ความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลกที่มีต่อไทย 2 (6/10/53)

ความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลกที่มีต่อไทย 2  (6/10/53)

ความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลกที่มีต่อไทย ตอนที่ 2

รศ.ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง , รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลกจึงเป็นเรื่องระหว่างการบริโภคเกินตัวของสหรัฐฯ ในด้านหนึ่ง กับอีกด้านหนึ่งก็คือแนวทางการพัฒนาที่ไม่สมดุลของอีกหลายๆประเทศที่เอาแต่พึ่งพาการส่งออกเป็นสำคัญ

ความเสี่ยงของโลกจึงอยู่ที่จะทำอย่างไรไม่ให้เศรษฐกิจโลกตกต่ำเมื่อมีการปรับตัว

การบริโภคเกินตัวของสหรัฐฯ และยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศของคู่ค้าไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น และอาเซียนที่เน้นบทบาทของการลงทุนและการส่งออกได้ทำให้เศรษฐกิจโลกเกิดความไม่สมดุลอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

โลกจึงมาถึงทางสองแพร่งที่จะต้องเลือกเดิน ทางหนึ่งคือปล่อยเลยตามเลยเพราะปัญหานี้มิได้เป็นปัญหาของประเทศใดเป็นการเฉพาะ อีกทางหนึ่งที่ยากกว่าก็คือการปรับสมดุลเสียใหม่โดยลดการบริโภคของสหรัฐฯ ในขณะที่เพิ่มการบริโภคจากประเทศอื่นๆ เป็นการทดแทนความต้องการในสินค้าและบริการที่ขาดหายไปจากสหรัฐฯ

ทางเลือกทั้งสองทางล้วนมีความเสี่ยง ในทางแรก การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่สหรัฐฯ ประสบมาเป็นตัวอย่างที่ดีที่ชี้ให้เห็นว่า อะไรที่ผิดธรรมชาติ มักจะอยู่ได้ไม่นานและต้องมีการปรับตัวในที่สุด การบริโภคที่เกินตัวของสหรัฐฯ ก็เช่นกัน เพราะไม่ได้มาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น หากแต่มาจากหนี้สินที่ยืมมาบริโภคที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น เมื่อหนี้สินต่อรายได้มีมากขึ้นเรื่อยๆ โอกาสที่จะชำระหนี้ไม่ได้ก็มีสูง การผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้เอกชนจึงทำให้สถาบันการเงินสหรัฐฯ ที่เป็นเจ้าหนี้เกิดปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ มีทรัพย์สินที่เป็นพิษในงบดุล และต้องออกจากธุรกิจไป

ใครจะเชื่อว่า Merrill Lynch, Lehman Brother หรือ AIG ที่ต่างก็เป็นยักษ์ใหญ่ของ Wall Street จะต้องมีชะตากรรมล้มไปในคราวเดียวกันอันเนื่องมาจากวิกฤตเงินกู้ของผู้กู้ต่ำกว่าระดับ (subprime crisis) ที่เป็นเพราะความโลภของผู้ให้กู้ที่ไม่ระมัดระวังกับการบริโภคเกินตัวของภาคเอกชนสหรัฐฯ แต่ที่ยังไม่เกิดกับภาครัฐแม้จะมีการขาดดุลคู่แฝดเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องก็เพราะรัฐบาลมีอำนาจที่เอกชนไม่มีที่สามารถเก็บภาษีหรือพิมพ์เงินเพิ่มเพื่อมาชำระหนี้ของรัฐเองได้

แต่ภาษีก็มีขอบเขตที่กำหนดโดยกลไกราคาเช่นเดียวกับการพิมพ์เงินเพิ่มขึ้นเช่นกัน การเสื่อมค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจึงเป็น clear and present danger ไม่เฉพาะสำหรับสหรัฐฯ เองแต่กับเศรษฐกิจโลกด้วย

รูป 1 การบริโภคครัวเรือน เฉลี่ยระหว่างปี ค.ศ. 2007-8 (หน่วย : พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)





การปรับสมดุลเศรษฐกิจโลกแม้จะเป็นทางเลือกในการแก้ไขที่ดีกว่าการปล่อยให้ปัญหาเป็นไปโดยไม่แก้ เพราะเป็นการแก้ไขที่ต้นเหตุ แต่ก็มีความเลี่ยงที่สำคัญก็คือ การหดตัวที่อาจก่อให้เกิดเศรษฐกิจตกต่ำไปทั่วโลกที่อาจเกิดขึ้นติดตามมา

