29. พันธมิตรฯ รำลึกพงหนามของประชาธิปไตยไทยกับความจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ (ต่อ)
“ระบอบทักษิณ” เริ่มถูกวิพากษ์ทางความคิดอย่างจริงจัง โดยเหล่าปัญญาชนระดับชั้นนำของประเทศตั้งแต่ช่วงต้นปี 2547 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดก่อน “ปรากฏการณ์สนธิ” ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2548 ถึงหนึ่งปีครึ่งกว่า และเกิดก่อนการก่อตัวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยถึงสองปีเต็ม
งานสัมมนาระดมความคิดจากนักคิด และปัญญาชนหัวก้าวหน้าชั้นนำของประเทศนี้ถึง 30 คน เรื่อง “ระบอบทักษิณ ความเป็นมา และความเป็นไปในอนาคต” ที่จัดขึ้นถึงสองวันเต็มในช่วงต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2547 โดยนิตยสาร “ฟ้าเดียวกัน” ถือเป็นครั้งแรกที่มีการวิเคราะห์ระบอบทักษิณในเชิงความคิด และวิชาการอย่างจริงจังก็เห็นจะไม่ผิดนัก
ยศ สันตสมบัติ มองว่า เงื่อนไขสำคัญที่สุดประการหนึ่งที่นำไปสู่การสถาปนาระบอบทักษิณ คือ ความสำเร็จของพรรคประชาธิปัตย์ก่อนหน้านั้น ภายใต้การนำของชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ในการพัฒนาระบอบเลือกตั้งอย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ จนทำให้คำว่า “ประชาธิปัตย์” มีความหมายเพียงแค่การเลือกตั้ง หรือการได้มาซึ่งคะแนนเสียงจากประชาชนเท่านั้น
ทั้งๆ ที่ในอดีตก่อนหน้านั้น พรรคประชาธิปัตย์ได้สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาจากภาพลักษณ์ของผู้มีอุดมการณ์แบบเสรีนิยมที่ต่อต้านระบอบเผด็จการทหาร และด้วยภาพลักษณ์เช่นนี้เองที่ช่วยทำให้พรรคประชาธิปัตย์ยืนยงอยู่ได้มาจนถึงทุกวันนี้ ทั้งๆ ที่พรรคประชาธิปัตย์นี้ ไม่เคยมีความสามารถในการบริหารจัดการ และไม่เคยมีนโยบายที่ชัดเจนเป็นเอกลักษณ์ของตนเลย มุกหาเสียงที่พรรคนี้นิยมใช้ จึงเป็นแค่มุกของพรรคที่พยายามโฆษณาตัวเองว่า “เลวน้อยกว่า” พรรคการเมืองอื่นๆ เท่านั้น
ครั้นเมื่อพรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคได้มีโอกาสเป็นรัฐบาลถึงสองสมัย มีโอกาสเต็มที่ในการปฏิรูประบบการเมืองไทย มีโอกาสที่จะส่งเสริมความเข้มแข็งให้แก่การเมืองภาคประชาชน แต่พรรคประชาธิปัตย์กลับไม่ได้ทำเท่าที่ควรในเรื่องการปฏิรูปการเมือง และยังปฏิเสธการเมืองภาคประชาชนมาโดยตลอด เพราะรัฐบาลชวนเชื่อแบบผิดๆ ว่า รัฐบาล คือ เวทีการเมืองเพียงหนึ่งเดียวสำหรับการตัดสินใจในกิจการสาธารณะต่างๆ ของประเทศ
มิหนำซ้ำที่ผ่านมา รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยสนใจคนรากหญ้า คนด้อยสิทธิที่เดือดร้อนจากโครงการของรัฐ ไม่เคยแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนตัวเล็กๆ หากแต่ตะบันอ้างกฎหมาย และหลักการเป็นสรณะ จึงทำให้ชวน หลีกภัย มีภาพลักษณ์ของลูกชาวบ้านที่เข้าข้างนายทุนมาโดยตลอด ครั้นเมื่อรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ได้สูญเสียแรงศรัทธาจากชนชั้นกลาง เพราะไม่สามารถแก้วิกฤตฟองสบู่และบริหารจัดการเศรษฐกิจของชาติ ไม่เข้าตาประชาชน ครั้นจะหันกลับไปหาชาวบ้านระดับล่างก็ไปไม่ได้เสียแล้ว นี่แหละจึงทำให้ ระบอบเลือกตั้งที่รัฐบาลชวนได้พัฒนาขึ้นมาอย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์กลับกลายมาเป็นพื้นฐานให้พรรคไทยรักไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ช่วงชิงอำนาจรัฐไปได้โดยง่าย ด้วยการสร้างจุดขายแนวประชานิยม และนำเสนอออกมาเป็นนโยบายที่โดนใจประชาชน
