รศ.ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง , รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ทักษิณเป็นผลของอดีตที่ยังคงคิดและทำเหมือนเดิม มิได้เป็นการคิดใหม่และทำใหม่ เพราะไม่เข้าใจสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของชาติ ซึ่งแก้ไขไม่ได้ด้วย “เงิน” อย่างเดียว
การโอ้อวดโฆษณาให้ประชาชนทราบเพียงว่าประสบความสำเร็จในการประกอบธุรกิจ มีเงินมีทองมากมาย ไม่ทุจริตผิดกฎหมาย และไม่อำพราง แล้วอุทิศตัวหันมาทำงานทางการเมือง แต่มิได้แสดงหรือเปิดเผยว่า ความสำเร็จในการประกอบธุรกิจในอดีตภายในระยะเวลาอันสั้นนั้นกระทำได้อย่างไร ดังนั้นจะแก้ปัญหาส่วนรวมของชาติอย่างไรหากขัดกับผลประโยชน์ของครอบครัว
เครื่องหมายการค้าที่สำคัญอันหนึ่งของทักษิณและระบอบของเขาก็คือการปกปิดอำพรางความเป็นเจ้าของหรือที่รู้จักโดยทั่วไปว่าเป็นการ “ซุกหุ้น” นั่นเอง
การปกปิดอำพรางความเป็นเจ้าของที่แท้จริงทรัพย์สินของทักษิณ ชินวัตร อดีตภรรยา ลูกทั้ง 3 คน พี่เมีย น้องตัวเอง ในความเป็นเจ้าของ เช่น หุ้นบริษัทชินคอร์ป (มหาชน)จำกัด ก็เพราะเป็นกิจการที่เป็นบริษัทแม่ที่ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ 2 บริษัทคือ เอไอเอส ที่รับสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่จากทีโอที(องค์การโทรศัพท์ เดิม) และ ชินแซทเทลไลท์ หรือไทยคมที่เข้ามาบริหารจัดการสัมปทานดาวเทียมกับกระทรวงคมนาคม (กระทรวงไอซีทีในสมัยปัจจุบัน) ร่วมกับชินคอร์ปที่เป็นคู่สัญญา
เพราะผลประโยชน์ที่สำคัญจากการปกปิดก็คือสามารถหลีกเลี่ยงกฎหมายที่ห้ามมิให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นคู่สัญญากับรัฐได้ในเวลาเดียวกันอันเป็นที่มาของการขัดกันของผลประโยชน์หรือมีการเอื้อประโยชน์โดยใช้อำนาจแห่งรัฐให้กับกิจการที่ตนเองเป็นเจ้าของนั่นเอง
การเอื้อประโยชน์เป็นคำทั่วไป แต่ทางวิชาการอาจกล่าวว่าเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก และจะเกิดการขัดกันกับผลประโยชน์ส่วนตัวหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนกัน หากไม่แยกแยะผลประโยชน์ ทั้ง 2 อย่างนี้ออกจากกัน เช่น การที่ยังคงถือหุ้นของกิจการที่ได้รับสัมปทานของรัฐไม่ว่าจะเป็น เอไอเอส หรือ ชินแซทเทลไลท์ อยู่อย่างลับๆ ทั้งๆ ที่ตนเองในเวลาเดียวกันเป็นฝ่ายบริหารหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลไม่โดยตรงก็โดยอ้อมผ่านการให้นโยบายกับรัฐมนตรีที่รับผิดชอบดูแล ก็จะไม่รักษาหรือเอาใจใส่ต่อผลประโยชน์ส่วนรวม ส่วนทุจริตเชิงนโยบายก็คือการใช้อำนาจรัฐในการกำหนดนโยบายเพื่อให้ตนเองได้รับประโยชน์ที่มีทับซ้อนกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนรวมกับส่วนตน
การปกปิดอำพรางความเป็นเจ้าของจึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการขัดกันของผลประโยชน์ส่วนตนกับส่วนรวมผ่านการทุจริตเชิงนโยบายนั่นเอง
