รศ.ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง , รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“สุดแผนที่ ปรากฏมีดสั้น” เป็นสำนวนที่ใช้เปรียบเปรยเมื่อเหตุการณ์ดำเนินมาถึงจุดสิ้นสุด ข้อเท็จจริงก็ย่อมปรากฏออกมา ดุจดังม้วนแผนที่ที่เมื่อคลี่จนสุดอาจพบมีดสังหารซ่อนรออยู่
เหตุการณ์ชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ผ่านมา มีข้อเท็จจริงอะไรบ้างที่ปรากฏออกมา แผนที่ที่ นปช.กางออกมาแสดงให้อภิสิทธิ์ดูจะมีมีดสังหารซ่อนรออยู่หรือไม่
การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ กลุ่มคนเสื้อแดง ที่มีชื่อเดิมว่า แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สนับสนุน ทักษิณ ชินวัตร ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยอ้างการเป็นกลุ่มผู้ต่อต้านการรัฐประหาร พ.ศ. 2549
ในเริ่มแรกจึงมีจุดประสงค์เพื่อขับไล่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ได้ยุติการเคลื่อนไหวชุมนุมหลังการเลือกตั้งเมื่อมีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ที่พรรคพลังประชาชน (หรือพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน) ได้รับเลือกเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรและจัดตั้งรัฐบาลสมัคร ในภายหลังได้กลับมารวมตัวกันอีก เพื่อต่อต้านพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และเมื่อมีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้ นปช. กลับมาชุมนุมเคลื่อนไหวเพื่อขับไล่รัฐบาล และเพิ่มเงื่อนไขล้ม “อำมาตย์” ที่มิใช่เฉพาะประธานองคมนตรี หากแต่ก้าวสูงขึ้นไปกว่านั้นดังจะเห็นจากพฤติกรรมหลายครั้งหลายกรณีที่ผ่านมา
ข้อเรียกร้องในปัจจุบันของแกนนำ นปช. ก็คือให้มีการยุบสภาที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อปลายปี พ.ศ. 2550 โดยอ้างว่าเป็นรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรมเพราะเป็นรัฐบาลที่เกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ที่มาจากเผด็จการ จัดตั้งโดยทหาร และถูกควบคุมโดย “อำมาตย์”
จากพฤติกรรมที่ปรากฏดังกล่าวข้างต้นจึงเห็นได้ว่า นปช.เป็นกลุ่มการเมืองนอกสภาของทักษิณ ชินวัตรโดยแท้ มีเป้าประสงค์ที่ชัดเจนที่จะต่อสู้เพื่อทักษิณ ชินวัตร มิได้มีการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด เพราะเมื่อใดที่พรรคของทักษิณได้อำนาจรัฐ นปช.ก็หยุดการเคลื่อนไหว แต่เมื่อใดที่ไม่ได้อำนาจรัฐ นปช.ก็ออกมาเคลื่อนไหว