ที่สำคัญ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ใช้การเน้น การสร้างภาพลักษณ์ให้แก่ตัวเองอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่เฉพาะช่วงการเลือกตั้งเท่านั้น โดยทำให้ระบอบเลือกตั้งที่พัฒนาขึ้นมาในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย กลายมาเป็น การเมืองเรื่องภาพลักษณ์ ขึ้นมาเป็นครั้งแรกในสังคมไทย
เกษียร เตชะพีระ ได้วิเคราะห์อย่างแหลมคมว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ได้ทำให้ กลุ่มทุนใหญ่ สามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองได้โดยตรงมากขึ้น ขณะที่นักการเมืองหรือนักเลือกตั้งลดอำนาจลง ส่วนเสียงของ ชาวเมืองชนชั้นกลาง ก็มีน้ำหนักมากขึ้นในการเมืองระดับชาติ ขณะที่ ชาวชนบท ได้เปลี่ยนฐานะบทบาทจาก ผู้รับการอุปถัมภ์ ในเครือข่ายอุปถัมภ์-เลือกตั้ง ของระบอบเลือกตั้งเดิม กลายมาเป็น ผู้บริโภคนโยบาย ที่ถูกกำหนดมาจากส่วนกลางเบื้องบนอย่างเชื่องๆ
นอกจากนี้ พรรคไทยรักไทยภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังได้ “ถอดรื้อ” ระบอบเลือกตั้งเดิมๆ ที่เป็นเหมือนร้านค้าโชวห่วยรายย่อยของ ส.ส.ผู้มีอิทธิพลสังกัดมุ้งนักเลือกตั้งต่างๆ ที่ “ขายปลีกอุปถัมภ์” แก่พวกชาวบ้านให้กลายมาเป็นเหมือนซูเปอร์สโตร์รายใหญ่ โดยเดินแนวทางมวลชนแบบ 3 รับเหมาที่ปรับใช้กับองค์กรธุรกิจทุนนิยม คือ เหมาซื้อ รับเหมาทำงาน และเหมาลูกค้าทั้งหมด มิหนำซ้ำพรรคไทยรักไทยซึ่งแกนนำเป็นนายทุนใหญ่ระดับชาติที่มีฐานอยู่กรุงเทพฯ แทนที่จะพึ่งพาอาศัยเส้นสายนักเลือกตั้งมาเป็นนายหน้าคนกลางทางการเมือง เพื่อเชื่อมต่อกับผู้ออกเสียงเลือกตั้งซึ่งจะจำกัดอำนาจต่อรองทางการเมืองของกลุ่มทุนใหญ่เจ้าของพรรค
พวกนายทุนใหญ่เหล่านี้กลับทำการเมืองเป็นเรื่องนโยบายระดับชาติ โดยทำการตลาดแบบขายตรงนโยบายให้แก่ชาวบ้าน โดยมีนโยบายเป็นตัวสินค้า และการอุปถัมภ์เป็นบริการหลังการขาย จากนั้นก็ค่อยๆ กดดันลดทอนอิทธิพลของนายหน้าคนกลางทางการเมืองตัวใหญ่ๆ เจ้าของร้านโชวห่วยหรือเจ้าพ่อ-หัวคะแนนทั้งหลายจึงค่อยๆ แปรสภาพไปเป็นแค่เซลส์แมน และผู้จัดการสาขาของพรรค ซึ่งเปรียบเสมือนสำนักงานใหญ่ของซูเปอร์สโตร์ โดยมีนายกฯ ทักษิณ ชินวัตรเป็นซีอีโอหรือเถ้าแก่ของพรรค
เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนการเถลิงอำนาจของพรรคไทยรักไทยนั้น การเมืองไทยมีแต่ พรรคอุปถัมภ์ แต่ไม่เคยมี พรรคชนชั้น เพราะระบอบเลือกตั้งบนฐานรัฐรวมศูนย์อย่างของประเทศไทย ได้กลายเป็นตัวขัดขวางและสลายการเรียกร้องผลประโยชน์ของกลุ่มมวลชน และชนชั้นต่างๆ ในสังคมอย่างเป็นอิสระและเป็นตัวของตัวเอง หากกลุ่มชนและชนชั้นใดไม่มีเส้นสายอุปถัมภ์กับนักเลือกตั้ง พวกเขาก็จะประสบปัญหาที่จะเรียกร้อง และนำเสนอผลประโยชน์ของตนให้เข้าถึงหรือเข้าสู่ระบบการเมือง
เรื่องนี้เป็นความจริงแม้กับกรณีของชนชั้นนายทุนไทยเอง เพราะการไม่มีทั้งลักษณะประชาชาติ และลักษณะทางชนชั้นทำให้พรรคการเมืองในประเทศไทยกลายเป็นเพียงกลุ่มผลประโยชน์โดยตัวเอง หรือเป็นแค่เครือข่ายอุปถัมภ์ของบุคคลจากชนชั้นต่างๆ ที่มุ่งดูดถ่ายผลประโยชน์ที่รัฐเอามาจากสังคมมาสู่กลุ่มของพวกตน ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรที่พรรคการเมืองในประเทศไทยก่อนหน้านี้ หรือก่อนมีพรรคไทยรักไทย มักไม่มีนโยบายที่ต่างกันอย่างชัดเจน
