รศ.ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง , รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“การที่มีคนมีกำไรอย่างนี้ . . . เพราะเขาเชื่อว่าพล.อ.ชวลิตจะตัดสินใจลดค่าเงินบาท . . . คนนี้เอาเปรียบคนไทยทั้งชาติ คนนี้เอาข้อมูลภายในไปแสวงหาผลประโยชน์ . . .”
คำอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ
โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ
26 ก.ย.40
ผลจากการฟ้องร้องที่นายโภคิน พลกุลมีต่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธในขณะนั้น โดยนายสุเทพตั้งข้อสงสัยว่านายโภคินอยู่ในการประชุมเมื่อ 29 มิ.ย. 40 ที่มีการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนจากแบบคงที่มาเป็นแบบลอยตัวทั้งที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง โดยตั้งข้อสงสัยในพฤติกรรมของนายโภคินว่าจะนำเอาความลับเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนในการประชุมดังกล่าวไปแจ้งกับทักษิณ ชินวัตร ได้ทำให้สังคมได้เรียนรู้เกี่ยวกับทักษิโณมิกส์และระบอบทักษิณของเขาอย่างชัดเจนมากขึ้นกว่าข้อสันนิษฐานที่สังคมได้ตั้งขึ้นมาในช่วงเวลานั้น
คดีนี้มีการต่อสู้กันถึงศาลฎีกาหลังจากที่ศาลชั้นต้นตัดสินให้นายสุเทพชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 10 ล้านบาทจากที่เรียกร้องไว้ถึง 2,500 ล้านบาทและศาลอุทธรณ์ยกฟ้องในภายหลัง
ประเด็นหลักที่ต่อสู้กันในศาลซึ่งเป็นที่น่าสนใจในที่นี้ก็คือ นายโภคินเป็นผู้ล่วงรู้ความลับเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนและนำไปแจ้งกับทักษิณ ชินวัตรหรือไม่
นายสุเทพได้ตั้งข้อพิรุธในขณะที่อภิปรายฯ ไว้ 2 ประการคือ
(1) นายกฯ พล.อ.ชวลิตได้แจ้งในที่สาธารณะต่อสื่อมวลชนว่าการตัดสินใจครั้งสุดท้ายคือในการประชุมเมื่อ 29 มิ.ย. 40 ก่อนการเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นความลับมีผู้รู้เพียง 3 คนคือนายกฯ รัฐมนตรีคลังนายทนง พิทยะ และนายเริงชัย มะระกานนท์ ผู้ว่าการฯ ธปท. ทั้งๆที่ในความเป็นจริงมีบุคคลที่ 4 คือนายโภคินร่วมอยู่ด้วยและเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ผู้ที่มิได้มีหน้าที่หรือมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใดเกี่ยวกับเรื่องนี้แต่อย่างใด
และ (2) มีการทอดเวลาระหว่างการตัดสินใจ (29 มิ.ย. 40 ) กับการประกาศเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยน (2 ก.ค. 40) ถึง 3 วัน ทำให้มีโอกาสที่หากใครรู้เรื่องนี้จะสามารถไปทำกำไรจากข้อมูลข่าวสารที่ได้ไปนี้ได้โดยง่าย ดังนั้นด้วยประเพณีปฏิบัติที่ผ่านมาเรื่องในทำนองนี้เมื่อมีการตัดสินใจก็จะมีการปฏิบัติในทันทีเพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดกรณีการใช้ข้อมูลภายในไปเก็งกำไร
นายสุเทพยังได้ยืนยันอีกว่ามีประจักษ์พยานหลักฐานหลังจากนายโภคินได้รับรู้ความลับเรื่องนี้ ได้มีการโทรศัพท์ติดต่อกับทักษิณ ชินวัตร โดยนายสุเทพกล่าวว่า “เสียอย่างเดียวผมไม่มีหูทิพย์ว่าพูดกันอย่างไรเท่านั้นเองครับ แต่ผมสงสัย และผมรู้ว่านายโภคินพูดความลับเรื่องนี้กับคนอื่นอีก”
