5. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 5 เมื่อธรรมมีอยู่ ก็ต้องมีการประพฤติตามธรรมนั้น 30/5/49

5. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 5 เมื่อธรรมมีอยู่ ก็ต้องมีการประพฤติตามธรรมนั้น 30/5/49


พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 5)



5. เมื่อธรรมมีอยู่ ก็ต้องมีการประพฤติตามธรรมนั้น

"ตถาคตเป็นอรหันต์ ผู้ประกอบด้วยธรรม อาศัยธรรมอย่างเดียว สักการธรรม เคารพธรรม นอบน้อมธรรม มีธรรมเป็นธงชัย มีธรรมเป็นยอดธง มีธรรมเป็นอธิปไตย ย่อมจัดการอารักขาป้องกันและคุ้มครองโดยธรรม"

จาก "พุทธประวัติจากพระโอษฐ์"

โดย พุทธทาสภิกขุ

ในสายตาของคนทั่วไป พระหนุ่มอินทปัญโญอาจเป็นผู้ล้มเหลวทางสังคมคนหนึ่งเท่านั้นก็เป็นได้ เพราะในด้านหนึ่งเขาจากกรุงเทพฯ มาอย่างหมดท่า เนื่องจากสอบเปรียญ 4 ตก สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากตัวเขาเหลวไหลเอง เพราะตัวเขาอึดอัดใจกับการเรียนภาษาบาลีตามหลักสูตรสมัยนั้น ที่ต้องแปลตามระเบียบ แปลยกศัพท์ที่ชาวบ้านอ่านไม่รู้เรื่อง เขาจึงรู้สึกต่อต้าน เขามีความคิดของตัวเองว่า เขาอยากแปลพระไตรปิฎกภาษาบาลีออกมาเป็นภาษาไทยด้วยสำนวนของเขาเอง แปลอย่างอิสระตามความพอใจของเขา เพื่อให้เกิดความเข้าใจสื่อสารกันได้จริงสำหรับคนทั่วไป

เขาจึงต้องสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ด้วยลำแข้งของตัวเอง หลังจากล้มเหลวทางสังคมอย่างหมดท่า อย่างไม่มีอะไรน่ายินดี น่าพอใจ น่าพยายามปลุกปล้ำ เขาจึงคิดจะไปทำอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันจริงๆ เสียที โดยทดลองปฏิบัติธรรมวินัยที่ได้เล่าเรียนมาอย่างเป็นจริงเป็นจัง อย่างไปตายเอาดาบหน้า ยิ่งตัวเขาสิ้นหวังที่จะได้อะไรจากกรุงเทพฯ เท่าไหร่ เขาก็ยิ่งคาดหวังจะได้อะไรจากป่าในวัดร้างที่ตัวเขามาพำนักอยู่คนเดียวมากเท่านั้น

เมื่ออินทปัญโญหันมาทบทวนตัวเอง เขาก็ค้นพบว่า ตัวเขาเองเป็นคนที่ศึกษาด้วยตนเองทุกประเภทวิชา เขาเรียนแค่มัธยม 3 ยังไม่ทันได้สอบไล่ก็ต้องออกจากโรงเรียนกลางคันเพราะบิดาเสียชีวิตกะทันหัน จึงต้องออกมาช่วยงานบ้าน เขาจึงต้องเรียนเอาเองเรื่อยๆ จากหนังสือทั่วๆ ไป และจากหนังสือพิมพ์ ภาษาต่างประเทศอย่างภาษาอังกฤษ เขาก็ไม่รู้อะไรเลย เขาเพิ่งมาเรียนเอาโดยตนเอง เมื่อบวชแล้ว

แม้แต่ธรรมะ เขาก็เคยเรียนในโรงเรียนเพียงสองปีเท่านั้น จากนั้นก็เรียนลำพังเองแล้วไปขอสมัครสอบ จนได้นักธรรมทั้งสามชั้นแล้ว แต่ตัวเองก็ยังไม่รู้สึกว่ามีความรู้ทางธรรมเลย แม้แต่ภาษาบาลีเองซึ่งตามหลักสูตรจะต้องเรียนถึง 12 ปี เขาก็ได้เรียนในโรงเรียนเพียง 6-7 เดือนเท่านั้น แล้วไปเรียนกับอาจารย์ของตัวเองในกุฏิอีก 1 ปี จึงไปขอสมัครสอบก็สอบได้เปรียญตรี 3 ประโยค ปีต่อมาเขาไปสมัครสอบเฉยๆ จึงสอบตกเปรียญ 4 เพราะตัวเขาเบื่อเรียน

