2. ทุนนิยมวิกฤติ : ทางรอดอยู่ที่ไหน

2. ทุนนิยมวิกฤติ : ทางรอดอยู่ที่ไหน



"ทุนนิยมวิกฤติ : ทางรอดอยู่ที่ไหน?"



บทเรียนบทหนึ่งจากวิกฤติที่ว่า บางครั้งบางขณะคนฝ่ายข้างมากไม่ได้คิดถูกเสมอไป ประชาธิปไตยอาจบอกว่าเสียงข้างมากเป็นฝ่ายชนะ แต่บางเหตุการณ์โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดวิกฤติ คนข้างมากใช่ว่าจะคิดถูก หลายคนอาจจะเป็นเพียงกบในกะลาครอบของตัวเอง มีความลำพอง นี่เป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นชัดว่า วิกฤติเศรษฐกิจที่เรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน แท้จริงแล้วมันเป็นวิกฤติแห่งภูมิปัญญาของสังคมไทย และหลังจากเกิดวิกฤติมาปีกว่าก็แทบไม่เห็นว่ามีการปรับปรุงสักเท่าไรเลย


วิกฤติในครั้งนี้มี 2 มิติที่เกิดขึ้นพร้อมกัน ซึ่งต้องพิจารณาควบคู่กันไป จะมองแค่ด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้ อันแรกคือวิกฤติของทุนนิยมไทยโดยตัวของมันเอง อีกมิติหนึ่งก็คือวิกฤติของระบบโลกโดยตัวของมันเองเช่นกัน


วิกฤติอันแรกคือสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2540 ในรอบ 40 ปีแห่งการพัฒนาทุนนิยม ไม่เคยมีครั้งไหนที่ทุนนิยมไทยประสบกับความหายนะมากเท่าครั้งนี้ นั่นคือมีการล่มสลายของสถาบันการเงินซึ่งเปรียบเสมือนหัวใจของเศรษฐกิจมีการล้มทรุดของภาคเศรษฐกิจจริงซึ่งลามไปดุจโรคมะเร็ง และภาระหนี้สินมากมายมหาศาลที่ยากจะใช้ได้หมดในชั่วชีวิตของเรา สามอย่างนี้ชี้ให้เห็นถึงการพังทลายของกลไกการสะสมทุนภายในประเทศ และถ้าจะหาทางออก ก่อนอื่นก็ต้องยอมรับความจริงว่า ปัจจุบันนี้กลไกการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่เคยทำงานมาตลอด 40 ปีนั้น ใช้ไม่ได้แล้ว


ส่วนวิกฤติของระบบโลก เกิดขึ้นมาตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 1980 แรกๆออกมาในรูปที่เราไม่เคยเผชิญมาก่อน คือ ภาคการเงินกลายเป็นภาคที่มีฐานะครอบงำเศรษฐกิจโลกแทนที่ภาคเศรษฐกิจก็จริง พอผนวกเข้ากับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศก็ทำให้ระบบโลกกลายเป็นบ่อนคาสิโนขนาดใหญ่หรือเราเรียกว่า ระบบโลกแบบทุนนิยมฟองสบู่ ซึ่งเต็มรูปตั้งแต่ประมาณปี 1985 และมาสู่ขั้นสุดยอดราวปี 1995 ที่เกิดวิกฤติการณ์เม็กซิโก ตรงนี้เป็นจุดที่นำมาสู่หายนะ


เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนธาตุแท้ไปอย่างสิ้นเชิง คือ การเคลื่อนไหวของกระแสเงินทุนได้กลายมาเป็นปัจจัยทีใหญ่ที่สุดในการกำหนดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แทนที่นโยบายมหภาคของรัฐบาลดังที่เคยมีมาตลอดช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง นี่คือข้อเท็จจริงที่กระทรวงการคลังและแบงค์ชาติของประเทศกำลังพัฒนาหรือแม้แต่ประเทศพัฒนาแล้วมองข้ามไปจริงๆ ตัวชี้ขาดไม่ใช่เรื่องการดำเนินนโยบาย แต่เป็นกระแสการไหลของเงินที่มันเข้ามาเร็วและก็แรงจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรูปของความเฟื่องฟู ประมาณหลังเปิด BIBF จนถึงปี 1996 แล้วนำมาสู่ภาวะฟองสบู่แตกซึ่งเป็นแบบเดียวกันคือ มาแรงและก็ไปแรง


