41. พันธมิตรฯ รำลึก ว่าด้วยพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ (ต่อ)
พี่น้องชาวพันธมิตรฯ ที่รัก พรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) ของพวกเราคือแสงดาวแห่งความหวังในท่ามกลางความมืดมนของระบบพรรคการเมืองไทยที่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของ ธนาธิปไตย (money politics) ด้วยเหตุนี้ การเมืองของพวกเรา จึงต้องเป็นการเมืองทางเลือก เพื่อเป็น ทางรอด ให้แก่สังคมนี้ที่กำลังเผชิญกับโคตรวิกฤตแห่งวิกฤตอย่างรอบด้าน
การเมืองที่เป็น การเมืองทางเลือก ของพรรคเรา จะต้องไม่มุ่งเน้นเฉพาะ “ภายนอก” เท่านั้น แต่จะต้องให้ความสำคัญกับ “ภายใน” อย่างเท่าเทียมกันด้วย เพราะ ต่อให้การเป็นการเมืองที่มุ่งเน้นเฉพาะภายนอกที่ว่านั้น เป็นการเมืองที่เอาธรรมชาติเป็นใหญ่แบบนิเวศวิทยาเชิงลึก หรือเอาสังคมเป็นใหญ่แบบสวัสดินิยม หรือสังคมประชาธิปไตยที่มุ่งลดช่องว่างความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจของผู้คนในสังคมก็ตาม ซึ่งทั้งอุดมการณ์แบบนิเวศวิทยาเชิงลึก และสังคมประชาธิปไตยจะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคเราก็จริง แต่แค่นี้หาเป็นการเพียงพอไม่
เพราะการเมืองที่มุ่งเน้น ภายนอก แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ว่าจะพยายามแค่ไหน ย่อมนำไปสู่ความล้มเหลวทั้งสิ้น เนื่องจาก การเมืองที่มุ่งแต่ภายนอก แบบนี้ ยังไม่ก่อให้เกิดสันติภาวะขึ้นภายในตัวตนของผู้คนที่มุ่งหวังจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงขึ้นในสังคม เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะผู้นั้นยังไม่สามารถประสานหัวสมองให้เข้ากับหัวใจ ยังไม่สามารถปรองดองความเป็นนักอุดมคติกับความเป็นนักปฏิบัติที่ยืนอยู่บนความเป็นจริงได้อย่างลงตัว ยังไม่สามารถประสานความคิดอันสูงส่งให้เข้ากับความรักความเมตตาต่อสรรพชีวิตจนเกิดเป็นปัญญาที่จริงแท้อันเป็นพลังเชิงบวกอย่างถึงที่สุด ที่ก่อให้เกิดทั้งความเข้าใจต่อสรรพสิ่ง และเกิดความกรุณาอาทรต่อกันและกันได้
กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ แนวทางทางการเมืองของพรรคเรา จะต้องไม่แยกเรื่องธรรมะออกจากเรื่องเศรษฐกิจการเมือง ไม่แยกเรื่องสุขภาวะแบบองค์รวม หรือเรื่องจิตวิญญาณออกจากเรื่องเศรษฐกิจการเมืองเหมือนอย่างที่จะต้องไม่แยกเรื่องธรรมชาติ หรือเรื่องสิ่งแวดล้อมระบบนิเวศออกจากเรื่องเศรษฐกิจการเมือง นั่นเอง ด้วยเหตุนี้ แนวทางทางการเมืองของพรรคเรา จึงต้องเป็น การเมืองเชิงบูรณาการ (integral politics) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อะไรคือ การเมืองเชิงบูรณาการ? ซึ่งจะต้องเป็นแนวทางทางการเมืองของพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ เพื่อบรรลุเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ และสูงส่งของพวกเรา ก่อนอื่นพวกเราจะต้องเข้าใจความหมายของคำว่า “บูรณาการ” ให้ตรงกันเสียก่อน คำว่า บูรณาการ นี้ พวกเราหมายถึง ความพยายามทั้งหลายทั้งปวงในการสังเคราะห์ และผนวกเอามิติต่างๆ ทุกมิติที่มีความหมาย และนำเอามาประยุกต์ใช้กับการกระทำของมนุษย์ทุกประเภท และทุกระดับจิต ไม่ว่าจะประยุกต์ใช้ในเชิงทฤษฎี เชิงนโยบาย หรือเชิงปฏิบัติการก็ตาม เพื่อผลักดันวิวัฒนาการของมนุษย์ สังคม และจักรวาลโดยรวมให้รุดหน้ายิ่งๆ ขึ้นไปกว่าเดิม
