14. พันธมิตรฯ รำลึก พวกเราเป็นบุตรธิดาแห่งดวงดาว (ต่อ)
อะไรคือ ภูมิปัญญารหัสนัยธรรมชาติ (Nature mysticism) ของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่ปรากฏอยู่ในงานเขียนล่าสุดของเขาเรื่อง “บุตรธิดาแห่งดวงดาว” (พ.ศ. 2552)?
(1) รหัสนัยของสายฝนกับทะเล
เสกสรรค์ บรรยายไว้อย่างบรรเจิดและงดงามดังนี้...ฟ้ามืดเทาหม่น ม่านฝนบังตะวัน ทะเลสะบัดคลื่นประสานราวกับจักรวาลหลั่งน้ำตา (หน้า 25) ในทะเลมีหยาดฝน ในสายฝนมีทะเล และม่านเมฆคือจุดนัดพบที่ทุกฝ่ายสลายเข้าหากัน ความว่างเปล่าในเวิ้งฟ้าคือ ผู้อยู่เบื้องหลังลีลาทั้งปวง (หน้า 26) ทะเลกลายเป็นฝนได้ก็เพราะความโล่งว่างนี้ ว่างจากรูปลักษณ์นิรันดร เพื่อเข้าสู่นิรันดรอันไร้รูปว่างจากนิยามในความคิด เพื่อร่วมฉลองอนัตตาในความจริง (หน้า 26) ฉันมอบตัวตนของฉันให้กับเส้นขอบฟ้าและเกลียวคลื่น กลมกลืนเข้ากับลีลาเมฆบทเพลงลม
ฉันเป็นมากกว่าที่ฉันคิด แต่ไม่มากกว่าที่เป็นอยู่ และถ้าฉันกล้าเปลี่ยนจากเป็นอยู่ ฉันก็จะเป็นทุกอย่างที่เป็นไป เมื่อฉันยอมรับทุกอย่างที่เป็นไป ฉันจะไม่เป็นอันใดนอกจากเป็นชีวิต ซึ่งก็คือ หยาดฝนในท้องทะเล และก็คือ ทะเลกว้างในหยาดฝน (หน้า 28)
ไม่มีหยดน้ำใดที่เคยพลัดพรากจากกัน เพราะทะเลเพียงออกท่องเที่ยวเดินทางในรูปของละอองเมฆและฝอยฝน ท้ายที่สุด ทุกหยดหยาดล้วนหวนคืน และไม่ว่าเส้นทางที่ผ่านมาจะเป็นเช่นใด หยดน้ำจะปนเปื้อนด้วยสิ่งไหน ทะเลย่อมจะไม่ปฏิเสธการกลับมาของตัวเอง ด้วยเหตุนี้ หยดหนึ่งน้ำทะเลจึงไม่มีอันใดต่างจากอีกล้านหยดน้ำทะเล ทั้งๆ ที่ในแต่ละหยดน้ำนั้น คือ บันทึกการเดินทางอันลึกล้ำหลากหลาย ทุกหยดน้ำมีอดีต แต่ไม่มีหยดน้ำ ไหนที่ทุกข์ร้อนกับความเป็นมาของฉัน (หน้า 28) เพราะทะเลส่งเมฆให้ฟากฟ้า ฟ้ามอบเมฆให้แผ่นดิน แผ่นดินพาน้ำเมฆกลับทะเล ด้วยเหตุนี้ การพลัดพรากจึงไม่มีจริง (หน้า 30)
ฉันคือ ความรัก และความรักก็คือฉัน ทะเลอยู่ในสายฝน ผู้คนอยู่ในตัวฉัน สรรพสิ่งฝากตัวเองไว้กับการมีอยู่ของสิ่งอื่น (หน้า 31) ฉันจึงมิใช่จุดอับ ณ ใจกลางความว่างเวิ้ง หากคือ ความว่างเปล่าที่เกี่ยวพันกับทุกอย่าง ฉันคือหนึ่งเสี้ยวเสียงในลีลาเพลงแห่งเอกภพ พร้อมลับเลือน และปรากฏตามจังหวะโคจรของเดือนดาว ฉันคือหนึ่งเสี้ยวแสงของแถบรุ้งแห่งมหาปัญญา ตวัดโค้งบางเวลาสู่สายตาที่ค้นพบ ฉันคือบทกวีที่คลี่ถ้อยร้อยคำผ่านฤดูกาลแห่งชีวิต ฉันคือน้ำหนึ่งหยดที่ซ่อนภาพเจ็ดห้วงสมุทร แต่ดั่งเช่นเงาจันทร์ในดวงใจ ฉันมิได้ตื่นรู้เพื่ออวดตน ฉันแค่เป็นละอองไออิสระที่ลอยล่องจากท้องทะเล (หน้า 32)