อินทปัญโญหันมาศึกษา บาลีด้วยตนเองอย่างจริงจังอีกครั้ง เมื่อเขามาเป็นพระป่าในวัดร้างตระพังจิกได้ไม่กี่เดือน เมื่อเขาเริ่มตระหนักว่า พอเขาเริ่มลงมือปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนาอย่างจริงจังในวัดร้างในป่านี้ ก็พบว่า ความรู้ทางธรรมเขาไม่เพียงพอ เขาเลยต้องค้นหาหลักเอาเอง เขาจึงหันกลับไปสนใจสิ่งที่เรียกว่าปริยัติอีกครั้ง แต่คราวนี้ไม่ใช่เพื่อไปเป็นนักปริยัติเหมือนพวกพระกรุงเทพฯ ที่เขารังเกียจจนจากมา แต่เขาเริ่มหันมาศึกษาพระไตรปิฎกภาษาบาลีอีกครั้ง เพื่อเก็บหลักธรรมมาสำหรับใช้ปฏิบัติในการตามรอยพระอรหันต์ เขาจึงต้องช่วยตัวเองด้วยการศึกษาจากพระไตรปิฎกด้วยตนเอง

เพราะในตอนนั้น ถึงจะมีพระไตรปิฎกแปลกันอยู่บ้าง แต่ก็น้อยมาก และก็ไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ ในสายตาของพระหนุ่มอินทปัญโญ พุทธศาสนาในเมืองไทยตอนนั้นเปรียบเหมือนบ่อน้ำใหญ่โตมหึมาที่ร้างหมักหมมมานาน จึงขาดความสะอาดและรสอร่อยไม่อวยผลให้ได้ดีอย่างเต็มที่ พุทธศาสนาในเมืองไทยกำลังต้องการความช่วยเหลือจากผู้ที่เสียสละและเด็ดเดี่ยว ซึ่งอินทปัญโญได้ตั้งจิตปณิธานอาสาที่จะแบกรับภารกิจอันยากลำบากนี้โดยเต็มใจ เพราะ ความสุขของเขาอยู่ที่การได้ศึกษาหาความรู้ทางธรรมใส่ตัว กับการได้ช่วยปลุกเขย่าให้เพื่อนร่วมโลกได้ตื่นตัว อามิสทางวัตถุและทางโลกไม่เคยช่วยให้ตัวเขามีความสุขเลย

ครั้นเมื่อตั้งต้นศึกษาพระไตรปิฎกภาษาบาลีด้วยตนเองอย่างจริงจัง อินทปัญโญก็พบว่า การจะค้นหาหลักธรรมเพื่อใช้ปฏิบัติในการตามรอยพระอรหันต์นั้น เป็นงานที่ยากกว่าที่เขาคาดคิดไว้มากมายนัก จนอาจเรียกได้ว่าเป็นงานที่ต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดแบบฝนทั่งให้เป็นเข็มก็ว่าได้ เพราะ พระไตรปิฎกที่มีอยู่ไม่ต่างไปจากคลังใหญ่ซึ่งปะปนซับซ้อนหมักหมมกันมานานมาก ผู้ที่มีเป้าหมายแน่วแน่อย่างเขาจึงต้องทำตนดุจ นักค้นคว้าที่คอยเลือกเฟ้น เก็บหอมรอมริบหลักวิชาต่างๆ ในพระไตรปิฎกตามวิธีการที่เป็นหลักวิชาการ เพื่อให้มีความรู้ที่ถูกต้องและชัดเจนจริง

มันจึงมิใช่เรื่องของการท่องจำได้แบบนกแก้วนกขุนทอง แต่ เป็นเรื่องของการแปรเปลี่ยนพระคัมภีร์ให้กลายเป็นหัวใจของพุทธธรรม ซึ่งเป็นงานที่ต้องกระทำอย่างประณีตช้า อย่างอดทนอย่างใจเย็นดุจงานศิลปะชั้นเลิศ ซึ่งการจะบรรลุความสำเร็จในงานชิ้นนี้ได้ ความตั้งใจจริง การทำอย่างละเอียดถี่ถ้วน และความแม่นยำหมดจดเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ซึ่งอินทปัญโญคิดว่าตัวเขาเองมีคุณสมบัติเช่นนั้นครบถ้วน เพราะ เขาเชื่อมั่นว่า ตัวเขาสามารถบังคับตัวเองให้ปลุกปล้ำอยู่กับพระไตรปิฎกตามแนวทางขั้นต้นได้เป็นปีๆ หรือหลายสิบปี ปล้ำปลุกกับพระไตรปิฎกนี้จนแหลกละเอียด จนกระทั่งพุทธธรรมอันแท้จริงสถิตอยู่ในตัวเขาอย่างมั่นคงถาวรได้

