12. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 12 ธารน้ำไหล 18/7/49

12. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 12 ธารน้ำไหล 18/7/49

พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 12)

 

12. ธารน้ำไหล

"สวนโมกข์ ดินแดนอารยธรรมทางวิญญาณ ดินแดนที่ต้นไม้พูดได้ ก้อนหินแสดงธรรม ไม่อาจไปด้วยกาย ต้องเข้าถึงด้วยใจ"

กวีวงศ์

ปี พ.ศ. 2486 เป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่อีกครั้งของสำนักปฏิบัติธรรมของอินทปัญโญ งานพูดและงานเขียนหนังสือที่อินทปัญโญได้กระทำติดต่อมาตลอดสิบปีนี้ เริ่มเป็นที่สนใจของคนวงกว้างออกไปทุกที มีภิกษุสามเณร และผู้ศึกษาธรรมะฝ่ายฆราวาสเริ่มเดินทางมาแสวงธรรมและปฏิบัติธรรมที่สวนโมกข์ (เก่า) ที่พุมเรียงมากขึ้น จนสถานที่ปฏิบัติธรรมแห่งนี้เริ่มคับแคบลง

ประกอบกับช่วงนั้น อินทปัญโญกับคณะธรรมทานมีความคิดที่จะสร้างสโมสรธรรมทานเป็นสถานที่อบรมสั่งสอนประชาชนที่วัดชยาราม ซึ่งประชาชนสะดวกในการมามากกว่าสวนโมกข์พุมเรียง จึงมีการระดมผู้คนออกไปสำรวจในป่า เพื่อหาไม้มาสร้างสโมสรธรรมทาน พวกเขาเดินเข้าไปในป่าลึกต้องนอนค้างคืนในป่าคราวละหลายคืน เมื่อพบต้นไม่ใหญ่แล้วก็เลื่อยตัดไม้กลมทำเป็นไม้เหลี่ยม แล้วใช้ช้างลากออกมาจากป่ารกคราวละ 30-40 เหลี่ยม ซึ่งต้องใช้คนลากไม้ 40-50 คน โดยลากมากองไว้ริมทางใหญ่

อินทปัญโญเข้าไปเดินป่า นอนในป่ากับพวกลากไม้ด้วยทุกครั้ง นอกจากนี้เขายังไปช่วยหัดเลื่อยไม้ ถากไม้กับพวกเขาด้วย เขาสนใจวิธีหัดผูกเชือกให้ช้างลากไม้ออกมามาก เพราะมันเป็น ภูมิปัญญาชาวบ้าน อย่างหนึ่งที่ใช้ไม้เล็กๆ อันหนึ่งงัดคาดเชือกไว้ ซึ่งได้ผลมาก ช้างวิ่งอย่างไรก็ไม่หลุด

เวลานอนในป่า อินทปัญโญเลือกนอนตรงโคนไม้ โดยใช้ใบไม้มาปูลาดหนาๆ แล้วใช้รากไม้แทนหมอน อาจเป็นเพราะช่วงนั้นเป็นช่วงฤดูแล้ง จึงไม่มีใครที่เป็นไข้มาลาเรีย

ในช่วงที่อินทปัญโญไปดูแลการทำไม้ในป่านี่เอง ที่ตัวเขาต้องเดินผ่านที่แปลงหนึ่ง มีทางเดินยาวเฟื้อย มีภูเขาตรงกลาง และมีลำธารด้วยอินทปัญโญ ประทับใจกับที่แปลงนี้มาก เพราะมีบริเวณกว้างขวาง ร่มรื่น มีธารน้ำไหล เหมาะสมสำหรับการสร้างเป็นสำนักปฏิบัติธรรมแบบสวนโมกข์ตามอุดมคติของเขา อินทปัญโญจึงตัดสินใจซื้อที่บริเวณนั้นในนามของคณะธรรมทาน ซึ่งเมื่อรวมกับที่ที่ชาวบ้านบริจาคเพิ่ม ทำให้ได้เนื้อที่ทั้งสิ้นถึง 310 ไร่เศษ เนื่องจากที่แห่งใหม่ที่จะเป็น สวนโมกข์ใหม่ นี้ มีธารน้ำไหลผ่าน เมื่ออินทปัญโญต้องจดทะเบียนเป็นวัดตามระเบียบของทางการ เขาจึงตั้งชื่อวัดนี้ว่า วัดธารน้ำไหล ที่เขาจะย้ายมาพำนักอยู่อย่างถาวร จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิตเขา

