33. พันธมิตรฯ รำลึกพงหนามของประชาธิปไตยไทยกับความจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ(ต่อ) 24/11/52

33. พันธมิตรฯ รำลึกพงหนามของประชาธิปไตยไทยกับความจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ(ต่อ) 24/11/52

33. พันธมิตรฯ รำลึกพงหนามของประชาธิปไตยไทยกับความจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ (ต่อ)


แกนนำ 5 คนของ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประกอบด้วย สนธิ ลิ้มทองกุล พล.ต.จำลอง ศรีเมือง สมศักดิ์ โกศัยสุข พิภพ ธงไชย และสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ โดยมีสุริยะใส กตะศิลา เป็นผู้ประสานงาน แกนนำทั้ง 5 คนที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นหัวขบวนของขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนี้ ถือว่าเป็นส่วนผสมที่ลงตัว กลมกลืน และหนุนเสริมซึ่งกันและกันอย่างดีที่สุดเท่าที่การเมืองภาคประชาชนเคยมีมาก็ว่าได้

(1) สนธิ ลิ้มทองกุล เป็นนักเรียนนอกที่ผ่านการศึกษาทั้งจากไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา จึงรอบรู้ทั้งเรื่องราวของโลกตะวันออก และโลกตะวันตกอย่างหาตัวจับยาก เขายังเป็นนักสู้ผู้บุกเบิกวงการสื่อมวลชนตั้งแต่วัยหนุ่มเคยประสบความสำเร็จ และยิ่งใหญ่ทางธุรกิจพร้อมๆ กับทักษิณ ชินวัตร ในช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 จึงทำให้ตัวเขามีเครือข่ายคอนเนกชันบุคคลต่างๆ ทั้งแนวกว้างและแนวลึกอย่างไม่ธรรมดา ซึ่งเครือข่ายและคอนเนกชันเหล่านี้มีประโยชน์ต่อตัวเขา และขบวนการพันธมิตรฯ อย่างประเมินค่าไม่ได้ เมื่อต้องต่อสู้กับระบอบทักษิณ

(2) พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อดีตหัวหน้าพรรคพลังธรรม ผู้เคยเป็นผู้นำมวลชนในการต่อสู้กับอำนาจเผด็จการทหารยุค รสช.ในปี 2535 เขาเป็นบุคคลที่ไม่ธรรมดา และมีต้นทุนสูงทางสังคมมากคนหนึ่งในหลากหลายมิติ นับตั้งแต่ที่ตัวเขาได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เพื่อออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านกฎหมายทำแท้ง

การได้รับเลือกตั้งในตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ด้วยคะแนนเสียงที่ท่วมท้น เป็นสมาชิกสำนักปฏิบัติธรรมสันติอโศก เป็นนักภาวนาผู้กินมังสวิรัติ และกินเพียงมื้อเดียว ทั้งๆ ที่ในอดีตเขาเป็นนายทหารยังเติร์ก จปร.รุ่น 7 ที่เคยกรำศึกสงครามในสนามรบมาอย่างโชกโชน เป็นผู้ก่อตั้งพรรคพลังธรรม เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนผู้นำ และเป็นประธานมูลนิธิกองทัพธรรม

ในอีกด้านหนึ่ง การออกมาแสดงตัวและประกาศยืนคนละข้างกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ของพล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นเสมือน “การไถ่บาป” เพราะตัวเขาเองเป็นผู้เชื้อเชิญให้ทักษิณ ชินวัตร เข้าสู่ถนนการเมืองจนถึงกับมอบตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังธรรมให้จนเป็นโอกาสให้ทักษิณ ชินวัตร สามารถเติบใหญ่ทางการเมืองจนถึงขนาดออกมาตั้งพรรคไทยรักไทยเอง และเป็นนายกรัฐมนตรีได้ในที่สุด

(3) สมศักดิ์ โกศัยสุข อดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย และเป็นผู้นำแรงงานที่โดดเด่นที่สุด ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 เขาคือ 1 ใน 7 ของแกนนำสมาพันธ์ประชาธิปไตย จึงผูกพันกับพล.ต.จำลอง ศรีเมืองมาอย่างยาวนาน เขาเป็นผู้รณรงค์คัดค้านการขายรัฐวิสาหกิจมาตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปัจจุบัน

(4) พิภพ ธงไชย หัวเรือใหญ่แห่งองค์กรภาคประชาชน ผู้ซึ่งได้รับความเชื่อมั่นนับถือจากเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอทั่วทั้งประเทศ เขาเป็นอดีตประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ผู้ยืนอยู่แถวหน้าของขบวนการเอ็นจีโอในประเทศไทย ด้วยบุคลิกที่มีความยืดหยุ่น มีความสามารถในการเจรจาสูง อีกทั้งได้รับการยอมรับในเรื่องของความซื่อสัตย์ ความเสียสละ และความจริงใจ ทำให้เขาก้าวขึ้นมาเป็นหัวเรือใหญ่ขององค์กรภาคประชาชนได้อย่างเต็มภาคภูมิ