(2) รหัสนัยของที่ราบกับขุนเขา
เสกสรรค์ได้สำแดงความเป็นนายแห่งภาษาของเขาที่ถูกนำมาบูรณาการเข้ากับภูมิปัญญาทางจิตวิญญาณของเขาได้อย่างกลมกลืน ดังนี้...อรุณรุ่งประกาศชัยเหนือเทือกเขาทะมึน ลำแสงสาดส่องไล้ทุ่งโล่ง ณ เบื้องล่างแผ่วเพลงเอกภพเยือนเยี่ยมไม้ทุกใบผ่านสายลม เธอจะไม่เห็นภาพนี้ หากมิได้อยู่ตรงนั้นเวลานั้น หมอกนวลนุ่มหุ้มล้อมชะง่อนผาเวลาเช้า ทิวไม้ทาบตะวันเป็นชั้นแถว ระยิบแดดประดับแต่งพราวน้ำค้างบนเนินหญ้าไออุ่นกรุ่นลอยจากอณูดิน เธอจะไม่มีวันเห็นภาพดังกล่าวเช่นกัน หากมิได้อยู่ตรงนั้นเวลานั้น (หน้า 35)
เธอชินใจในทุ่งราบ แต่กลับถวิลหายอดเขาสูง ทว่าเธอไม่เคยขึ้นไปเนื่องจากใจไม่คิดปีน เช่นนี้แล้วเธอจึงไม่เพียงพลาดรักกับทุ่งโล่ง หากยังไม่เคยได้โอบกอดยอดขุนเขา (หน้า 36) ที่ราบกับขุนเขาคือคำไขปริศนาของปุจฉาร่วม ขาดสิ่งหนึ่งก็ไม่มีอีกสิ่งหนึ่ง เพราะทั้งสองภูมิลักษณ์ล้วนเป็นหนึ่งวรรคในหนึ่งบทของลำนำฟ้า (หน้า 37)
หากสามารถมองเห็นที่ราบอยู่ในความเป็นขุนเขา เธอย่อมเห็นขุนเขาอยู่ในที่ราบ ต่ำอยู่ในสูง สูงอยู่ในต่ำ หากทำได้เช่นนี้ ไม่ว่าเธอทำอะไรที่ไหน เธอย่อมป่ายปีนสู่ “ยอดเขา” แห่งปัญญาญาณได้เสมอ (หน้า 38)
เธอมิอาจเพิ่มความสูงด้วยแผ่นดินที่เธอเหยียบ แต่เธออาจโบยบินถึงถิ่นดาวขณะเป็นหนึ่งเดียวกับทุ่งร้าง แม้เธอมิอาจสัมผัสน้ำหมอกบนภูผา แต่ก็อาจท่องเมฆาได้ด้วยน้ำใจ (หน้า 38)
เธอทราบหรือไม่...มีแต่ในสถานที่ต่ำต้อยและสถานการณ์ต่ำช้า ความสูงส่งจึงปรากฏ เพราะได้ผ่านแสงแดดแผดกล้า และสายฝนโชกชื้น เธอจึงอาจสร้างวิมานจิตไร้ร้อนหนาว เพราะเคยผ่านสมรภูมิแห่งผิดถูก เคยอาศัยเลือดน้ำตาล้างแผลใจ เธอจึงได้ผลิงามเป็นนักรบแห่งมหากรุณา เพราะเคยลิ้มรสแส้อธรรม เคยชิมบาปของผู้อื่น เธอจึงได้เติบใหญ่เป็นคนของฟ้าดิน (หน้า 39)
(3) รหัสนัยของดวงดาว
เสกสรรค์ได้บรรยายวิวัฒนาการของจักรวาลอันเร้นลับด้วยภาษากวีดังนี้... เราเดินทางมาแสนไกล จากเปลวไฟแห่งมหาอัคนี สู่มหาเมฆดึกดำบรรพ์แปรผันเป็นวงจักรแห่งดารา อันคลี่คลายเป็นสมุทรพสุธาใต้ห่าฝนและแถบรุ้ง เราเดินทางมาแสนนานกว่าจะเกิดเป็นเผ่าพันธุ์ เราคือถ่านเถ้าระอุอุ่นจากปลายยอดแห่งขุนเขา คลุกเคล้าด้วยเกล็ดหิมะในราตรีและน้ำค้างแห่งรุ่งอรุณ (หน้า 45) เราคือดินน้ำไฟลมอันผสมกลมกลืนจากภูเขาทุ่งธารและอากาศสกล เราคือส่วนเสี้ยวของดวงดาวที่มิได้เปลี่ยนรูปโดยอุบัติเหตุ หากเป็นผลแห่งอุบัติการณ์ แท้จริงแล้ว เราคือจิตวิญญาณอันเอกภพแสดงตน (หน้า 45)
