40. พันธมิตรฯ รำลึก ว่าด้วยพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ (ต่อ)
พี่น้องชาวพันธมิตรฯ ที่รัก พรรคการเมืองของพวกเราต้องเป็น พรรคอุดมการณ์... อุดมการณ์ที่หมายถึง ศาสตร์แห่งความคิดทางการเมือง และหมายถึง ระบบชุดความคิดซึ่งจะกลายมาเป็นรากฐานให้แก่การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีการจัดตั้งอย่างเป็นขบวนการ ด้วยเหตุนี้ อุดมการณ์จึงต้องเป็นสิ่งที่สามารถนำเสนอ ระบบคิด ที่สามารถวิเคราะห์ อธิบายสภาพของสังคมการเมืองที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันได้ คือ ต้องมี โลกทัศน์
แต่แค่นั้นยังไม่พอ อุดมการณ์ยังต้องสามารถนำเสนอต่อไปอีกด้วยว่า สังคมการเมืองที่พึงปรารถนาในอนาคตนั้นเป็นเช่นไร คือ ต้องมี วิสัยทัศน์ ประกอบด้วย และนอกจากนี้ อุดมการณ์ยังต้องสามารถชี้นำได้ด้วยว่า จะมี แนวทาง หรือวิธีการในการปฏิบัติเพื่อให้ได้มาซึ่งสังคมการเมืองอันพึงปรารถนานั้นได้อย่างไร
เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่พวกเราจะร่วมกันสร้างพรรคการเมืองของพวกเราให้เป็น พรรคอุดมการณ์ ที่ทรงพลังขึ้นมาได้นั้น กล่าวโดยถึงที่สุดแล้วก็คือ การสร้างและนำเสนอ ระบบชุดความคิด ที่ทรงพลังชุดหนึ่งขึ้นมา โดยมีทั้งโลกทัศน์ วิสัยทัศน์ และแนวทางในการบรรลุ “สังคมใหม่” กับ “การเมืองใหม่” ที่พวกเราพึงปรารถนาร่วมกันนั่นเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ อุดมการณ์ทางการเมืองของพวกเรา จึงต้องมี นิเวศวิทยาการเมือง (political ecology) มาเป็นองค์ประกอบหลักอันหนึ่งที่สำคัญ แม้ว่าจะไม่ใช่องค์ประกอบทั้งหมดของอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคเราก็ตาม ทั้งนี้ก็เพราะว่า เมื่อพิจารณาการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในระดับโลกที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน
การเคลื่อนไหวเพื่อ “การเมืองใหม่” ของขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนถึงขนาดก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) ของพวกเราเองขึ้นมา ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์ (paradigm shift) ในระดับโลกที่กำลังเกิดขึ้น และแสดงออกมาในทางการเมืองภายใต้บริบทที่เป็นเอกลักษณ์ และมีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของสังคมไทยเท่านั้น
เมื่อเป็นเช่นนี้ ในการนำเสนออุดมการณ์เพื่อ “การเมืองใหม่” ของพวกเรา และของพรรคเรา จึงควรตระหนักด้วยว่า พวกเรากำลังเคลื่อนไหวทางการเมืองภายใต้เงื่อนไขที่เกือบทุกด้านของชีวิตเรากำลังตกอยู่ภายใต้ผลกระทบจากวิกฤตโลกหลากมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิกฤตจากการพังทลายของสิ่งแวดล้อมกับวิกฤตจากสภาวะโลกร้อน ซึ่งเกี่ยวพันถึงความอยู่รอดของมนุษยชาติโดยรวมในอนาคตอันใกล้ “การเมืองใหม่” และ “สังคมใหม่” ที่พวกเราเรียกร้อง จึงไม่ใช่แค่เรื่องของการสร้างสังคมที่เป็นธรรมยิ่งขึ้น สังคมที่ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน สังคมที่ปราศจากคอร์รัปชัน สังคมที่อยู่กันอย่างสันติ ฯลฯ เท่านั้น แต่ มันจะต้องเป็นสังคมที่ไม่ทำลายระบบนิเวศด้วย
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ความคิดเชิงนิเวศวิทยาจะต้องมาเป็นส่วนหนึ่งในระบบชุดความคิดทางการเมืองของพวกเรา และของพรรคเราในการให้ความหมายแก่ระบบเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม ที่พวกเรามุ่งที่จะทำการปฏิรูปครั้งใหญ่อย่างบูรณาการ เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางสังคมอย่างใหม่ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน รวมทั้งเกิดความสัมพันธ์อย่างใหม่ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติด้วย