คงไม่ต้องกล่าวว่านายโภคินในฐานะโจทก์จะปฎิเสธข้อพิรุธทั้ง 2 ข้อนี้หรือไม่ แต่พยานฝ่ายโจทก์ทั้ง 2 คนคือนายทนงและนายเริงชัยได้เบิกความขัดแย้งกับคำเบิกความของนายโภคินอย่างสิ้นเชิงและฟังได้ว่านายโภคินเป็นบุคคลที่ 4 ที่อยู่ในที่ประชุมเมื่อ 29 มิ.ย. 40 ด้วยความยินยอมของพล.อ.ชวลิต ทั้งที่โดยประเพณีปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องนี้จะมีเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องเพียง 3 คนเท่านั้นคือนายกฯ รมต.คลังและผู้ว่าการฯ ธปท.เพราะเกรงว่าหากล่วงรู้ความลับนี้จะสามารถนำไปหาประโยชน์แสวงหากำไรได้โดยง่ายแม้ตนเองจะไม่มีกำลังทรัพย์ที่จะทำก็ตาม
ศาลฎีกาจึงเห็นว่า ข้อพิรุธอันเป็นที่มาของคำอภิปรายของนายสุเทพไม่ใช่ข้อความอันเป็นเท็จหรือฝ่าฝืนต่อความเป็นจริง คำฟ้องของนายโภคินต่างหากที่ฝ่าฝืนต่อความจริง นายโภคินทั้งที่ร่ำเรียนและสอนกฎหมายจะรับรู้หรือไม่ว่าตนเองไม่ได้รับความเสียหายตามฟ้องที่มีมูลค่าถึง 2,500 ล้านบาท เนื่องจากก่อนเป็นนักการเมือง นายโภคินเป็นเพียงนักวิชาการไม่มีชื่อเสียงโด่งดังมากนัก ทั้งไม่เคยทำธุรกิจค้าขายร่วมกับชาวต่างประเทศและเสียภาษีก็เพียงหลักพันบาทเท่านั้น
การที่นายกฯ พล.อ.ชวลิตยินยอมให้นายโภคินเข้าร่วมประชุมทั้งที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและกล้าพูดเท็จโดยประกาศในที่สาธารณะให้ประชาชนทราบผ่านสื่อมวลชนว่ามีผู้รู้เรื่องนี้เพียง 3 คนจึงเป็นความน่าละอายยิ่งนักของนายกฯ ผู้นี้ ประกอบกับธุรกิจของทักษิณไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนในครั้งนี้แต่อย่างใด ในขณะที่ผู้ประกอบการอื่นๆ ได้รับผลเสียหายในครั้งนี้อย่างรุนแรง ย่อมเป็นมูลเหตุเพียงพอที่จะทำให้นายสุเทพซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายด้วยการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะตั้งข้อสงสัยนายโภคินในประการที่ (2) ได้
จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกประหลาดใจอันใดที่สังคมจะตั้งข้อสงสัยทักษิณ ชินวัตรว่าฉวยโอกาสอาศัยข้อมูลภายในจากการล่วงรู้การเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยน เพราะแม้แต่ศาลฎีกาก็ยังพิเคราะห์บอกว่ามีมูลเหตุที่น่าจะสงสัยได้ถึงพฤติกรรมที่รอดคนเดียวในขณะที่ผู้ประกอบการคนอื่นๆ ต้องได้รับผลกระทบตกระกำลำบากเสียหายอย่างรุนแรง
เป็นเรื่องแปลกที่ยังมีคนไปยกย่องว่าเป็น “อัศวินคลื่นลูกที่สาม” หรือผู้ที่มีความสามารถในเชิงธุรกิจและเศรษฐกิจอย่างเหลือล้นทั้งๆ ที่คนนี้เป็นเพียงนักเก็งกำไรธรรมดาๆ ที่ชอบฉวยโอกาสจากข้อมูลภายในที่มีคน “คาบ” เอามาบอกให้อยู่เสมอ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ในระบบทุนนิยมก็ไม่สนับสนุนให้กระทำเช่นกัน เปรียบเสมือน “ใช้เงินเพื่อจ้างผีโม่แป้งให้” ที่แม้ในปัจจุบันก็ยังกระทำอยู่ ดังจะเห็นได้จากกรณีว่าจ้างนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัมมาคอยออกข่าวทำร้ายประเทศไทย หรือกรณีแกนนำเสื้อแดงที่เผาบ้านเผาเมืองเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความอยุติธรรม จึงเป็นคำกล่าวที่ไม่เกินจริงแต่อย่างใด อาจเป็นโชคร้ายของประเทศไทยที่กว่าจะรับรู้ข้อเท็จจริงในเรื่องการอาศัยข้อมูลภายในในการแสวงหาผลประโยชน์โดยขาดคุณธรรมและจริยธรรมของบุคคลคนนี้ก็ต้องอาศัยเวลากว่า 10 ปีเพราะคำพิพากษานี้มีเมื่อปี พ.ศ. 2550 ซึ่งทำให้คนนี้ลอยนวลและประกอบอนัตริยกรรมกับประเทศนี้ได้ในช่วงที่มีอำนาจโดยการสร้างภาพของการเป็น “อัศวินม้าขาว” มากอบกู้เศรษฐกิจไทย
