รศ.ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง , รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“เสียเหงื่อ ดีกว่าเสียเลือด” หมายถึง ยอมอดทนฝึกหนักของทหารหาญเพื่อมิให้ต้องบาดเจ็บเสียชีวิตเมื่อต้องออกศึกสงคราม
“เสียเลือด ดีกว่านองเลือด”จึงเป็นอีกขึ้นหนึ่งที่ยอมเสียเลือดเนื้อส่วนน้อยเพื่อมิให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ดุจดั่งเป็นการ “ฆ่าเพื่อระงับการฆ่า”
* * * * *
เมื่อ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 กรุงศรีอยุธยาแตกเป็นครั้งที่ 2 หลังจากล้อมกรุงอยู่นานกว่า 1 ปี 2 เดือน มีผู้ถามอยู่เสมอๆ ว่าเป็นเพราะเหตุใด ข้อสรุปที่อาจมีคนโต้เถียงน้อยที่สุดก็คือ พม่ายกทัพเข้ามาตีโดยเรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีต
การตีหัวเมืองฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้เรื่อยเข้ามาก่อนเพื่อตัดกำลังที่จะยกมาช่วยและเพื่อมิให้ถูกตีกระหนาบได้ในภายหลัง ทำให้เมื่อกองทัพพม่าที่ยกมาทั้งทางเหนือและใต้เมื่อเข้าปิดล้อมพระนครก็ไม่มีหัวเมืองใดสามารถยกทัพเข้ามาช่วยได้ และยังสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องการขาดแคลนเสบียงได้อีกด้วย
หลักที่กองทัพพม่าใช้ในการปราบปรามหัวเมืองทั้งหลายตรงกันอยู่สิ่งหนึ่งก็คือ เมืองใดต่อสู้ก็จะปล้นสะดมริบทรัพย์จับเป็นเชลย เป็นการลงโทษผู้แข็งขืน ในทางตรงกันข้าม เมืองใดยอมอ่อนน้อมโดยดีก็เพียงแต่กะเกณฑ์ผู้คนเสบียงอาหารมาใช้ในกองทัพ ไม่มีการลงโทษเมื่อตีเมืองได้ รัฐบาลกรุงศรีอยุธยาจึงมีอำนาจในการควบคุมหัวเมืองอย่างหละหลวม ทำให้อำนาจในการป้องกันตนเองมีอย่างจำกัดเพราะหัวเมืองไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลกลาง เห็นลางแพ้ก่อนพม่ายกมาประชิดเมืองเสียอีก
ที่สำคัญก็คือพม่าเรียนรู้ที่จะเอาชนะกลยุทธ์ “น้ำหลาก” ที่อาศัยน้ำไล่ข้าศึกไปจากพระนครที่ฝ่ายไทยเคยใช้ได้ผลในอดีต แม้จะมีการยกทัพฝ่ายไทยไปตั้งรับเพื่อมิให้ข้าศึกเข้าประชิดเมืองได้โดยง่าย แต่ก็คาดการณ์และใช้ยุทธวิธีที่ผิดอันเนื่องมาจากการข่าวที่ผิดพลาด การยกทัพออกไปปะทะกับพม่าจึงพ่ายแพ้ปราชัยในทุกทิศทาง ด้วยเหตุเหล่านี้จึงทำให้พม่าเป็นฝ่ายได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาด
กรุงศรีอยุธยา มหานครอันยิ่งใหญ่ของคนไทยที่มีอายุกว่า 400 ปีต้องล่มสลายในวันดังกล่าว มีผู้ประมาณว่าชาวไทยเสียชีวิตประมาณ 2 แสนคนเศษ โดยที่ส่วนใหญ่เป็นการเสียชีวิตจากการอดอาหารมากกว่าจากการสู้รบถึง 5-6 เท่าในขณะที่ฝ่ายพม่าทั้งที่เป็นฝ่ายเข้าตีเสียชีวิตไม่เกิน 1 หมื่นคน แม้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจะกอบกู้เอกราชกลับคืนมาได้แต่ก็ต้องใช้เวลาเยียวยาความเสียหายตลอดช่วงรัชสมัยของพระองค์และต่อเนื่องมาจนถึงต้นรัชกาลที่ 1 ที่กินเวลากว่า 15 ปี
