คำสอนของยอดคนสำหรับยอดคน
อาบแสงจันทร์เต็มเรือยามกลับบ้าน...
โดเง็นเดินทางกลับประเทศญี่ปุ่นในปีค.ศ.1227 โดยกลับมาแต่ตัวมิได้ขนตำราหรือคัมภีร์ใดๆกลับมาด้วยเลยแม้แต่เล่มเดียวจะมีก็แต่ จิตวิญญาณของเซน เท่านั้นที่เขานำกลับมาด้วย
ช่วง 3 ปีแรกหลังจากที่โดเง็นเดินทางกลับจากประเทศจีนเขายังทำอะไรไม่ได้มากนักเพราะนิกายเซนยังเป็นนิกายใหม่ในญี่ปุ่นไม่มีอิทธิพลและผู้สนับสนุนมากนักตัวโดเง็นเองก็ยังเป็นพระหนุ่มในวัยไม่ถึงสามสิบปีด้วยซ้ำ
ในปีค.ศ.1231 โดเง็นเริ่มเขียน เบ็นโดวะ (เรื่องเล่าเกี่ยวกับอภิมรรคของเซน) ออกมาเพื่อเผยแพร่เซนออกสู่วงกว้างแต่งานเขียนที่สะท้อนความเป็นอัจฉริยะของโดเง็นออกมาคือ โชโบเก็นโซ ซึ่งเขาเริ่มเขียนตั้งแต่ปีค.ศ.1233 เป็นตอนๆจวบจนปีค.ศ.1246 มีทั้งหมด 75 บทด้วยกัน โชโบเก็นโซ หรือ คลังปัญญาจักษุแห่งพระสัทธรรม นี่แสดงให้เห็นถึงความลึกล้ำและล้ำลึกในสภาวะจิตแห่งพุทธธรรมของตัวเขาได้เป็นอย่างดีจะว่าไปแล้วชีวิตทั้งชีวิตของโดเง็น (ค.ศ.1200-1253) ผู้มีปัญญาเป็นเลิศท่านนี้เกิดมาเพื่อเขียน โชโบเก็นโซ ให้แก่อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาก็เห็นจะไม่ผิดนัก
ในที่นี่จะขอยกข้อความบางตอนใน เก็นโจโคอาน (การปรากฏขึ้นแห่งสภาวะธรรม) ที่เป็นบทต้นๆของ โชโบเก็นโซ ที่โดเง็นเขียนออกมาในวัย 33 ปีเท่านั้น
การรู้แจ้งของมนุษย์
เปรียบได้กับภาพสะท้อนของดวงจันทร์บนผิวน้ำ
ดวงจันทร์นั้นไม่เปียกและผิวน้ำก็ไม่แยกจากกัน
แม้ว่าดวงจันทร์จะทอแสงคลุมพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล
แต่ดวงจันทร์นั้นก็ยังคงแน่นิ่งอยู่ในห้วงน้ำอันน้อยนิด
ดวงจันทร์ทั้งหมดทั้งดวงท้องฟ้านภากว้างมาสงบนิ่ง
อยู่ในหยดน้ำค้างบนใบหญ้าเพียงหยดเดียว.....