บริเวณแถบที่ วัดธารน้ำไหล ของอินทปัญโญมาตั้งอยู่นี้ เดิมทีผู้คนแถบนั้นเรียกกันว่า "ด่านน้ำไหล" เพราะมันเป็นช่องแคบสำหรับดักจับผู้ร้าย ถ้าผู้ร้ายจากทางเหนือจะไปใต้ หรือจากทางใต้จะไปเหนือก็ต้องผ่านช่องนี้ การเดินทางทางบกต้องผ่านช่องนี้ สมัยโบราณจึงใช้เป็นที่ดักจับผู้ร้าย เพราะด้านหนึ่งเป็นเขานางเอ อีกด้านหนึ่งเป็นที่ดินที่เป็นโคลนลึกลงไปไม่ได้ ตอนที่อินทปัญโญย้ายมาอยู่ที่วัดธารน้ำไหลใหม่ๆ บริเวณแถบนี้ยังมีสัตว์ป่าเหลืออยู่ตามสมควร อินทปัญโญเคยเห็น กวางป่า มีเขาตัวใหญ่เกือบเท่าม้ามากินลูกมะกอก เสือดาว ก็มีอยู่ตัวหนึ่งอยู่บริเวณนั้นตั้งแต่แรก เสือโคร่ง ก็มีมันมาจากทิศใต้เดินผ่านทางสาธารณะหน้าวัด เมื่ออินทปัญโญออกไปบิณฑบาตในตอนเช้า เขามักจะพบรอยเสือตามทางหน้าวัด เรื่อยไปจนถึงทางเข้าหมู่บ้านเขาน้ำผุดแล้วก็กลับเข้าป่าไป เขาก็เดินตามรอยเสือไปโดยไม่หวาดกลัวอะไร เพราะชาวบ้านแถบนี้ แม้แต่เด็กเล็กก็ไม่กลัวเสือด้วย

นอกจากนี้ บริเวณวัดธารน้ำไหลยังมี หมูป่า ฝูงหนึ่งราว 30 ตัว อาศัยอยู่ด้วย อีเก้ง ก็มาปรากฏให้เห็นตอนค่ำๆ ตะกวด ก็มียั้วเยี้ย นกกระเต็น ก็ออกมาเดินตามดินจิกไส้เดือนกิน

อินทปัญโญชอบบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติของสวนโมกข์ใหม่นี้มาก เขามักจะมาเดินเล่นชมธรรมชาติรอบๆ ในตอนเย็นเสมอ ก่อนจะลงไปสรงน้ำในธารน้ำไหล แล้วขึ้นมานั่งเจริญสมาธิภาวนาอยู่ที่ข้างลำธาร

เมื่ออินทปัญโญเข้ามาอยู่ที่วัดธารน้ำไหลแล้ว เขาพยายามสงวนต้นไม้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และพยายามให้มันคงสภาพธรรมชาติใหญ่โตร่มเย็นเอาไว้ เพื่อให้คนที่เข้ามาเยือนในบริเวณนี้ มาถึงก็รู้สึกเย็นเอง หยุดเอง สงบเอง ว่างเอง

นี่เป็น หลักการสร้างวัด ที่อินทปัญโญยึดถืออย่างเคร่งครัดว่า จะต้องจัดสรรไปในลักษณะที่พอเข้ามาในเขตนี้แล้ว จิตใจจะว่างเอง หยุดเอง สงบเองให้มากที่สุด เพราะฉะนั้น เขาจึงต้องคงสภาพต้นไม้ ก้อนหินต่างๆ เอาไว้ในลักษณะที่ช่วยให้เกิดความรู้สึกแบบนี้