ชีวิตแสนสั้นของเรานั้นมาจากการเดินทางแสนนาน เรามิเพียงสืบทอดมวลธาตุแห่งจักรวาล หากยังสืบต่อปรีชาญาณแห่งอภิจิต ซึ่งสถิตอยู่ในองค์รวม เราจักอยู่ในรูปนี้ชั่วพริบตา ดังสายฟ้ากลางพายุเจิดจ้าแล้วลับหายสู่เวิ้งฟ้ามารดาเดิม (หน้า 48) อิสรภาพของเราดำรงอยู่ ณ แห่งใด หากมิใช่ดวงตาที่เฝ้าดูนาฏกรรมแห่งตัวตน เราคือเรา แต่เรามิใช่เรา เราเห็นเราเพื่อเราจะได้เห็นธรรม นี่คือรหัสไขความลับแห่งทิพยลีลาด้วยสายตาสงบนิ่งที่ไม่ตัดสินหรือตีความ ไม่ผูกติดกับนิยามหรือนิยม เราจักใช้ดวงตานี้นำทาง ดั่งสายฟ้าส่องสว่างตัดราตรี (หน้า 49)
เราจักเรียนรู้ภาษาที่ไร้ถ้อยคำ ได้ยินวิเวกอันกังวานซึ่งขับขานเพลงแห่งฟ้า เราจักได้ยินเสียงทักทายของนกกา ยินคำเจรจาของพฤกษ์ไพร เรามีมิตรเป็นก้อนหิน มีเนินดินเป็นเพื่อนบ้าน ถือทะเลเป็นวิหาร เห็นขุนเขาเป็นบรรพชน (หน้า 49) เราจักตื่นตระหนักในทิวา และตื่นรู้ในราตรีผ่านความมืดและแสงสีอย่างเงียบนิ่งดังเงาจันทร์ ในฤดูกาลแห่งชีวิต เราจะพิชิตร้อนหนาว ในทุกข์เทวษรวดร้าว เราจักเห็นอนัตตา ท่ามกลางโลกที่เศร้าสลด เราจะปรากฏด้วยกรุณา แต่โลกที่ล้นด้วยปรารถนา เราจากมาไม่อาลัย (หน้า 50) ด้วยดวงจิตอันแจ่มบรรเจิด เราจักอาศัยดวงจิตนี้ค้นหาความจริงที่หายไป (หน้า 51) ดั่งบัวบานในหนองคล้ำ สลัดพ้นจากหล่มโคลน เราจักเติบใหญ่เหนือตัวตน และเราจักเติบโตเหนือตัวเอง (หน้า 52)
(4) รหัสนัยของทางสายใน
ในการเดินทางสายในเพื่อเข้าสู่ วิถีแห่งจิตวิญญาณ นั้น เสกสรรค์ได้ให้คำแนะนำที่มาจากประสบการณ์ของตัวเขาเองว่า...อย่าได้เลือกทางที่ผู้อื่นกำหนด ไม่ว่าจะดูสวยสดแค่ไหน แต่พึงเลือกทางที่ตัวเองพร้อมมอบใจ แม้จะไร้สิ่งตอบแทน (หน้า 58) นอกจากนี้ คนผู้นั้นต้องกล้าหาญและยืนหยัดในจุดหมายโดยต้องฝึกเป็นครูของตัวเองให้จงได้ ผิดพลาดเริ่มต้นใหม่ ผิดไปเริ่มต้นอีก อุปสรรคไม่ใช่สิ่งที่ควรหลบหลีก หากต้องถือเป็นโรงเรียนแห่งความจริง อย่าเกลียดตัวเองเมื่อล้มเหลว อย่าหลงตัวเองเมื่อสำเร็จ แต่จงเรียนรู้จากเรื่องราวเหล่านั้น และใช้มันเป็นแสงสว่าง เมื่ออยากเป็นหนึ่งเดียวกับเส้นทางต้องกำจัดสิ่งกีดขวางคือ อัตตา (หน้า 59)