ด้วยขนาดเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลก การให้สหรัฐฯ ลดการบริโภคก็เท่ากับว่าให้สหรัฐฯ ซื้อสินค้าจากประเทศอื่นๆ ในโลกน้อยลง ประเด็นก็คือจะหาใครมาเป็นผู้ซื้อทดแทน ลำพังแค่สหรัฐฯ ประสบปัญหาซื้อสินค้าได้น้อยลงจากวิกฤตเงินกู้ของผู้กู้ต่ำกว่าระดับที่เพิ่งผ่านมาก็ได้ทำให้เศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศในโลกถึงกับถดถอยหรือชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดรวมถึงไทยด้วยที่ต้องประสบปัญหาส่งออกไม่ได้ หากต้องให้สหรัฐฯ ปรับตัวในเชิงโครงสร้าง ผลกระทบย่อมจะมีมากกว่าที่เคยประสบมาหรือไม่ นี่คือความเสี่ยงสำหรับทางเลือกนี้

อาจมีหลายคนชี้นิ้วไปที่จีน เนื่องจากอัตราการเจริญเติบโตและขนาดเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาที่ผ่านมาจนกลายมาเป็นเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ของโลก และที่สำคัญเป็นคู่ค้าที่ได้ดุลจากสหรัฐฯ สูงเป็นอันดับต้นๆ อีกเช่นกัน หากสามารถกระตุ้นให้จีนเพิ่มการบริโภคก็จะเป็นการใช้กระสุนนัดเดียวยิงนกได้สองตัว ที่แก้ทั้งการขาดดุลของสหรัฐฯ และการให้จีนเป็นผู้ซื้อรายใหม่ของโลกทดแทน แต่ปัญหาที่สำคัญที่ควรพิจารณาให้ถ่องแท้ก็คือ จีนสามารถเข้ามาทดแทนสหรัฐฯ ในฐานะผู้ซื้อของโลกได้หรือไม่?

ปัญหานี้มิได้อยู่ที่จีนมี effective demand ที่มีแต่ความต้องการแต่ไม่มีเงิน เพราะจีนในปัจจุบันมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสะสมอยู่เป็นจำนวนมากรายหนึ่งของโลก หากแต่อยู่ที่การบริโภคของจีนอยู่ในระดับต่ำกว่าสหรัฐฯ ค่อนข้างมากมีเพียงประมาณร้อยละ 15 ของการบริโภคครัวเรือนสหรัฐฯ ดังแสดงโดยรูปที่ 1 ข้างต้น ประเทศกลุ่มอียู 15 ประเทศรวมกันเสียอีกที่มีระดับการบริโภคครัวเรือนที่สูงใกล้เคียงสหรัฐฯ

นอกจากนี้แล้วสินค้าที่สหรัฐฯ ซื้อหรือนำเข้าจากต่างประเทศก็แตกต่างไปจากที่จีนซื้อหรือนำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากน้ำมันแล้วสินค้าที่สหรัฐฯ นำเข้าเป็นจำนวนมากก็คือรถยนต์และอุปกรณ์ที่เป็นสินค้าสำเร็จรูปเพื่อการบริโภค ทั้งนี้อาจจะเนื่องมาจากผู้ผลิตรถยนต์สหรัฐฯ สูญเสียความสามารถในการแข่งขันในการผลิตรถยนต์ แต่ก็มิใช่เหตุผลทั้งหมดที่เป็นที่มาของการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระยะหลังที่สำคัญ หากแต่เป็นเพราะการขยายตัวอย่างรวดเร็วของการบริโภคต่างหาก

กราฟแท่งที่กลับหัวอยู่ในรูปที่ 2 ด้านล่างที่ในส่วนที่เป็นสีอ่อนจะแสดงถึงสินค้าประเภทพลังงาน เช่น น้ำมันที่นำเข้าที่มีราคาเพิ่มขึ้นในระยะหลังเป็นอันมาก ในขณะที่ส่วนที่เป็นสีทึบส่วนต่อลงมาจะเป็นสินค้าเพื่อการบริโภคที่นอกเหนือไปจากน้ำมัน เช่น รถยนต์ ที่มีมูลค่าขยายตัวอย่างรวดเร็วเนื่องมาจากจำนวนที่เพิ่มมากกว่าราคาที่เพิ่มไปพร้อมๆ กับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่แสดงโดยเส้นสีทึบเช่นกัน การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสหรัฐฯ ที่ขยายตัวมาถึงในระดับ 800,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงมีที่มาจากสินค้าสองชนิดนี้เป็นสำคัญ ตัวหนึ่งเนื่องมาจากราคาและอีกตัวหนึ่งเนื่องมาจากปริมาณ

