวิธีมาก่อนแล้วจะเข้าใจไม่ได้เลยโดยเฉพาะผู้ที่มีความคิดอย่างฝังหัวว่า “A ก็คือ A” และ “A ไม่ใช่ B” จะยอมรับเนื้อหาของคัมภีร์ฉบับนี้ได้ยากมาก


แต่ “A เป็นไม่ใช่ A” ไม่ได้จริงหรือถ้าหากเราเข้าใจหลักปฏิจจสมุปบาทแล้วนำหลักนี้ไปพิจารณาสรรสิ่งเราจะพบว่าการเกิดของ A จะต้องประกอบด้วย B, C, D, E และทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาล “A” ไม่อาจอยู่ได้โดยลำพังตัวมันเองเพราะฉะนั้นถ้าเรา “เพ่งวิปัสสนา” A อย่างจริงจังเราก็จะเห็น B, C, D, E และสิ่งอื่นๆด้วย


และเมื่อเราเข้าใจว่า “A ไม่เป็นแค่ A” ก็เท่ากับว่าเราเข้าใจธรรมชาติที่แท้จริงของ “A” ได้เมื่อถึงขั้นนี้เราจึงจะพูดได้ว่า “A คือ A” และ “A ไม่ใช่ A” แต่ก่อนจะถึงขั้นนั้น “A” ที่เรามองเห็นจะเป็นเพียง “มายา” ของ “A” ที่แท้จริงเท่านั้น


ถ้าเรามอง “A” ได้ลึกซึ้งจนเห็นว่า “A ไม่ใช่ A” อันเป็นการเห็น “A” อย่างสมบูรณ์แล้วเมื่อนั้นรักก็จะเป็นความรักที่แท้จริงการปฏิบัติก็จะเป็นการปฏิบัติที่แท้จริงดังคำพูดอันลือชื่อของเซนประโยคหนึ่งที่ว่า


ก่อนปฏิบัตเซนภูเขาก็คือภูเขาแม่น้ำก็คือแม่น้ำ
ขณะปฏิบัติเซนภูเขาไม่ใช่ภูเขาแม่น้ำไม่ใช่แม่น้ำ
เมื่อปฏิบัติเซนแล้วภูเขากลับเป็นภูเขาแม่น้ำกลับเป็นแม่น้ำ


หน้าที่ของผู้แสวงธรรมจึงอยู่ที่การฝึกฝนตกเองจนกระทั่ง “รูปลักษณ์” ไม่อาจหลอกลวงเราได้อีกต่อไปจนกระทั่งเกิด “ปัญญา” แลเห็นความเป็น “ตถาคต” ว่ามิได้อยู่ที่รูปลักษณ์หรือรูปแบบใดๆแต่อยู่ที่ธรรมชาติที่แท้จริงของชีวิตของปัญญาของความรักของความสุขซึ่งสามารถค้นพบได้ภายในตัวของคนเราทุกคนนั่นเอง


เพราะฉะนั้น “ตถาคต” จึงอยู่ในตัวของพวกเราเพราะนิยามของตถาคตนั้นแปลว่า “ไม่มาจากที่ไหนและไม่ไปไหนไม่มีลักษณะของการมาไม่มีลักษณะของการไปไม่มีลักษณะของความเป็นและความไม่เป็นไม่มีลักษณะของการเกิดและการตาย


“รูปลักษณะ” ความจริงก็คือ “มโนทัศน์” หรือ “ความคิด” ประเภทหนึ่งนั่นเองเมื่อเราเกิดมโนทัศน์เกี่ยวกับบางสิ่งบางอย่างภาพลักษณ์ของสิ่งนั้นจะปรากฏอยู่ในมโนทัศน์แต่เราต้องสำเหนียกไว้ว่ามโนทัศน์ของเราไม่ใช่ตัวสิ่งนั้นแต่เป็นเพียง “ความจำได้” ของเราเกี่ยวกับสิ่งนั้นเท่านั้น


ในวิภาษวิธีของปัญญาบารมีนั้นเราจึงต้องพูดในเชิงสิ่งตรงข้ามเสมอเช่นเมื่อเรามองเข้าไปในธรรมแล้วเห็นทุกสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมนั่นก็คือเราเริ่มเห็นธรรมแล้วเพราะฉะนั้นแม้แต่มโนทัศน์ของ “ความว่าง” ก็ต้องเป็นสิ่งที่คำสอนของคัมภีร์เล่มนี้ต้องการจะข้ามให้พ้นด้วย


กล่าวคือต้องเข้าถึงความว่างจากความว่างอันเป็นการข้ามพ้นไปจากโลกมายาแห่งความเป็นและความไม่เป็นใช่และไม่ใช่เพราะฉะนั้น “ความว่างที่แท้จึงไม่ใช่ความว่างแต่ความว่างที่แท้คือความเป็นที่แท้จริง!


