46.พันธมิตรฯ รำลึก ว่าด้วยพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ (ต่อ)
พี่น้องชาวพันธมิตรฯ ที่รัก การที่พรรคของพวกเราจะเอา “ธรรมนำหน้า” เพื่อทำงาน การเมืองเชิงลึก (deep politics) และ การเมืองชั้นสูง (higher politics) อันเป็น แก่นแท้ ของ “การเมืองใหม่” ที่ต้องเป็น การเมืองเชิงบูรณาการ (integral politics) ได้นั้น พวกเราทุกคนต้องมีความเข้าใจร่วมกันเสียก่อนว่า วิวัฒนาการของจิตมนุษย์ทุกคนนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในสังคมใดก็ตาม มันก็ต้องผ่านขั้นตอนวิวัฒนาการเชิงลึกจากจินตภาพ (image) ไปสู่สัญลักษณ์ (symbol) แล้วจึงไปสู่มโนทัศน์ (concept) แล้วจึงไปสู่กฎทางสังคม (rule) เสมอ โดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่า เนื้อหา ของมันจะแตกต่างกันไปตามบริบททางวัฒนธรรมที่หลากหลายเพียงใดก็ตาม แต่ในระดับของ โครงสร้างเชิงลึก แล้ว มันต้องเป็นเช่นนี้เสมอโดยไม่อาจย้อนศรได้ ไม่ว่าจะอยู่ในวัฒนธรรมใดหรือสังคมใดก็ตาม
ด้วยเหตุนี้ หน้าที่และภารกิจของผู้นำพรรคของพวกเรา ในโมเดลการพัฒนาเชิงบูรณาการนี้ก็คือ การเข้าไปช่วย “เร่ง” ให้กระบวนการผ่านพ้นแต่ละขั้นตอนของวิวัฒนาการทางจิตของผู้คนกลุ่มต่างๆ และปัจเจกที่มีระดับจิตต่างๆ กันให้สามารถมีพัฒนาการทางจิตได้อย่างราบรื่น ไม่ติดขัด ไม่ชะงักงัน โดยผ่านการให้ “ปัญญา” ให้การศึกษา อบรมชี้แนะการปฏิบัติ และการปฏิบัติการเรียนรู้จากระดับจิตขั้นที่ 6 หรือ vision logic ขึ้นไปเท่านั้น เพราะมีแต่ ผู้นำแบบบูรณาการ ที่มีระดับจิตสูงกว่าขั้นที่ 6 ขึ้นไปเท่านั้น จึงจะสามารถนำเสนอ “ทางเลือกใหม่” ที่แท้จริงให้แก่สังคมได้
ลำพังแค่ “ผู้นำ” แบบเก่าใน “การเมืองเก่า” ซึ่งส่วนใหญ่มีระดับจิตขั้นที่ 5 formop มันไม่สามารถนำพาประเทศไทยไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่นี้หรอก เพราะการเมืองใหม่ที่เป็นการเมืองชั้นสูงอย่างแท้จริง จะมิใช่การเมืองเชิงการตลาดที่ผิวเผินเหมือนอย่างที่ผ่านมาอีกต่อไป การเมืองใหม่แบบนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยน้ำมือและการนำของเหล่าปัญญาชนออแกนิกของพรรคของพวกเราที่มาจากวงการต่างๆ และมีระดับจิตขั้นที่ 6 ขึ้นไปเท่านั้น
ความสำเร็จหรือความล้มเหลวของพวกเราในการสร้างการเมืองใหม่ที่เป็นการเมืองชั้นสูง และเป็นรูปการขั้นปฐมของ “การเมืองฝ่ายเบื้องบน” จึงขึ้นอยู่กับว่า พวกเราและพรรคของเราจะสามารถนำเสนอ และผลักดัน นโยบายปฏิรูปเชิงบูรณาการ ต่างๆ ที่จะไปช่วยเร่งกระบวนการผ่านพ้นแต่ละขั้นตอนของวิวัฒนาการทางจิตของผู้คนกลุ่มต่างๆ ในสังคมไทยให้ดำเนินไปได้อย่างราบรื่นเพียงไหน และตลอดรอดฝั่งหรือไม่นั่นเอง เพื่อการนี้ พวกเราจำเป็นจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ละครแห่งชีวิตของ “ตัวตน” (self) กับกลไกการยกระดับขั้นตอนทางจิต ให้กระจ่างยิ่งขึ้นกว่าเก่าเสียก่อน
