รศ.ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง , รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หากมี“คนถือมีดเลือดโทรมกาย” เดินเข้ามา ท่านคิดว่ามันเป็นฆาตกรหรือไม่
สมศักดิ์ “หัวโต” เจียมธีรสกุล นพดล ปัทมะ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เกษียร เตชะพีระ และมติชนรายวัน มีคำตอบ แต่นั่นจะเป็นความจริงหรือ?
คำพิพากษายึดทรัพย์ที่ผ่านไปเมื่อมานานมานี้ ได้ทำให้สังคมเข้าใจตัวตนที่แท้จริงของทักษิณ ชินวัตรและภรรยาเป็นคนอย่างไร ซื่อสัตย์กับประชาชนที่มอบความไว้วางใจให้มาดำรงตำแหน่งนายกฯ และภรรยานายกฯ หรือไม่ แม้เป็นเพียงคดีแพ่งที่ไม่มีโทษทางอาญา แต่ก็ทำให้ทักษิณ ชินวัตรร้อนเร่าดุจดั่งวิญญาณที่โดนยมบาลตัดสินให้ลงนรกชดใช้บาปกรรมที่ได้ทำเอาไว้เมื่อครั้งมีชีวิต
ไม่ต้องสาบานให้ตาย ก็เหมือนตายทั้งเป็นอยู่แล้วมิใช่หรือ มิใช่เพราะทรัพย์สินถูกยึดแต่เพราะถูกประจานความไม่สุจริตที่ตนเองมีต่างหาก
นอกเหนือจากเรื่องขอบเขตอำนาจว่ามีหรือไม่แล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองยังได้วินิจฉัยในประเด็นที่สำคัญเรื่องหนึ่งก็คือ คตส.มีอำนาจยื่นคำร้องหรือไม่ เพราะทั้ง คตส. และ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบัน ต่างตั้งขึ้นมาโดยคณะรัฐประหาร ดังนั้นจึงไม่ควรยอมรับเพราะละเมิดหลักยุติธรรม
สมศักดิ์ “หัวโต” เจียมธีรสกุล ได้ให้ความเห็นไว้อย่างรุนแรงกับการคิดคำนวณความเสียหายของทักษิณและภรรยาทั้ง 5 กรณีโดย สฤณี อาชวานันทกุลที่ปรากฏในมติชนเมื่อเร็วๆ นี้ในเว็บแห่งหนึ่งว่า “(สฤณี)อยากรู้ผลลัพธ์ของความไม่ปกติต่างๆ เหมือนกัน ว่าจะส่งผลขนาดไหน ถึงรอฟังคำพิพากษาไงคะ . . . (สมศักดิ์) นี่ไง ตรรกะของพวกทาสทางปัญญากับการรัฐประหาร ใช้ตรรกะ แบบนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องมีอะไรแล้ว “กระบวนการยุติธรรม” ตำรวจ สอบสวนอย่างไรก็ได้ ตั้งใครมาสอบสวนอย่างไรก็ได้ (ตั้งโจรที่รอประหารชีวิต ที่บางขวาง มาสอบสวนก็ได้) ขอแต่ใส่ ส่งเรื่องไปถึงศาล ก็พอใจแล้ว “รอศาลตัดสิน” ระดับการศึกษากับระดับการแสดง ความโง่ และการไม่เคารพหลักการอะไรเลยทั้งสิ้นของคุณขณะที่เอาเป็นเอาตาย จะเล่นงานทักษิณ (ในข้ออ้างเรื่อง “ทำผิด” ต่างๆ) เป็นอะไรที่เหลือเชื่อมากๆ คือยิ่งกว่าปากว่าตาขยิบอีกคือตัวเองพร้อมจะยอมรับการละเมิดหลักยุติธรรม ทุกอย่าง (“รอศาลตัดสิน” - แต่ก่อนนั้น ละเมิดยังไง ไม่แคร์) แต่กลับอ้างความถูกต้องชอบธรรม มาวิจารณ์คนอื่นถามจริงๆ เถอะ ไม่มีความละอาย ในมโนธรรมเลยหรือ?”
