ความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลกที่มีต่อไทย 6 (10/11/53)

ความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลกที่มีต่อไทย 6 (10/11/53)

ความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลกที่มีต่อไทย ตอนที่ 6

รศ.ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง , รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เงินบาทในปัจจุบัน “แข็ง” ค่าเกินไปไม่ “เหมาะสม”

ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวที่ใช้อยู่ก็ไม่“เหมาะสม”

อะไรคือความ “เหมาะสม” ใช่สิ่งเดียวกับที่นักการเมืองไทยชอบอ้างเพื่อสนับสนุนการกระทำของตนเองหรือไม่

น้ำท่วมในยุค พ.ศ. 2553 ได้แสดงให้เห็นถึงความจริงที่สังคมไทยอาจละเลยไปก็คือ การอยู่กับน้ำนั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทยมาโดยตลอด น้ำจึงมิใช่ศัตรูที่ต้องไล่มันออกไปให้พ้น ในทางตรงกันข้ามน้ำเป็นมิตรในการต่อต้านอริราชศัตรู เช่น พม่า ที่ยกกำลังมาล้อมกรุงฯ ในอดีต น้ำท่วมในวันนี้จึงไม่ใช่ “วันสิ้นโลก” แต่อย่างใด

ทำไมน้ำเมื่อเดือนตุลาคมจึงเป็นผู้ร้ายไม่เป็นที่ต้องการ ในขณะที่น้ำเมื่อเดือนมีนาคมก่อนหน้านั้นกลับกลายเป็นพระเอกเป็นที่ต้องการอย่างยิ่งไปได้

อัตราแลกเปลี่ยนก็เช่นกัน หากไม่มองว่าความผันผวนของมันเป็นศัตรู ไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ หากแต่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตแล้วไซร้ ประเด็นเรื่องค่าบาทแข็งหรือความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยนก็มิใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไปจริงไหม?

ในปัจจุบันอัตราแลกเปลี่ยนจึงได้กลายเป็นสินค้าทางการเมืองด้วยการพยายามให้มี “มือที่มองเห็น” เข้ามาแทรกแซงฝืนธรรมชาติของมันทั้งที่รู้อยู่ว่ามีต้นทุนและจะไม่ประสบความสำเร็จแทนที่จะให้ “มือที่มองไม่เห็น” เข้ามาจัดการแทน

พ่อค้าที่แสร้งทำตัวเป็นนักวิชาการ เช่น ณรงค์ (โชคฯ) ถึงกับบอกว่า การปล่อยให้เงินบาทเป็นไปตามกลไกตลาดกลายเป็นความผิดอย่างมหันต์ ทำร้ายประเทศไปเสียฉิบ ทั้งๆ ที่ราคาสินค้าอื่นๆ ก็มิได้มีการแทรกแซงแต่อย่างใด ในขณะที่อดีตนักวิชาการ เช่น วีรพงษ์ โอฬาร ก็เสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนกลับไปเป็นแบบคงที่เสียด้วยซ้ำ แสดงให้เห็นว่าคนเหล่านี้หลงลืมไปว่าธรรมชาติของเศรษฐกิจก็คือการอยู่กับความไม่แน่นอนหรือผันผวน

ค่าบาทเมื่อก่อนปี พ.ศ. 2540 เมื่อราคาที่กำหนดโดยกลไกตลาด “อ่อน” ไปก็บอกว่าไม่ได้ต้องรักษาให้ “แข็ง” เข้าไว้โดยฝ่าไฟแดงฝืนธรรมชาติของกลไกตลาด แต่เมื่อมันได้ “แข็ง” ค่ากลับมาแล้วแม้จะยังไม่เท่ากับสภาพเดิมที่เคยเป็น เช่น 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐกลับบอกว่า “แข็ง” ไปไม่ดีต้องแทรกแซงให้กลับมา “อ่อน” อีก อะไรคือหลักการของสภาฯ ของนักอุตสาหกรรม พ่อค้าผู้ทำตัวเป็นนักวิชาการ เช่น ณรงค์ (โชคฯ) หรืออดีตนักวิชาการ เช่น วีรพงษ์ โอฬาร พวกท่านล้วนมีบทบาทในเวลานั้นแทบทุกคน

