พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 10)
10. บรมสันติ
"ความสงบ คือ พุทธธรรม"
พุทธทาสภิกขุ
"จงหมั่นสังเกตวิถีแห่งฟ้า จงหมั่นสังเกตยอดคน และจงหมั่นสังเกตคำพูดของนักปราชญ์"
ขงจื๊อ
"ผู้ประเสริฐไร้สิ่งใดๆ จะโต้เถียง ผู้ที่ไร้ความประเสริฐ ชมชอบจะโต้เถียงอยู่เป็นนิจ"
เล่าจื้อ
...วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2485 (ค.ศ. 1942) ณ พุทธสมาคม กรุงเทพฯ
ผู้คนแน่นขนัดห้องประชุมของพุทธสมาคม จนล้นออกมานอกห้อง พวกเขาเหล่านี้ล้วนต้องการมาฟังปาฐกถาพิเศษครั้งที่สองของ อินทปัญโญ หลังจากที่ได้เคยสร้างความเกรียวกราวเมื่อสองปีก่อน จากปาฐกถาครั้งแรกของเขาเรื่อง "วิถีแห่งการเข้าถึงพุทธธรรม" มาแล้ว
ก่อนที่จะเริ่มกล่าวปาฐกถา อินทปัญโญ ทำจิตของเขาให้ตั้งมั่นอยู่ภายใน ด้วยการสูดกองลมเข้าไป 11 ครั้ง แบบ อานาปานสติ
กองลมที่ 1 อินทปัญโญ หายใจออก โดยกำหนดรู้ว่ากำลังหายใจออก จากนั้นหายใจเข้าโดยกำหนดรู้ว่ากำลังหายใจเข้า โดยไม่เพ่งจุดใดจุดหนึ่ง โดยไม่หวังความสงบ และไม่พยายามให้นิ่ง
กองลมที่ 2 อินทปัญโญหายใจออกรู้ว่ายาว หายใจเข้ารู้ว่ายาว เป็นอีกหนึ่งกองลม
กองลมที่ 3 อินทปัญโญ หายใจออก โดยรู้ว่าสั้นลงหรือยาวขึ้น หายใจเข้าก็รู้ว่าสั้นลงหรือยาวขึ้น
กองลมที่ 4 อินทปัญโญ หายใจออกโดยรู้ว่า จิตกำลังเป็นผู้ดูลมหายใจ หายใจเข้าก็รู้ว่า จิตกำลังเป็นผู้ดูลมหายใจ โดยระลึกเข้ามาที่จิตว่าเป็นเพียง ผู้เฝ้าสังเกตการณ์ เฉยๆ แยกจิตออกมาเป็น ผู้รู้ ที่แลเห็นตามจริงว่าลมหายใจไม่เที่ยง ออกแล้วก็ต้องเข้าเป็นธรรมดา ยาวแล้วต้องสั้นเป็นธรรมดา
กองลมที่ 5 อินทปัญโญ หายใจออกโดยกำหนดให้ กายนิ่งสบาย หายใจเข้าก็กำหนดให้ กายนิ่งสบาย ไม่เกร็ง และผ่อนคลายทั่วร่าง
กองลมที่ 6 อินทปัญโญ หายใจออกโดยรู้ว่า อิ่มใจ สบายใจ หายใจเข้าก็รู้ว่า อิ่มใจสบายใจ โดยไม่ต้องฝืน
กองลมที่ 7 อินทปัญโญ หายใจออกโดยรู้ว่า สุขสงบอย่างมีสติ หายใจเข้าก็รู้ว่า สุขสงบอย่างมีสติ
กองลมที่ 8 อินทปัญโญ หายใจออกโดยรู้ว่า คิด หายใจเข้าก็รู้ว่า คิด คือให้รู้ตามจริง ถ้ายังมีความคิดกระเส็นกระสายอย่างละเอียดอยู่ โดยรู้พร้อมไปด้วยว่า กำลังหายใจออก และหายใจเข้า
กองลมที่ 9 อินทปัญโญ หายใจออกโดยกำหนดว่า จะระงับความคิด หายใจเข้าก็กำหนดว่า จะระงับความคิด ขณะนี้อินทปัญโญอยู่ในภาวะอาการที่พร้อมจะหยุดนิ่งแล้ว และเป็นความนิ่งที่มีสติรู้ทั่วตัวแบบสุขสบายได้