การชุมนุมที่เริ่มขึ้นเมื่อ 14 มีนาคม 2553 ที่ผ่านมาดูจึงปรากฏความ “กลวง” ให้เห็นว่าไม่เป็นไปตามที่แกนนำ นปช.อ้างว่าจะมีคนมาร่วมชุมนุมเป็นล้านคนและจะจบสิ้นบรรลุเป้าหมายในเวลาไม่เกิน 3 วัน สาเหตุก็เนื่องมาจากขาดการสนับสนุนจากมวลชน เพราะจำนวนผู้เข้าร่วมอย่างมากที่สุดก็มีไม่เกิน 1 แสนคน
การขาดซึ่งมวลชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในพื้นที่ จึงเป็นประเด็นปัญหาสำคัญ ทำให้สถานการณ์การชุมนุมของ นปช.เปลี่ยนจากฝ่ายรุกเป็นฝ่ายรับ การไม่สามารถหามวลชนมาสนับสนุนเพื่อเป็นอำนาจต่อรองข้อเรียกร้องของตนเองก็อาจจะเนื่องมาจากสาเหตุหลายๆ ประการ แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ การขาดซึ่งอุดมการณ์เพื่อคนส่วนรวม เพราะต่อสู้เพื่อคนโกงชาติเพียงคนเดียวคือทักษิณ ชินวัตร ทำให้ขาดซึ่ง “แนวร่วม” อันเป็นเงื่อนไขที่สำคัญในการเคลื่อนไหวทางการเมือง นอกจากนี้ การไม่แสวงหาจุดร่วมในขณะที่ไม่สงวนจุดต่างเอาไว้จึงผลักดันให้หลายๆ กลุ่มคนไม่สามารถเข้ามาเป็น “แนวร่วม” ของ นปช.ได้ตามชื่อที่ได้ตั้งเอาไว้ มวลชนคนเสื้อแดงในขณะนี้จึงกลายเป็นสมบัติส่วนตัวของวีระ จตุพร และ ณัฐวุฒิแต่เพียงกลุ่มเดียว หากใครไม่เห็นด้วยกับ 3 คนนี้ก็ต้องออกไปดังเช่นที่กลุ่มแดงสยามที่นำโดยสุรชัย ใจ จักรภพ หรือแม้แต่ พัลลภหรือขัตติยะก็ตาม
มวลชนเสื้อแดงส่วนใหญ่ในปัจจุบันจึงกลายเป็นมวลชนจัดตั้งที่ไม่อาจกล่าวได้เลยว่ามาเพราะอุดมการณ์หากแต่มาเพราะอามิสสินจ้าง เป็นการแยกน้ำแยกปลาค่อนข้างชัดเจน ภายหลังจากวันที่ 17 มีนาคมจึงมีการนำคนมาจากเขตเลือกตั้งของ ส.ส.เพื่อไทยเพื่อเป็นเครื่องบรรณาการให้กับทักษิณเพื่อแลกกับการส่งลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งต่อไป มีการแหกตาสื่อเมินชนโดยใช้ “มวลยนตร์” มาแทน “มวลชน” เป็นการใช้รถแทนคนที่ตนเองไม่มีในการเคลื่อนไหวเมื่อวันเสาร์ที่ 20 ที่ผ่านมา สิ่งต่างๆ เหล่านี้จึงเป็นความ “กลวง” ของคนเสื้อแดง
แนวคิดการเจรจาระหว่าง นปช. กับรัฐบาล เพื่อความปรองดองโดยคนหลายๆกลุ่มที่อาจเรียกโดยรวมว่าเป็นกลุ่มคนเสื้อขาวนั้นก็เป็นความ “ลวง” ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ
ประการแรก การเจรจาจะบรรลุความสำเร็จไปได้อย่างไร หากไม่มีผลประโยชน์ของ “ทักษิณ” อยู่ในสมการของการเจรจา เพราะทักษิณเป็นเจ้าของ นปช.ในทางพฤตินัย ในทางกลับกันผลประโยชน์ของ “ทักษิณ” ไม่ว่าจะเป็นการพ้นผิดไม่ต้องมารับโทษ การได้ทรัพย์ที่ถูกยึดคืน ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่อภิสิทธิ์ในฐานะนายกฯ ประมุขฝ่ายบริหารไม่มีอำนาจจะทำให้ได้ เพราะเป็นเรื่องของอำนาจฝ่ายตุลาการ
ประการที่สอง หากใคร่ครวญดูให้ดีจะพบว่า ข้อเรียกร้องให้ยุบสภากับการล้ม “อำมาตย์” ที่เคยเป็นเป้าหมายของ นปช.มาก่อนจะไปด้วยกันได้อย่างไร