อินทปัญโญคิดต่างจากคนทั่วไป ขณะที่คนทั่วไปคิดแสวงหาอำนาจหรือความมั่งคั่ง แต่ ตัวเขากลับคิดแสวงหาตำแหน่งแห่งที่ที่ตัวเขาจะสามารถบรรจุตัวเองอยู่ในประวัติศาสตร์ของประเทศนี้ หรือของโลกได้ เขาไม่สนใจตำแหน่งอันดาษดื่นที่คนทั่วไปใฝ่ฝันกัน ไม่ว่าตำแหน่งผู้บริหาร นายพล เศรษฐี ดารา นักร้องมีชื่อ เป็นต้น

เขาเฝ้ามองหาช่องที่ยังว่างอยู่ ตำแหน่งที่ยากๆ แต่งดงาม อันเป็นตำแหน่งที่ยากเกินกว่าที่คนทั่วไปเขาจะเป็นได้จึงยังว่างอยู่ และตัวเขาได้พบช่องที่ยังว่างอยู่นั้นแล้วในพุทธศาสนาในเมืองไทย ซึ่งเป็นวิชาที่เขาเห็นว่ามีค่าสูงที่สุดเท่าที่จะเลือกเรียนได้แม้ว่าจะต้องใช้เวลาศึกษาเกือบทั้งชีวิต จนแก่เฒ่าถึงจะคว้าตำแหน่งนั้นมาได้ก็ตาม แต่ตัวเขาได้เห็นโอกาสนั้นแล้ว และไม่ลังเลใจที่จะคว้าโอกาสนั้นเพื่อ สถาปนาตัวตนของเขา ในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาของประเทศนี้ โดยเริ่มต้นจากงานเขียน "ตามรอยพระอรหันต์" ในปี พ.ศ. 2475 เดือนสิงหาคม ด้วยวัยเพียง 26 ปี และเริ่มแปล "พุทธประวัติจากพระโอษฐ์" จากภาษาบาลีในปี พ.ศ. 2477 เมื่ออายุ 28 ปี

ทิศทางของ "ตามรอยพระอรหันต์" กับ "พุทธประวัติจากพระโอษฐ์" ของอินทปัญโญนั้น เป็นทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ เพื่อค้นหาร่องรอยแห่งการปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้าโดยตรง เพื่อที่ตัวเขาและคนอื่นๆ ที่ได้อ่านงานเขียนงานแปลของเขาจะได้เจริญรอยตาม และประพฤติตามธรรมนั้น อินทปัญโญใช้งานเขียนงานแปลของเขา และการศึกษาพระไตรปิฎกเหล่านี้ เป็นเครื่องมือในการพัฒนาจิตวิญญาณของตัวเขาควบคู่ไปกับการฝึกเจริญสมาธิภาวนาของเขา เพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดในชีวิตของเขา เขาคือผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุดจากงานเขียนงานแปลของเขาเอง เขาอยู่ในป่าตามลำพังก็จริง แต่มีกองหนังสือท่วมหัว จนแทบเรียกได้ว่ามีหนังสือมากกว่าที่ผู้อื่น

เขามีกันทั้งอำเภอที่เขาอยู่เสียอีก ถึงแม้เขาจะเก็บตัวอยู่ในที่ห่างไกลจากความเจริญทางวัตถุก็จริง แต่สายตาความรอบรู้ของเขากลับกว้างไกลอย่างยากที่จะหาผู้ใดเปรียบในยุคสมัยเดียวกัน เขาไม่จำกัดตัวเองแค่การศึกษาพุทธศาสนาเท่านั้น เขาศึกษาวิชาต่างๆ อย่างกระตือรือร้น ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ จิตวิทยา วรรณคดี วิทยาศาสตร์ ปรัชญา แต่ศูนย์รวมจิตใจและความสนใจของเขาก็ยังคงเป็นพุทธศาสนาอยู่ดี