เราได้กล่าวไปแล้วเกี่ยวกับบันได ตัวตน ผู้ปีนบันไดและทิวทัศน์ในวิวัฒนาการทางจิตของปัจเจก สิ่งที่พึงตระหนักในเรื่องนี้ก็คือว่า ลำพังแค่การมี “บันได” เป็นขั้นๆ หรือมีแค่โครงสร้างเชิงวิวัฒนาการของจิต มันยังไม่เป็น และไม่ก่อให้เกิด “ละครแห่งชีวิต” ของตัวตน หรือเกิด “เรื่องราวแห่งชีวิต” ของปัจเจกและของกลุ่มคนขึ้นมาได้ มันยังจำเป็นต้องมีผู้ปีนบันได หรือตัวตน (self) ที่ไต่บันไดแห่งวิวัฒนาการทางจิตของตนขึ้นไปตาม “บันได” นั้นด้วยจึงจะทำให้เกิดละครแห่งชีวิตที่หลากหลายขึ้นมาแบบ “ร้อยเนื้อทำนองเดียว” ในความหมายที่ว่า แม้เนื้อหาแห่งชีวิตของผู้คนจะต่างกันแค่ไหนก็ตาม แต่ในระดับของโครงสร้างเชิงลึกแล้ว ก็ยังคงเป็นเรื่องของตัวตนผู้ปีนบันไดที่ไต่บันไดแห่งวิวัฒนาการทางจิตเหมือนเดิม และเหมือนกันอยู่ดี
ใน “ละครแห่งชีวิต” บางเรื่อง...บางคนอาจก้าวพลาดตกบันได (ป่วยทางจิต) บางคนอาจย่ำอยู่กับที่ (เติบโตถึงจุดหนึ่งแล้วไม่เติบโตอีกเลยจนวันตาย) บางคนอาจก้าวพลาด (ป่วยใจ) แล้วเลิกปีนต่อ (ท้อแท้ หดหู่ หรือหมดไฟ) บางคนอาจทำร้ายตนเอง (ฆ่าตัวตายทางตรงหรือทางอ้อม) บางคนเคยก้าวพลาด แต่สามารถเยียวยาตนเองได้แล้วก้าวปีนต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ (มีการพัฒนาต่อ) และก็ยังมีบางคนที่เป็นคนจำนวนน้อยนิดที่สามารถไต่ไปได้จนถึงบันไดขั้นสูงสุด (บรรลุธรรม)
ขณะที่บางคนยังวนเวียนอยู่กับขั้นเดิมๆ มาไม่รู้กี่ปีกี่ชาติแล้ว...ชีวิตของคนเรา ย่อมหนีไม่พ้นที่จะคล้ายคลึงกับเรื่องราวใด เรื่องราวหนึ่งในละครแห่งชีวิตข้างต้นนี้ โดยจะแตกต่างกันในรายละเอียดเท่านั้น
พี่น้องเห็นหรือยังว่า “ตัวตน” (self) ของผู้ปีนบันไดนี้ต่างหากที่ทำให้เกิด “ละคร” หรือ “เรื่องราว” ขึ้นมาในวิวัฒนาการทางจิต มิใช่ตัวบันไดเอง ละครหรือเรื่องราวของพันธมิตรฯ และพรรคของพันธมิตรฯ พี่น้องก็ต้องทำความเข้าใจจากมุมมองนี้ด้วย เพื่อที่พี่น้องจะได้รู้จักตนเองจนกระทั่งแจ่มแจ้งในตนเอง ด้วยการมองเห็นอย่างทะลุปรุโปร่งว่า “ตัวตน” ผู้ปีนบันได เป็นสิ่งที่ต่างไปจากตัวบันไดตรงที่มันมี “ตัวรู้” หรือมีตัวตนที่สามารถรับรู้เกี่ยวกับตัวเองได้
โดยที่ ถ้าตัวตน หรือจิต (ในความหมายที่เป็น “อัตตา”) มันเอาตัวเองเข้าไปแนบแน่นเป็นหนึ่งเดียว (identify) กับขั้นตอนของจิตในระดับใด มันก็จะติดอยู่กับจิตระดับนั้นไปตลอดจนกว่าตัวตนนั้นจะมีปัญญาเห็นซึ้งถึงขีดจำกัด และข้อจำกัดแห่งตัวตนของตนในจิตระดับนั้น จนเกิดความหน่ายคลาย เลิกแนบแน่น เลิกละการเป็นหนึ่งเดียวกับขั้นตอนนั้นของจิตระดับนั้นได้ ตัวตนนั้นถึงจะสามารถวิวัฒนาการไปสู่ขั้นตอนที่สูงกว่าในระดับจิตขั้นต่อไปได้