มันเป็นความปรารถนาอย่างแรงกล้าของอินทปัญโญ ที่จะสร้างวัดธารน้ำไหลหรือสวนโมกขพลารามแห่งใหม่ของเขาให้เป็น ดินแดนอารยธรรมทางจิตวิญญาณ ที่มุ่งส่งเสริมให้ผู้คนที่มาเยือนมีความเข้าใจใน เรื่องของจิตวิญญาณ โดยเฉพาะเรื่อง ความที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร และเรื่อง การทำลายความเห็นแก่ตัว

เขาจะทำให้สถานที่แห่งนี้ ไม่ว่าจะนั่งตรงไหน ก็สามารถศึกษาเรื่องทางจิตวิญญาณได้ ไม่ว่าจะนั่งตรงไหนก็รู้สึกสบายใจ จนลืมเรื่องตัวกู-ของกู ความคิดชนิดนั้น ไม่มีอยู่ในจิตใจ ถึงไม่มีอะไรมายั่วยวน ก็สบายอกสบายใจได้ ด้วยความรู้สึกที่คลายจากความยึดมั่นถือมั่น

อินทปัญโญชอบนั่งเจริญสมาธิภาวนาบนพื้นดิน มาตั้งแต่อยู่ที่สวนโมกข์เก่าที่พุมเรียงแล้ว ที่นี่ก็เช่นกัน เขามักจะออกมานั่งสมาธิเจริญวิปัสสนาบนพื้นดินอยู่เนืองๆ เขาคิดอยู่เสมอว่า พระพุทธองค์ผู้เป็น คุรุ ของตัวเขาโดยตรง ก็ทรงประสูติ กลางดิน ตรัสรู้ กลางดิน และปรินิพพาน กลางดิน ชีวิตประจำวันโดยมากของพระพุทธองค์ก็ทรงอยู่ กลางดิน เป็นส่วนใหญ่ กุฏิของพระพุทธองค์ก็เป็นพื้นดิน

เพราะฉะนั้น เขาจึงคิดว่า การที่ตัวเขามานั่งปฏิบัติธรรมกลางดิน ก็ย่อมเหมือนกับมานั่งที่อาสนะอย่างเดียวกันกับพระพุทธองค์ และเป็นการเจริญรอยตามพระพุทธองค์ด้วย

ลองคิดดูสิว่า พระพุทธองค์ท่านประสูติกลางดินอย่างไร ที่สวนลุมพินี?

ลองนึกดูสิว่า พระพุทธองค์ท่านตรัสรู้กลางดินอย่างไรที่โคนต้นโพธิ์ ริมแม่น้ำ?

ลองจินตนาการดูสิว่า พระพุทธองค์ท่านปรินิพพานกลางดินอย่างไร ที่สวนป่าไม้สาละของพวกมัลลกษัตริย์?

ทั้งๆ ที่พระพุทธองค์ทรงเป็นกษัตริย์มาก่อน

การปฏิบัติธรรมบนพื้นดิน และการใช้ชีวิตประจำวันส่วนใหญ่บนพื้นดิน จึงมีความหมายที่ลึกซึ้งของการว่างจากความยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวกู-ของกู อย่างหนึ่ง และเป็นการสละคืนอย่างหนึ่งในด้านลึกของจิตวิญญาณ

อินทปัญโญมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะทำให้บริเวณแห่งธารน้ำไหลแห่งนี้ เป็น สถานที่อันเป็นกำลังแห่งความหลุดพ้น (สวนโมกขพลาราม) อย่างแท้จริง คำว่า โมกข์สั้นๆ มาจากคำบาลีว่า โมก-ข แปลง่ายๆ ว่า เกลี้ยง ไม่มีอะไรรัดรึง ภาษาธรรมะเรียกว่า หลุดพ้น

แนวคิดการสร้างสวนโมกข์ของอินทปัญโญ จึงเป็น การอยู่อย่างง่าย เพื่อให้พบ ความเกลี้ยงแห่งจิตใจ โดยที่ตัวเขามี หลักปฏิบัติ 7 ประการ ไว้ยึดปฏิบัติดังต่อไปนี้

(1) ศึกษาพุทธธรรมให้เข้าใจจนมีศรัทธาตั้งมั่นไม่หวั่นไหว โดยถือว่า ผู้ที่หลุดพ้นได้ ผู้นั้นถือว่าเป็น ผู้สูงสุด