ด้วยเหตุนี้ ความพยายามแบบบูรณาการ จึงเป็นแรงผลักดันหรือแรงขับเคลื่อนที่สำคัญยิ่งต่อการยกระดับวิวัฒนาการทั้งของปัจเจก และของกลุ่มให้ก้าวรุดหน้าต่อไปได้อย่างไม่หยุดยั้ง โดยที่ แนวทางแบบบูรณาการ นั้น มุ่งเน้นไปที่การยกระดับจิตสำนึกทั้งของปัจเจก และของกลุ่มเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่มีสมดุล และเปี่ยมไปด้วยสุขภาวะในทุกมิติของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นมิติส่วนบุคคล มิติทางวัฒนธรรม มิติทางสังคม และมิติทางการเมือง
แนวทางแบบบูรณาการ จึงให้ความสนใจกับ ทุกปฏิสัมพันธ์และปฏิสังสรรค์ของทุกสิ่งทุกเรื่องอย่างเป็นองค์รวม ทำให้ ทุกๆ แง่มุมของการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นแง่มุมทางการเมือง ทางจิตวิทยา ทางสังคม ทางเศรษฐกิจ และทางนิเวศวิทยา ล้วนเป็นแง่มุมที่ แนวทางแบบบูรณาการ ล้วนให้ความใส่ใจทั้งสิ้น เพราะไม่มีแง่มุมใดเลยที่ไม่ใช่การกระทำของมนุษย์ และไม่ใช่ความพยายามของมนุษย์ ซึ่งย่อมมีทั้งผิด-ถูก ดี-ชอบ ชั่ว-เลว
จุดยืนและหลักการที่สำคัญยิ่งของแนวทางแบบบูรณาการก็คือ การให้ความใส่ใจและเคารพต่อความจริงที่หลากหลาย หลากมิติ และประเมินคุณค่าความหลากหลายเหล่านั้นอย่างเสมอภาคกันด้วยบรรทัดฐานที่เหมาะสมกับความจริงประเภทนั้นๆ (จุดยืนและหลักการแบบพหุนิยมอย่างสัมพัทธ์)
ส่วนคำว่า “การเมือง” ในทัศนะของภูมิปัญญาแบบบูรณาการนั้น มีความหมายกว้างกว่าความเข้าใจโดยทั่วไปที่มองแค่ว่าการเมืองเป็นเรื่องของพรรคการเมือง รัฐบาล และการใช้อำนาจรัฐเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่พวกเรามองว่า การเมืองเป็นเรื่องของวิถีทางต่างๆ ที่คนเราหรือผู้คนใช้ชีวิตและทำงานร่วมกัน หากกล่าวตามความหมายนี้ “การเมือง” จะต้องเป็นเรื่องที่ครอบคลุมทุกระดับและทุกขนาด ตั้งแต่ระดับปัจเจกชนไปจนถึงระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับโลกเลยทีเดียว
ไม่แต่เท่านั้น “การเมือง” จะต้องครอบคลุมไปทั่วทุกปริมณฑล ทั้งที่เป็น ส่วนตัว และที่เป็น สาธารณะ ทั้งที่เกี่ยวกับสถาบัน สุขภาพ การศึกษา เศรษฐกิจ สังคม ศาสนา และวัฒนธรรมอีกด้วย เนื่องจาก “การเมือง” เป็นเรื่องของการนำเสนอ “แนวทาง” ในการทำให้ผู้คนสามารถใช้ชีวิต และทำงานร่วมกันอย่างมีสันติประชาธรรมได้นั่นเอง
เพราะฉะนั้น การเมืองเชิงบูรณาการ ซึ่งจะต้องเป็น “แนวทาง” ของพรรคเรา จึงเป็น แนวทางเพื่อการยกระดับและพัฒนา “ตัวตน” ของปัจเจกอย่างเป็นองค์รวม (the whole self) รวมทั้งพัฒนา “ชุมชน” อย่างเป็นองค์รวม อีกทั้งพัฒนา “โลกใบนี้” อย่างเป็นองค์รวมด้วย โดยให้ความสำคัญกับองค์ความรู้ที่หลากหลายอย่างเสมอภาคกัน ในการผลักดันนโยบายและปฏิบัติการหลากมิติไปพร้อมๆ กัน
โดยมุ่งพัฒนาไปตามทิศทางการวิวัฒนาของโครงสร้างที่เป็นระดับชั้นของจิต หรือมีม (meme) ซึ่งจิตของปัจเจกแต่ละคนจะมีวิวัฒนาการจาก มีมสีเบจ (จิตแบบ sensoriphysical) ไปสู่ มีมสีม่วง (จิตแบบ phantasmic-emotional) ไปสู่ มีมสีแดง (จิตแบบ rep-mind) ไปสู่ มีมสีน้ำเงิน (จิตแบบ conop) ไปสู่ มีมสีส้ม (จิตแบบ formop) ไปสู่ มีมสีเขียว (จิตแบบ vision-logic) ไปสู่ มีมสีเหลือง (จิตแบบ vision-logic ขั้นสูง) และไปสู่ จิตอริยะ (จิตแบบ transpersonal) ในที่สุด (รายละเอียดเกี่ยวกับ โครงสร้างวิวัฒนาการของจิตมนุษย์ จะกล่าวอีกตอนในภายหลัง)