พูดง่ายๆ ก็คือ พวกเราและพรรคของพวกเรา มุ่งมั่นที่จะทำการปฏิรูปครั้งใหญ่อย่างบูรณาการ เพื่อสร้าง “สังคมใหม่” ที่ทำให้มนุษย์อยู่เป็นเพื่อนกับธรรมชาติได้อย่างราบรื่น กลมกลืนยิ่งขึ้นกว่าเดิม มีชีวิตที่เรียบง่าย และมีความสุขขึ้นกว่าเดิม บริโภคใช้สอยทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า อย่างแค่พอเพียง มิใช่มุ่งบริโภคอย่างไม่มีขอบเขต
ขณะเดียวกัน ก็หันมาใช้เวลาและพลังงานของตนทุ่มเทให้แก่การแสวงหาความจริง ความดี และความงามของชีวิตเป็นสำคัญ เพื่อทำให้คนเราสามารถมีชีวิตอยู่อย่างมีความหมายแท้จริงมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น หลักการพื้นฐานของนิเวศวิทยาเชิงลึก (deep ecology) จะต้องกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของรากฐานทางปรัชญาการเมืองของพวกเรา และของพรรคการเมืองของพวกเรา
หลักการพื้นฐานของนิเวศวิทยาเชิงลึกนั้น มีอยู่ 3 ข้อใหญ่ๆ ด้วยกัน ดังต่อไปนี้
(1)ทุกชีวิตและทุกระบบที่เอื้อต่อชีวิต มีคุณค่าในตนเอง
หลักการข้อนี้ได้นำเสนอความสัมพันธ์อย่างใหม่ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติรอบตัว เพราะที่ผ่านมา ภายใต้อิทธิพลของวิทยาศาสตร์ และปรัชญาแบบวัตถุนิยม คนเรามักถือว่า ความอยู่ดีมีสุขของมนุษย์นั้นสำคัญ และเหนือกว่าชะตากรรมของสัตว์ พืช และธรรมชาติอื่นๆ อันเป็นโลกทัศน์ที่มองโลกแบบเอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง ซึ่งโลกทัศน์แบบนี้ไม่มีทางที่จะเข้าใจ และตระหนักรู้อย่างลึกซึ้งถึงความสำคัญของการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างบรรสานสอดคล้อง และไม่อาจเข้าใจได้ว่า มนุษย์นั้นจะต้องเรียนรู้การจัดระเบียบสังคม และการดำรงชีวิตจากธรรมชาติ ซึ่งอันที่จริง ภูมิปัญญาโบราณของตะวันออกได้เน้นย้ำถึงเรื่องนี้มาเป็นพันๆ ปีแล้ว เช่น ปรัชญาเต๋าของเล่าจื่อในคัมภีร์เต้าเต๋อจิง เป็น แต่คนเอเชียในยุคสมัยใหม่กลับหลงลืม และทอดทิ้งไม่สนใจภูมิปัญญาโบราณของบรรพบุรุษเราเอง
(2) ความหลากหลายและความซับซ้อนของรูปแบบชีวิต และวัฒนธรรมล้วนมีคุณค่าในตัวเอง และทำให้สรรพชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
หลักการข้อนี้ได้เสนอว่า ชีวิตในโลกใบนี้ เป็น ชีวิตร่วม หรือเป็น ชีวิตรวมหมู่ ของสิ่งมีชีวิตที่มีมากมายหลายชนิด และทุกชีวิตล้วนมีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเอง และวิวัฒนาตนเอง แต่ละชีวิตในทุกรูปแบบจึงมีคุณค่าในตัวของมันเอง โดยที่มนุษย์เป็นเพียงสมาชิกหนึ่งของ ชุมชนแห่งโลกธรรมชาติ อันกว้างใหญ่และมโหฬารนี้เท่านั้น
ดังนั้น มนุษย์จะต้องมองฐานะของตัวเองในท่ามกลางกระบวนการวิวัฒนาการของโลก และจักรวาลนี้ใหม่ว่า ตัวเองมิใช่เป็น “นาย” ของโลกธรรมชาติ เหมือนอย่างที่ได้เข้าใจผิดมาโดยตลอดในช่วงสามร้อยกว่าปีแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยมโลก เพราะแท้ที่จริงแล้วมนุษย์เป็นเพียงสมาชิกผู้หนึ่งในชุมชนโลกธรรมชาติเท่านั้นที่ควรสมัครใจ และเต็มใจอยู่ในชุมชนโลกธรรมชาตินี้อย่างเป็นมิตร
(3) เมื่อมนุษย์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของธรรมชาติ แต่ตัวมนุษย์กลับมีพลังในการทำลายธรรมชาติอย่างมหาศาล อันเนื่องมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด เพราะฉะนั้น มนุษย์จึงต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อธรรมชาติยิ่งกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นใดในโลกใบนี้