(5) สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อดีตนักวิชาการภาคอีสานผู้ยืนหยัดเคียงข้างคนยากคนจน และได้เข้ามามีส่วนร่วมคิด ร่วมดำเนินการเกื้อหนุนการต่อสู้กับความอยุติธรรมรูปแบบต่างๆ ของพวกชาวบ้านตามท้องที่ต่างๆ มาโดยตลอด

หาก สนธิ ลิ้มทองกุล เป็นเหมือนสัญลักษณ์ต่อปัญหาเรื่องการคุกคามสื่อ และการปิดหูปิดตาประชาชนในระบอบทักษิณ

หาก พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นเหมือนสัญลักษณ์ต่อปัญหาความหลง ความลืมตัว และความโลภอย่างหน้ามืดตามัวในระบบทุนนิยมสามานย์ของระบอบทักษิณ

หาก สมศักดิ์ โกศัยสุข เป็นเหมือนสัญลักษณ์ต่อปัญหาการแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นของเอกชน และการ “ซื้อประเทศ” ซึ่งเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการ “ขายชาติ” ในระบอบทักษิณ

หาก พิภพ ธงไชย เป็นเหมือนสัญลักษณ์ต่อปัญหาการบิดเบือนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2540 และการปฏิรูปการเมืองของระบอบทักษิณ

ตัว สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ย่อมเป็นเหมือนสัญลักษณ์ต่อปัญหาการปฏิรูประบบราชการ และการกระจายอำนาจในระบอบทักษิณ

จะเห็นได้ว่า แกนนำทั้ง 5 คนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ข้างต้นได้สะท้อนตัวปัญหาอันเป็นวิกฤตของประเทศไทย ที่เนื่องมาจากระบอบทักษิณได้อย่างครอบคลุมและรอบด้าน เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกอะไรที่ทำไมแกนนำทั้ง 5 คนนี้จึงสามารถชี้นำมวลชนพันธมิตรฯ ได้อย่างมีพลัง สามารถก่อให้เกิดปฏิบัติการมวลชน โดยการ “เป่านกหวีด” เรียกระดมพลกองทัพพันธมิตรฯ จากทั่วประเทศให้ออกมาสำแดงพลัง ณ ใจกลางกรุงเทพมหานครได้ครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งในปี 2549 และในปี 2551

หากพิจารณาจากกำเนิดของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในต้นปี 2549 เอง จะเห็นได้ว่า สิ่งที่พันธมิตรฯ ต้องการและเป็นเป้าหมายของการต่อสู้ในเบื้องต้น คือ แค่ขับไล่รัฐบาลทักษิณออกไปเท่านั้น แต่ด้วยพลวัตแห่งการต่อสู้ของขบวนการพันธมิตรฯ เอง จึงค่อยๆ มีการยกระดับการต่อสู้ของพันธมิตรฯ จากแค่ขับไล่รัฐบาลทักษิณออกไป ไปสู่ การโค่นล้มระบอบทักษิณ ในที่สุด

แต่แม้กระนั้นก็ตาม เป้าหมายการก่อการของพันธมิตรฯ ก็ต่างไปจากเป้าหมายของ พคท.หรือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และก็ต่างไปจากเป้าหมายของสมัชชาคนจนที่เป็นการเคลื่อนไหวของการเมืองภาคประชาชนครั้งสำคัญในอดีต ทั้งนี้ก็เพราะว่า พันธมิตรฯ ไม่ได้ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเหมือนอย่าง พคท.ที่สมัยหนึ่งเคยมีความมุ่งมาดเช่นนั้น แต่เป้าหมายของพันธมิตรฯ ก็ไม่ใช่แค่ต่อต้านความไม่เป็นธรรม อันเนื่องมาจากนโยบายหรือโครงการต่างๆ ของภาครัฐเหมือนกับสมัชชาคนจนในอดีต

แต่ที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดก็คือ พันธมิตรฯ ต้องการที่จะกวาดล้างชำระความชั่วร้ายทางการเมืองในระบอบทักษิณ อันเป็นทุนนิยมสามานย์ โดยมีบุคคลอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาลของเขาหรือรัฐบาลนอมินีของเขาเป็นตัวแทน และเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนของเป้าหมายของพันธมิตรฯ ที่จะต้องต่อต้านและโค่นล้ม

ดูเหมือนว่า ปัญหาสำหรับตัวพันธมิตรฯ เองก็คือ การทำความเข้าใจในหมู่พี่น้องพันธมิตรฯ ด้วยกันเองถึง ความแตกต่างระหว่างการกำจัดรัฐบาลทักษิณ และรัฐบาลนอมินีของทักษิณกับการกำจัดระบอบทักษิณนั้น มันไม่เหมือนกัน จากการต่อสู้อย่างถึงที่สุดของพันธมิตรฯ ทั้งในปี 2549 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2551 ได้มีผลทำให้รัฐบาลทักษิณ และรัฐบาลนอมินีของทักษิณถูกกำจัดออกไปแล้ว หากกล่าวในความหมายนี้ พันธมิตรฯ ได้ประสบความสำเร็จอย่างงดงามทั้ง 2 ครั้ง ในการทำศึกโค่นรัฐบาลทักษิณ และรัฐบาลนอมินีของทักษิณ