* * * * *
. . . เดือนเมษายน พ.ศ. 2553 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีผู้นำรัฐบาลกำลังจะนำประเทศไปประสบชะตากรรมอย่างเดียวกันกับกรุงศรีอยุธยาเมื่อ 200 ปีเศษที่ผ่านมาหรือไม่ วิญญูชนย่อมพิจารณาวิเคราะห์จากข้อเท็จจริงอันเป็นที่ประจักษ์ได้
การปล่อยให้มีรัฐซ้อนรัฐเกิดขึ้นมาแล้วกว่า 1 เดือนเศษ ทำให้ประชาชนชาวไทยรวมถึงคนกรุงเทพฯ หากจำเป็นต้องเดินทางเข้าบริเวณเขตราชประสงค์ก็จำเป็นต้องขออนุญาตจากคนเสื้อแดงก่อน หรือการเดินทางไปไหนมาไหน หากมีคนเสื้อแดงขวางกั้นอยู่ก็ต้องจำยอมให้มีการตรวจค้นหรือขออนุญาตผ่านทาง อำนาจรัฐที่นายกฯ อภิสิทธิ์มีอยู่จึงมีอยู่อย่างจำกัดและมิสามารถบังคับใช้ในอาณาบริเวณที่คนเสื้อแดงครอบครองได้แต่อย่างใด
คนเสื้อแดง ถึงแม้จะแพ้พ่ายเมื่อเมษายน 2552 แต่ก็ได้ มีการเรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีต ตระเตรียมผู้คนเพื่อก่อการในปี 2553 เป็นการจัดตั้งอย่างมีระเบียบ แยกกันเดินระหว่างมวลชนโดยสามเกลอ กับกองกำลังที่ทราบฝ่ายอย่างแน่ชัดเพราะไม่เคยมีเหตุร้ายเกิดขึ้นกับคนเสื้อแดงเลย เคยกินแต่ M 100 แต่ไม่เคยลิ้มรส M 79 แต่อย่างใด แต่รวมกันตี เพื่อเป้าหมายที่ชัดเจนคือ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ให้แตกต่างไปจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มิใช่เรื่องของการให้ยุบสภาแต่อย่างใด เพราะเรียกร้องให้ยุบสภาโดยเปิดเผยไม่เป็นกบฏ แต่การเรียกร้องโดยเปิดเผยให้เปลี่ยนแปลงการปกครองโดยยึดคนไทยประเทศไทยเป็นตัวประกันเป็นความผิดฐานกบฏโดยชัดแจ้ง
คนเสื้อแดงได้ใช้ความรุนแรงดุจดังผู้ก่อการร้ายเพื่อเรียกร้องเอาในสิ่งที่ตนเองต้องการโดยไม่สนใจในความสูญเสียแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเสื้อแดงเองหรือฝ่ายใดก็ตามแต่ คล้ายดั่งกลยุทธ์ที่พม่าใช้กับบรรดาหัวเมืองต่างๆ ก่อนเข้าปิดล้อมกรุงศรีอยุธยาว่า “ยอมข้าอยู่ แข็งขืนตาย”
การเรียกร้องให้เปิดเจรจากับคนเสื้อแดงจึงเป็นเรื่องที่ไร้สาระที่สุดเท่าที่เคยฟังมา เพราะในสถานการณ์ปัจจุบันจะเจรจาในประเด็นอะไร ในเมื่อคนเสื้อแดงต้องการไปไกลกว่าการยุบสภา ใครเล่าจะสนองให้ได้
