17. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 17 มาตุบูชา 22/8/49

17. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 17 มาตุบูชา 22/8/49

พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 17)
 


17. มาตุบูชา

"ความรัก ความไว้วางใจ ความอดทน และความกล้าหาญของแม่ที่เสียสละไปในการสนับสนุนกิจการของสวนโมกข์คือ สิ่งที่ตราตรึงใจที่สุดอยู่ในใจของลูกๆ"

พุทธทาสภิกขุ

24 เมษายน พ.ศ. 2491 (ค.ศ. 1948)...

โยมมารดาของอินทปัญโญถึงแก่กรรม และตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่อาคารของโรงเรียนพุทธนิคม อินทปัญโญนั่งอยู่ที่มุมซ้ายสุดของอาคาร เขาหลับตาทำสมาธิภาวนาระลึกถึง พระคุณอันยิ่งใหญ่ของผู้เป็นมารดาต่อวิถีแห่งการเข้าถึงพุทธธรรมของตัวเขา

เพราะสำนักสวนโมกขพลารามของเขาที่ตัวเขากับน้องชายได้ก่อตั้งขึ้นที่พุมเรียงเมื่อ 16 ปีก่อน รวมทั้งกิจการเผยแพร่ธรรมะของคณะธรรมทานของพวกเขาจะเป็นไป และดำเนินไปไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากโยมแม่ของเขาในช่วงแรกๆ เนื่องจากการหาเงินมาใช้จ่ายเพื่อกุศลสาธารณประโยชน์ ในขณะที่ยังไม่มีใครรู้จักพวกเขาซึ่งเป็นเพียงพระหนุ่มบ้านนอกคนหนึ่งกับน้องชายเท่านั้นในตอนนั้น จึงไม่อาจไว้ใจได้ ทำให้การหาเงินมาใช้จ่ายเพื่อธรรมะ ก็ยังกลายเป็นภาระหนักดุจภูเขาสำหรับชายหนุ่มสองพี่น้อง มิหนำซ้ำสิ่งที่พวกเขาริเริ่มทำกันนั้น มันอยู่ในชนบทที่ห่างไกลจากเมืองหลวงมาก จนแทบกล่าวได้ว่า มหาชนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ คงแทบไม่เคยรับรู้กันเลยว่า มีคนอย่างพวกเขาที่อุทิศกายใจพร้อมจะเป็น "พุทธทาส" กับ "ธรรมทาส" ดำรงอยู่ในโลกนี้ ปัญหาเรื่องการขอความช่วยเหลือทางด้านการเงินจากสาธารณชนในตอนนั้น จึงเป็นสิ่งที่มืดมนไม่อาจคาดหวังได้

แม้แต่คนอื่นๆ ที่พอได้ยิน "โครงการอันสูงส่ง" ของพวกเขาก็ยังอดตั้งข้อสงสัยในตอนนั้นไม่ได้ว่า พวกเขาจะทำได้อย่างที่คุยจริงหรือ เด็กๆ พวกนี้จะอวดดี อวดเก่งไปถึงไหนกัน และจะไปได้สักกี่น้ำ? พอจนแต้มในเรื่องการเงินที่ดูมืดมนรอบด้านทุกทิศทุกทางเช่นนี้ ความหวังเดียวที่เป็นดุจแสงสว่างยามราตรีอันมืดมิดของชายหนุ่มทั้งสองก็คือ แม่ของพวกเขา

แม้แต่แม่ของพวกเขาเอง ก็ไม่วายนึกสงสัยเช่นเดียวกับผู้อื่นว่า ลูกๆ ของนางช่างอวดดี อวดเก่งเหลือเกิน แต่ด้วยความรักความสงสารในลูกๆ บวกกับความไว้วางใจในตัวลูกๆ ของนางที่ไม่เคยทำอะไรที่เหลวไหลมาก่อนเลย นางจึงยอมพิจารณาความประสงค์ และการต้องการความช่วยเหลือทางด้านการเงินของพวกเขาอย่างยุติธรรม และละเอียดลออ

