ผลกระทบของวิกฤติการณ์เศรษฐกิจไทย
การเพิ่ม VAT ผลกระทบคงไม่มากเพราะตัวเลขจริง ๆ แล้วอีก 3 %ก็ไม่มากเท่าไร ปรับเปลี่ยนวิธีการคำนวณและการบริหารกรมสรรพกร ซึ่งอันนี้ก็พอแก้ไขได้เมื่อเวลาผ่านไปคนเริ่มชินแล้ว แต่ที่มีผลกระทบมากคือการลดค่าเงินบาทหรือปล่อยให้เงินบาทลอยตัว เพราะทำให้สินค้าแพงทันที น้ำมันราคาขึ้นมาเกือบลิตรละ 16 บาท กระทบต้นทุนมาก การนำเข้าต่าง ๆ สินค้าที่จำเป็นขณะที่การส่งออกเรายังไม่แน่ใจว่าจะขยายตัวเท่าเดิมหรือเปล่า ซึ่งเป็นไปได้ยากที่การส่งออกจะขยายตัวเท่าเดิมเพราะมีคู่แข่งมากและต้นทุนเราสูงกว่าเดิมมาก
การล้มละลายของบริษัทต่าง ๆ การโละคนงาน การปลดออก การลดเงินเดือน กระทบชนชั้นกลางและคนยากจนทั่วไป ปีหน้า พ.ศ. 2544 จะหนักขึ้นไปอีก เงินชดเชยก็ไม่มี ถึงจะรอหางานก็ไม่มี แนวโน้มก็จะคิดเหมือนกันว่าจะไม่รับ ช่องว่างในการทำงานแบบเดิมในภาคธุรกิจที่ตัวเองทำอยู่ก็จะลดลงคงเป็นปัญหาใหญ่ทางสังคม ปัญหาทางการเมือง คนที่จะช่วยได้ มี 2 ระดับ คือรัฐบาลช่วยกระจายข่าวสารเร่งสร้างงานในขอบเขตที่จะทำได้ ส่วนที่สองพวกเขาต้องช่วยตัวเอง โดยอาจลดระดับมาตรฐานการทำงานของตนเอง เงินเดือนลดลง ทำงานที่วุฒิต่ำกว่านี้ เช่น จบปริญญาตรีก็ทำงานระดับ ม.6 เป็นต้น หรือไม่ก็ต้องเป็นโรบินฮู๊ดไปขุดทอง หาเสี่ยงโชคในประเทศอื่น อย่างที่เคยทำมาแล้ว พูดง่าย ๆ ตัวชี้ขาด คิดว่าทุกคนต้องช่วยตัวเอง หวังพึ่งพอรัฐคงลำบาก เพราะตัวรัฐเองก็ไม่มีเงิน
สำหรับคนที่ถูกปลดออกในช่วงเศรษฐกิจถดถอย สิ่งที่ได้มาคือ คนส่วนใหญ่จะมีเวลามากขึ้น ถ้าคนตกงานเวลาก็มี หรือบริษัทส่วนใหญ่ปกติทำงาน 3 วัน หยุด 2 วัน เวลาที่มีอยู่จะไปใช้อะไร ควรสะสมกำลังรอคอยโอกาส ถ้าบาดเจ็บมาเลียแผลจนหาย หันมาฝึกฝนวิทยายุทธ์ใหม่ หันมาศึกษาหาความรู้ เพื่อรอให้สถานการณ์ดีขึ้น สถานการณ์ต้องดีขึ้นแน่ ๆเหมือนฝนตกแล้วฟ้าก็สว่าง แดดก็ออก คนที่สามารถอดทนรอคอย ฟื้นขึ้นมาเตรียมพร้อมรบอีก พวกนั้นคือสามารถผ่านวันเวลาช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย แล้วถึงถูกปลดออกก็ยังมีประสิทธิภาพสูง ถ้าคนท้อถอย กลุ้มใจไปดื่มสุรา ติดยาเสพย์ติดจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก
พื้นฐานคนส่วนใหญ่กลัวรักตัวกลัวตาย ถ้าอยู่อย่างผู้แพ้ ถ้าเลือกได้คงไม่มีใครเลือก นอกจากจนตรอกจริง ๆ ในแง่สำหรับคนบางคนชีวิตอาจจะสิ้นหวังแล้ว แต่ในแง่คนส่วนใหญ่ถ้าผู้นำพูดออกมาอย่างนั้น ผู้นำคนนั้นใช้ไม่ได้ผู้นำที่ดีต่อให้ทหารพบพ่ายแพ้กลับมา ก็ต้องปลุกปลอบกำลังขวัญ รอการสู้ครั้งใหม่ คนแพ้ได้หมดหวังได้ แต่ประเทศชาติหมดหวังไม่ได้ ถ้าหมดหวังก็สิ้นชาติ นี่ประการหนึ่ง
ประการที่ 2 หลังจากเจอภาวะวิกฤติตกต่ำถึงสุดขีดแล้ว มันก็ไม่มีอะไรเลวร้ายกว่านี้แล้ว คือถึงจะเลวร้ายไปข้างหน้าคนก็เฉย ๆ เพราะที่ผ่านมาก็เลวร้ายพอแล้ว คนที่เหลือมาก็มีแต่ได้ คนนั้นจะต้องทำใจได้ มีสติ และเตรียมพร้อมตลอดเวลา พอหลังจากที่คำทำนายเรื่องฟองสบู่ผมถูกต้อง ผมกลับมามองว่าจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร ผมหันมามองในเชิงบวก ถ้าคนเราอดทนได้ ไม่มีอะไรที่คนทำไม่ได้ ความทุกข์ของคนเกิดเพราะไปคาดหวังในผลของกระบวนการ ผมอยากเสนอแนวคิดปรัชญาธุรกิจว่า ผลของกระบวนการไม่สำคัญเท่ากับตัวกระบวนการเอง ความสุขไม่ใช่อยู่ที่การเสพ ความสุขอยู่ที่ว่าในกระบวนการนั้นเราเราได้เรียนรู้อะไร รู้สึกว่าชีวิตเราเติบโตขึ้น ธุรกิจเติบโตขึ้น สังคมยอมรับคุณมันก็เป็นความภาคภูมิใจของชีวิต หลังจากนั้นถ้าจะมีการเสพการบริโภคตามมาก็เป็นภาวะซึ่งทุกคนยอมรับได้ แต่อยู่ดี ๆ คุณไม่ได้ทำอะไรเลย ร่ำรวยเป็นเศรษฐีมหาศาล แล้วบริโภคมีแต่คนอิจฉาและหมั่นไส้ แล้วถ้าเผื่อคนล้มลงเขาก็เหยียบคุณซ้ำ สถานการณ์ระยะหลัง ๆ เราเป็นแบบหลังเพราะประเทศไทยเรารวยเร็วจากเศรษฐกิจฟองสบู่ เราบริโภคคนก็หมั่นไส้ พอเราล้มเขาก็บอกว่าเราเป็นคนป่วยแห่งเอเชีย แบบนี้เป็นวิธีไม่ ถ้าจะดีต้องให้เรารวยแล้วเขายกย่องเรา เรารวยด้วยความยากลำบากไม่มีใครอิจฉา
(จากเศรษฐกิจไทยตายแล้วฟื้น พิมพ์ครั้งที่ 3, ดร.สุวินัย ภรณวลัย, สำนักพิมพ์วิชั่น แวนควิช)