หาก “ระบบ” อัตราแลกเปลี่ยนหมายถึง กระบวนการที่มากำหนดอัตราแลกเปลี่ยน “ระบบ” ที่นำมาใช้จึงเป็นกรอบแนวคิดหรือกติกาอย่างหนึ่งที่คนในสังคมรับรู้ร่วมกันว่า การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้อยู่จะกระทำโดยกลไกตลาดแทนที่การกำหนดโดยใคร “บางคน” เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงเป็นพลวัตไม่หยุดนิ่ง

และแม้ว่าไทยจะมีเงินทุนสำรอง “มาก” ในปัจจุบัน แต่ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องนำมาละลายเล่นด้วยการเข้ามาเลือก “ระบบ” ที่กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนให้คงที่เหมือนดังเช่นอดีต เพราะมีโอกาสที่จะสูญเสียเงินทุนสำรองฯ อันเป็นทรัพยากรอันมีค่าไปอย่างเปล่าประโยชน์จากการพยายามรักษาอัตราแลกเปลี่ยนให้คงที่โดยฝืนกลไกราคาดังที่เคยประสบมาจากวิกฤตฯ เมื่อปี พ.ศ. 2540 ซึ่งสังคมและประเทศโดยรวมไม่ได้อะไรขึ้นมาแต่อย่างใด

ประเด็นที่พลเมืองเข้มแข็งควรจะเรียนรู้อย่าให้ใครทำตัวเป็นพระเจ้าหลอกลวงท่านอีกต่อไปก็คือ (1) ค่าบาทนั้น “แข็ง” ค่าเกินไปหรือไม่และ (2) ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวที่ประเทศเราใช้อยู่มีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด

ในเชิงวิชาการ อัตราแลกเปลี่ยนจะอยู่ในระดับใดจึงจะเหมาะสม ไม่ “แข็ง” หรือ “อ่อน” เกินไปนั้นเป็นเรื่องยากที่จะตอบได้ หนทางที่จะบอกได้โดยง่าย ต้นทุนต่ำและได้ผ่านการพิสูจน์มาแล้วโดยปราศจากข้อสงสัยก็คือ การให้ “มือที่มองไม่เห็น” หรือกลไกตลาดเป็นเครื่องมือที่ช่วยชี้บอกว่า “ความเหมาะสม” ของอัตราแลกเปลี่ยนนั้นจะอยู่ที่ระดับใด

ข้อดีและได้เปรียบของระบบแบบลอยตัว จึงอยู่ที่การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนโดยกลไกตลาด เฉกเช่นของซื้อของขายในตลาดที่มีผู้ซื้อผู้ขายมากมายโดยทั่วไป แม้จะไม่สามารถแน่ใจได้เต็มที่ว่าจะมีอิทธิพลของนักเก็งกำไรเข้ามาหรือไม่ แต่อย่างน้อยก็ยังดีกว่าการให้ใครบางคนเป็นผู้กำหนดเอง เพราะแม้จะเก่งกาจหรือปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อนเพียงใดแต่ก็ยังเป็นมนุษย์มิใช่พระเจ้า ขอบเขตของความสามารถจึงมีอยู่อย่างจำกัด

อัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนดในวันนี้อาจจะถูก “มือที่มองเห็น” กำหนดได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ไม่ “แข็ง” หรือ “อ่อน” แต่หากยังคงอยู่ในระบบแบบคงที่ จะแน่ใจได้อย่างไรว่าอนาคตในวันพรุ่งนี้หรือวันต่อไป อัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนดไว้ให้คงที่ก่อนหน้านั้นจะถูกต้องเหมาะสมตลอดไป หรือในวันพรุ่งนี้จะสามารถกำหนดได้ถูกต้องอีกครั้งหรือไม่ เพราะธรรมชาติของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เป็นพลวัตมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาไม่คงที่

มิพักที่จะกล่าวถึงต้นทุนที่เกิดจากการเข้ามาแทรกแซงว่ามีเหตุผลเพียงใดที่ส่วนรวมจะต้องจ่ายเงินพยุงราคาค่าบาทให้กับคนบางกลุ่มได้ใช้ค่าบาทในราคาถูกกว่าความเป็นจริง สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นข้อด้อยของระบบแบบคงที่ ซึ่งสภาฯ ของนักอุตสาหกรรม ณรงค์ (โชคฯ) วีรพงษ์ โอฬาร ซึ่งต่างก็เป็นผู้มีส่วนได้เสียพยายามเรียกร้องให้นำกลับมาใช้อีกครั้ง

