4. ต้นเหตุของวิกฤตการณ์เศรษฐกิจไทย

4. ต้นเหตุของวิกฤตการณ์เศรษฐกิจไทย




ต้นเหตุของวิกฤติการณ์เศรษฐกิจ


วิกฤติการณ์ครั้งนี้เป็นวิกฤติการณ์เศรษฐกิจอย่างแท้จริงในรอบ 70 ปี ไม่เคยเจอมาก่อน ก่อนอื่นเราต้องทบทวนแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจไทยเป็นเบื้องแรก ในปี ค.ศ. 1984 ปรากฎการณ์ที่เกิดที่สหรัฐอเมริกา การปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว กว่าจะรู้อีก 10 ปี เราจึงรู้ว่าโลกาภิวัตน์, การเงินเสรีคืออะไร


ค.ศ. 1985 ได้เกิดมหัศจรรย์ของอัตราแลกเปลี่ยน ได้ข้อตกลงพลาซ่าแอคคอร์ด ที่สหรัฐอเมริกา มติดังกล่าวทำให้ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นสูงขึ้นจาก 240 เยนต่อ 1 ดอลล่าร์ กลายเป็น 120 เยนต่อ 1 ดอลล่าร์ ทำให้กำลังซื้อของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ซึ่งมีผลภายหลังต่อการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย เพราะไทยได้เปรียบในด้านทำเล ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านของเรามีเงื่อนไขที่ไม่ดีเท่าเรา ทำให้ต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาลงทุน ก่อนที่ทุนของญี่ปุ่นจะเข้ามาในสมัยรัฐบาลจอมพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เราประสบปัญหาช่องว่างระหว่างเงินออมและเงินลงทุน ประกอบกับมีแนวคิดชาตินิยมปฏิเสธการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ เช่นเดียวกับเวียดนามและลาตินอเมริกา ซึ่งสุดท้ายก็ยอมรับความคิดใหม่ ยอมรับบทบาทบรรษัทข้ามชาติ เงินทุนต่างชาติที่เข้ามาช่วงนั้นถมช่องว่าง การเข้ามาของญี่ปุ่นทำให้การลงทุนและเศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่ญี่ปุ่นจะมาลงทุนในไทย โครงสร้างเศรษฐกิจไทยประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1 ใน 3 เป็น อุตสาหกรรมเบาและการเงิน 10 กว่าปีที่ผ่านมา ทุนของไทยที่มีบทบาท ความมั่นใจ และเป็นเอกเทศคือทุนธนาคาร ซึ่งเกิดจากทุนเชื้อสายจีน ในช่วง 40 กว่าปีที่ผ่านมา


รูปแบบการสะสมความมั่งคั่งดั้งเดิมเป็นแบบ CLASSIC มีการลงทุนผลิตแล้วขายหรือส่งออก 10 กว่าปีต่อมาเรารู้จักเศรษฐกิจฟองสบู่ มูลค่าที่ดิน จากไร่ละไม่เท่าไรนำมาเก็งกำไรมูลค่าที่ดิน ซึ่งที่ดินนี้ตอนแรกคือสร้างโรงงาน บ้านพักให้ต่างชาติ ก่อนหน้านั้นเกิดแนวโน้มการเก็งกำไรภายใน ตั้งแต่แชร์แม่ชม้อย ราชาเงินทุน เป็นปัญหาระดับสังคม เสียหายอยู่ในระดับสามพันล้านบาท แต่ยังไม่มีกรณีกู้เงินจนเป็นเกมส์การเงิน จุดแรกของหายนะเริ่มในสมัยรัฐบาล พลเอกชาติชาย เกิดควบคู่กับเศรษฐกิจฟองสบู่ เกิดการสะสมความมั่งคั่งแบบใหม่ ผ่านการเก็งกำไรที่ดิน,หุ้น,อนุพันธ์ โดยนำความรู้จากญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา


ปี ค.ศ. 1988-1990 ก่อนสงครามอ่าวเปอร์เซีย และ รสช. สถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่วิกฤติมากนักเพราะ พื้นฐานทางเศรษฐกิจเรายังแข็งอยู่ในช่วงนั้น ทุก 3 วันยังมีการเปิดโรงงานใหม่ของทุนต่างชาติ ทำให้เศรษฐกิจยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในช่วงนี้ได้เกิดชนชั้นกลาง ซึ่งมีรายได้สูง 5-10 เท่า เกิดการใช้จ่ายบริโภคอย่างสะบั้นหั่นแหลก


การพังทลายของประเทศคอมมิวนิสต์และสงครามเย็นทำให้เกิดแรงงานราคาถูกร่วม 1 พันล้านคน กระโจนเข้าสู่ตลาดโลกซึ่งเคยเป็นตลาดของไทยและอินโดจีน รวมทั้งการเปิดประเทศจีน เวียดนาม ก่อให้เกิดคู่แข่งรายใหม่ ๆ ตลาดการส่งออกของไทยหดตัวลงพร้อมทั้งการกีดกันทางการค้าการส่งออกของสหรัฐอเมริกาและยุโรป บรรษัทข้ามชาติหันไปลงทุนในจีน พม่า ผลิตสินค้าราคาถูกจากแรงงานราคาถูก เกิดกระบวนการทำลายของราคาโดยบรรษัทข้ามชาติ ลดต้นทุนเอาผลิตภัณฑ์ไปขายทั่วโลก รวมทั้งการปรับองค์กรด้วยรีเอ็นจีเนียริ่ง


เรามองภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่เป็น 3 ขั้น ตามตัวเล่น ขั้นที่ 1 คือ ประชาชน สมัยฮอลันดาแย่งดอกทิวลิปเมื่อ 300 กว่าปีก่อน ในประเทศไทยเช่น กรณีแชร์แม่ ชม้อยได้เงินเร็วก็แห่กันไปแล้วเกิดความเสียหาย ขั้นที่ 2 เศรษฐกิจฟองสบู่ซึ่งเกิดครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 1929 หรือเกือบ 50 ปีมาแล้ว MODEL คนเล่น คือ คนชั้นกลาง กรณีสหรัฐอเมริกาผู้คนอย่างซื้อบ้าน ซื้อรถ รุ่นใหม่ รถฟอร์ด อย่างมีรีสอร์ตที่ไมอามี่ ในเมืองไทยสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ปี ค.ศ. 1990-1991 เกิดการเก็งกำไรจากที่ดินได้เงินมาปั่นหุ้นในตลาดหุ้น และลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ โดยหลักแล้วฟองสบู่จะน่ากลัวมากเมื่อกู้เงินมาเล่น เมื่อใดก็ตามกู้เงินต่างชาติเมื่อนั้น จะเป็นฟองสบู่ในศตวรรษที่ 21 เป็นขั้นที่ 3 โดยไม่เรียนรู้บทเรียนจากสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลชวน ผ่าน BIBF นักการเมืองมีส่วนร่วมในหายนะ ทุกคนปฏิเสธไม่ได้


โลกาภิวัตน์ นโยบายการเงินเสรี ความหมายคือ แสวงกำไรที่พ้นขีดจำกัดของรัฐ ระบบทุนนิยมโลกเกิดปรากฏการณ์เงินล้นโลก โดยมาจากกำไรการค้าน้ำมัน อีกช่วงหนึ่งญี่ปุ่นค้ากำไรเกินดุลอยู่ 30 ปี ถูกดูดซับเป็นรูปพันธบัตรปล่อยกู้ให้กับประเทศโลกที่ 3 เป็นหนี้สินของประเทศโลกที่ 3 จนเกิดวิกฤติต่าง ๆ เงินของระบบทุนนิยมต้องหาทางออกปล่อยกู้ในที่ที่ปล่อยกู้ได้ คราวนี้เกิดคนหัวใสพบว่าระบบเงินของเราใช้ระบบตะกร้าเงินที่อิงกับดอลล่าร์ การเปิด BIBF ทำให้กู้ทุนระยะสั้นจำนวนมากมาปล่อยกู้ระยะยาวในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หากำไรจากส่วนต่างของอัตรดอกเบี้ยภายในประเทศ เพราะอัตราดอกเบี้ยของเราได้รับการปกป้องจากดอกเบี้ยที่คงที่


ด้านหนึ่งเขาให้เปิดเสรีทางการเงินเราก็เปิด แต่เรากลับไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวซึ่งถ้าทำอย่างนั้นจะไม่เกิดปัญหา
แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ไม่ทำ โดยไม่ตระหนักถึงปัญหาและคาดไม่ถึงที่มาของหายนะ อันเกิดจากความไม่สมดุลดังกล่าวเบื้องต้น


BIBF เราควรกู้มาเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและแก้ปัญหาคุณภาพของคนแต่กลับไปลงทุนอสังหาริมทรัพย์ นักธุรกิจต่าง ๆ ล้วนกระโจนเข้าวงการอสังหาริมทรัพย์เพราะคาดหวังจะได้เงินเร็ว นักธุรกิจไทยได้ขายจิตวิญญาณยอมรับรูปแบบการสะสมความมั่งคั่งแบบใหม่โดยไม่ตระหนักถึงความน่ากลัวของมัน ส่วนหน่วยงานของรัฐก็ไม่มีความสามารถบริหาร BIBF รับ BIBF มาขณะที่องค์กรธนาคารแห่งประเทศไทยไม่มีความพร้อม


ยอดเงินกู้ของภาคเอกชน 3 ปีนี้ประมาณ 9 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ระยะสั้นแล้วนำมาปล่อยภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นเงินกู้ระยะยาวทำให้เกิดปัญหาหนี้เสีย นักเศรษฐศาสตร์เองก็ประเมินคาดหวังเศรษฐกิจมหภาคดีเกินไป ทำนายภาพเอาใจภาคเอกชนและต่างประเทศ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเก็งกำไรและการไม่ยอมปรับตัวทางโครงสร้างเศรษฐกิจยังไม่เพียงพอที่จะน็อคเศรษฐกิจไทยให้อยู่หมัด หมัดเด็ดที่สำคัญคือ "ธุรกิจการเมือง" เป็นหมัดที่ 3