กองลมที่ 10 อินทปัญโญ หายใจออกโดยกำหนดว่า จะทำจิตให้เบิกบาน หายใจเข้าก็กำหนดว่า จะทำจิตให้เบิกบาน เข้าสู่สภาพจิตที่ร่าเริง สดชื่นอยู่ภายใน
กองลมที่ 11 อินทปัญโญ หายใจออกโดยกำหนดว่า จะรักษาสภาพจิตให้ตั้งมั่น หายใจเข้าก็กำหนดว่า จะรักษาสภาพจิตให้ตั้งมั่น ที่คงความนิ่งสงบและเบิกบานอยู่ในตัว
บัดนี้จิตของอินทปัญโญอยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้งานอย่างสมบูรณ์แล้ว จากนั้นเขาก็เริ่มกล่าวปาฐกถาเรื่อง "ความสงบในฐานะเป็นผลแห่งการเข้าถึงพุทธธรรม" ซึ่งเป็นผลการศึกษาค้นคว้าที่เขาใช้ตัวเขาเองเข้าทำการทดลองโดยตรงมาเป็นเวลานานนับปีแล้ว
อินทปัญโญบอกว่า ความสงบในฐานะที่เป็นปฏิเวธหรือผลแห่งการเข้าถึงพุทธธรรมนั้น มันก็คือ ตัวของพุทธธรรมนั่นเองแหละ เพราะ คนเรามื่อเข้าถึงพุทธธรรมได้แล้ว ก็มิได้รับผลอะไรอื่น นอกไปจากความสงบ แต่เป็น "ความสงบที่แท้" หรือ "บรมสันติ"
ปัญหาก็คือ "ความสงบ" นั้นมีอยู่หลายชั้น หลายระดับ และยิ่งไปกว่านั้น ยังมีทั้งที่แท้และที่ปลอมเทียม ด้วยเหตุนี้ คนทั่วไปจึงเข้าถึงความสงบที่แท้ได้ยาก
อินทปัญโญได้ใช้ภูมิปัญญาอันล้ำลึกและล้ำเลิศของเขา ชี้ให้เห็นว่า สรรพสิ่งในจักรวาฬย่อมถูก "ความสงบ" ที่เป็นบรมสันตินี้ดูดเข้าไปหามันเสมอ นามและรูปทุกชิ้นทุกอันย่อมตกอยู่ภายใต้ความดึงดูดของ "บรมสันติ" ซึ่งเป็น ความสงบอันยิ่งใหญ่ และเป็น อัตตาใหญ่แห่งจักรวาฬ แต่เนื่องจากในตัวของสรรพสิ่งยังมี "กำลังต้านทาน" มันจึงยังเข้าถึงตัวบรมสันติไม่ได้ แต่ถึงกระนั้น มันก็ไม่เป็นอิสระไปจากอำนาจดึงดูดของบรมสันตินี้
ทุกข์จึงมีขึ้น เกิดขึ้นได้ก็เพราะเหตุนี้เอง และทุกข์จักต้องดำรงอยู่ตลอดเรื่อยไปจนกว่าสรรพสิ่งจะสามารถรวมตัวเข้ากับบรมสันติได้อย่างสมบูรณ์
ความดิ้นรน จึงเป็นธรรมชาติประการหนึ่งของทุกๆ สิ่งที่ยังมีการดิ้นรนอยู่ ทุกสิ่งล้วนดิ้นรนเพื่อที่จะสงบทั้งสิ้น
การดิ้นรนของคนเราในด้านการเมือง ก็เพื่อความสงบสุขของชาติ
การดิ้นรนของผู้คนในทางเศรษฐกิจก็เพื่อความสงบทางด้านปัจจัยแห่งการครองชีพ
แม้แต่ การบริโภคกาม ก็ยังเป็นการดิ้นรนโดยไม่รู้ตัวของผู้คนที่แสวงหาสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาหยุดความต้องการของจิตใจส่วนหนึ่งของตน
แม้ ธรรมชาติ เองก็ยังดิ้นรน ภายใต้กฎของอนิจจัง
