พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 15)
15. บันไดเซนสู่ซาโตริ
"ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ เป็น ความว่าง เป็น สิ่งที่ไม่มีความหมายแห่งความเป็นตัวตน เป็นสิ่งที่มีอยู่ในที่ทุกแห่ง มันเป็น บรมสันติ ที่รุ่งเรืองและเร้นลับ และก็หมดกันเพียงนั้น เธอ จงเข้าไปสู่สิ่งนี้ให้ลึกซึ้ง โดยการลืมตาต่อมันด้วยตัวเธอเองเถิด สิ่ง ซึ่งอยู่ตรงหน้า เธอ นั่นแหละคือ สิ่ง สิ่งนั้น ในอัตราที่เต็มที่ทั้งหมดทั้งสิ้นของมัน และสมบูรณ์ถึงที่สุดแล้ว ไม่มีอะไรนอกไปจากนี้อีกแล้ว ถึงแม้ เธอ ได้ก้าวไปจนถึง ความเป็นพุทธะ...ได้ลุถึงความรู้แจ้งเต็มที่โดยแวบเดียวก็ตาม เธอก็จะเพียงแต่ได้เห็นแจ้งซึ่งธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะอันนั้น ซึ่งที่แท้ก็ได้มีอยู่ในตัวเธอเองแล้วตลอดเวลา การปฏิบัติธรรมอันก้าวหน้าตามลำดับของ เธอ นั้น ก็หาได้เป็นการเพิ่มอะไรให้แก่สิ่ง สิ่งนี้ไม่เลย แม้แต่หน่อยเดียว
ฮวงโป
อินทปัญโญ ซาโตริ แล้ว เขาเห็นแจ้งเต็มที่ในธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะของตัวเขาโดยแวบเดียวในห้วงเวลาแห่ง ซาโตริ นั้น ฉับพลัน เขาหัวเราะดังกึกก้องอยู่คนเดียวให้กับความโง่เขลาของตนเอง เขาเดินออกจากกุฏิของเขาในคืนอันดึกสงัดของคืนนั้น แล้วโจนลงไปแช่ตัวอยู่ในธารน้ำไหล พร้อมกับหัวเราะออกมาอีกครั้งให้กับความไม่เฉลียวใจแบบเซ่อซ่าของตัวเขาเอง เพราะพลันที่เขาได้ล่วงรู้ ความลับของฟ้าดิน ได้เห็นเล่ห์กลอันเป็น ตลกร้ายของจักรวาฬ ได้เห็นลีลาอันแสนขี้เล่นอันชวนให้หลงงมงายของ "ชีวิต" อันยิ่งใหญ่ และเป็นหนึ่งเดียว เขาจึงได้รู้ว่า สิ่งที่ตัวเขาแสวงหามาตลอดทั้งชีวิตนั้น ที่แท้มันก็เป็นสิ่งที่ติดอยู่ที่หน้าผากของตัวเขาอยู่ก่อนแล้วมาตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ก่อนหน้านี้ ไม่ว่าเขาจะเที่ยววิ่งหามันไปทั่วโลกเท่าไหร่อย่างไรก็ไม่เคยพบมัน เพราะมันไม่เคยไปไหน มันอยู่กับตัวเขาเองตลอดเวลาอยู่แล้ว ที่แท้ การปฏิบัติธรรมเพื่อลุถึงสิ่งสูงสุดนั้น คือการไม่ต้องปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมอะไรเลยแม้แต่นิดเดียว แค่ตัวเขา "ตื่น" ขึ้นและ "ตระหนักรู้" ในธรรมชาติแห่งพุทธะของตัวเองอยู่ตลอดเวลา และใช้ชีวิตของตนตามมโนภาพแห่งความตระหนักถึงความเป็นพุทธะของตนอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกเท่านั้น