หรือแม้แต่ผู้มากความรู้ด้านนิติศาสตร์ เช่น นพดล ปัทมะ ก็ได้ให้ความเห็นว่า “กฎหมายของพวกยึดอำนาจไม่ควรใช้เลย เพราะเท่ากับไปยอมรับ ศาลควรใช้กฎหมายที่ออกโดยรัฐสภามากกว่า” และเช่นเดียว พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ผู้ปฏิเสธตำแหน่ง ผบ.กองทัพประชาชนฯ ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “เราเคารพต่อคำตัดสิน เคารพต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศของเรา แน่นอนที่สุดในส่วนตัวของผมมีความรู้สึกว่าคณะผู้พิพากษาท่านยอมรับในอำนาจของกระบวนการรัฐประหาร ที่มีมาแต่ 19 ก.ย. 2549 พวกเราคงจำกันได้เมื่อปี 2535 หลัง รสช.ยึดอำนาจ มี คตส.คือ พล.อ.สิทธิ จิรโรจน์ เป็นประธาน พวกเราคงจำกันได้ว่ากระบวนการการตัดสินหรือท่านผู้พิพากษาตัดสินยกฟ้อง เพราะไม่ยอมรับในกระบวนการรัฐประหารในยุคนั้น ก็ไม่เป็นไร เป็นสิ่งที่ศาลต้องกระทำอย่างนั้น เราเข้าใจ”
ความเห็นดังกล่าวจึงคล้ายกับว่า ถ้าไม่มีการรัฐประหาร คดียึดทรัพย์ก็ไม่เกิด ทักษิณ ชินวัตรและครอบครัวก็ไม่มีความผิด
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองได้วินิจฉัยในเรื่องนี้ในคำพิพากษาไว้อย่างน่าฟังว่า เมื่อมีการปฏิวัติเมื่อ 19 ก.ย. 49 ได้มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ในขณะนั้นคือฉบับปี พ.ศ. 2540 วุฒิสภา สภาผู้แทนฯ คณะรัฐมนตรี และศาลรัฐธรรมนูญให้สิ้นสุดลงพร้อมกันไป ยกเว้นแต่ศาลอื่นๆ และบทบัญญัติกฎหมายต่างๆ ที่มีอยู่หาได้ถูกยกเลิกไปไม่ ซึ่งรวมถึงพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต พ.ศ. 2542 หรือที่อาจเรียกโดยย่อว่า กฎหมาย ป.ป.ช. ที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่รวมถึงกฎหมายอื่นๆ ด้วย
คตส. แม้ถูกตั้งโดยคณะรัฐประหารแต่หาได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดดังเช่นคณะรัฐประหารที่พึงมีเหมือนในสมัย รสช.ไม่ หากแต่ อาศัยอำนาจตามกฎหมาย ป.ป.ช.ดังกล่าวและกฎหมายอื่นๆ เช่น กฎหมายของ ปปง. กฎหมายของผู้ตรวจเงินแผ่นดิน ประมวลรัษฎากรของกรมสรรพากร หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแล้วแต่กรณีมาดำเนินการ นอกจากนี้ยังได้อำนาจมาจากประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ข้อ 5 ในการสอบสวน ตรวจสอบ และอำนาจดังกล่าวก็ถูกรับรองไว้ในมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ที่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ดังนั้นจึงเป็นการดำเนินการตามกฎหมายที่มีอยู่และเป็นไปรัฐธรรมนูญ
มิได้มีอำนาจเป็นทั้งอัยการและศาลในเวลาเดียวกันแต่ผู้เดียว ดังจะเห็นได้จากการฟ้องร้องต่อศาลต้องดำเนินการโดยอาศัยอัยการ และการตัดสินก็กระทำผ่านศาล ทั้งอัยการและศาลต่างก็อาศัยอำนาจที่กฎหมายที่ออกโดยสภาผู้แทนราษฎรบัญญัติไว้ดำเนินการทั้งสิ้น ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาก็ปรากฏอีกเช่นกันว่าอัยการเป็นผู้ฟ้องร้องคดี แสดงให้เห็นว่าอัยการเห็นด้วยกับสำนวนคดีที่ ป.ป.ช.ที่รับไม้ต่อจาก คตส.