ในที่สุด แม่ของพวกเขาก็ตัดสินใจใช้ เงินออมเพื่อยามชรา ของแม่เอง โดยไม่ต้องมีทุนสำรอง และไม่มีที่หวังอะไรมากไปกว่าความกตัญญูกตเวทีของลูกๆ ในวันข้างหน้ามาเป็น กองทุนบำเพ็ญบุญประจำตระกูล เพื่อช่วยเหลือกิจกรรมเพื่อพุทธธรรมของพวกเขา

ความกล้าหาญกล้าตัดสินใจของแม่ของพวกเขาเป็นไปตามอำนาจแห่งเหตุผล พวกเขาต้องตอบปัญหายากๆ หลายข้อที่แม่ถามได้อย่างชัดเจน จนหายข้องใจกว่าจะได้รับการยอมรับจากแม่ โดยเฉพาะคำถามที่ว่า การไปสร้างกุฏิเล็กในวัดร้างกลางป่ารกกับการออกหนังสือพิมพ์เล็กๆ รายสามเดือน มันได้บุญมากกว่าการสร้างโบสถ์สวยๆ ตรงไหน ซึ่งพวกเขาได้อธิบายให้แม่ของพวกเขาฟังอย่างจะแจ้งว่า การกระตุ้นให้คนจำนวนหนึ่งเกิดความสว่างในธรรมของพระพุทธเจ้า และเกิดความกระตือรือร้นในการปฏิบัติธรรมของพระพุทธเจ้าได้นั้น มันมีค่ามากกว่าการสร้างโบสถ์สวยๆ เป็นสิบหลังเสียอีก เพราะโบสถ์ที่สวยงามยังไม่ได้ทำอะไรที่เป็นแสงสว่างให้แก่มนุษย์โดยตรง และยังไม่กระตุ้นคนให้วิ่งไปสู่ที่สงัดเพื่อการปฏิบัติธรรมได้อย่างจริงจัง มันยังเป็นเรื่องของวัตถุเป็นที่ตั้งของความยึดมั่นถือมั่น จนอาจกลายเป็นกรงขังจิตใจไปเสียก็เป็นได้

พอได้ฟังคำอธิบายจากพวกเขา แม่ถึงกับหัวเราะชอบอกชอบใจ พร้อมกับพยักหน้าเห็นด้วย แต่แม่ก็ยังซักถามพวกเขาต่อไปอีกว่า สิ่งที่พวกเขาคิดทำนั้นไม่ต่างจาก "การพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน" พวกเขามีกำลังน้อยไม่คิดเจียมตัวบ้างหรือ? พวกเขาชี้แจงอย่างนอบน้อมว่า แม้พวกเขาไม่สามารถถึงกับพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน แต่พวกเขาก็จะทำไปเรื่อยๆ ด้วยความมุ่งมั่นตามสติกำลังที่พวกเขามีได้ผลเท่าไรก็เอาเท่านั้น พวกเขาได้แต่หวังว่า การกระทำด้วยความจงรักภักดีต่อพระศาสนาของพวกเขา มันจะไปกระตุ้นให้คนอื่นคิดทำตามกันมากขึ้น จนกระทั่งเมื่อผู้มีอำนาจทำตามหรือประชาชนทั้งโลกพากันทำตาม มันก็อาจมีการพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินเกิดขึ้นมาได้จริงๆ เหมือนกัน เพราะฉะนั้นถึงพวกเขาไม่ได้พลิกเอง แต่ผลก็เท่ากันเหมือนกัน พวกเขาจึงสามารถอยู่และทำงานไปอย่างเจียมตัวเจียมใจ และไม่ต้องอกแตกตายเพราะข้อนั้นได้ เพราะพวกเขาทำไปโดยไม่คาดหวังผลใดๆ จากการกระทำด้วยจิตอันบริสุทธิ์ และเปี่ยมไปด้วยกุศลของพวกเขาเลย

แม่ยังถามพวกเขาอีกว่า พวกเขามีความรู้พอที่จะทำกันได้หรือ? พวกเขาตอบแม่ของพวกเขาอย่างถ่อมตนว่า พวกเขามิได้คิดจะตั้งตนเป็น "ครู" สอนใคร พวกเขาแค่ทำตนเป็นผู้ให้ความสะดวกแก่ผู้ตั้งใจปฏิบัติ งานหลักของพวกเขาคือการกระตุ้นผู้ที่มีการศึกษาทางธรรมมาแล้วบ้างให้ขะมักเขม้นในการปฏิบัติธรรมมากยิ่งขึ้น ตามความรู้ที่เรียนมาแล้ว