โลกของอินทปัญโญจึงเป็นโลกแห่งนามธรรมยิ่งกว่าโลกแห่งรูปธรรม
แม้ในโลกรูปธรรมทางวัตถุ เขาจะขัดสน แต่ในโลกนามธรรมซึ่งครอบครองชีวิตจิตใจของเขาเป็นส่วนใหญ่ กลับเต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ มั่งคั่งไปด้วยธรรมะ เพราะ ธรรมะแต่ละข้อและเรื่องราวแห่งพุทธประวัติที่เขาได้ศึกษา และแปลออกมานั้น ตัวเขาได้ใช้พลังแห่งจินตนาการอันสูงส่งของเขา จำลองมันขึ้นมาราวกับว่าเหตุการณ์นั้นๆ ตัวเขาได้ประสบมาด้วยตัวเอง โดยเริ่มจาก ชีวิตความเป็นอยู่ของพระพุทธเจ้า เพื่อเป็นแบบอย่างในการประพฤติปฏิบัติตาม อย่างเช่น

(1) การไม่ติดทายก ต่อให้มีผู้คนห้อมล้อมเวียนติดตามก็ไม่ผูกใจใคร่

(2)ไม่ยินดีเกี่ยวข้องกับลาภ ยศ สรรเสริญ สักการะ

(3) พอใจกับการอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติอันเงียบสงัด

(4) พอใจกับความสามัคคีในหมู่คณะ

(5) เสวยสุขอย่างเดียวล้วนตลอดเวลา ด้วยการทำกายมิให้หวั่นไหว ทำวาจาให้สงบเงียบ ทำจิตให้อยู่ในเจโตสมาธิที่ไม่มีนิมิต

(6) ใช้อานาปานสติสมาธิเป็นวิหารธรรม

(7) หลีกเร้นเป็นพิเศษบางคราว

(8) เป็นผู้นอนเป็นสุข

(9) เป็นพุทธะเสมอทั้งในขณะทำและไม่ทำหน้าที่

(10) มีความเมตตาต่อสรรพสัตว์โดยไม่จำแนก เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ด้วยข้อจำกัดของประสบการณ์ภายใน และชั่วโมงบินในการเจริญสมาธิภาวนาของพระหนุ่มอินทปัญโญ เนื้อหาของ "ตามรอยพระอรหันต์" จึงไม่สมบูรณ์เพราะจบลงห้วนๆ แค่บทที่ 5 คืออาชีวปาริสุทธิศีลเท่านั้น แรงจูงใจสำคัญที่ทำให้อินทปัญโญลงมือเขียน "ตามรอยพระอรหันต์" ออกมาประการหนึ่ง น่าจะมาจากการที่เขาเห็นว่า ที่ปักษ์ใต้บ้านเกิดของเขาไม่มีสำนักกรรมฐานที่ประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมวินัยอย่างจริงจังเหมือนอย่างทางอีสานสายอาจารย์มั่น ที่เขาพอได้ยินชื่อมาบ้าง เขาจึงดำริที่จะก่อตั้งสำนักกรรมฐานเช่นนี้ด้วยตัวของเขาเอง จึงลงมือเขียน "ตามรอยพระอรหันต์" เพื่อวางแนวทางการปฏิบัติให้ลุ่มลึกและสมบูรณ์ ทั้งนี้ก็เพื่อค้นคว้าไว้ใช้เองกับตัวเอง และเพื่อคนอื่นด้วย แต่ก็เขียนได้เฉพาะภาคศีลเท่านั้น พอจะเริ่มเขียนภาคสมาธิภาวนา เขาก็เขียนไม่ออกเพราะยังขาดประสบการณ์ภายในที่จะมารองรับอย่างเพียงพอ เขาจึงต้องทิ้งระยะไว้หลายปีกว่าจะศึกษาฝึกฝนค้นพบระบบสมาธิภาวนาอย่างละเอียด จนเอามาเขียนเป็นหนังสือเรื่อง "อานาปานสติฉบับสมบูรณ์" ได้ ก็ต้องยอมให้เวลาผ่านไปอีกถึงยี่สิบห้าปีหลังจากนั้นเลยทีเดียว เส้นทางของนักปราชญ์ช่างเป็นเส้นทางที่ยาวไกลเหลือเกิน และหน่วยวัดเวลาที่เขาใช้วัดเส้นทางของนักปราชญ์นั้น คือหน่วย "สิบปี" มิใช่หน่วย "ปี" หรือหน่วย "เดือน" เหมือนเส้นทางสายอื่น ฉะนั้น ไม่ว่าใครก็ตาม ที่เลือกเดินบนวิถีแห่งนักปราชญ์นี้สมควรได้รับการคารวะจากผู้คนทั้งแผ่นดิน




Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้