นายกฯ อภิสิทธิ์อาจจะกล่าวได้ว่า เป็นนายกฯ ที่โชคดีที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมา เพราะมีประชาชนเป็นผู้ให้การสนับสนุนเป็นจำนวนมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน แต่นายกฯ อภิสิทธิ์หรือผู้สนับสนุนจะรู้หรือไม่ว่าต้นทุนในการเป็นนายกฯ ของเขามีราคาแพงมากขึ้นเรื่อยๆ จากการที่ประชาชนต้องเอาความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินตนเองเข้ามาค้ำจุนตำแหน่งที่เขาไม่พยายามทำอะไรหรือเมื่อทำก็ผิดพลาดไปเสียหมด เพราะไม่เรียนรู้จากประสบการณ์ความผิดพลาดในอดีตเช่นเดียวกับเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาแตกหรือเช่นที่คนเสื้อแดงเรียนรู้
ประเทศชาติเป็นของศักดิ์สิทธิ์ไม่สามารถนำมาเป็นแบบฝึกหัดสอนเด็กให้โตได้ อภิสิทธิ์ควรรับรู้ตรรกะอันหนึ่งว่า “ความพยายามที่จะเอาใจคนทุกคน ในที่สุดแล้วจะไม่สามารถเอาใจใครได้แม้สักคนเดียว”
เพื่อรักษาอำนาจรัฐมิให้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำประเทศจะต้องแสดงให้เห็นถึงมาตรการและแนวทางที่ชัดเจนต่อการกอบกู้วิกฤตการณ์ของบ้านเมืองในครั้งนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของคนไทยให้กลับคืนมา ประชาชนอยากเห็นผลสัมฤทธิ์ของการกระทำมากกว่าคำพูดให้อดทนโดยไม่รู้ว่าจะต้องอดทนไปอีกนานเท่าใด
ผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ก็กล่าวยอมรับในรายการเชื่อมั่นประเทศไทยว่าพร้อมปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลทุกประการ แต่ที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่ได้ประกาศมาตรการที่ชัดเจนว่าจะดำเนินการกับกลุ่มผู้ก่อการร้ายอย่างไร จนสร้างความสับสนและหวาดกลัวให้กับประชาชนเพราะไม่สามารถพึ่งพิงรัฐได้ ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงเรื่อยๆ แม้นายกรัฐมนตรีจะได้มอบอำนาจให้กับ ผบ.ทบ.รับผิดชอบศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) และเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการควบคุมสถานการณ์ก็ตาม แต่ทุกอย่างยังคลุมเครือไม่รู้ว่าใครมีอำนาจสูงสุดเด็ดขาดในการสั่งการและจัดการกับสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในขณะนี้
ทำให้เห็นได้ชัดว่านายกฯ อภิสิทธิ์กำลังติดอยู่ในกับดักทางความคิดว่า “ความรุนแรงหรือความสูญเสียในชีวิต (ผู้ชุมนุม) เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้” เพราะท่านอาจจะมุ่งหวังอยู่ในการเมืองไปอีกนานเนื่องจากอายุยังน้อย หากไม่อะไรผิด อนาคตทางการเมืองก็ยังมีอีกนาน การตัดสินใจจึงใช้วิธีรอแต่ “น้ำหลาก” เพื่อปราบพม่าจนเสียกรุงในที่สุด โดยที่ “น้ำหลาก” อาจไม่มีวันมาถึง หรืออาจมาถึงเมื่อประเทศชาติย่อยยับเกินกว่าที่จะกอบกู้ไปแล้ว เพราะอีกฝ่ายเขาแก้เกมรายวันเร็วกว่าและไม่คำนึงถึงความสูญเสีย