คดีซุกหุ้นเมื่อปี พ.ศ. 2544 หลังจากที่ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งมาใหม่ๆ จึงเป็นคดีที่สืบเนื่องมาจากการปกปิดความเป็นเจ้าของในหุ้นที่ทักษิณมีอยู่แต่ให้คนรับใช้ คนรถ คนสวนถือแทน เพราะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติหรือ ป.ป.ช.เป็นผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในขณะนั้นว่า ทักษิณ ชินวัตร จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 มาตรา 295
เป็นคดีที่มีผลประโยชน์ส่วนตนเป็นเดิมพันสูงยิ่ง เพราะทักษิณ ชินวัตรในขณะที่ ป.ป.ช. ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดมีตำแหน่งทางการเมืองเป็นถึงนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย และหากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าจงใจแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือหนี้สินของตนเองแล้ว ตำแหน่งนายกฯ ก็ต้องหลุดลอยไปเพราะจะต้องถูกห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ เป็นเวลาห้าปีนั่นเอง
บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 เกี่ยวกับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐนั้น เริ่มต้นด้วยการกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ยกเว้นคู่สมรส) มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตนเอง คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อ ป.ป.ช.ทุกครั้งที่เข้ารับตำแหน่ง (ภายใน 30 วัน) พ้นจากตำแหน่ง (ภายใน 30 วัน) รวมถึงเมื่อพ้นจากตำแหน่งไปแล้วเป็นเวลา 1 ปีให้หลังอีกด้วย สาระสำคัญของบัญชีดังกล่าวจะต้องเป็นหลักฐานที่พิสูจน์ความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สิน โดยผู้ยื่นต้องลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องกำกับไว้ในหลักฐานที่ได้ยื่นไว้ทุกหน้าด้วย
ประเด็นหลักที่ ป.ป.ช.ในฐานะผู้มีหน้าที่ดูแลร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญอยู่บ่อยครั้งเพื่อให้วินิจฉัยก็คือ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง “จงใจ” ยื่นบัญชีและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ตามมาตรา 295 ของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 หรือไม่
ข้อเท็จจริงที่ปรากฏออกมาจากคำให้การและหลักฐานต่างๆ ในการพิจารณาคดีซุกหุ้นนี้ว่าทักษิณและพจมาน (คู่สมรส) มีทรัพย์สิน (หุ้น) ในบริษัทต่างๆ รวม 9 บริษัท แต่ไม่ยื่นในบัญชีฯ เพราะใช้ชื่อบุคคลอื่นถือกรรมสิทธิ์แทนมาเป็นเวลานานตั้งแต่ก่อนดำรงตำแหน่งทางการเมือง บางบริษัทเป็นเวลานานถึง 10 ปี เช่น ชินคอร์ป เพื่อประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจโดยทักษิณอ้างถึงการกระทำที่ไม่โปร่งใสนี้ว่า “คนอื่นทำกันทั้งนั้น”
เนื่องจากมิได้บังคับให้คู่สมรสยื่นบัญชี ทักษิณจึงอ้างว่าก่อนเข้าสู่การเมืองได้โอนหุ้นที่มีอยู่ไปให้คู่สมรสโดยไม่ได้ระบุชื่อผู้รับโอนในขณะที่โอน (โอนลอย) โดยไม่ได้แสดงหลักฐาน ทำให้ในทางทะเบียนหุ้นจะปรากฏชื่อทักษิณในฐานะผู้โอนไปให้ผู้รับโอนโดยตรงทั้งที่ไม่ใช่หุ้นของตนเองอีกต่อไปแล้ว มิได้จงใจที่จะปกปิดแต่ที่ไม่แจ้งตามกฎหมายก็เพราะเลขาฯ คู่สมรสที่ดูแลเรื่องนี้ไม่เข้าใจและกรอกแบบฟอร์มของ ป.ป.ช.ไม่ถูก เป็นความบกพร่องโดยสุจริต เพราะอ้างว่าได้ทรัพย์สินมาโดยสุจริต และโอนทรัพย์สินนั้นให้เป็นของคู่สมรสซึ่งจะโอนให้ใครก็ได้ ตนไม่ทราบ