สิ่งนี้ฟังเผินๆ ดูเหมือนง่าย แต่อินทปัญโญรู้ว่า มันไม่ง่ายเลยสำหรับปุถุชนผู้ยังถูกอวิชชาอุปทาน และความยึดมั่นถือมั่นครอบงำจิตใจอยู่อย่างหนาแน่น แต่มันจะง่ายมากสำหรับผู้ที่เข้าถึงเซน และรู้ดีด้วยตนเองว่าตนเองเข้าถึงเซนได้อย่างถูกต้องแล้ว
บันไดแห่งการเข้าถึงเซน
จึงไม่ต่างไปจากเรื่องเล่าที่เป็นอุปมาอุปไมยของคนเลี้ยงวัวที่ออกตามหาวัวของตนที่หนีเตลิดไป คนเลี้ยงวัวเป็นตัวแทนของ จิตที่มีปัญญา วัวพยศสีดำทะมึนเป็นตัวแทนของจิตที่ประกอบด้วยกิเลสเต็มที่ของปุถุชนที่มีความพยศ ความฟุ้งซ่าน ความหยิ่งยโส แต่ที่จมูกวัวยังมีเงื่อนเชือกร้อยสายห้อยอยู่ หมายความว่า ยังพอมีลู่ทางในการตามจับมันคืนมาได้ แต่ก่อนอื่น คนเลี้ยงวัวต้องติดตามสะกดรอยไปจนพบตัววัวให้ได้เสียก่อน (ขั้นที่ 1 ติดตามสังเกต)
ขั้นต่อมา คือการที่คนเลี้ยงวัวสามารถจับตัววัว ด้วยการคว้าเชือกร้อยจมูกวัวได้ เชือก หมายถึง วิชาโยคะ หรือ การฝึกกรรมฐานแบบใดแบบหนึ่งสำหรับผูกจิตของตนกับอารมณ์กรรมฐานนั้น กรรมฐานที่ดีคือกรรมฐานที่เกิดอย่างธรรมชาติ รู้เท่าธรรมชาติ ใช้วิธีง่ายๆ ตามหลักธรรมชาติไปเอาชนะธรรมชาติ จึงจะสามารถกำหนดอารมณ์ได้แน่วแน่ และสามารถพิจารณามันได้อย่างทะลุปรุโปร่ง (ขั้นที่ 2เริ่มการฝึก)
ขั้นต่อมา คนเลี้ยงวัวผู้มีปัญญาค่อยๆ เริ่มฝึกวัวด้วยความอดทนจนจูงไปไหนได้ เขาฝึกมันอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่วู่วาม วัวเองก็เริ่มพอใจให้ผู้ฝึกจูงจมูก แต่คนเลี้ยงวัวยังคงกุมเชือกมั่นไม่ยอมห่าง เขามีความระมัดระวังที่จะไม่เผลอ แต่ก็พยายามไม่ให้รู้สึกเหนื่อยใจในการระวังตัววัวเองก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น บริเวณส่วนหัวของวัวดำทะมึนตัวนั้นเริ่มเปลี่ยนเป็นสีขาวแล้ว (ขั้นที่ 3 รับการฝึก)
ขั้นต่อมา เมื่อคนเลี้ยงวัวอดทนฝึกวัวได้นานพอ จิตวัวก็เริ่มเปลี่ยนนิสัย สิ้นความป่าเถื่อน และพิษสงทุกอย่าง แต่คนเลี้ยงวัวผู้ฝึกก็ยังไม่ยอมมอบความไว้วางใจโดยสิ้นเชิง เขายังคงผูกวัวไว้กับต้นไม้ และระวังดูแลเชือกที่ผูกให้เรียบร้อยอยู่เสมอ ขณะที่ตัววัวเองก็ขาวขึ้นมากจนถึงไหล่ และขาหน้าทั้งสองขาแล้ว (ขั้นที่ 4 เปลี่ยนนิสัย)