เมื่อแม่ได้มีโอกาสนึกทบทวนมานานพอสมควรแล้ว ก็ตัดสินใจทำหนังสือพินัยกรรมเป็นหลักฐานให้ใช้เงินออมเพื่อยามชราของนางตามหลักการสำคัญที่ตกลงกันไว้กับพวกเขาในวันก่อน ทำให้กิจกรรมของคณะธรรมทานของสวนโมกขพลาราม เกิดขึ้นเป็นรูปเป็นร่างได้ ในตอนนั้น ถ้าแม่แค่ออกปากออกมาคำเดียวว่า "ไม่!" กิจการของคณะธรรมทานคงเลิกล้มไปตั้งแต่แรก

แม่คือหญิงคนแรกที่รักแสนรักของพวกเขามาจนถึงบัดนี้
ความรัก ความไว้วางใจ ความอดทน และความกล้าหาญของแม่ที่เสียสละไปในการสนับสนุนกิจการของคณะธรรมทานของสวนโมกข์ของพวกเขา เป็นสิ่งที่ตราตรึงอยู่ในใจของพวกเขาเสมอมา แม้แม่จะไม่ค่อยปลื้มอกปลื้มใจมากนักกับกิจการของคณะธรรมทานในช่วงแรกๆ เพราะมีผู้เข้าใจผิดและต่อต้านอยู่พักใหญ่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปอีกหลายปี สังคมให้การยอมรับ สวนโมกขพลารามของพวกเขามากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้แม่เกิดปีติปลื้มใจได้บ่อยๆ จนแม่เริ่มรู้สึกเฉยๆ กับจดหมายที่เป็นคำชมกิจการของสวนโมกขพลารามจำนวนมากที่ส่งมาเป็นปกติ พอถึงตอนนั้นแหละที่พวกเขารู้สึกโล่งอก เพราะพวกเขาได้เปลื้องข้อผูกพันที่เคยเป็นความพะวงสงสัยออกไปได้สิ้นเชิงแล้ว และเหนือสิ่งอื่นใดพวกเขาสามารถทำกุศลเจตนาของแม่ให้เต็มเปี่ยมโดยสมบูรณ์แล้ว

* * *

"แม่จ๋า ชีวิตนี้ของลูก ลูกถือพรหมจรรย์มาตลอดทั้งชีวิต แต่แม่คือหญิงคนแรก และคนเดียวที่ลูกรัก ลูกบูชาด้วยจิตคารวะสูงสุดและด้วยความกตัญญูรู้คุณอย่างถึงที่สุด บุญบารมีใดๆ ที่ลูกได้บำเพ็ญมาตลอดทั้งชีวิตนี้ ลูกขอยกให้แม่จนหมดสิ้น"

นี่คือคำอธิษฐานจิตของอินทปัญโญในวันเผาศพ นางเคลื่อน พานิช โยมมารดาของเขา

คืนนั้น หลังจากที่อินทปัญโญกลับมาที่กุฏิของเขา อินทปัญโญได้นั่งสมาธิเจริญภาวนาสมถะวิปัสสนาตามแนว นวสีถิกา (พิจารณาศพ 9 ลักษณะ) ใน มหาสติปัฏฐานสูตร ก่อนอื่นเขาทำสมาธิจนเข้าถึงเจโตสมาธิแลเห็นกายตนเองเป็น ศพ จับรู้ส่วนที่เป็นธาตุดิน เช่น เนื้อหนังและกระดูกกับส่วนที่เป็นธาตุน้ำ เช่น น้ำลายในช่องปาก เพราะเมื่อเป็น ศพ ก็ยังคงมีธาตุทั้งสองอยู่ เขากำหนดรู้ลักษณะเอิบอาบของน้ำลายในช่องปาก จนกระทั่งเกิดความเห็นชัดแล้วกำหนดตลอดตัวว่า ใต้เนื้อหนังของเขาก็มีลักษณะเอิบอาบเช่นเดียวกับช่องปาก