จะเห็นได้ว่า พัฒนาการของจิตเป็นเรื่องของการเลิก ละ หน่ายคลายความยึดมั่นถือมั่น และการก้าวข้ามขั้นตอนหนึ่งไปสู่อีกขั้นตอนหนึ่งเสมอในโครงสร้างเชิงวิวัฒนาการของจิต สิ่งที่จะกำหนดทิศทางของตัวตนในแต่ละขั้นตอนของพัฒนาการของจิตทั้งของปัจเจก และของกลุ่มว่าจะพัฒนาไปในทิศทางไหน หรือจะปีนป่ายบันไดในลักษณะอย่างไร ด้วยอาการใด จึงขึ้นอยู่กับ จิตสำนึกแห่งการเลือกของตัวตนนั้น ว่าจะเลือกอะไร และเลือกอย่างไร เสมอในทุกเรื่องทุกปัญหาที่ประดังเข้ามาในชีวิต เพราะพลังแห่งการเลือกจะทำให้ตัวตนนั้น “ก้าวผ่าน” ทางแพร่ง หรือ จุดค้ำ (fulcrum) ซึ่งเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อในแต่ละขั้นบันไดของวิวัฒนาการของจิตไปได้อย่างราบรื่น โดยที่จุดค้ำทุกอันจะมีโครงสร้างที่ประกอบด้วย 3 ส่วน (phase) เสมอ คือ
(1) ยึดติด (fusion/identification)
เมื่อ “ตัวตน” วิวัฒนาการไปสู่ขั้นตอนใหม่ของจิต ก่อนอื่นมันต้อง ยึดติด เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับระดับจิตของขั้นตอนนั้นเสียก่อน
(2) แยกตัว (differentiation/transcendence)
หาก “ตัวตน” จะพัฒนาต่อไปได้อีก มันต้องเริ่มเห็น ข้อจำกัดของระดับจิตที่ตัวเองเป็นอยู่เสียก่อน จนเริ่มคลายความยึดติด และคิด แยกตัว คิด ก้าวข้าม ขั้นตอนอันนั้นของจิต กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ จิตของตัวตนนั้น เริ่มไม่เป็นหนึ่งเดียวกับระดับของจิตขั้นตอนนั้น หรือเริ่มทำตน แตกต่าง ไปจากระดับจิตขั้นตอนนั้น จนคนรอบข้างของผู้นั้นจะรู้สึกได้ว่า คนผู้นั้น เปลี่ยนไป หรือ เพี้ยนไป ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว คนผู้นั้น กำลังเติบโตทางจิต ไปสู่อีกขั้นหนึ่งต่างหาก
(3) หลอมรวม (integration/inclusion)
ก่อนที่ “ตัวตน” จะพัฒนาไปสู่ขั้นตอนใหม่ หรือขั้นตอนที่สูงกว่าอีกได้ มันจะต้อง หลอมรวม ขั้นตอนก่อนหน้านี้เอาไว้ในตัวมันแบบบูรณาการด้วยถึงจะเป็นการเติบโตทางจิตของ “ตัวตน” ที่สมบูรณ์จริง โดยทั่วไประบบการศึกษา การเลี้ยงดูของครอบครัว บริบททางวัฒนธรรม สภาพแวดล้อมขององค์กรทางเศรษฐกิจ-สังคม (ที่ทำงาน และเวทีทางสังคม) จะเอื้ออำนวยให้แต่ละคนได้มีพัฒนาการทางจิตที่ก้าวผ่านจุดค้ำหลายจุดมาถึง ระดับจิตโดยเฉลี่ยของสังคม ได้ไม่ยากเย็นอยู่แล้ว
แน่นอนว่า ในการยกระดับขั้นตอนทางจิตจนถึงระดับเฉลี่ย (ขั้นที่ 5 formop) ในแต่ละคนก็ยังคงมี “ละครแห่งชีวิต” ของตัวตนผู้ปีนบันไดอยู่ดี ทั้งในช่วงวัยเด็ก ช่วงวัยรุ่น และช่วงวัยทำงาน เพราะมิใช่ว่าทุกคนจะผ่านการเลื่อนขั้นบันไดแต่ละขั้นได้อย่างราบรื่นหรอก ยิ่งถ้าฐานะทางบ้านของคนผู้นั้นยากจน ไม่สามารถส่งเสียให้เรียนถึงระดับปริญญาตรีได้ ครอบครัวแตกแยกไม่อบอุ่น คบเพื่อนเลว จบมาไม่มีงานทำ ฯลฯ ปัจจัยภายนอกเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อพัฒนาการทางจิตของคนผู้นั้นทั้งสิ้น