“มีหลายคดีที่เริ่มต้นจากรัฐประหาร” ก็จริงแต่มิได้หมายความว่าจะมีความไม่ยุติธรรมหรือตั้งธงไว้ล่วงหน้าแล้วว่าต้องผิดเสมอไป “คนถือมีดเลือดโทรมกาย” มิได้หมายความว่าจะเป็นฆาตกรเสมอไป อาจเป็นผู้ที่ปกป้องครอบครัวที่รักจากโจรที่มาปล้นทรัพย์ก็ได้มิใช่หรือ สิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น ดังนั้นการไปถึงข้อสรุปโดยไม่ดูข้อเท็จจริง อาศัยแต่เพียงอดีตหรือข้อมูลที่ผ่านมาเท่านั้น ไม่ใช่วิธีที่วิญญูชนควรจะยึดถือ และคตส.ในยุคปัจจุบันจึงมีความแตกต่างในสาระสำคัญไปจากในสมัย รสช. ที่ตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบความร่ำรวยผิดปกติและยึดทรัพย์โดยไม่ผ่านกระบวนการศาล
คำสัมภาษณ์ของเกษียร เตชะพีระ (มติชนรายวัน 1 มี.ค. 53) ในประเด็นเรื่องการใช้การรัฐประหารเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชัน จะเป็นดังเช่นการ “ขี่ช้างจับตั๊กแตน” เพราะรัฐประหารเพื่อแก้ปัญหาหนึ่ง (คอร์รัปชัน) ก็จะทำให้เกิดอีกปัญหาหนึ่ง (ทำลายกระบวนการยุติธรรม) ขึ้นมา นอกจากแก้ไม่ตรงจุดแล้วจะทำลายความชอบธรรมของกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดอันเป็นบทเรียนราคาแพงนั้น ดูจะเป็นดังเช่นกรณี “คนถือมีดเลือดโทรมกาย” กับการเป็นฆาตกร ท่านว่าด่วนตัดสินหรือไม่?
แม้การรัฐประหารจะอยู่ด้านตรงข้ามกับประชาธิปไตย แต่ในห้วงเวลาขณะนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2549 จะมีทางออกใดบ้าง เพราะกลไกทางการเมืองที่มีอยู่ไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยตัวของมันเองได้ การเมืองต้องการ Re-Set เป็นเหมือนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ “แฮงก์” ทำงานต่อไปไม่ได้
เกษียรอาจไม่เห็นด้วยกับข้อความข้างบนก็ได้เพราะเป็น “ความเห็น” แต่อย่าไปปะปนกับ “ความจริง” ของการทุจริตของทักษิณ ชินวัตรกับภรรยา เพราะศาลได้วินิจฉัยโดยชัดเจนแล้วว่า “ทุจริต” โดยทั้ง 2 คนยังคงไว้ซึ่งหุ้นของบริษัทที่เป็นคู่สัญญากับรัฐ(ชินคอร์ป) ทำให้เกิดการขัดกันของผลประโยชน์ระหว่างผลประโยชน์ส่วนรวมกับส่วนตน ซึ่งเป็นข้อห้ามธรรมดาๆ ที่เขียนไว้ในกฎหมาย ป.ป.ช.ที่ออกโดยราษฎร แต่ทักษิณ ชินวัตรกับภรรยาพยายามหลีกเลี่ยงแต่โดนจับได้ต่างหาก จึงมิใช่เรื่องของการปฏิเสธระบบทุนนิยมโดยปฏิเสธ “กรรมสิทธิ์” ทรัพย์สินของเอกชน หรือเป็นการหาเรื่องกำจัดเศรษฐีที่เข้ามาสู่การเมืองแล้วประสบความสำเร็จมีคนนิยมเป็นอันมากตามที่ให้สัมภาษณ์กับมติชนแต่อย่างใด