การยุบสภาก่อนครบวาระเป็นการให้โอกาสประชาชนในการแสดงเจตจำนงทางการเมืองเมื่อฝ่ายการเมืองเห็นว่าควรจะคืนอำนาจให้ประชาชนในการตัดสินใจ แต่ก็ต้องมีประเด็นที่ชัดเจนว่าจะให้ประชาชนตัดสินใจในเรื่องหรือประเด็นอะไร หากอาศัยชูประเด็นแต่เพียงเลือกพรรคเพื่อไทยหรือพรรคอื่นๆ ใดเพื่อจะไปแก้รัฐธรรมนูญโดยไม่มีประเด็นในรายละเอียดว่ารัฐธรรมนูญที่จะไปแก้ไขมีหน้าตาอย่างไร ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรบ้างจากรัฐธรรมนูญที่แก้ ดูจะเป็นการเซ็นเช็คเปล่าเพื่อให้พรรคเพื่อไทยหรือพรรคอื่นๆ ใดไปกรอกตัวเลขเอาเอง เป็นการไปตายเอาดาบหน้า (ของประชาชน)โดยแท้จริง ในขณะที่คนเรียกร้องให้ยุบสภามีแต่ได้อย่างเดียวไม่มีเสีย
ที่สำคัญก็คือยังไม่ได้ตอบโจทย์ว่าเมื่อยุบสภาแล้ว นปช.จะจัดการล้ม “อำมาตย์” อย่างไรจะทำเลยไปจนถึงไปเปลี่ยนแปลงกติกา เช่น ระบอบการปกครองที่มีอยู่หรือไม่อย่างไร ไม่มีใครในแกนนำ นปช.มีคำตอบหรือรับรองเรื่องนี้ ได้แต่หวังว่าประชาชนจะเซ็นเช็คเปล่าให้
ประชาชนได้จดจำการเคลื่อนไหวของ นปช. ที่หมิ่นเหม่ในประเด็นนี้มาตลอด การถวายฎีกาแดงที่นำโดย นปช. โดยยืมชื่อประชาชนเพื่อมาโค่นสถาบันดูจะเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในประเด็นนี้ เพราะเป้าหมายมิใช่เพื่อการขอพระราชทานอภัยโทษให้กับทักษิณ เพราะไม่เข้าเงื่อนไขของการขอพระราชทานอภัยโทษแต่อย่างใด หากแต่มุ่งหวังกัดเซาะสถาบันสู่การโค่นล้มในอนาคต โดยหลอกให้ประชาชนเกิดการคาดหวังในทางผิดๆ ว่าสถาบันจะสามารถใช้อำนาจที่มีอยู่ได้ ทั้งๆ ที่เป็นการโยนเผือกร้อนให้โดยแท้ เพราะหากปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติก็ล้วนแต่เป็นผลเสียทั้งสิ้น เป็นการละลายศรัทธาที่ประชาชนมีต่อสถาบันอย่างแยบยล
ดังนั้นจึงเป็นทั้งการ “ลวง” และ “กลวง” ไปในคราวเดียวกัน แม้จะมีผู้เข้าชื่อท้ายฎีกาเป็นจำนวนหลักหลายล้านตามที่อ้าง แต่จะมีประชาชนที่ร่วมเซ็นชื่อสักกี่คนได้เห็นและอ่านเนื้อหาในฎีกานั้น น่าเชื่อได้ว่าสัก 1% ก็ไม่มี อย่าลืมว่าต้องใช้กระดาษ คน เวลา และทรัพยากรเท่าใดเพื่อให้ได้รายชื่อเป็นหลักล้าน ที่สำคัญมี นปช. หรือตัวแทนคนใดบ้างไปชี้แจงอธิบายให้คนเซ็นชื่อเข้าใจว่าที่เซ็นไปในแบบฟอร์มพร้อมสำเนาบัตรประชาชนนั้นทำไปเพื่ออะไร มีผลดีเสียอย่างไร ไม่เคยเห็น ไม่เคยปรากฏแม้แต่น้อยสำหรับการเข้าชื่อครั้งใหญ่เช่นนั้น
มันจึงเป็นการเอาตัวเลข เอาจำนวน มา “ลวง” ตาประชาชน ในขณะที่เนื้อหาข้อเรียกร้องภายในก็ “กลวง” ในตรรกะแนวคิดไม่มีเหตุผลที่รับฟังได้แต่อย่างใด ลองไปดูเนื้อหาในฎีกาได้