ยิ่งถ้าคนผู้นั้นคิดจะยกระดับขั้นตอนแห่งจิตของตนให้สูงกว่าระดับเฉลี่ยของสังคมหรือสูงกว่าระดับที่ 6 vision-logic ขึ้นไป มันจะไม่ใช่เรื่องเล่นๆ หรือเรื่องง่ายๆ อีกต่อไป เพราะแทบไม่มีปัจจัยภายนอกที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาระดับนี้ดำรงอยู่มากนักในสังคม ตัวชี้ขาดจะอยู่ที่ เงื่อนไขภายใน ของผู้นั้น ซึ่งได้แก่ ความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า ภูมิธรรม และภูมิปัญญาของคนผู้นั้นเป็นหลักเท่านั้น
อย่างไรก็ดี เราสามารถกล่าวได้กว้างๆ ว่า เหตุที่คนเราไม่สามารถ “เลื่อนขั้น” ทางจิตได้ ก็เพราะคนผู้นั้นไม่สามารถทำให้ จิต ของตน ไหลลื่น ไปตามกระบวนการ 3 ส่วน (ยึดติด-แยกตัว-หลอมรวม) ดังข้างต้นของจุดค้ำในแต่ละขั้นตอนของจิตได้อย่างเป็นไปเอง หรืออย่างเป็นธรรมชาติได้นั่นเอง
เหตุที่จิตของคนเราไม่อาจไหลลื่นอย่างเป็นอิสระตามธรรมชาติได้ ก็เพราะมีอุปทานหรือความไม่รู้ปิดกั้นจิตของตนเองเอาไว้ ทั้งนี้ก็เพราะว่า หากคนเรา เชื่อ (เป็นอันหนึ่งอันเดียว) ใน สิ่งหนึ่ง มากเกินไป ก็จะ ยึดติด อยู่กับระดับจิตนั้น จนไม่อาจวิวัฒนาการต่อไปได้ แต่ถ้าหากคนเรา ไม่เชื่อ (สร้างความต่างแยกตัวออก) ใน สิ่งหนึ่ง โดยไม่อาจ หลอมรวม สิ่งหนึ่งนั้นได้ ความไม่เชื่อนั้นก็จะกลายเป็นความยึดติดอีกแบบหนึ่งที่ทำให้ไม่อาจวิวัฒนาการทางจิตให้สูงไปกว่าระดับนั้นได้อีกเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ คนที่มีวิวัฒนาการทางจิตที่สูงส่งอย่างแท้จริง จึงเป็นคนที่สามารถบูรณาการ หรือสามารถหลอมรวม “ความเหมือน” กับ “ความต่าง” ได้เสมอ
ผู้นำเชิงบูรณาการ (integral leader) แห่งพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) ของพวกเรา ที่อาสาจะมาสร้างการเมืองใหม่ สร้างสังคมใหม่ให้แก่ประเทศนี้ จึงต้องเป็นผู้ตระหนักว่า คนเรานั้นมีทั้ง “ความเหมือน” และ “ความต่าง” ดำรงอยู่ในตัว โดยไม่ขัดแย้งกันเลย “ความเหมือน” ที่ว่านี้ คือ ความเหมือนกันในโครงสร้างเชิงลึก หรือโครงสร้างขั้นตอนที่เป็นบันไดของจิต กับ ความเหมือนกันในจุดค้ำ และกระบวนการ 3 ส่วนในการเลื่อนขั้นหรือขับเคลื่อนจิตจากจุดค้ำหนึ่งไปสู่อีกจุดค้ำหนึ่ง ส่วน “ความต่าง” ที่ว่านี้คือ ความต่างในระดับวิวัฒนาการของจิต ของผู้คนแต่ละคนกับ ความต่าง ในโลกทัศน์ และความต่างในการไหลลื่นในการผ่านพ้นกระบวนการ 3 ส่วนในจุดค้ำของแต่ละคน
ผู้นำแบบบูรณาการของพรรคเรา ย่อมเข้าใจ “ความเหมือน” และ “ความต่าง” ที่ดำรงอยู่ในจิตมนุษย์ทุกคนเป็นอย่างดี จิตใจของพวกเราจึงบังเกิดความอาทร และเมตตาต่อเพื่อนร่วมโลกทุกคน และตระหนักดีถึง ภารกิจทางการเมืองแบบพระโพธิสัตว์ ของพวกเขาว่า จักนำพาผู้คนทั้งหลาย ด้วยการ “ให้ปัญญา” เพื่อให้ผู้คนทั้งหลายสามารถยกระดับจิตของตนไปตามขั้นตอนวิวัฒนาการของจิตจนถึงที่สุดของมัน โดยไม่คิดเอาตัวรอดแสวงหาความหลุดพ้นเพียงลำพัง