การรู้แจ้งจึงมิได้ทำลายมนุษย์เหมือนอย่างที่
ดวงจันทร์ไม่ได้เจาะรูเพื่อมาปรากฏบนผิวน้ำ
ตัวมนุษย์เราจึงมิได้กีดขวางการรู้แจ้งเช่นเดียวกับที่
ตัวหยดน้ำค้างก็ไม่ได้ขัดขวางดวงจันทร์และท้องฟ้า
ด้วยเหตุนี้แหละความล้ำลึกของที่หนึ่งจะเป็น
เครื่องวัดความสูงส่งของอีกแห่งหนึ่งได้
ต้องไม่ลืมว่าโดเง็นเขียนงานเขียนอย่าง เก็นโจโคอาน ที่มีความลึกล้ำออกมาภายใต้สภาพแวดล้อมทางสังคมของญี่ปุ่นในขณะนั้นที่ผู้คนส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อและความเข้าใจเกี่ยวกับศาสนาพุทธว่าเป็นสิ่งที่ใช้ตอบสนองความต้องการทางโลกของพวกชาวบ้านอย่างการรักษาโรคภัยไข้เจ็บการสะเดาะเคราะห์การเสริมดวงการเสริมโชคชะตาหรือเพื่อการไปเกิดในสวรรค์แดนสุขาวดีเท่านั้น
เท่านี้ก็เห็นได้แล้วว่าโดเง็นพยายามเสนอแก่นแท้ของพุทธธรรมออกมาภายใต้สภาพแวดล้อมและความเชื่อทางศาสนาที่ไม่เอื้ออำนวยเอาเสียเลยและตัวเขาต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวเพียงใดในยุคสมัยของเขาคำสอนเซนของโดเง็นจึงได้รับการยกย่องจากผู้ศึกษาเซนรุ่นหลังว่าเป็น ไซโจโจ-เซน หรือ เซนขั้นสุดยอด (The Supreme and Ultimate Zen) ที่ข้ามพ้นทั้งหินยาน (เถรวาท) และมหายานเพราะคำสอนเกี่ยวกับเซนของโดเง็นเป็นคำสอนสำหรับพุทธะเพื่อพุทธะโดยพุทธะเท่านั้น
โดยโดเง็นสอนให้ผู้ที่ปรารถนาจะเป็น พุทธะ จงลืมตนเองละตัวตนและข้ามพ้นแนวคิดแบบทวิภาวะทั้งปวงไม่ว่าดี-เลวถูก-ผิดบรรลุ-ไม่บรรลุโดยผ่านการปฏิบัติธรรมและการฝึกสมาธิสายปัญญาแบบเซนที่รวมสมถะกับวิปัสสนาเข้าด้วยกันผู้ที่ต้องการจะศึกษางาน โชโบเก็นโซ ของโดเง็นจะเริ่มอ่านจากบทไหนเพื่อเข้าถึงหัวใจและจิตวิญญาณของโดเง็นก็ได้ขึ้นอยู่กับวาสนาและบารมีธรรมของตัวผู้ศึกษาเองเป็นหลักเพราะ โชโบเก็นโซ ของโดเง็นมิได้เขียนอย่างเป็นระบบที่ค่อยๆสะสมองค์ความรู้ทีละบทๆขึ้นไปแต่เป็นงานเขียนที่บทแต่ละบทเป็นเอกเทศในตัวมันเองมีความลึกล้ำสุดหยั่งคาดในแต่ละบทเองและพูดถึงปัญหารากเหง้าของชีวิตโดยตรงโดยไม่มีการอ้อมค้อมทุกบทและไม่มีบทไหนที่ประนีประนอมกับคนอ่านที่เป็นปุถุชนเลย
เพราะคำสอนของโดเง็นเป็นคำสอนสำหรับคนส่วนน้อยคือเป็นคำสอนสำหรับ ยอดคน ด้วยกันอ่านเท่านั้น คำสอนสำหรับยอดคน เป็นเช่นไรและต่างจาก คำสอนสำหรับชาวบ้าน ตรงไหน ? คำสอนสำหรับยอดคนเป็นคำสอนที่ไม่ได้ถูกครอบงำด้วยแรงจูงใจจากความกลัวหรือความคาดหวังที่จะได้รับสิ่งตอบแทนทั้งจากโลกนี้หรือโลกหน้าคำสอนชนิดนี้จึงไม่จำเป็นต้อง เอาใจ คนส่วนใหญ่ให้มาศรัทธาอุ้มชูบริจาคคำสอนชนิดนี้จึงเป็นคำสอนสำหรับคนส่วนน้อยที่ต้องการเป็น ผู้บรรลุ โดยเฉพาะจึงไม่มีการออมชอมในเรื่องหลักการแนวทางปฏิบัติใดๆ