ส่วนข้อเรียกร้องเรื่องความผันผวนซึ่งเป็นคุณลักษณะที่สำคัญของระบบแบบลอยตัวที่สภาฯ ของนักอุตสาหกรรม ณรงค์ (โชคฯ) หรือผู้ที่ทำการผลิตในระบบเศรษฐกิจบางส่วนอ้างว่าเป็นอุปสรรคใหญ่ในการดำเนินธุรกิจ เพราะราคาต้นทุนบางส่วนอาจไม่นิ่งเนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย เมื่อต้นทุนไม่ “นิ่ง” จะคิดราคาขายได้อย่างไร

ดูไปแล้วข้อเรียกร้องข้างต้นอาจมีเหตุผลมากกว่าข้อเสนอของอดีตนักวิชาการ เช่น วีรพงษ์ โอฬาร ที่พยายามจะหวนกลับไปสู่อดีตใช้ระบบแบบคงที่เสียอีก

ประเด็นในข้อเรียกร้องนี้จึงอยู่ที่ว่า มีทางแก้ไขหรือไม่ หากมี แต่มีต้นทุนในการแก้ไขหรือบรรเทาใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต้นทุนดังกล่าว สภาฯ ของนักอุตสาหกรรม หรือแม้แต่ณรงค์ (โชคฯ) หากไม่โกหกตัวเองก็ควรจะทราบดีแก่ใจอยู่แล้วว่า มีทางแก้ไข แต่ก็มีต้นทุน ซึ่งไม่อยากรับไว้ต่างหาก การออกมาเรียกร้องให้กลับไปสู่ระบบแบบคงที่หรืออีกนัยหนึ่งก็คือให้รัฐเข้ามาแทรกแซงจึงสะดวกและ (มัก) ง่ายมากกว่า พวกที่เป็นรายเล็ก เช่น SME ต่างหากที่โดยเปรียบเทียบแล้วอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบมากกว่าในทุกๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นด้านเงินทุนที่ไม่หนาหรือไม่มีปากเสียงมากเท่ากับรายใหญ่

ในระยะสั้น ขณะที่รายใหญ่สามารถแสวงหาเครื่องมือบริหารความเสี่ยง (hedging instruments) จากอัตราแลกเปลี่ยนได้โดยง่าย เช่น จากการซื้อสัญญาซื้อหรือขายล่วงหน้า (forward contract) จากธนาคารพาณิชย์ แต่รายเล็กหรือรายย่อยที่เป็น SME ต่างหากที่โดยเปรียบเทียบแล้วเข้าถึงเครื่องมือดังกล่าวได้ยาก จะหันไปพึ่งตลาดอนุพันธ์ที่เป็น Thailand Futures Exchanges (TFEX) ก็กลับมีสินค้าที่ไม่จำเป็นสำหรับเศรษฐกิจ เช่น อนุพันธ์ทองคำ ทั้งๆ ที่จะมีผู้ใช้ทองคำมากน้อยสักเท่าใดในประเทศไทยหากเปรียบเทียบกับผู้ที่ต้องการใช้อนุพันธ์ในอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยง (จากอัตราแลกเปลี่ยน)

กลายเป็นสิ่งที่ควรมี เช่น อนุพันธ์อัตราแลกเปลี่ยนกลับไม่มี ที่มีกลับเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นคืออนุพันธ์ทองคำ แถมยังลดขนาดให้เหมือนกับหวยใต้ดินให้รายเล็กรายน้อยสามารถซื้อขายได้อีก

การบรรเทาความเสี่ยงจึงเป็นสิ่งจำเป็นมากกว่าการบรรเทาความเสียหาย ความคิดในการตั้งกองทุนเพื่อบรรเทาความเสียหายจากอัตราแลกเปลี่ยนหรืออะไรก็ตามแต่ที่มิใช่การบรรเทาความเสี่ยง จึงเป็นเสมือนการเสนอบริการของเฮียปอ (เต็กตึ้ง)หรือพี่ร่วม (กตัญญู) อย่างแท้จริง เพราะเป็นการช่วยเก็บศพมิใช่เป็นการกู้ภัยเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอดแต่อย่างใด

ในระยะยาว การพึ่งพาแต่เพียงเครื่องมือบริหารความเสี่ยงไม่ว่าจะเป็นตลาดซื้อขายล่วงหน้าหรือตลาดอนุพันธ์ (Forward หรือ Future Market) แต่เพียงลำพังเพื่อลดความเสี่ยงหรือผลกระทบนั้นคงเป็นไปได้ยาก