(2) ระลึกถึงภาวะของความหลุดพ้นแห่งจิตของตนเป็นประจำ

โดยพยายามทำความสำเนียกศึกษาเรื่อง ความหลุดพ้นเป็นภารกิจหลักของชีวิต อีกทั้งพยายามให้เกิด ความรู้สึกที่เป็นความหลุดพ้นอยู่ในตนของตน ขึ้นมาจริงๆ ในชีวิตประจำวันของตนอยู่เสมอ

(3) เมื่อมีอันตรายหรืออุปสรรคแห่งมรรคเกิดขึ้นให้ระลึกถึงภาวะแห่งความหลุดพ้นของจิตที่ตัวเองได้เคยกระทำไว้อย่างชำนิชำนาญมาแต่กาลก่อนแล้ว

ทำให้ภาวะแห่งจิตชนิดนี้กลับมาให้จงได้ และมีสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์พร้อมที่จะเผชิญกับอันตรายหรืออุปสรรคต่างๆ

(4) เดินตามรอยพระพุทธองค์อยู่เป็นปกติ

น้อมนำคำสอนของพระพุทธองค์มาปฏิบัติอย่างจริงจัง และจริงใจ

(5) จะทำอะไรให้ถามพระพุทธองค์ก่อน

จะทำ จะพูด จะคิด จะตัดสินใจอะไร ต้องมีสติยับยั้งไว้เป็นระยะเวลาที่ล่วงไปพักหนึ่งราวกับไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วทูลถามพระองค์เป็นเชิงปรึกษาก่อนว่าจะต้องทำอย่างไร โดยการทำเช่นนี้ก็จะมีสติสัมปชัญญะพอเพียงก็จะมีคำตอบออกมาเอง

(6) ละอายใจเมื่อล้มเหลว

เพื่อไม่ให้ทำผิดพลาดซ้ำอีก แม้จะเป็นความผิดพลาดที่เล็กน้อยก็ตาม

(7) ตรวจสอบในลักษณะที่เป็นการประเมินผลอยู่เสมอ

มีการตรวจสอบจิตใจเป็นประจำทุกวัน หลังจากสิ้นเวลาวันหนึ่งๆ ไปแล้วว่า มีความก้าวหน้าในทางธรรม หรือว่ากำลังถอยหลังในทางธรรม

อินทปัญโญเชื่อว่า หากปฏิบัติตนตามหลักปฏิบัติ 7 ประการข้างต้น ไม่ว่าผู้ใด ก็ย่อมสามารถที่จะมีชีวิตมีความเป็นอยู่ด้วย ความเกลี้ยงแห่งจิตใจ ได้

เพื่อบรรลุเป้าหมายอันนี้ อินทปัญโญมีความเห็นว่า คนเราควรจะมีชีวิตมีความเป็นอยู่ตามแบบของพระพุทธเจ้าในแง่ที่ว่า เป็นอยู่อย่างต่ำอย่างเรียบง่าย แต่มีการกระทำอย่างสูงสุด อย่างประเสริฐสุดเสมอ

หากทำได้เช่นนี้ คนผู้นั้นไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ที่นั้นย่อมกลายเป็น "สวนโมกขพลาราม" ของตัวเขา เหมือนอย่างที่ ธารน้ำไหล ได้กลายมาเป็นสวนโมกขพลารามแห่งใหม่ของอินทปัญโญ สวนโมกข์ที่แท้ จึงไม่ใช่สถานที่ทางกายภาพมากเท่ากับ วิถีแห่งการดำเนินชีวิต แบบ "เป็นอยู่อย่างต่ำ แต่มีการกระทำอย่างสูงสุด" จึงไม่แปลกที่ บางคนมาถึงสวนโมกข์แล้วกลับไม่รู้จักสวนโมกข์ เข้าไม่ถึงสวนโมกข์ แต่บางคนถึงไม่เคยไปสวนโมกข์กลับอยู่ในสวนโมกข์เสมอในเบื้องลึกแห่งจิตวิญญาณของเขา





Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้