หลักการข้อนี้ได้เสนอว่า การที่มนุษย์ในยุคปัจจุบันได้เข้าไปแทรกแซง และมุ่งพิชิตธรรมชาติมากเกินไป จนก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตหลากหลายรูปแบบ และต่อระบบนิเวศซึ่งคอยค้ำจุนสรรพชีวิตบนโลกใบนี้ ทำให้สถานการณ์สิ่งแวดล้อมย่ำแย่ลงอย่างรวดเร็วจนน่าตระหนก ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งบริโภคอย่างล้างผลาญ อย่างไม่บันยะบันยัง และอย่างไม่คำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม และสภาพภูมิอากาศของโลก
เพราะฉะนั้น ในระยะยาวจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่มนุษยชาติจะต้องเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ และระบบคิดของตนให้มีลักษณะบูรณาการยิ่งขึ้น และหลากมิติยิ่งขึ้น ทั้งในด้านนโยบาย และในด้านโครงสร้างทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ทางสังคม ทางเทคโนโลยี ทางวัฒนธรรม และทางจิตสำนึกให้จงได้
โดยที่ การเปลี่ยนแปลงเชิงกระบวนทัศน์ที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือ การเปลี่ยนแปลงจากข้างในจิตใจของปัจเจก หรือเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงจิตวิญญาณในระดับปัจเจก กับการส่งเสริมให้ประชาชนที่มีจิตสำนึก และตื่นตัวแล้วมาร่วมมือกันทำงานร่วมกันในลักษณะที่เป็นชุมชน เพราะฉะนั้น การรณรงค์ส่งเสริม การสร้างสรรค์ชุมชน และการส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ตั้งอยู่บนหลักการของนิเวศวิทยาเชิงลึก จึงมีความจำเป็นอย่างมาก เพื่อที่จะสร้างทางเลือกใหม่ของการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้แก่สังคม เพราะนี่เป็นหลักการและแนวทางที่มุ่งจะอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมไปพร้อมๆ กัน
ขณะเดียวกัน ก็เป็นการมุ่งที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของอารยธรรมปัจจุบันที่สุดโต่งในทางวัตถุนิยม และบริโภคนิยมมากเกินไป ให้กลายเป็นอารยธรรมที่มีสมดุลระหว่างวัตถุกับจิตใจมากขึ้นกว่าเดิม ขณะเดียวกัน ก็เกื้อกูลต่อชีวิตในทุกๆ มิติมากขึ้นกว่าเดิม
นโยบายของพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) ของพวกเราที่สะท้อนถึงอุดมการณ์แบบนิเวศวิทยาการเมือง และสามารถผลักดันได้เลยนั้น ได้แก่
(1) นโยบายสนับสนุนการเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน (renewable energy) ซึ่งได้แก่ พลังลม พลังแสงอาทิตย์ พลังงานจากชีวมวล พลังความร้อนใต้พิภพ และพลังน้ำให้มีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้พลังงานฟอสซิล (น้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน)
(2) นโยบายสนับสนุนระบบเกษตรกรรมทางเลือกประเภทต่างๆ ให้มีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับระบบเกษตรกรรมสมัยใหม่
หากพรรคของพวกเราน้อมนำ อุดมการณ์ และหลักการของนิเวศวิทยาการเมืองเข้ามาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอันหนึ่งในอุดมการณ์ของพรรคแล้ว มันจะก่อให้เกิดผลสะเทือนข้างเคียงที่คาดไม่ถึงในเชิง “การปฏิบัติการเรียนรู้” หรือ “การเรียนรู้แบบใหม่” ขึ้นในหมู่ผู้คนที่เข้ามาทำงานให้พรรคของพวกเราตามอุดมการณ์ของพรรคเราอย่างหลีกเลี่ยงได้ยากด้วย
เพราะในการจะศึกษานิเวศวิทยาเชิงลึกให้ได้ผล มันจะต้องเป็นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ความรู้สึกอย่างเป็นองค์รวมของผู้นั้น และจะต้องมีลักษณะของการเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ธรรมชาติ และวัฒนธรรมร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ โดยผ่าน กิจกรรมสนองคุณผืนแผ่นดิน รูปแบบต่างๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดความตื่นตัว และความตระหนักรู้ขึ้นในหมู่ผู้คนที่เข้ามาร่วม