การขจัดคอร์รัปชันหรือทุจริตในกรณีนี้จึงมิใช่เรื่อง “การเมือง” ที่ศาลต้องเป็นเครื่องมือของ คปค.ตามที่นักข่าวมติชนถามโดยปราศจากความยั้งคิด หากแต่ศาล ตุลาการ และองค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช.ต่างหากที่ เป็นคนคุมเส้น มิให้ใครที่มาล่วงล้ำ หลักนิติธรรมจึงจะเกิดขึ้น เรื่องสองมาตรฐานจึงจะไม่เกิด คำตัดสินยึดทรัพย์ที่ปรากฏออกมาจึงมีความชอบธรรมที่อธิบายได้เพราะมีทั้งที่ยึดและไม่ยึด เพราะเป็นการใช้กรอบกฎหมายที่มีอยู่นั่นคือ กฎหมาย ป.ป.ช.ในเรื่องร่ำรวยผิดปกติอันเนื่องมาจากการใช้ตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์
ในทางตรงกันข้าม หากใช้ตรรกะของเกษียรตามที่ให้สัมภาษณ์จะอธิบายประเด็นยึด/ไม่ยึดนี้ได้อย่างไรจึงจะไม่เป็นเรื่องของทฤษฎีสมคบคิดแต่เพียงอย่างเดียว ที่ง่ายต่อการกล่าวหาแต่ยากที่จะหาหลักฐานมาสนับสนุนว่า ทำไมศาลจึงต้องสมคบคิดกับ คปค.เพื่อยึดทรัพย์ทักษิณ
การรัฐประหารรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร กับการคอร์รัปชันของทักษิณ ชินวัตรและภรรยา จึงเป็นคนละเรื่องเดียวกันที่สมควรแยกแยะระหว่าง “ความจริง” กับ “ความเชื่อ” มิเช่นนั้นเกษียรก็อาจไม่ต่างกับ สมศักดิ์ “หัวโต” ที่ไม่แยกแยะและกลายเป็นคนมี “ปม” กับการรัฐประหารที่ความไม่ดีไม่ยุติธรรมทุกอย่างเริ่มต้นที่นี่ ทำให้เลือกที่จะเชื่อว่า “คนถือมีดเลือดโทรมกาย” (คณะปฏิวัติ) เป็นฆาตกรในทุกกรณีเพราะเคยถูกทำร้ายจากการปฏิวัติมาก่อน ไม่สามารถมองในข้อเท็จจริงว่า “คนถือมีดเลือดโทรมกาย” อาจเป็นผู้ที่ปกป้องครอบครัวจากโจรก็ได้
คตส.แม้เกิดมาจากคณะปฏิวัติ แต่ดำเนินการภายใต้กฎหมายที่มีอยู่ ทำหน้าที่เป็นเพียงไต่สวน หากทักษิณ ชินวัตรเอาความจริงมาสู้ คตส.จะทำอะไรได้ แต่ทักษิณเลือกที่จะแก้ข้อกล่าวหานอกศาลมากกว่าในศาล เอาคดีความทั้งอาญาและแพ่งมาให้กับคนในครอบครัวที่เขาอ้างว่ารัก แล้วจะให้เชื่อได้อย่างไรว่าเขาจะรักประชาชน
การรณรงค์ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ในมาตรา 309 ที่รับรองให้อำนาจ คตส.ไปทำงานไต่สวน จึงเป็นการปิดทองหลังพระที่แท้จริง เพราะด้วยเงื่อนไขในช่วงรัฐบาลหุ่นเชิดสมัครหรือสมชาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจรัฐหรือจำนวน ส.ส.ที่มีอยู่ ทักษิณ ชินวัตรสามารถแก้ไขได้อย่างแน่นอน แต่ที่ทำไม่ได้ก็เพราะความเสียสละของ พธม. เป็นการง่ายที่เกษียรหรือใครก็ตามจะมองว่า พธม.เป็นผู้ก่อการร้ายปิดสนามบินหรือปิดสนามบินแล้วไม่ผิดเป็นการเลือกปฏิบัติในภายหลัง เป็น “คนถือมีดเลือดโทรมกาย” เหมือนกัน โดยไม่ได้พิจารณาข้อเท็จจริงว่า พธม.ทำไปเพื่อวัตถุประสงค์ใด ทำไมจึงต้องยอมให้เลือดโทรมกายซึ่งพิสูจน์แล้วในภายหลังว่ามิใช่เพื่อประโยชน์ของผู้ใดหากแต่เพื่อสังคมไทยโดยรวม