ความเปลี่ยนแปลงของธาตุต่างๆ ก็แสดงให้เห็นถึง การดิ้นรนของกาลเวลา แต่เป็นการดิ้นรนเพื่อเข้าหา ความสงบของเวลา คือ การอยู่นอกกาลเวลา ซึ่งเป็นฝ่ายอสังขตะหรือนิพพาน ซึ่งมีแต่ผู้ที่เข้าถึงพุทธธรรมได้แล้วเท่านั้นถึงจะรู้แจ้งได้
จะเห็นได้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาฬ ล้วนดิ้นรนไปหาความสงบหรือบรมสันติ หรือกล่าวในอีกแง่หนึ่งได้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนตกอยู่ภายใต้ อำนาจแห่งการปรุงแต่ง (มายา) ของจักรวาฬ มันจึงดิ้นรนอย่างเดียวกันไปในทิศทางเดียวกัน คือ ดิ้นรนไปหาความหยุดถูกปรุงแต่งโดยสิ้นเชิง
วิวัฒนาการของจักรวาฬ จึงต้องดำเนินเรื่อยไปจนกว่าจะถึงแดนที่ให้หยุดได้ ไม่มีการดิ้นรนอีกต่อไป ซึ่งก็คือ นิพพาน อันเป็นแดนที่เข้าไปสงบของสิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่งทั้งปวง
เพราะฉะนั้น ในระหว่างที่สิ่งเหล่านี้กำลังดิ้นรนวนเวียนอย่างไม่รู้จบ จึงเท่ากับว่า มันกำลังเดินทางไปสู่ความหยุด หรือความสงบ หรือบรมสันติ หรือนิพพาน แต่ในระหว่างทาง เพราะยังมีความรู้น้อยเกินไป จึงพบได้เรื่อยๆ แค่ ความสงบชนิดเทียม เท่านั้น แม้แต่ ฌาน อันเป็น ความสงบชั้นสูง ก็ยังจัดว่าเป็นความสงบชนิดเทียม จะนับประสาอะไรกับความสงบโดยทั่วไปของปุถุชนเล่า? แต่ความสงบเทียมก็ยังดีกว่าไม่สงบ เพราะ ความสงบเป็นของประจำวันที่คนเราจะต้องมีต้องใช้ คนเราจึงเป็นคนอยู่ได้ และเป็นต่อไปได้
ความต้องการความสงบจึงเป็นพื้นฐานของจิต และเป็นสัญชาตญาณอันหนึ่งของมนุษย์ คนเราถ้าฉลาดขึ้นเมื่อใด ก็จักดิ้นหาความสงบที่แท้มากขึ้นเมื่อนั้น ความสงบหรือบรมสันติคือที่สุดจบของสิ่งทั้งปวง สรรพสิ่งย่อมไปสุดจบที่บรมสันติ สิ่งใดที่ยังอยู่ใต้อำนาจของเวลา สิ่งนั้นจะมีการจบสิ้นยังไม่ได้ บรมสันติจึงหมายถึง การจบสิ้นของเวลาด้วย
ความสงบคือ ลักษณะเฉพาะของพุทธศาสนา การกระทำ การพูด การคิดใดๆ ก็ตาม หากมิได้เป็นไปเพื่อความสงบแล้ว ย่อมมิใช่ธรรมวินัยของพุทธศาสนา
ความสงบจึงคาบเกี่ยวกับความรู้แจ้ง ความบริสุทธิ์ และความสุขอยู่ในตัวมันเอง เมื่อมีความสงบเมื่อใดย่อมมีความรู้แจ้งสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง ความสงบกาย สงบวาจาและสงบใจ ถือเป็น ความสงบฝ่ายแท้ คำว่า "สงบ" คำนี้คำเดียวเท่านั้นคือใจความของพุทธศาสนา
ความสงบ เป็นสิ่งที่อาจค้นพบได้ในที่ทั่วไป ความสงบนั้นคือตัวมหาอำนาจมหึมาที่แฝงตัวคุ้มครองโลกอยู่เบื้องหลังความวุ่นวายนานาประการของโลก เพราะ ความสงบคือ อัตตาตัวใหญ่ของจักรวาฬ