ทักษิณ ชินวัตรมิใช่ผู้เดียวที่ถูก ป.ป.ช.ร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีความผิดตามมาตรา 295 นี้หรือไม่ แต่ในช่วงปี พ.ศ. 2543-44 มีอยู่หลายกรณีดังปรากฏในคำวินิจฉัยที่ 10/2543 กรณี นายอนันต์ ศวัชตานนท์ ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (จงใจไม่ยื่นบัญชีฯ) คำวินิจฉัยที่ 11/2543 กรณี นายชัชชัย สุเมธโชติเมธา ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (จงใจไม่ยื่นบัญชีฯ) คำวินิจฉัยที่ 12/2543 กรณีนายสุขุม เชิดชื่น สมาชิกวุฒิสภา (จงใจไม่ยื่นเอกสารประกอบ) คำวินิจฉัยที่ 23/2543 กรณีนายจิรายุ จรัสเสถียร ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (จงใจยื่นบัญชีฯ) และเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ คำวินิจฉัยที่ 27/2543 กรณีนายโกศล ศรีสังข์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (จงใจไม่ยื่นบัญชีฯ)
คำวินิจฉัยที่ 28/2543 กรณีนายมะฮูเซ็น มะสุยี ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (จงใจไม่ยื่นบัญชีฯ) คำวินิจฉัยที่ 31/ 2543 กรณี พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิจิตร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (จงใจยื่นบัญชีฯ และเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ) คำวินิจฉัยที่ 5/2544 กรณีนายสุเมธ อุพลเถียร สมาชิกสภาเทศบาลขอนแก่น (จงใจไม่ยื่นบัญชีฯ) และคำวินิจฉัยที่ 19/2544 กรณีนายประยุทธ มหากิจศิริ สมาชิกวุฒิสภา (จงใจยื่นบัญชีฯ และเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ)
ทุกกรณีข้างต้นล้วนมีประเด็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคล้ายคลึงกันคือ เป็นกรณีที่ต้องยื่นบัญชีหรือไม่ และ มีความผิดจงใจยื่นบัญชีและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ตามมาตรา 295 หรือไม่ ซึ่งทั้งหมดถูกศาลรัฐธรรมนูญชุดเดียวกันนี้วินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งทุกกรณี ยกเว้นแต่กรณีทักษิณ ชินวัตร (คำวินิจฉัยที่ 20/2544) เพียงกรณีเดียวที่มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 4 เสียงมีความเห็นว่าไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 295 เนื่องจากพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองไปก่อนที่จะยื่นบัญชีครั้งแรกกรณีเข้ารับตำแหน่งภายใน 30 วัน (ทักษิณรับตำแหน่งรองนายกฯ เมื่อ 7 พ.ย. 40 และพ้นจากตำแหน่งเมื่อ 4 ธ.ค. 40) ทั้งที่มีกรณีการรับตำแหน่งในช่วงเวลาใกล้เคียงที่คล้ายคลึงกัน เช่น กรณีพลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ เข้ารับตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิจิตร ยื่นบัญชีเมื่อ 10 พ.ย. 40 เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยื่นบัญชีเมื่อ 12 ธ.ค. 40
หรือกรณีของนายประยุทธ มหากิจสิริที่ถูกวินิจฉัยในวันเดียวกันกับกรณีทักษิณ ซึ่งศาลฯ ได้วินิจฉัยไว้ว่าผู้ที่มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีคือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามมาตรา 295 ที่หมายความครอบคลุมถึงผู้ที่พ้นจากตำแหน่งทางการเมืองด้วย