จุดเปลี่ยนที่รุนแรงที่สุดในแง่ผลกระทบของโลกาภิวัฒน์ ออกมาในรูปของการเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงของกระแสเงินทุนไหลเข้าไหลออกนี้ มันทำให้วิถีชีวิตของคนจำนวนมากหันมาพึ่งพาระบบการสร้างความมั่งคั่งแบบใหม่โดยการเก็งกำไร ปัญหาต่างๆเกิดขึ้นมาเพราะเราเปลี่ยนวิถีชีวิตไปแล้ว ไม่ว่าเราจะอ้างว่าสังคมไทยมีวัฒนธรรมที่ดีงามอย่างไรก็ตาม แต่ความเป็นจริงคือมันเปลี่ยนไปแล้ว ถ้าพูดศัพท์ภาษาวรรณกรรมหน่อยก็คือ เราขายวิญญาณให้กับซาตานไปแล้ว และตอนนี้เรากำลังเสียดอกเบี้ยราคาแพง ทั้งในเชิงจิตวิญญาณและในเชิงสังคม ให้กับสิ่งที่เราทำไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว นี่คือต้นตอของปัญหาทั้งปวงที่เกิดขึ้น


สิ่งที่ทุนนิยมไทยและประเทศพัฒนาอื่นๆเผชิญอยู่ในปัจจุบัน มันเหมือนทางสามแพร่ง และหลายทางเดินเหล่านั้นอาจจะนำไปสู่ทางตัน อาจจะตกเหว ฯลฯ ถ้าเลือกทางผิดชะตาชีวิตหรือชะตากรรมของประเทศก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้น ในภาวะเช่นนี้ข้อมูลในรายละเอียดคือสิ่งที่เราต้องการมากที่สุด ถ้าเราได้ข้อมูลล่วงหน้าก่อนที่เราจะตัดสินใจเดินทางแบบรวมหมู่ ถ้าเรารู้ว่าจะต้องเผชิญกับอะไรในช่วงไม่กี่ปีหลังนี้ เราก็จะสามารถเลือกทางที่เราจะรอดได้หรือมีโอกาสรอดได้มากที่สุด เราก็จะหาคำตอบได้


และสิ่งที่ว่าเราจะเผชิญในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าก็คือ ภาวะความปั่นป่วนไร้เสถียรภาพในอัตราเร่งที่มีผลกระทบเป็นลูกโซ่ทั้งระบบโลก พูดให้ง่ายๆเป็นรูปธรรมก็คือ ความล่มสลายของระบบเศรษฐกิจคาสิโนระดับโลกจะเกิดที่ศูนย์กลางทุนนิยมโลก คือ สหรัฐอเมริกา ในราวๆปี 1999 และถึงจุดสุดยอดของความรุนแรงหรือความสั่นสะเทือนราวๆปี 2000 - 2002 คือจากนี้ไปอีกประมาณ 4 ปี ภาวะความรุนแรงที่สุดสามารถอุปมาดังการเกิดแผ่นดินไหวเกิดขึ้นครั้งแรกเป็นวิกฤติเม็กซิโก แล้วต่อมาก็ที่เมืองไทย แต่นั่นเป็นเพียงการไหวเตือน ยังไม่ใช่ The big one แผ่นดินไหวจริงๆจะเกิดขึ้นที่ศูนย์กลางคาดว่าอยู่ในช่วงปี 1999 - 2002 ซึ่งอาจจะเกิดหลายลูก แล้วจะมีผลกระทบตามมาอีก สิ่งนี้คงนำมาซึ่งจุดจบของระบบทุนนิยมฟองสบู่ ในราวๆไม่เกินปี 2012 หรืออีก 14 ปีหลังจากนี้ไป