อินทปัญโญ บอกว่า ถ้าใครจับตัวความสงบซึ่งเป็นอัตตาตัวใหญ่ของจักรวาฬได้ ผู้นั้นก็จะได้ยิน เสียงของความสงบ เหมือนอย่างที่เขาเคยได้ยิน และกำลังได้ยินอยู่ เสียงของความสงบนี้ดังที่สุด ดังก้องไปทั่วจักรวาฬ และดังอยู่ตลอดเวลา มันเป็นเสียงที่ร้องตะโกนให้ทราบถึงความที่สิ่งทั้งปวงเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาให้ทราบถึงความโง่เขลาเต่าตุ่นของผู้ที่ยังหลงใหลในโลก และให้ทราบถึง ความที่นิพพานหรือความสงบนั้น มีอยู่ทั่วไป สำหรับทุกๆ คนและมีอยู่ที่นี่แล้ว
อินทปัญโญยังบอกอีกว่า รสของสิ่งใดๆ ที่เขาเคยสัมผัสมาแล้ว ก็ไม่มีรสใดที่สูงกว่าหรือดีไปกว่า รสของความสงบอันสูงสุดแท้จริง
คนเราเมื่อเพิกถอนโลกียธรรมออกไปให้หมดสิ้น สิ่งที่เหลืออยู่ก็คือความสงบเท่านั้น
คนเรา ถ้าหากยังอยากจะมีอัตตา มีตัวตน อินทปัญโญบอกว่า ก็จงมีที่ความสงบหรือ บรมสันติ ที่ไม่รู้จักดับสูญนั้นเถิด เพราะนี่คือ อัตตาใหญ่ของจักรวาฬ เป็นสิ่งที่ซึมสิงอยู่ในทุกๆ สิ่ง เป็นสิ่งที่น้ำไหลท่วมไม่ได้ ไฟไหม้ไม่ได้ ลมพัดให้เหี่ยวแห้งไม่ได้! ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลา ไม่มีอะไรทำให้เปลี่ยนแปลงอย่างใดได้ เป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องรีบเอา ทุกคนต้องอาศัย เป็นสิ่งที่ดังก้องอยู่ในที่ทั่วไปในอนันตจักรวาล เป็นสิ่งที่เมื่อทุกสิ่งแม้วุ่นวายยุ่งเหยิงเพียงใดก็ตาม ครั้นเข้าไปถึงแดนนั้น คือแดนของมหาอำนาจนั้นแล้วจะต้องดับสนิทลง แม้จักรวาฬทางกายภาพจะต้องแตกดับไป แต่ความสงบหรือบรมสันตินั้นจะต้องเหลืออยู่ เพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่มีการเกิดขึ้นและการดับ ไม่มีการสร้างสิ่งใด และไม่ถูกสิ่งใดสร้างขึ้น จึงเป็นอนันตกาล
อินทปัญโญใจกว้างเหลือเกิน และมีภูมิปัญญาที่ยิ่งใหญ่เหลือเกิน เพราะเขาได้เสนอ และกล้าเสนอ มุมมองจักรวาฬที่สามารถยอมรับอัตตาตัวใหญ่ของจักรวาฬหรือ "พระเจ้า" ได้โดยไม่ขัดแย้งกับหลักอนัตตา และหลักนิพพานของพุทธที่ตัวเขายึดมั่น จากจุดยืนของ บรมสันติ อินทปัญโญจึงเป็น พุทธเถรวาทที่ "ก้าวข้าม" ความเข้าใจแบบเถรวาทโดยทั่วไปที่ยังไม่สามารถ "บูรณาการ" อัตตากับอนัตตาอย่างสร้างสรรค์ได้ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์แห่งสยามประเทศ