การเมืองเชิงบูรณาการ มีลักษณะเด่นหลักๆ อยู่ 2 ประการคือ
ประการที่หนึ่ง การเมืองเชิงบูรณาการ จะให้ความใส่ใจเป็นพิเศษกับการมุ่งผลักดันส่งเสริมให้ ประชาชนทุกคน ได้มี โอกาส ในการ พัฒนาศักยภาพความสามารถของตนอย่างเต็มที่จนถึงขีดสุด เท่าที่คนผู้นั้นจะสามารถพัฒนาตนเองได้ในชีวิตนี้ โดยที่โอกาสนี้จะต้องได้มาอย่างเท่าเทียมกันอย่างเคารพต่อเจตจำนงเสรีของปัจเจกผู้นั้น และอย่างเต็มไปด้วยสำนึกในความรับผิดชอบที่ตนพึงมีหลังจากได้รับโอกาสนั้นไปแล้ว
ประการที่สอง การเมืองเชิงบูรณาการจะอาศัย “การคิดแบบบูรณาการ” (integrative thinking) ซึ่งสะท้อน ระดับจิต ของผู้นั้นเป็นสำคัญในการผลักดัน “แนวทาง” ของตน เราจะต้องยอมรับความจริงและข้อเท็จจริงที่ว่า การเมืองมิได้ดำรงอยู่ในสุญญากาศ แต่การเมืองมันแนบแน่นอยู่กับทุกเรื่องที่เป็นความสนใจของสาธารณะในทุกระดับ และทุกขนาดอยู่แล้ว
เพราะฉะนั้น การเมืองเชิงบูรณาการจึงต้องเริ่มต้นจากความจริงที่เป็นอยู่ของประเทศนั้นหรือของสังคมนั้น แล้วจึงใช้การคิดแบบบูรณาการเข้าไปทำการยกระดับจิตสำนึก และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนกลุ่มต่างๆ ทุกกลุ่ม ให้สามารถมีวิวัฒนาการอย่างเป็นลำดับไป ตามขั้นตอนของโครงสร้างแห่งจิต ของผู้คนเหล่านั้น โดยผ่าน การปฏิรูปเชิงบูรณาการ (integral reform) ซึ่งเป็นนโยบายและปฏิบัติการหลากมิติต่างๆ ภายใต้ ฐานคิดแบบบูรณาการ ที่ออกมาจาก ระดับจิตของผู้นำแบบบูรณาการ (integral leader) ที่มีระดับจิตในขั้น มีมสีเหลือง หรือ จิตแบบ higher vision logic ขึ้นไป
ไม่ต้องเป็นที่สงสัยเลยว่า การกำเนิดขึ้นของพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) ของพวกเราชาวพันธมิตรฯ คือ การเริ่มต้นการเมืองเชิงบูรณาการของพวกเราจากความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ที่เป็นอยู่ในประเทศของเรา นั่นเอง วิสัยทัศน์แห่งการเมืองเชิงบูรณาการ (integral political vision) ของพวกเราและของพรรคเรา จะต้องเป็น วิสัยทัศน์ที่จะ “ก้าวข้าม” การเมืองแห่งการแบ่งแยกเป็นสี ให้จงได้ในที่สุด
พรรคของเรา แม้จะเริ่มต้นจากขบวนการเสื้อเหลืองก็จริง แต่ภายใต้วิสัยทัศน์แห่งการเมืองเชิงบูรณาการ พรรคของเราจะวิวัฒนาการตนเองอย่างไม่หยุดยั้ง จนกระทั่งก้าวข้ามความเป็นเสื้อเหลือง และกลายเป็นพรรคของทุกคนในที่สุด
พรรคของพวกเราจะต้องมีความชัดเจน มุ่งมั่น และเด็ดเดี่ยวในการกอบกู้สังคมไทยของพวกเราให้กลับมาเป็นดินแดนแห่งผู้คนที่มีจิตใจงดงามอีกครั้ง และกลับมาเป็นชาติที่มีคุณลักษณะแห่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการร่วมกันสร้างชาติใหม่ให้จงได้... ชาติที่ปัจเจกชนล้วนผูกพันกันด้วยจุดหมายร่วมคือ เสรีภาพ และความเสมอภาคแห่งโอกาสที่เปิดกว้างสำหรับทุกๆ คน
ด้วยเหตุนี้ พรรคของพวกเราจึงเป็น ผู้นำเชิงบูรณาการ ของสังคมนี้ที่จะนำพาผู้คนทั้งประเทศหลุดพ้นจากห้วงเวลาอันมืดมนที่เป็นอยู่ในขณะนี้ให้จงได้