ขั้นต่อมา คนเลี้ยงวัวเลิกการผูกล่ามวัวได้แล้ว เขาสามารถปล่อยวัวให้เที่ยวตามใจชอบในตอนกลางวัน พอตกเย็นวัวก็มาหาเจ้าของและเดินตามกลับบ้าน ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ตัวเองสามารถไว้วางใจในจิตตนได้อย่างเต็มที่แล้วว่า ทำอย่างไรเสียก็จะไม่เกิดเป็นพิษเข้ามาอีก ต่อให้จิตรับอารมณ์เป็นรูป รส กลิ่น เสียง สัมผันอันใดตามใจชอบบ้างก็ไม่มี การหลงติดมัวเมายังคงมีสติอยู่ในร่องในรอยของธรรมะอยู่ตามเดิม เพราะจิตติดธรรมเหมือนวัวติดเจ้าของแล้ว ในขั้นนี้วัวเกิดความขาวไปถึงตะโพกแล้วเป็นสัญลักษณ์ของการไม่อาจจะถอยกลับไปสู่ความดำอีก มีแต่จะขาวผ่องเรื่อยไปจนถึงที่สุด แต่คนเลี้ยงวัวผู้ฝึกก็ยังมีเชือก และแส้ถืออยู่ในมือ ยังคงความเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่ (ขั้นที่ 5 ฝึกราบคาบ)
ขั้นต่อมา บัดนี้หมดภาระแล้ว พักได้แล้วทั้งวัวและผู้ฝึก ทั้งคู่พักอยู่ในลานหญ้าเขียวซึ่งเป็นวิหารธรรมอันใหม่ของจิตที่ลุถึงสภาพอันใหม่นี้แล้ว บัดนี้ ทั้งคู่อยู่ในภาวะผ่อนคลายสบายตัวสบายใจยิ่งกว่าที่เคยมีมา เพราะไม่มีอะไรต้องห่วงกังวลเหมือนแต่ก่อน ไม่ต้องฝึกวิธีไหนอีกต่อไป คนเลี้ยงวัวนั่งเปล่าขลุ่ยเสียงกังวานด้วยความสุขสันต์ ด้วยความอิ่มใจ ดุจการเสวยวิมุติสุข หลังจากการบรรลุมรรคผลขั้นนั้นๆ แล้ว ขณะที่ตัววัวก็มีสีขาวเกือบทั้งตัวแล้วยังเหลือสีดำอยู่ แค่ท่อนหางนิดเดียวเท่านั้น วัวเองก็ตั้งใจสดับเสียงขลุ่ยอย่างมีความสุขอยู่เช่นกัน (ขั้นที่ 6 หมดปัญหา)
ขั้นต่อมา บัดนี้คนเลี้ยงวัวผู้ฝึกสามารถวางมือในหน้าที่ของเขาได้แล้ว แม้จะงีบหลับไปบ้างก็ยังได้ บรรยากาศเต็มไปด้วยความสงบเยือกเย็น ตะวันบ่ายคล้อยลงแล้ว กระแสน้ำในลำธารส่งเสียงอันระรื่นประหนึ่งเสียงของเหล่าทวยเทพที่แซ่ซ้องสาธุการในความสำเร็จของผู้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท แสงสีของท้องฟ้าในยามนี้ทำให้หญ้าในท้องทุ่งดูงามสะพรั่งเหมือนความงามของแดนสุขาวดีอันสมบูรณ์ไปด้วยอาหารใจ และความเป็นทิพย์ คนเลี้ยงวัวหลับไปเสียนานให้คุ้มกับความเหน็ดเหนื่อยที่ได้ปลุกปล้ำมาด้วยความเข้มแข็งเป็นเวลานาน เขานอนหลับสนิทสิ้นห่วงใยในสิ่งทั้งปวง เพราะรู้ความที่จิตหมดกิเลสอันเป็นเหตุให้กังวล แต่ถึงจะหลับเขาก็หลับอย่างมีสติตื่นทุกเมื่อ (ขั้นที่ 7 วางมือหมด)