ถ้าหากจะทบทวนจากคำพิพากษาคดียึดทรัพย์ 76,000 ล้านบาทที่ผ่านมาเมื่อต้นปีพ.ศ. 2553 ก็จะพบข้อเท็จจริงที่สามารถนำมาปะติดปะต่อได้อีกว่า ก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อปี พ.ศ. 2544 ทักษิณ ชินวัตรน่าจะมีทรัพย์สินมูลค่าประมาณ 3 หมื่นล้านบาทที่อยู่ในมูลค่าหุ้นของบริษัท เอไอ เอส และ ชินคอร์ป แต่ก็มิได้เป็นเงินที่สามารถนำมาใช้จ่ายได้อย่างอิสระในจำนวนมากในทันที เพราะการ “ซุกหุ้น” อำพรางการถือหุ้นใหญ่ในทั้ง 2 บริษัท หากต้องการเงินสดจำนวนมากโดยการขายหุ้นก็จะทำให้ราคาหุ้นของทั้ง 2 บริษัทมีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ และฉุดให้ราคาหุ้นทั้ง 2 บริษัทลดลงโดยรวมได้โดยง่าย
ดังนั้น เหตุผลในการเข้ามาสู่วงการเมืองนอกเหนือไปจากการเข้ามาปกป้องธุรกิจที่ได้รับสัมปทานของตนเองโดยการตั้งพรรคไทยรักไทยที่ชนะการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2544 แล้ว แรงสนับสนุนด้านการเงินน่าจะเนื่องมาจากเงินที่ได้มาจากการเก็งกำไรในการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อปี พ.ศ. 2540 เป็นสำคัญและเหมาะสมที่สุด เพราะเป็นเงินส่วนที่ต้องซ่อนไว้อยู่แล้วเนื่องจากไม่สามารถแจกแจงที่มาได้ ในขณะที่ช่องทางการใช้เงิน “ซื้อเสียง” ผ่านการเลือกตั้งก็เป็นกิจกรรมที่ไม่ต้องแจงที่มาของเงินและการใช้จ่ายเช่นกัน
“บาทแรก” ที่ทักษิณ ชินวัตรได้มาจากการทำร้ายประเทศจึงน่าเชื่อได้ว่ามาจากกำไรจากการเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนโดยใช้ข้อมูลภายใน เนื่องจากเป็นเงินที่ได้มาโดยไม่คาดฝันเป็นจำนวนมากและในเวลาอันสั้น คล้ายดั่ง “ส้มหล่น”
การนำเอาเงินจำนวนนี้ไปลงทุนซื้อเสียงทางการเมืองเพื่อกรุยทางเข้าสู่อำนาจรัฐอันเป็นกิจกรรมของ “การเมืองเก่า” ที่ดูคล้ายกับการ “เผาเงิน” แข่งกันระหว่างผู้สมัครรับเลือกตั้งจึงมีความเป็นไปได้ที่สอดคล้องกับอุปนิสัยส่วนตนของคนนี้มากกว่า เพราะหากเป็นเงินที่ได้มาจากน้ำพักน้ำแรงเช่นจากกิจการที่ได้รับสัมปทานที่ได้มาอย่างยากลำบากทั้ง 2 บริษัทข้างต้น คิดหรือว่าคนนี้ที่ “ทะเลเรียกพี่” จะยินยอม “เผาเงิน” ตัวเองแข่งด้วย
อย่าลืมว่าในช่วงแรกที่ตั้งพรรคไทยรักไทย ทักษิณและพรรคไทยรักไทยเป็นใคร? หาคนรู้จักและยอมรับนับถือได้ยาก ไม่เหมือนหลังดำรงตำแหน่งนายกฯ นโยบายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กองทุนหมู่บ้าน หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค หรืออื่นๆ ต่างไม่มีประชาชนคนใดได้เคยเสพหรือลิ้มรสชาติมาก่อน สมาชิกพรรคก็ไม่มีเพราะไม่คาดหวังว่าจะอาศัยพรรคเป็นสถาบัน หากแต่มุ่งทำพรรคให้เป็นบริษัทที่ตนเองเป็นเจ้าของในลักษณะของนายทุนใหญ่ที่เข้ามาบริหารมากกว่า
การทุ่มเงิน “ซื้อ” จึงต้องมากกว่าคนอื่นๆ อย่างหลีกเลี่ยงได้ยากอันเนื่องมาจากเป็นผู้มาใหม่ในวงการเมือง
แล้วเงินที่ต้องใช้ “ซื้อ” ประเทศไทยจะมาจากที่ใดจึงจะเหมาะสมกับสถานการณ์ในขณะนั้นมากที่สุดเท่ากับเงิน “ส้มหล่น” จากการเก็งกำไรในการเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อปี พ.ศ. 2540 ที่เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าเพราะเงินที่นำมาลงทุนก็ได้มาเกือบไม่มีต้นทุนเพราะเป็นเงิน “ส้มหล่น” หากลงทุนจ่ายให้ผู้สมัคร ส.ส.เฉลี่ยคนละ 20 ล้านบาทเพื่อซื้อเสียงให้ได้เป็น ส.ส.เพียง 250 คนก็จะใช้เงินประมาณ 5,000 ล้านบาทเท่านั้นก็ได้ประเทศไทยไปปกครองแล้ว แถมยังสามารถถอนทุนคืนในภายหลังได้อีกหลายเท่านัก
ถ้าคุณมีเงินสัก 5,000 ล้านบาทที่ได้มาฟรีๆ เช่นทักษิณ คุณจะตัดสินใจใช้เงินจำนวนนี้ “ซื้อ” ประเทศไทยเหมือนที่คนนี้ทำหรือไม่?