ในขณะที่จีนส่วนใหญ่นำเข้าสินค้าทุนหรือ Intermediate products ที่มิใช่เพื่อการบริโภคแต่อย่างใด เช่น เครื่องจักร เครื่องมือ จากญี่ปุ่นหรือประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ เพื่อนำมาผลิตสินค้าภายในประเทศตนแล้วส่งออกไปขายนอกประเทศ เช่น สหรัฐฯ อีกครั้งหนึ่งซึ่งเป็นข้อแตกต่างในชนิดของสินค้านำเข้าอย่างสิ้นเชิง

รูปที่ 2 การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและประเภทสินค้าของสหรัฐฯ (หน่วย: พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)






ด้วยเหตุดังที่กล่าวมาอันเนื่องจากขนาดและรูปแบบของการบริโภคที่แตกต่างกัน หากจะให้จีนเป็นผู้ซื้อทดแทนสหรัฐฯ จึงเป็นไปได้ยาก เพราะไม่สามารถจะเป็นเรื่อง “ทวิภาคี” ระหว่าง 2 ประเทศคือสหรัฐฯ และจีนแต่เพียงลำพังที่สามารถนำไปสู่หนทางการแก้ไขได้ ในทางตรงกันข้าม ญี่ปุ่นและเยอรมนี กลับจะเป็นประเทศที่สามารถเข้ามาทดแทนสหรัฐฯ ได้ดีกว่าจีนในฐานะผู้ซื้อของโลก เพราะทั้ง 2 ประเทศก็เกินดุลการค้าสหรัฐฯ เป็นจำนวนมากเช่นกัน มีขนาดการบริโภคของประชากรสูงกว่าจีน และมีรูปแบบการบริโภคที่ใกล้เคียงสหรัฐฯ มากกว่า

ญี่ปุ่นและเยอรมนีจึงควรเป็นประเทศสำคัญที่มีบทบาทในการปรับความไม่สมดุลของโลกที่เกิดขึ้นเนื่องจากการพัฒนาที่ไม่สมดุลของหลายๆ ประเทศที่ยึดเอาแนวทางการพัฒนาในภาคการส่งออกให้อยู่เหนือกว่าภาคเศรษฐกิจอื่นๆ เพราะทั้ง 2 ประเทศต่างก็ยึดยุทธศาสตร์การพึ่งพาการส่งออกเป็นกลไกหลักในการสร้างการขยายตัวทางเศรษฐกิจมาก่อน มีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลายาวนานและอาจมากกว่าจีนเสียด้วยซ้ำเพราะจีนเริ่มเกินดุลในระดับสูงอย่างมีนัยสำคัญก็เฉพาะในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา หลังจากเปิดประเทศได้ไม่นาน ในขณะที่ญี่ปุ่นและเยอรมนีมีรูปแบบการบริโภคที่คล้ายคลึงกับสหรัฐฯ เพราะเป็นประเทศพัฒนาแล้วเช่นเดียวกัน การเข้ามาแทนที่สหรัฐฯ จึงมีความเป็นไปได้มากกว่าจีน

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ทั้งญี่ปุ่นและเยอรมนี หรือแม้แต่ไทย ต่างประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรงครั้งหนึ่งเมื่อสหรัฐฯ ประสบปัญหาวิกฤตเงินกู้ของผู้กู้ต่ำกว่าระดับเพราะต่างก็พึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศตนเอง และมีความสำคัญอยู่เหนือกว่าอุปสงค์ภายในประเทศที่ในปัจจุบันอยู่ในภาวะซบเซาต่อเนื่องมาเป็นเวลายาวนานดังจะเห็นได้จากอัตราการขยายตัวเฉลี่ยของอุปสงค์ภายในประเทศอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 1 ต่อปี

การกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศทั้ง 2 ด้วยการกระตุ้นการบริโภคจึงน่าจะเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัวเมื่อสหรัฐฯ ต้องปรับตัวบริโภคให้น้อยลงมากกว่าที่จะมุ่งเป้ามาที่จีนหรือประเทศอื่นๆ





Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้