ภาพการล่มสลายของระบบคอมมิวนิสต์ในปี 1990 เป็นบทแรกภาพต่อมาประมาณปี 2012 เป็นภาพที่คงหลีกเลี่ยงได้ยากแล้วในตอนนี้ คือการล่มสลายของระบบทุนนิยม เราคงไม่ต้องมากังวลเรื่องการฟื้นฟูทุนนิยมอีกต่อไป เพราะหลังจากนั้นเราคงต้องพูดถึงระบบใหม่ แต่การพูดถึงระบบใหม่ที่จะเกิดขึ้นหลังทุนนิยมในตอนนี้มันเร็วไป ตอนนี้คงสรุปได้เพียงว่า ตัวแปรที่เร่งให้เกิดการล่มสลายของระบบทุนนิยมคือจุดจบของระบบคอมมิวนิสต์ที่เกิดขึ้นในปี 1990 และอีกประมาณสิบกว่าปีเราคงจะได้เห็นการล่มสลายของระบบทุนนิยม มันคงจะใกล้ตัวเรามากกว่าคนในค่ายคอมมิวนิสต์ ส่วนสิ่งที่จะต้องเผชิญต่อจากนั้นมีอยู่ 2 รูปแบบคือ สงครามโลกครั้งที่ 3 หรือสงครามโลกาวินาศ แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้ได้เกิดสงครามย่อยขึ้นมา 3 รูปแบบแล้ว ได้แก่ 1) สงครามระหว่างชนชาติเดียวกัน ในบางประเทศรู้สึกตอนนี้เกิดขึ้นหลายจุดแล้ว 2) อันนี้ประเทศไทยเราโดนด้วย คือ สงครามเศรษฐกิจที่ต่อสู้อย่างรุนแรงมาก เอาชีวิตเอาชะตากรรมประเทศชาติเป็นเดิมพัน และ 3) ที่ส่วนใหญ่มองข้ามไปก็คือ สงครามที่ต่อสู้กับภัยธรรมชาติประเภทต่างๆ แผ่นดินไหว พายุเฮอริเคน ภูเขาไฟระเบิด น้ำท่วม ภัยแล้ง จะรุนแรงยิ่งขึ้นตามลำดับในอัตราเร่ง อันนี้โดนกันทุกประเทศทั่วโลก ยากจะหลีกเลี่ยงได้ สามอันนี้จะเป็นตัวบั่นทอนระบบทุนนิยมให้อ่อนล้าแล้วก็ถึงจุดจบในเวลาที่เราคาดการณ์กันไว้


สมมุติเราเชื่อว่า ข้อมูลหรือสิ่งที่เราได้จากปัญญาญาณอันนี้ในการที่จะประเมิณสถานการณ์ว่า นี่คือภาพที่เห็นข้างหน้า ในประมาณ 10 กว่าปีข้างหน้ามันจะเกิดแบบนี้ แล้วประเทศไทยของเราจะนำพาตัวเองรอดจากมรสุมแห่งยุคสมัยนี้ได้อย่างไร คนทุกระดับหรือคนที่มีอำนาจ ควรเตรียมการหรือประเมิณความรุนแรงของปัญหานี้ในระดับเดียวกับภาวะสงคราม ในระดับสงครามโลก เพราะเราหมดยุคแห่งสันติแล้ว เราอาจจะต้องเผชิญอย่างสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือ สงครามโลกครั้งที่ 2 พวกเราคงได้เห็นวันนั้น พอคิดแบบนี้แล้วจึงมองหาทางออก


ทางออก อันดับแรก คือ เศรษฐกิจพอเพียง ตอนนี้เศรษฐกิจพอเพียงยังไม่เป็น sub-system หรือ sector หนึ่งของสังคมไทย เราจะต้องรีบทำให้ได้ เพราะสิ่งนี้คือหลักประกันการเกิดกลียุค ที่เกิดขึ้นแล้วในอินโดนีเซีย ถ้าไม่อยากให้เกิดกลียุคในสังคมไทยแบบอินโดนีเซีย เราต้องเร่งทำเศรษฐกิจ พอเพียงโดยเร็วที่สุดเพื่อรองรับปัญหาวิกฤติทางสังคมและการว่างงาน


อันที่สอง จะต้องเร่งทำทีสุดคือ การฝึกฝนคนเพื่อรองรับระบบใหม่ที่ไม่ใช่การแก้ปัญหาวันต่อวัน หรือปีต่อปี พอมีคนประท้วงหน่อยหรือมีชาวนาผูกคอตายก็มาลนลานแก้ปัญหา