จากพฤติกรรมของ นปช.ที่ผ่านมา เป้าหมายของการยุบสภาจึงซ้อนอยู่กับเป้าหมายของการโค่นล้มอำมาตย์ที่ไม่ใช่ตัวคนดังเช่นประธานองคมนตรีแต่เพียงอย่างเดียว ซ้อนอยู่กับการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองที่เป็นอยู่ และซ้อนอยู่กับการตั้งรัฐไทยใหม่ที่แกนนำมักกล่าวอ้างถึงอยู่เสมอๆ
เป็นโชคดีของประชาชนที่ตัวแทนเจรจาของ นปช. ไม่รับเงื่อนไขยุบสภาภายใน 9 เดือนที่อภิสิทธิ์เสนอให้ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลอภิสิทธิ์เอาต้นทุนของการชุมนุมโดย นปช.มาให้ประชาชนของเขาแบกรับก่อน หากการชุมนุมของ นปช. เป็นความ “กลวง” แนวคิดการเจรจาก็เป็นความ “ลวง” ถ้าเปรียบเป็นการเล่นไพ่ “เผ” อภิสิทธิ์ในขณะนี้จะ “ขอดู”ไพ่ที่อยู่ในมือ นปช.หรือจะปล่อยให้ นปช.ลักไก่กินเงินในกองฟรีๆ ทั้งที่กบไพ่ 8 อยู่มิใช่ เอซ แต่อย่างใด
อย่าลืมว่าที่มีการเจรจาเกิดขึ้นเมื่อวันจันทร์นี้ได้ก็เพราะอภิสิทธิ์ยอมเผชิญหน้าไม่ยอมให้ นปช.บุกเข้าไปในกรมทหาราบที่ 11 โดยจะประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่กรมทหารราบที่ 11 เมื่อมีการบุกรุก ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในทางตรงกันข้ามกับการยอมถอนทหารโดยไม่ยอมเผชิญหน้าเมื่อวันเสาร์ เปรียบเป็นการ “ขอดู” ว่าฝ่าย นปช.มีของจริงหรือ “กลวง” ทำให้ นปช.หมดมุกไม่สามารถนำมวลชนกลับไปยังที่ตั้งได้หากไม่มีอะไรที่อ้างว่าเป็นชัยชนะติดมือกลับไปได้ ดังนั้นจึงต้องยอมรับเงื่อนไขมาเจรจา
อย่าลืมอีกเช่นกันว่าในขณะนี้ 1 บาทของทักษิณมีค่ามากกว่าแต่ก่อนมากเพราะเงินทองถูกดูดไปเรื่อยๆ โดยไม่เห็นซึ่งอนาคต ผิดกับ 1 บาทของแกนนำ นปช. ที่ได้มามีค่าน้อยลงไปเรื่อยๆ เมื่อเปรียบเทียบกับเมื่อก่อนเพราะตอนนี้มีมากพอแล้ว ไม่อยากได้เงินอีกแล้ว แต่อยากได้โอกาสไปใช้เงินต่างหาก
อย่าลืมอีกเช่นกันว่า อภิสิทธิ์ยังไม่เคยทำให้ผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงมีต้นทุนในการชุมนุมแต่อย่างใด ผู้มาชุมนุมคนเสื้อแดงมีแต่ได้กับได้ เพราะได้รับเงินมาแล้วหากมีการสลายการชุมนุมตนเองก็จะมีคนส่งกลับพร้อมการคุ้มครองให้กลับบ้านแบบชั้นหนึ่ง มีแต่คนกรุงเทพฯ และประชาชนโดยรวมที่ต้องแบกต้นทุนอันนี้เพื่ออภิสิทธิ์
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่อภิสิทธิ์จะเริ่มเผชิญหน้ากับปัญหานี้โดยเริ่ม “ขอดู” ไพ่ในมือ นปช.เสียที ว่า “กลวง” หรือ “ลวง” ประการใด การเคร่งครัดบังคับใช้กฎหมายจึงมิได้หมายความว่าจะต้องทำการรุนแรงเสมอไป เพราะสามารถทำได้ตั้งแต่เบาไปหาหนัก แต่จะเป็นวิถีทางหนึ่งที่จะปรับโครงสร้างต้นทุนไปสู่ผู้ที่ก่อมันขึ้นมา อย่าให้เขาหลอกกินฟรีอีกเลย