สถานการณ์ต่าง ๆ จะไม่เลวร้ายถึงเพียงนี้ถ้าไม่มีปัจจัยทางการเมือง
ถ้านายกรัฐมนตรีพลเอกชวลิต กล้าหาญ ลดค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นและปล่อยให้สถาบันการเงินล้มก็จะกู้ความเชื่อมั่นกลับมาได้แต่เป็นเพราะกลุ่มนักธุรกิจเหล่านั้น ซึ่งกลุ่มนักธุรกิจที่ไปพบป๋าเปรมล้วนแต่สนับสนุนพลเอกชวลิตขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีทั้งสิ้น นักธุรกิจเหล่านี้ล้วนลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์โดยกู้เงินต่างชาติทั้งสิ้น การตัดสินใจล่าช้าในการลดค่าเงินบาทเพราะความเลวที่จะสร้างทางรอดให้กลุ่มทุนตนเองโดยไม่คำนึงถึงส่วนรวมจึงประวิงเวลาในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ อดีตรัฐมนตรีคลังคุณอำนวยก็ทราบปัญหาแต่ทำอะไรไม่ได้ เพราะทุนการเงินไม่ยอมเสียอวัยวะเพื่อรักษาชีวิตโดยส่วนรวม สุดท้ายจึงพังทั้งระบบ


นักธุรกิจส่งออกก็อาจไม่คุ้มกับการส่งออกเพราะค่าเงินบาทยังขาดเสถียรภาพ การลดค่าเงินบาทให้ไม่สามารถใช้หนี้ ธนาคารก็จะล้ม ทางการเมืองก็ไม่ทำอะไรจนสถานการณ์บีบบังคับ ทุกคนคิดว่าการปล่อยค่าเงินบาทลอยตัว หรือการกู้เงิน ไอเอ็มเอฟ แล้วทุกอย่างจะดีขึ้น แต่หาได้เฉลียวใจเลยว่า "ไอเอ็มเอฟเข้ามาเพื่อหาทางทวงเงินคืนแก่เจ้าหนี้" โดยการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ขึ้นราคาสินค้า และรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ปล่อยให้ธุรกิจอ่อนแอล้มลงบังคับให้คนไทยลดคุณภาพชีวิต เพื่อให้คนไทยมีเงินออมแล้วดูดเงินออมไปคืนหนี้ จึงให้ต่างชาติค้าขายกับไทยในอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราเท่าใด หากญี่ปุ่นถอนการลงทุนในประเทศไทย ไพ่ในมือเราก็ไม่มีเล่น เราหมดแน่ แต่ญี่ปุ่น แต่ญี่ปุ่นได้ลงทุนกับไทยไปมากแล้ว ญี่ปุ่นยังกังวลไม่กล้าถอนการลงทุน แต่อัตราแลกเปลี่ยนยังลอยตัวและกำหนดไม่แน่นอน จุดเด่นด้านทำเลของไทยก็ไม่สามารถมาชดเชยความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังขาดเสถียรภาพ


ที่น่าเสียใจและน่ากลัวคือน่าจะเกิดเศรษฐกิจถดถอยระดับโลก เนื่องจากการแตกของเศรษฐกิจฟองสบู่ในสหรัฐอเมริกา ดัชนีดาวน์โจนส์อยู่ในระดับสูงมากประมาณ 8 พันกว่าจุด คาดว่าในปี ค.ศ. 1998-2003 จะเกิดฟองสบู่แตก ภาวะในขณะนั้นไทยจะหนักทีสุด ช่วง 1 ปีถึง 1 ปีกว่าจากนี้ไปเราควรกำหนดยุทธศาสตร์ทางรอดของเรา เพราะความยากลำบากและวิกฤติการณ์เศรษฐกิจของเราทุนนิยมระดับโลก เช่น สหรัฐอเมริกาหรือญี่ปุ่น ล้วนผ่านมาแล้วเราต้องอ่านสถานการณ์ให้ชัดเจน ต้องเรียนรู้ สถานการณ์จะเลวร้ายกว่าที่เราเผชิญอยู่ขณะนี้ ดังนี้เราต้องสู้ให้เป็น กำหนดเป็นสงครามยืดเยื้อ เราควรฟื้นฟูเกษตรกรรมโดยเร็ว อดออม ลดการพึ่งพาทุนจากต่างชาติ และเงินกู้ สร้างความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นกลางกับภาคเกษตรกรรม ส่งเสริมภาคบริการพัฒนาในเชิงซอฟแวร์ให้มีมูลค่าเพิ่ม ภาคการเงิน เองเราคงถูกเทคโอเวอร์จากทุนต่างชาติ ภาคธุรกิจที่น่าสนใจพอไปได้ในอนาคตคือ ธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพ การศึกษา สันทนาการ การทำธุรกิจต้องเลิกหวังผลระยะสั้น ควรคิดแบบยั่งยืน เราจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิดเสียใหม่


(จากเศรษฐกิจไทยตายแล้วฟื้น พิมพ์ครั้งที่ 3, ดร.สุวินัย ภรณวลัย, สำนักพิมพ์วิชั่น แวนควิช)








 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้