อันที่สาม เป็นเรื่องระดับปัจเจกชน พอเศรษฐกิจล่มสลายสิ่งที่เราได้คืนมาคือเวลา บางคนมีเวลามากอาจจะฟุ้งซ่านแล้วออกมาในรูปขอ่งการฆ่าตัวตาย บางคนตกงานก็อาจจะมาค้ายาบ้าหรือใช้ชีวิตที่สุ่มเสี่ยงแทน บางคนอาจจะไปปฏิบัติธรรม แต่ถ้าอยากจะรอด เราต้องสถาปนาความสัมพันธ์กันใหม่ คือ หนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างตัวเราเองกับผู้คนทั้งหลาย ไม่ใช่เป็นแบบที่นักศึกษาถูกจี้ทำอนาจารบนรถเมล์แล้วก็ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ นั่นเป็นด้านที่เลวร้ายมากของความสัมพันธ์ที่เรามีต่อผู้คน สอง ความสัมพันธ์ทางสังคม ก็คงในเชิงของชุมชน ความสัมพันธ์กับโลก จักรวาล และธรรมชาติ ถ้าหากเราไม่มีอันนี้ก็จะมองไม่เห็นเลยว่าในแง่ปัจเจกเราจะอยู่รอดได้อย่างไร เพราะเราอาจจะเป็นตัวบิดเบือนและทำลายองค์รวมนี้ก็ได้


อันที่สี่ เราต้องมีการทำใหม่ สร้างใหม่
คือต้องสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่โดยการเปลี่ยนวิถีที่เป็นอยู่ อุปมาดังรถเสียข้างทาง เราจะเดินไปตัวเปล่ามันก็กระไรอยู่ เราสามารถเปลี่ยนแปลงรถเสียนั้นให้กลายเป็นเกวียนหรือเอาบางส่วนของมันมาใช่ต่อไปได้หรือไม่ คือ เอาชิ้นส่วนบางอันของระบบเก่าที่มันพังไปแล้วกลับมาใช้กับระบบใหม่ที่กำลังก่อตัวขึ้นมาได้หรือไม่ ซึ่งอันนี้มันต้องใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์


และอันสุดท้าย เป็นการตัดสินใจทางกลยุทธ์ที่ยากที่สุด ผุ้นำส่วนใหญ่จะไม่กล้าทำ คือ เราต้องกล้าทิ้งวิธีคิดแบบเก่าที่เคยประสบความสำเร็จมา โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องการเป็นเจ้าของ (ownership) เราต้องกล้าปฏิรูปสถาบันการเงิน ให้เถ้าแก่ทั้งหมดที่เคยมีอำนาจทางการเงินกลายเป็นลูกจ้างเหมือนคนทั่วไปได้หรือไม่ ปฏิรูปที่ดินการเกษตรของพวกที่เอาโซ่ไปล่ามแผ่นดินไว้ด้วยการเก็งกำไรให้กลายเป็นที่ดินเพื่อรองรับเศรษฐกิจพอเพียงได้หรือไม่ สองเรื่องนี้ถ้าไม่กล้าทำก็คงยากที่จะแก้ปัญหาจนถึงขั้นรากเหง้าได้


โดยสรุปจากนำเสนอวิกฤติการณ์ทุนนิยมจากตะวันตกด้วยท่วงทำนองของวรรณกรรมจากตะวันออก จนอาจทำให้หลายคนคิดถึงนอสตราดามุส มีเพียงสั้นๆคือ วิกฤติการณ์คราวนี้ไม่มีทางรอดสำหรับระบบทุนนิยม แต่ถ้าคนในระบบทุนนิยมจะอยู่รอดก็ต้องปรับตัวให้เป็นอย่างอื่น ซึ่งไม่ใช่อยู่ในความสัมพันธ์แบบทุนนิยมอย่างที่เคยเป็นมา


(จากเศรษฐกิจไทยตายแล้วฟื้น พิมพ์ครั้งที่ 3, ดร.สุวินัย ภรณวลัย, สำนักพิมพ์วิชั่น แวนควิช)








 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้