สิ่งที่ยังไม่เคยเห็นหรือได้ยินจากผู้ที่รับผิดชอบก็คือ ค่าบาท “แข็ง” ในปัจจุบันไม่ได้เป็นเรื่องชั่วครั้งชั่วคราวเหมือนน้ำท่วมน้ำหลากในหน้าฝน หากแต่เป็นภาวการณ์ที่ประเทศกำลังพัฒนา เช่น ไทยต้องเผชิญตราบเท่าที่ความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลกที่มีต่อไทยยังไม่ได้รับการแก้ไขให้หมดไป

การปรับตัวของโครงสร้างเศรษฐกิจไทยจึงเป็น ugly truth ที่นักอุตสาหกรรมทั้งหลายหรือแม้แต่ณรงค์ (โชคฯ) ไม่อยากที่จะได้ยินเพราะหากินได้ยากกว่าเดิม เศรษฐกิจสร้างสรรค์หรือ creative economy ที่หลายคนพูดถึงแต่อาจไม่รู้ว่าคืออะไรนั้นจึงอาจเป็นทางรอดที่แท้จริงแต่ขาดคนสนใจเพราะทำให้รอดได้ยาก

ทำไมคุณประสาร (ธปท.) คุณพรทิวา (พาณิชย์) คุณชัยวุฒิ (อุตฯ) คุณธีระ (เกษตร) หรือคุณกรณ์ (คลัง) จึงทำเมินไม่ชี้แจงกับสังคมไทยอย่างตรงไปตรงมาว่าอุตสาหกรรมหรือกิจการใดที่มีกำไรหรือสร้างมูลค่าเพิ่มได้ต่ำเพราะไม่สร้างสรรค์หากินกับปัจจัยการผลิตราคา “ถูก” ในอนาคตก็จะอยู่ไม่ได้ภายใต้ภาวะค่าบาท “แข็ง” เพราะไม่มีปัจจัยการผลิตใดไม่ว่าจะเป็น แรงงาน ที่ดิน หรือแม้แต่ค่าบาท ที่มีราคา “ถูก” ให้ใช้อีกต่อไปแล้ว และทางการก็ไม่สามารถเข้ามา “อุ้ม” กิจการคุณไปได้ตลอด

ประสบการณ์ของญี่ปุ่น เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าแม้ญี่ปุ่นจะถูกกดดันให้ปล่อยอัตราแลกเปลี่ยนของตนเองให้เป็นไปตามกลไกตลาดและทำให้ธุรกิจของตนเองเผชิญอยู่กับความผันผวนมาโดยตลอดกว่า 20 ปีแล้วนับจาก Plaza Accord แต่ทำไมรัฐบาลญี่ปุ่นจึงไม่หวนกลับไปใช้ระบบแบบคงที่ ทำไมญี่ปุ่นยังคงขีดความสามารถในการแข่งขันเอาไว้ได้ ทั้งที่เอกชนมีบทบาทสูงต่อรัฐบาล แต่ทำไมกลุ่มผลประโยชน์ที่มีอิทธิพล เช่น สภาอุตฯ สภาหอการค้า หรือ ฯลฯ จึงไม่สามารถเอาประโยชน์ตนเองเป็นที่ตั้งโดยเรียกร้องให้รัฐบาลเข้าแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนให้อ่อนค่าหรือคงที่

สาเหตุสำคัญน่าจะอยู่ที่ “การปรับตัว” และไม่ยินยอมให้เศรษฐกิจตนเองเลือกทางออกที่ง่ายในระยะสั้นแต่เคลือบไว้ด้วยยาพิษในระยะยาวต่างหากที่ทำให้ญี่ปุ่นอยู่รอดปลอดภัยมาจนถึงทุกวันนี้

เศรษฐกิจไทยถึงเวลาแล้วที่จะต้องแสวงหาปัจจัยที่เป็นความสามารถในการแข่งขันที่แท้จริง เช่น การศึกษา การค้นคว้าวิจัย หรือแสวงหานักการเมืองที่มีคุณภาพ มีความรู้ความสามารถ “ดี” กว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เข้ามาจัดการประเทศ เพื่อนำมาทดแทนและเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศในภาวะที่ทรัพยากรที่มีอยู่ถูกใช้ให้หมดไปมากแล้ว มิใช่คิดจะอาศัยแต่เพียงอัตราแลกเปลี่ยนที่มิใช่ขีดความสามารถในการแข่งขันที่แท้จริงอยู่ร่ำไป







 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้