ดังนั้น หากท่าน “ไม่ลงอเวจีก่อน” ไม่เด็ดขาด ไม่ยอมรับความสูญเสียที่อาจมี แล้วจะหวังให้อนุพงษ์ลงอเวจีไปก่อนท่านหรืออย่างไร ประจักษ์พยานที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่าในช่วงรัฐบาลสมัคร อนุพงษ์ก็มีอำนาจในการปราบเช่นนี้อยู่ในมือเช่นกัน แต่ที่ไม่ทำกับกลุ่มพันธมิตรฯ มิใช่เพราะความหวังดีแต่อย่างใด หากแต่ไม่ยอมลงอเวจีก่อน
จงอย่าลืมคติของพระโพธิสัตว์ที่ว่า “เราไม่ลงอเวจี แล้วใครจะลงอเวจีไปโปรดสัตว์นรก”
จงอย่าลืมอีกเช่นกันว่าการตัดสินใจมีทั้งผิดและถูก แต่การตัดสินใจรอเวลาโดยไม่ตัดสินใจนั้นเสียหายมากกว่าการตัดสินใจผิดหลายเท่านัก ประวัติศาสตร์มีตัวอย่างอยู่อย่างมากมาย
โปรดอย่าอ้างว่าสลายการชุมนุมที่ราชประสงค์อาจไปโผล่ที่อื่นอีกจึงต้องรอทำพร้อมกัน กับข้าวอร่อยมีเต็มโต๊ะ แต่ก็ต้องเลือกกินทีละคำทีละอย่างไม่สามารถกินพร้อมกันทั้งหมดในเวลาเดียวกันได้ การแก้ปัญหาภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันจึงต้องทำไปทีละจุดไม่สามารถทำพร้อมกันได้ แต่ต้องตัดสินใจให้ถูกว่าจะเลือกกินอะไรก่อนหลัง
จงอย่าลืมว่าอีกฝ่ายหนึ่งไม่กลัวการตัดสินใจผิด ไม่กลัวความสูญเสีย แม่ยกอภิสิทธิ์ทั้งหลายโปรดพิจารณาดูข้อเท็จจริงเถิดว่าใครจะเป็นฝ่ายแพ้ ยิ่งนานวันมากเท่าใดต้นทุนของประเทศชาติที่เสียไปแม้จะชนะเสื้อแดงได้ก็สูงเกินความจำเป็นที่ประเทศชาติจำเป็นต้องแบกรับ
นายกฯ อภิสิทธิ์กำลังผลักภาระต้นทุนที่ท่านควรจะแบกรับไว้เองมาให้ประชาชนรับไปโดยถ้วนหน้า ประชาชนไม่อยากได้ความช่วยเหลือหลังตาย แต่อยากช่วยก่อนตายหรือวายวอด วาระประชาชนมาก่อนจริงๆ
ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อนายกฯ อภิสิทธิ์ได้มาถึงจุดสุดท้ายแล้ว ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีควรทราบดีว่าวิกฤตในขณะนี้เป็นวิกฤตความมั่นคงของประเทศ ซึ่งต้องใช้มาตรการทางการทหารและเป็นการยากที่จะแก้ด้วยวิถีทางการเมืองปกติ หากท่านไม่กล้า ไม่อยากทำ ทางออกก็ควรลาออกจากตำแหน่งเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้อื่นทำแทนเถิด
“พลเมืองเข้มแข็ง” ก็อย่าเพิ่งตีตนไปก่อนไข้ว่าจะเป็นการเข้าทางของอีกฝ่ายหนึ่งเพราะพรรคร่วมอาจเปลี่ยนขั้วทางการเมืองกลับไปสู่พรรคเพื่อไทย แล้วอาจจะได้นายกฯ เป็ดเหลิมก็ได้ จะได้ใครมาเป็นนายกฯ ก็ไม่แปลก แม้จะมาจากอีกขั้วหนึ่งก็ต้องมีหน้าที่สลายการชุมนุมนำบ้านเมืองเข้าสู่ความปกติอยู่ดี กระแสสังคมบังคับให้ทำเช่นนั้น แล้วแม่ยกอภิสิทธิ์คิดว่าจะมีใครที่เหมาะสมทางฟากโน้นเพราะแม้แต่หัวหน้าพรรคก็ยังหาไม่ได้ในปัจจุบัน
พอได้แล้วครับคุณอภิสิทธิ์ หากคุณไม่ตัดสินใจให้เด็ดขาดก็จงลาออกไปเสียเถิดครับ ประชาชนไม่เชื่อมั่นในตัวคุณแล้ว