เป็นเรื่องน่าแปลกที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 4 คนวินิจฉัยว่าไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 295 แต่กลับมาออกเสียงวินิจฉัยต่อไปอีกว่าทักษิณผิดตามมาตรา 295 เดียวกันนี้หรือไม่ ซึ่งทำให้กลายเป็นเสียงส่วนใหญ่ 8 เสียง (จากทั้งหมด 15 เสียง) ที่เชื่อว่าทรัพย์สินทั้งหมดของทักษิณได้โอนไปให้คู่สมรสแต่เพียงผู้เดียว แต่ที่คู่สมรสไม่แจ้งให้ทักษิณทราบเพราะคู่สมรสที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินดังกล่าวก็ไม่ทราบว่านางกาญจนา หงส์เหิน เลขาฯ ส่วนตัวไม่ได้แจ้งทรัพย์สินเหล่านั้นไว้ในบัญชี ดังนั้นจะรับฟังได้อย่างไรว่าทักษิณในฐานะผู้ที่มีหน้าที่ต้องยื่นแสดงบัญชีจะรู้ถึงการไม่แจ้งทรัพย์สินเหล่านี้ไว้ในบัญชี ซึ่งคล้ายคลึงกับกรณีคู่สมรสของนายประยุทธปกปิดทรัพย์สินไม่ให้นายประยุทธทราบ แต่ผลกลับแตกต่างกันออกไปอย่างสิ้นเชิง
คำพิพากษานี้จึงเป็นเช่นเดียวกับคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในกรณีปราสาทพระวิหาร เหตุผลที่ “เหนือกว่า” ของเสียงส่วนน้อยไม่สามารถเอาชนะเสียงส่วนใหญ่ได้ ดังแสดงโดยข้อสังเกตหลายประการดังต่อไปนี้
1. การซุกหุ้นโดยยกเอาทรัพย์สินที่ใช้ชื่อผู้อื่นถือแทนเป็นเหตุไม่เข้าใจการกรอกแบบบัญชีและไม่แสดงรายการทรัพย์สินในแบบบัญชีนั้น ดูจะเป็นคำแก้ตัวมากกว่าเพราะถ้าคนระดับรองนายกฯ ไม่เข้าใจแล้วใครจะเข้าใจ เหตุใดจึงไม่สอบถามหรือพยายามศึกษาและทำความเข้าใจ ที่สำคัญก็คือ หากมีใครถามว่าทรัพย์สินที่ให้คนอื่นถือแทนเป็นทรัพย์สินของตนเองหรือไม่ ทักษิณย่อมต้องแสดงตนว่าเป็นเจ้าของ นอกจากนี้การโอนลอยก็เป็นหลักฐานที่สามารถทำขึ้นได้เองอยู่แล้ว
2. การไม่แสดงรายการทรัพย์สินในบัญชีที่ยื่นมิใช่ความบกพร่องโดยสุจริต แต่เป็นการจงใจที่จะปิดบังข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบเพราะทักษิณผู้ยื่นต้องลงลายมือกำกับไว้ทุกหน้า และไม่แจ้งในบัญชีฯ ที่ยื่นทั้งสามครั้ง เหตุก็คือความ “เห็นแก่ตัว” ที่คำนึงถึงผลประโยชน์ที่จะได้จากการปกปิดข้อเท็จจริงดังกล่าวมากกว่า
3. การพิจารณาคดีในช่วงที่ทักษิณดำรงตำแหน่งนายกฯ ต้องเผชิญกับแรงกดดันเป็นอย่างมากเพราะเดิมพันก็คือ ผลประโยชน์จากตำแหน่งนายกฯ การบิดเบือนข่าวสารว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาอย่างสุจริตจะแจ้งหรือไม่ก็ไม่สำคัญก็ดี การไม่นำพยานมาศาลฯเพื่อให้มีการซักค้านก็ดี การอ้างพยานที่มิใช่คนกลางที่แท้จริงก็ดี หรือการที่ให้คนใกล้ชิดเข้าไปติดต่อตุลาการบางท่านเสนอผลประโยชน์เพื่อแลกเปลี่ยนกับคำพิพากษาก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ทักษิณ ชินวัตร ผู้ที่โอ้อวดว่าจะเข้ามาแก้ไขปัญหาของประเทศนั้น ยังไม่ได้แก้ไขความเห็นแก่ตัวเสียก่อน ดังนั้น เมื่อมิได้แสดงออกอย่างเปิดเผยว่าจะแก้ปัญหาการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ของครอบครัวกับประโยชน์ของส่วนรวมของชาติได้อย่างไร จะหาหนทางอื่นใดมาแก้ปัญหาของชาติได้เล่า