ขั้นต่อมา ปรากฏการณ์ใหม่เกิดขึ้นแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างขาวไปหมดจนทอตา วัวขาวผ่องทั่วทั้งตัวยืนอยู่ท่ามกลางเมฆขาว แสงจันทร์ขับความขาวลงปกคลุมพื้นพิภพ จนทุกสิ่งพลอยขาวไปหมด และขับกันเองให้ขาวยิ่งขึ้นจนถึงที่สุดแห่งความขาว ขณะที่ ทั้งคนเลี้ยงวัว และวัวต่างสงบเย็นไร้สิ่งรบกวนใจสิ้นความกังวลไม่มีความอยาก ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ความเป็นตัวตนในสิ่งใด เมื่อคนเราไม่มีความยึดถือแล้ว จะดำหรือขาวก็ย่อมไร้ความหมายหรือความแตกต่างกันไปในตัว มีแต่สิ่งที่เหมือนกัน เพราะล้วนเป็นของปรุงแต่งเปลี่ยนแปลงไม่คงที่ด้วยกันทั้งสิ้น (ขั้นที่ 8 หมดลักษณะสมมติ)
ขั้นต่อมา บัดนี้วัวซึ่งขาวถึงที่สุดทั้งตัวแล้วนั้นได้เข้าถึงความว่างอันตรธานไปจากความเป็นวัวโดยไม่ทิ้งร่องรอย ยังเหลืออยู่แต่ ตัวตนที่เป็นอิสระ เป็น เอกบุรุษ ในสากลจักรวาฬผู้เป็นนายเหนือเวลา ไม่มีอะไรที่มีค่าหรือมีความหมายสำหรับคนประเภทนี้ เขาจึงไม่อยากและไม่ยึดถือในสิ่งใด เขาไม่มีอะไรผูกพันในแง่ใดทั้งหมด เขาเป็นอิสรชนผู้สามารถยิ้มเย้ยสิ่งทั้งปวง ด้วยการตบมือร้องเพลงท่ามกลางแสงจันทร์อันเยือกเย็น ซึ่งเป็นรสแห่งวิมุติสุข (ขั้นที่ 9 ผู้เด่นอยู่โดดเดี่ยว)
ขั้นต่อมา บัดนี้เหลืออยู่แต่ความว่าง ทั้งคนทั้งวัวว่างไปไม่มีร่องรอยเหลือให้เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือแต่ประการใด แสงจันทร์ก็พลอยไม่รู้ที่จะส่องอะไรหรือเพื่อใครอีกต่อไป เมื่อไม่มีอะไรรับการส่องเงาก็ไม่เกิดสะท้อนขึ้นมาให้เป็นมายาอย่างนั้นอย่างนี้อีก (ขั้นที่ 10 ดับทั้งคู่)
ขั้นต่อมา คนเลี้ยงวัวปรากฏกายขึ้นมาอีกครั้ง เขาหวนคืนกลับไปใช้ชีวิตอยู่กับเพื่อนร่วมโลกของเขา คราวนี้เขามีชีวิตอย่างตื่นรู้อย่างเต็มที่อย่างไร้ตัวตน การกระทำและปฏิบัติการต่างๆ ของเขาดุจจันทราในวารีที่สะท้อนแสงให้กับหยาดน้ำทุกแห่งทุกที่ ดวงจันทร์ไม่ปรารถนาจะสะท้อนแสงก็จริง แต่ด้วยธรรมชาติของมันจึงปรากฏเป็นแสงสะท้อนออกมาเอง เขาอยู่กับโลกใบนี้อย่างเรียบง่าย และถ่อมตน เพื่อทุกคนมิใช่เพื่อตนเอง (ขั้นที่ 11 คืนสู่สามัญ)