จงเดินทางดั่งสายน้ำที่ไม่ยึดในรูปลักษณ์ พร้อมไหลเชี่ยวกลางภูผา พร้อมไหลบ่าจากขุนเขา สงัดนิ่งซ่อนเงาในหุบเหวใต้ร่มวนา ทั้งคดเคี้ยว และเลี้ยวโค้ง ทั้งเหยียดตรงและแผ่กว้าง ผ่านทุ่งโล่งอ้างว้างเพื่อคืนกลับท้องทะเล (หน้า 60) ตัวตนที่เธอค้นพบ คือบทจบแห่งจินตนาการ ไร้ถ้อยคำเรียกขานเพราะไม่ขึ้นต่อผู้ใด ตัวตนที่เธอค้นหา เมื่อได้มาจะไม่มี เธอมิใช่สิ่งนั้น เธอมิใช่สิ่งนี้ เธอมิใช่ความชั่ว เธอมิใช่ความดี หากเธอคือเธอ เท่าที่เป็นอยู่ เป็นมา และเป็นไป เธอคือความเคลื่อนไหวดั่งดวงดาวเคลื่อนโคจร เธอกลายเป็นอิสรภาพอันหมดจดในบริบทแห่งดินฟ้า คือเพลงเอกภพที่แว่วมาไขปริศนาอันยิ่งใหญ่ (หน้า 62-63)
(5) รหัสนัยของป่าใหญ่
เสกสรรค์ กล่าวว่า ชีวิตคือการแปรเปลี่ยนเติบโตจากการสิ้นสลายของบางสิ่งบางอย่าง โดยเปรียบเทียบกับป่าใหญ่ ดังนี้...ในป่าใหญ่มีใบไม้ทับถม และขอนไม้ผุพัง เรื่องราวความหลังล้วนซุกซ่อนอยู่บนผิวพื้น ดินก้อนหนึ่งอาจมีส่วนผสมของดอกไม้จากหนาวที่แล้ว ไม้สูงงอกรากจากเมล็ดพันธุ์ของสิบปีก่อน กรวดก้อนหนึ่งอาจมาจากผาสูงที่เป็นมงกุฎแห่งเทือกเขา แม้แต่ลำธารน้อยก็นับเป็นธิดาแห่งวสันต์ที่ผ่านพ้น (หน้า 67)
(6) รหัสนัยแห่งราตรี
เสกสรรค์ กล่าวว่า ความมืดแห่งราตรีอาจเป็นคำอวยพรที่ซ่อนเร้น เพราะหากไม่มีท้องฟ้ายามราตรี ย่อมไม่มีทั้งเดือนดาว เมื่อปราศจากเวิ้งฟ้ามืดมิด เราจะฝากทางช้างเผือกไว้ที่ใด จันทร์เพ็ญจะส่องสาดพสุธาจากมุมไหน (หน้า 77) ด้วยเหตุนี้ จงเป็นหนึ่งเดียวกับกลางคืนโดยไม่ฝืนเป็นตรงข้าม จึงจะเห็นทั้งความงาม และความจริงแห่งราตรี (หน้า 80)
(7) รหัสนัยแห่งข้าวเม็ดน้อย
เสกสรรค์ กล่าวว่า จงเรียนรู้ชีวิตจากการเดินทางของเม็ดข้าวดังนี้...ฝนกระหน่ำย้ำแผ่นดิน สายฝนแทรกสู่ธรณี ปฐพีโอบกอดพิรุณกาล เมื่อเมฆหมอกแยกสลาย ตะวันฉายฉาบล้วน เมื่อสายลมหนาวครางครวญ ณ ยามนั้น กอข้าวที่ตั้งครรภ์มานาน จะคลอดลูกเป็นรวงทอง (หน้า 88) เธอกำเนิดจากความรวดร้าวของมารดาเฉกเช่นยามพสุธาแยกออกด้วยอสุนี เฉกเช่นยามห่าฝนท่วมล้นปฐพี เพื่อจัดเตรียมพื้นที่ให้ธัญญาพันธุ์ (หน้า 89)
หายใจเข้าครั้งแรก เธอยืมหยิบเนื้อฟ้ามาสร้างตัว หายใจออกเธอกลายเป็นส่วนหนึ่งของเวิ้งนภา ทั้งชีวิตไม่อาจแยกขาดออกมา เพราะเธอคือฟ้า และฟ้าก็คือเธอ (หน้า 89) ภายใต้แสงตะวัน เธอได้แบ่งปันจากชีวิตอื่น กินจากนาหลายผืน ดื่มจากหลายสายธาร เธออาศัยผู้คนเพื่อให้ตนอยู่รอด เธอเติบโตในอ้อมกอดแห่งสุญตาราม ทั้งโลกคือมาตุคาม ทั้งเอกภาพคือปิตุภูมิ (หน้า 90) เธอคือข้าวเม็ดน้อยจากกอรวงอันเหลืองงาม เกิดขึ้นและโตตามเกณฑ์กฎแห่งอนัตตา (หน้า 92) การเดินทางของเม็ดข้าวจะจบลงด้วยเลี้ยงคน การเดินทางของตัวตนจะสิ้นสุดเมื่อสืบสาน สืบทอดมหาปณิธานซึ่งสรรพสัตว์เป็นหนึ่งเดียว การเดินทางของตัวตนจะสิ้นลงที่องค์รวม (หน้า 93)