กล่าวในความหมายนี้ พรรคไทยรักไทยขณะนั้นได้ “ทำใหม่” ทางการเมืองใน 3 เรื่องด้วยกัน ซึ่งมีผลทำให้พรรคนี้เปลี่ยนแปลงสภาพจาก พรรคอุปถัมภ์ ไปสู่ พรรคชนชั้นของกลุ่มทุนใหญ่ โดยตรงอย่างแท้จริง คือสร้าง นโยบายประชานิยมเพื่อทุนนิยมสามานย์ ที่มุ่งขายตรงให้คนชนบทรากหญ้าแปลงสูตรรัฐบาลผสมไปเป็น รัฐบาลพรรคเดียว ด้วยการดึงและดูด ส.ส.ต่างพรรค ต่างมุ้งมาเข้าร่วมรัฐบาลให้ได้จำนวนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้เปลี่ยนจากการอุปถัมภ์ส่วนตัวหรือการขายปลีกอุปถัมภ์ไปเป็น การอุปถัมภ์โดยรัฐอย่างถูกกฎหมาย
ด้วยเหตุนี้ พรรคไทยรักไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จึงกลายเป็นพรรคการเมืองพรรคแรกของชนชั้นนายทุนใหญ่ไทย เพื่อชนชั้นนายทุนใหญ่ไทย และโดยชนชั้นนายทุนใหญ่ไทยอย่างแท้จริง ภายใต้ระบบทุนนิยมสามานย์อย่างเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
อย่างไรก็ดี แนวทางประชานิยมของรัฐบาลทักษิณนั้น เป็น การเมืองแนวร่วมข้ามชนชั้น เพื่อกระจายโภคทรัพย์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นการรับใช้ทุนนิยมสามานย์อย่างเต็มตัว จะเห็นได้จากการใช้สินเชื่อจากภาครัฐ ซึ่งกระจายไปถึงมือชาวบ้านชนบทแล้วมักถูกนำไปจับจ่ายซื้อหาสินค้าคงทนในประเทศอย่างโทรศัพท์มือถือ จักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า จนไปไกลถึง นโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุน ซึ่งเป็นการสืบทอดต่อเนื่องแนวทางปฏิรูปที่ดินของรัฐราชการไทยแต่เดิมที่ “เอาที่ดินจากรัฐ จากหลวงมาให้คนจน” แต่ทว่าได้หักเหผลักดันทิศทางของมันให้หันมารับใช้ทุนนิยมสามานย์อย่างเต็มตัว เพราะภายใต้ระบอบทักษิณนี้มันเป็นการเอาที่ดินจากรัฐจากหลวงมาให้คนจนในตลาด ซึ่งคนจนจะสูญเสียที่ดินนั้นไปให้คนรวยอีกจนได้ในท้ายที่สุด
จึงเห็นได้ว่า แนวทางพัฒนาแบบประชานิยมของระบอบทักษิณนั้น เป็นไปเพื่อรับใช้ระบบทุนนิยมสามานย์โดยแท้ นั่นคือ ทำทุกอย่างให้เป็นสินค้า และจะทำให้ชาวนาหมดสิ้นความเป็นชาวนาในที่สุด เพราะส่วนใหญ่จะอ่อนแอ พ่ายแพ้ ล้มเหลว หรือล้มละลาย ในตลาดที่ต้องแข่งขันและมีความเสี่ยงสูง สุดท้ายก็ต้องกลายสภาพเป็นแรงงานรับจ้างหรือกรรมาชีพอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น
* * *
นับตั้งแต่ย่างเข้าปี 2547 เป็นต้นมา รัฐบาลทักษิณได้ประสบกับปัญหาหลายเรื่องที่ประดังเข้ามาไม่ขาดสาย ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่น่าหนักอกหนักใจทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไข้หวัดนก ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่องการคัดค้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ปัญหาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) โดยเฉพาะกับจีนที่ไม่เป็นไปตามที่เคยคาดหวังไว้ ฯลฯ แต่รัฐบาลทักษิณในขณะนั้น ก็มิได้หวั่นไหวเพราะเสียงวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้เลย โดยหารู้ไม่ว่า อีกไม่นาน ระบอบทักษิณจะเผชิญกับวิกฤตที่ร้ายแรงอันเนื่องมาจาก ขบวนการต่อต้านทักษิณ