บันไดเซน ของเว่ยหล่างและฮวงโปที่อินทปัญโญไต่ไปจนจุดปลายของมันนั้น มันเป็นอะไรที่สุดยอดแล้วในความรู้สึกของอินทปัญโญ สำหรับตัวเขาซึ่งอยู่กับพระไตรปิฎกมาเกือบทั้งชีวิต เขาจึงตระหนักได้ว่า "เหนือฟ้ายังมีฟ้า เหนือคนยังมีคน" ความน่าอัศจรรย์ใจอย่างยิ่งของเซนในทัศนะของอินทปัญโญก็คือ มันสามารถทำให้คนอย่างเขาเข้าถึงธรรมได้อย่างประหลาดเกินคาดฝันในชั่วแวบเดียวเท่านั้น
อินทปัญโญรำพึงกับตนเองในใจว่า
"โอ! คำสอนเช่นนี้ของ เซน มันลึกล้ำเกินไปแล้ว มันลึกล้ำเกินกว่าที่จะมีพุทธบริษัทในไทยสักกี่คนกันหนอที่จะเข้าถึงมันได้"
อินทปัญโญพอจินตนาการออกมาว่า พวกเถรวาทในเมืองไทยส่วนใหญ่ต่อให้ได้สัมผัสกับคำสอนของเซน เหมือนเขาก็คงเข้าไม่ถึงเหมือนเขา แถมอาจจะนินทาลับหลังว่า เซน เป็น "พวกที่สุญญตาขึ้นสมอง" เพราะดูอะไรมันว่างไปหมด และไม่มีอะไรนอกจากความว่าง เพราะธรรมะก็ว่าง คนที่เข้าถึงธรรมะก็ว่าง และผลของการถึงธรรมะก็ว่าง
มิหนำซ้ำ เนื่องจากเซนยังสอนอีกว่า "พุทธะ" ที่ผู้แสวงธรรมทั้งหลายกำลังค้นหากันนั้น ที่แท้มันอยู่ที่หน้าผาก หรืออยู่ที่ตัวของคนคนนั้นอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว เพียงแต่คนผู้นั้นไม่เคยเฉลียวใจ หรือตระหนักรู้มาก่อนเท่านั้น ตัว "นิพพาน" เองก็เช่นกัน เพราะมันเป็นหนึ่งเดียวกับ "พุทธะ" และคนผู้นั้นอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องบำเพ็ญตบะเพื่อไปบรรลุอะไรทั้งสิ้น
อินทปัญโญมีความเห็นว่า คำสอนของเซนไม่น่าถูกจริตของคนไทยส่วนใหญ่ในระดับรากหญ้าที่เป็น ผู้ที่ยังต่ำเกินไปในแง่ของระดับจิต ที่ยังต้องการทำบุญมากๆ เพื่อไปสวรรค์ หรือทำวิปัสสนามากๆ เพื่อบรรลุ "มรรคผลนิพพาน"
อินทปัญโญถึงกับฟันธงว่า เซน ไม่น่าจัดอยู่ใน มหายาน เพราะขนสัตว์ข้ามฝั่งไปได้น้อยกว่าพวก หินยาน หรือ เถรวาท เสียอีก จึงเห็นได้ว่า เซน ไม่ใช่ทั้งเถรวาทและมหายาน แต่ เซนเป็นยิ่งกว่าเถรวาทและมหายาน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จึงไม่ควรเรียกเซนว่าอะไร นอกจาก "เซน" เท่านั้น เพราะมันว่างไปจนไม่มีชื่อที่จะเรียกว่าอะไร นอกจากเซนเหมือนอย่างที่ เล่าจื่อ เรียก สิ่งนั้น ว่า "เต๋า" อย่างนั้นแหละ