ถ้าหากเป้าหมายการต่อสู้ของพันธมิตรฯ มีอยู่แค่การขับไล่ หรือการกำจัดรัฐบาลทักษิณ และรัฐบาลนอมินีของทักษิณออกไป ก็ย่อมอาจถือได้ว่าภารกิจของพันธมิตรฯ นั้น ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว จนสามารถกล่าวได้อย่างเต็มภาคภูมิว่า พวกเราได้บรรลุภารกิจนี้โดยสมบูรณ์แล้ว แต่ถ้าหากเป้าหมายการต่อสู้ของพันธมิตรฯ นั้น ได้ยกระดับไปอยู่ที่การกำจัดระบอบทักษิณ เราย่อมต้องประเมินตามตรงตามความเป็นจริงว่า ภารกิจของพันธมิตรฯ ยังไม่ได้บรรลุ เพราะก็อย่างที่เห็นๆ กันอยู่ว่า ซากเดนของระบอบทักษิณยังคงสำแดงฤทธิ์เดชของมันอยู่ แม้จนบัดนี้

คราวนี้ หากพวกเราตั้งคำถามต่อไปอีกว่า “ระบอบทักษิณ” ที่ว่านี้มันสิงสู่อยู่ ณ ที่ใด และมีอาณาเขตกว้างขนาดไหน คำตอบที่เราได้ก็คือ ระบอบทักษิณเป็นผลพวงล่าสุดของความผิดเพี้ยนในการพัฒนาประชาธิปไตยไทยตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา ภายใต้สังคมวัฒนธรรมแบบอุปถัมภ์ของการเมืองไทย จนทำให้ ระบอบทักษิณ ได้พัฒนาแบบกลายพันธุ์ จนเกิด ความเป็นรัฐอุปถัมภ์ภายใต้การครอบงำของทุนใหญ่สามานย์ที่แข็งแกร่งขึ้นมาได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยอาศัยกลไกจากแทบทุกองคาพยพในระบอบประชาธิปไตยเข้ามาค้ำจุนไว้ โดยเฉพาะระบบเลือกตั้ง และการสร้างฐานคะแนนเสียงด้วยการซื้อเสียง และการใช้นโยบายประชานิยม

นี่คือสิ่งที่พันธมิตรฯ เรียกมันว่า “การเมืองเก่า” ซึ่งลำพังแค่การสลับขั้ว เปลี่ยนรัฐบาลหันไปใช้บริการของนายกฯ รูปหล่อก็ไม่อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (change) ที่แท้จริงขึ้นมาได้ เพราะมันก็ยังอยู่ในเบ้าหลอมเดียวกันกับ รัฐอุปถัมภ์ ที่ได้หลอม ระบอบทักษิณ ออกมาก่อนหน้านั้นนั่นเอง

จึงเห็นได้ว่า หากเป้าหมายของพันธมิตรฯ นั้นอยู่ที่การโค่นล้ม กำจัดระบอบทักษิณจริง การกำจัดระบอบทักษิณของพันธมิตรฯ ย่อมหมายถึง การต้องเข้าไป “ล้างไพ่” การเมืองไทยครั้งใหญ่ทั้งระบบ หรือทำในสิ่งที่พันธมิตรฯ เรียกว่า “การเมืองใหม่” ให้ปรากฏเป็นจริงให้จงได้นั่นเอง ด้วยเหตุนี้ และด้วยเหตุแห่งพลวัตของเป้าหมายการต่อสู้และการเติบโตแห่งจิตสำนึกทางการเมืองครั้งใหญ่ของพี่น้องชาวพันธมิตรฯ จำนวนมหาศาลนี่เองที่ได้ทำให้เป้าหมายสุดท้ายของพันธมิตรฯ ใกล้เคียงกับเป้าหมายของพรรคปฏิวัติในอดีตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้จะไม่ถึงขั้นเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองก็ตาม

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ นับตั้งแต่ย่างเข้าสู่ปี 2552 เป็นต้นมา สถานการณ์ต่างๆ ในความเป็นจริงได้บีบคั้นพันธมิตรฯ ให้ต้องยกระดับ เป้าหมายการต่อสู้ของพันธมิตรฯ ให้มุ่งไปสู่ความต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมการเมืองอย่างแท้จริงขึ้นมาให้จงได้ เพราะมันเป็น ปฏิบท (paradox) ทางประวัติศาสตร์ ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไปแล้วว่า เพื่อที่จะบรรลุภารกิจขั้นต้นในการโค่นล้มระบอบทักษิณ พันธมิตรฯ จึงต้องเข้าไป “ล้างไพ่” การเมืองไทยครั้งใหญ่ทั้งระบบด้วยน้ำมือของพันธมิตรฯ เอง

และนี่คือ เหตุผลสำคัญที่สุดและเป็นความจำเป็นทางประวัติศาสตร์อย่างที่สุดที่พันธมิตรฯ จะต้องมีพรรคการเมือง หรือสร้างพรรคการเมืองของตัวเองขึ้นมา เพื่อบรรลุภารกิจดังกล่าว





 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้