* * *
จาก ภูมิปัญญารหัสนัยธรรมชาติ ของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่ปรากฏอยู่ในงานเขียนเรื่อง “บุตรธิดาแห่งดวงดาว” และได้นำบางส่วนมาเสนอดังข้างต้น ได้นำมาสู่บทสรุปรวบยอดของเสกสรรค์ เมื่อเขากล่าวว่า ชีวิตนั้นปรากฏรูปในห้วงเวลาจำกัด นอกจากนี้ยังก่อเกิดดำเนินไป และดับสูญภายใต้เงื่อนไขไร้ขอบเขต โดยที่คนเรานั้นยืมชีวิตมาจากทุกอย่าง ดินฟ้าอากาศ ชีวิตอื่นจากระยะห่างระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ การโคจรของดวงจันทร์ ฯลฯ
เงื่อนไขไร้ขอบเขตเหล่านี้ทำให้ชีวิตของคนเรามีขอบเขตอย่างยิ่ง ไม่เพียงเกิดมาแล้วต้องตาย ระหว่างทางยังกำหนดตัวเองได้เพียงน้อยนิด เพราะฉะนั้น เมื่อมองจากองค์รวมหรือจากสายใยสัมพันธ์อันกว้างสุดแล้ว คนเราแทบจะหาค่านิยมเฉพาะของผู้ใด สิ่งใดไม่ได้ หากไม่ตัดความจริงหลายส่วนออกไป แต่เมื่อตัดความจริงออกไป ไม่ว่ามากหรือน้อย โลกที่คนเราย่อความ และยึดกุมผ่านถ้อยคำภาษาก็เริ่มจะไม่จริง ทุกอย่างอยู่ในภาวะเลื่อนไหลแปรเปลี่ยน ทุกอย่างเกี่ยวโยงสัมพันธ์กัน ทุกอย่างปราศจากตัวตนอิสระ เมื่อใดก็ตามที่คนเราพำนักอยู่ในคำนิยามอันหยุดนิ่ง เมื่อนั้นเราจะตกอยู่ในโลกแห่งอุปาทาน การยึดติดในตัวตนอันเป็นที่มาแห่งทุกข์
ด้วยเหตุนี้ คนเราจึงต้องมองโลก สัมผัสโลกอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่มีทัศนะ หรือกรอบคิดทั้งหลายมากั้นขวาง การสัมผัสตรงย่อมไม่มีอยู่ในอดีต และยังไม่ได้เกิดขึ้นในอนาคต มันคือการมีสติอยู่กับปัจจุบัน และเป็นการมองทุกอย่างเท่าที่มันเป็นจริงอย่างเต็มตาโดยปราศจากอคติหรือฉันทาคติ แล้วผู้นั้นจะไม่พบความแตกต่างระหว่างตนเองกับสรรพชีวิต กระทั่งมองเห็นชีวิตอยู่ในภูเขา ทะเล และแผ่นฟ้า ฯลฯ
ใช่แล้ว! พวกเราล้วนเป็นบุตรธิดาแห่งดวงดาว ที่ได้รู้แล้วว่า หยิบยืมตนเองมาจากที่ใด และเกี่ยวโยงอันใดกับโลกที่เหลือดำรง เมื่อจิตของพวกเราสงัดและมั่นคง พวกเราจึงโคจรไปกับดวงดาวในเอกภพอันพร่างพราว ด้วยดาราจักรแห่งอัคคี จากมุมน้อยๆ บนปฐพี พวกเราจะคืนสู่มหาวิญญาณ