เซน ไม่เหมาะกับ คนโง่ อยู่แล้วอันนี้เห็นได้ชัด แต่ เซน ก็ไม่ใช่สำหรับพวกปัญญาชนที่ชอบศึกษาหาความรู้ แต่ไม่ยอมปฏิบัติธรรมอินทปัญโญเชื่อว่า เซนเป็นของสำหรับคนที่มีจิตว่างจากความโง่ และความฉลาดของสมอง (intellect) ด้วยกันทั้งสองอย่าง และไม่ต้องไปแสวงหาอะไรที่ไหน เพราะมันโชติช่วงอยู่ที่หน้าผากของคนผู้นั้นอยู่แล้วตลอดกาล เพียงแต่คนผู้นั้นจะตื่นขึ้น และตระหนักรู้ได้หรือไม่เท่านั้น
เมื่อใดก็ตาม ที่คนผู้นั้นเลิกเป็นทั้งคนโง่ และคนฉลาด เมื่อนั้นเซนก็จะโผล่ออกมาเองจากหน้าผากของคนผู้นั้น และเมื่อคนผู้นั้นบรรลุเซน แล้วเขาจะไม่รู้สึกตัวว่าเป็นคนโง่หรือคนฉลาดเลย เขาจะไม่รู้สึกว่าตัวเขาเป็นอะไรเลย นอกจาก "ความว่าง" เพียงสิ่งเดียวที่ปรากฏอยู่อย่างเป็นอนันตกาลเท่านั้น
เซน เป็นคำสอนที่เอาจริงเอาจังกับเรื่องความว่างหรือสุญญตามากที่สุด พระพุทธองค์ทรงตรัสเรื่องสุญญตาตั้งแต่พุทธศาสนายังไม่ถูกบัญญัติ ยังไม่ถูกจำแนกให้เป็นเถรวาทหรือมหายาน กล่าวในความหมายนี้ "พุทธแท้" ย่อมไม่ใช่ทั้งเถรวาทหรือมหายาน แต่เป็นเพียงวิธีที่ทำให้คนเข้าถึงสุญญตาหรือความว่างตามแบบพระพุทธองค์ได้...ความว่างที่มันมีอยู่ตลอดกาลนิรันดรที่หน้าผากของคนทุกคนอยู่แล้ว
ถ้าตัดแม้แต่คำว่า เซน ออกไปอีก สุดท้ายก็จะเหลืออยู่แต่คำว่า "สุญญตา" ของพระพุทธองค์เท่านั้น ด้วยเหตุนี้กระมัง เซนของอินทปัญโญ จึงกลายเป็น คำสอนเรื่องสุญญตาของอินทปัญโญ ในเวลาต่อมา แต่สิ่งที่หายไปภายหลังจากที่คำสอน "แบบเถรวาท" ของอินทปัญโญในเรื่องสุญญตา เพื่อให้ถูกจริตของคนไทยส่วนใหญ่ได้ถูกทำให้แพร่หลายในวงกว้างโดยคนรุ่นหลังๆ คือ แนวทางฉับพลันของเซน
คำสอนเรื่อง สุญญตาที่ไร้เซน โดยผ่านการเผยแพร่ของพวก "ลูกศิษย์" ปัญญาชนของอินทปัญโญในอีกหลายสิบปีให้หลัง จึงเท่ากับไป ลดทอนพลวัตแห่งคำสอนเรื่องสุญญตาของอินทปัญโญที่ผูกพันกับเซนของเว่ยหล่าง และฮวงโปอย่างแน่นแฟ้น ไปอย่างน่าเสียดาย แม้พวกเขาจะทำด้วยความปรารถนาดีก็ตาม
เซนของอินทปัญโญ จึงกลับมามีความหมายและมีความสำคัญยิ่งอีกครั้งในยุคปัจจุบันนี้ ที่ผู้คนส่วนใหญ่กลายเป็น ผู้หลงทางและไม่รู้ว่า จะปฏิบัติธรรมอย่างไรดี เพื่อเข้าถึงพุทธธรรม