 
คนธรรมดาที่อยู่ในโลกแห่งทวิลักษณ์ทุกคนจึงมักติดอยู่ในเงื่อนไขปัจจัยปรุงแต่งที่เป็นทวิลักษณ์เช่นนี้อย่างยากที่จะหลุดได้เรากลายเป็นทาสของการมาและการไปการเป็นและไม่เป็นใช่และไม่ใช่โดยไม่รู้ตัวเราถูกครอบงำด้วย “ทัศนะต่างๆ” มากมาย


จะมีก็แต่การฝึกมองให้ลึกเข้าไปในธรรมชาติของสรรพสิ่งเท่านั้นที่จะทำให้เราสามารถเป็นอิสระจากมโนทัศน์แห่งทวิลักษณ์ได้และเมื่อเราเป็นอิสระแล้วโลกนี้ก็ยังมีอยู่ในตัวเราและรอบตัวเราแต่ในขั้นตอนนี้โลกนี้ได้กลายเป็นโลกของความว่างที่แท้ไปแล้ว!


ใครก็ตามที่สามารถเข้าใจความล้ำลึกของคัมภีร์วัชรสูตรเล่มนี้ได้ไม่ว่าจะในยุคสมัยใดก็ตามโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยกลียุคหรือปลายสมัยของพระสัทธรรมจะต้องถือว่าบุคคลเหล่านั้นมีคุณสมบัติที่หาได้ยากอย่างยิ่งเลยทีเดียว


เพราะคนผู้นั้นจะเข้าใจได้ว่าการฝึกฝนบำเพ็ญขันติบารมีแท้จริงแล้วจะไม่หยุดอยู่แค่เพียงขันติบารมีเท่านั้นแต่จะรวมถึงการบำเพ็ญทานบารมีศีลบารมวิริยะบารมีสมาธิบารมีและปัญญาบารมีเข้าไปด้วยในขณะเดียวกัน


เพราะขันติบารมีจะไม่อาจแยกเดี่ยวจากบารมีอีก 5 บารมีได้มีแต่เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้วเท่านั้นเราถึงจะเรียกว่าขันติบารมีได้เพราะฉะนั้นสิ่งทีเรียกว่าขันติบารมีนั้นแท้จริงแล้วไม่ใช่ขันติบารมีดังนั้นจึงได้ชื่อว่าขันติบารมี


การฝึกฝนพละ 5 ในหลักโพธิปักขิยธรรม 37 ประการก็เช่นกันถ้าหากเราเข้าใจหัวใจของคัมภีร์วัชรสูตรเล่มนี้แล้วเราก็จะตระหนักได้ว่าการฝึกฝน “สติพละ” ที่แท้จริงยังไม่ใช่ “สติพละ” ตราบเท่าที่ยังไม่ได้ฝึกฝนศรัทธาพละวิริยพละสมาธิพละและปัญญาพละควบคู่กันไปด้วยสุดท้ายการฝึกฝนพละ 5 ก็คือการฝึกฝน “พลัง” (Force) เท่านั้นและเป็นพลังที่อยู่ภายในตัวเราด้วย!


 
ทุกสิ่งที่ผู้แสวงธรรมที่แท้จริงหรือพระโพธิสัตว์คิดพูดหรือกระทำย่อมทำให้เกิดบุญกุศลและความสุขอย่างไม่จำกัดได้ตราบใดที่เขาไม่หลงยึดติดอยู่กับสิ่งเหล่านี้และตระหนักว่าการจะพบความสุขอันล้ำเลิศนั้นจำเป็นจะต้องอาศัย “พลัง” และ “ความอดทน” เป็นอย่างมากด้วย


เช่นกันการพบกับความสุขอันล้ำเลิศนั้นที่แท้ก็มิใช่สิ่งใดอื่นแต่คือการหลุดพ้นเป็นอิสระจาก “ความคิด” ใดๆเมื่อเราเข้าใจว่า “ความคิด” ก็คือ “ความคิด” เราจึงจะสามารถข้ามพ้น “ความคิด” นั้นและเป็นอิสระจาก “ธรรม” ซึ่งแสดงโดย “ความคิด” นั้นได้เมื่อนั้นแหละเราจึงจะได้ “ประสบการณ์โดยตรง” เกี่ยวกับความจริงอันน่าทึ่งหรือการเป็นอิสระหลุดพ้นจากความคิดนั่นเอง


แต่แม้เราจะเป็นอิสระจาก “ความคิด” ได้แล้วแต่แม้เราจะรู้ว่าทุกสิ่งเป็น “มายา” ได้แล้วเราก็คงต้องมีชีวิตอยู่ตามปกติต้องกินต้องนอนต้องทำงานตามปกติเหมือนคนอื่นๆแต่ต่างกันตรงที่คราวนี้เราสามารถมีชีวิตอยู่อย่างไม่ยึดมั่นถือมั่นในรูปและตัวตนได้แล้ว


คนทั่วไปมักเบื่อการสนทนาที่ซ้ำๆซากๆในพระสูตรฉบับนี้ซึ่งเป็นการสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้ากับภิกษุสุภูติผู้เป็นศิษย์แต่มีคนน้อยนักที่จะรู้ว่ายอดคนคือผู้ที่สามารถทำอะไรซ้ำซากได้โดยไม่รู้เบื่อ  เพราะมีหลายเรื่องที่เราจำเป็นต้องย้ำกับตัวเองไปจนตลอดชีวิตซ้ำแล้วซ้ำเล่า
 








Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้