จากนั้นเขาระลึกตามจริงว่า เนื้อหนังของเขาเริ่มเปื่อยยุ่ยลง จนของเหลวที่ถูกขังอยู่ในร่างค่อยๆ ซึมออกมา (ลักษณะที่ 1 ศพมีน้ำเลือดน้ำเหลืองไหล)

เขาพิจารณาต่อไปในขณะแห่งความรู้สึกว่ามีน้ำเลือดน้ำเหลืองไหลเยิ้มอยู่ทั่วตัวจนส่งกลิ่นคาวจากของเหลวชักจูงให้สัตว์ต่างๆ มากัดกิน ด้วยอำนาจจิตแห่งเจโตสมาธิของเขา อินทปัญโญสามารถทำให้จิตเขาแลเห็นไปว่ามีหมู่สัตว์มาแทะมาไช มากัดกินศพเขาจริงๆ มีกลุ่มหนอนยุบยิบมากลุ้มรุมแทะเนื้อหนัง ดูดน้ำเลือดน้ำเหลืองของเขาอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยจิตเขาเฝ้าดูอยู่ด้วยความนิ่งรู้เท่านั้น (ลักษณะที่ 2 ศพถูกกัดกิน)

จากนั้นเขาขบฟันเล็กน้อย ใช้อำนาจเจโตสมาธิเห็นกายเขาเป็นโครงกระดูก โดยพิจารณาว่าบนกระดูกยังมีสิ่งฉาบทายังมีเครื่องห่อหุ้ม มิใช่กระดูกเปล่า ยังมีเนื้อมีเลือดติดอยู่ (ลักษณะที่ 3 ศพเป็นกระดูกฉาบเลือดเนื้อ)

จากนั้น เขาพิจารณาเห็นเนื้อนั้นร่อยหรอลง เหลือเพียงเลือดเปื้อนอยู่ และมีเอ็นยึดข้อกระดูกต่างๆ ไว้ (ลักษณะที่ 4 ศพเป็นกระดูกฉาบเลือด)

จากนั้น เขาเห็นนิมิตภายในอันเกิดแต่เจโตสมาธิต่อไปอีกว่า เลือดเหือดแห้งไปจนเหลือแต่โครงกระดูกที่มีแต่เอ็นร้อยรัด (ลักษณะที่ 5 ศพเป็นกระดูกมีแต่เอ็นร้อยรัด) จากนั้น เขาเริ่มพิจารณากระดูกแต่ละส่วนกระจัดกระจายออกจากกัน เพราะเส้นเอ็นขาดสะบั้นลง เป็นแค่โครงกระดูกที่ปราศจากเอ็นยึดดำรงอยู่เป็นซี่ๆ เป็นอิสระจากกัน (ลักษณะที่ 6 ศพเป็นกระดูกกระจัดกระจาย)

เมื่อเขาใช้เจโตสมาธิลอกหนังลอกเนื้อ ล้างเลือดและแก้เส้นเอ็นที่ผูกโครงกระดูกหมดแล้ว ความรับรู้ภายในของเขาก็สว่างโล่งเหมือนไม่เหลืออะไรอื่น นอกจากภาวะความเป็นกระดูกสีขาวเท่านั้น (ลักษณะที่ 7 ศพเป็นกระดูกขาว)

จากนั้น เขาทำการพิจารณาต่อกำหนดเห็นกระดูกโดยความเป็นธาตุในธรรมชาติอันผุกร่อนได้ แลเห็นความเป็นอนิจจังในความผุกร่อนของกระดูก (ลักษณะที่ 8 ศพเป็นกระดูกผุพัง)

สุดท้าย เมื่อเขาพิจารณากระทั่งเห็นความเสื่อมสภาพลงของกระดูก ด้วยอำนาจของเจโตสมาธิ จนมีสภาพเป็นผุยผง เป็นจุณ เป็นธุลีหาลักษณะมิได้ สิ่งที่เหลืออยู่คือ จิตอันสว่างโพลน ที่ว่างเปล่าจากความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นว่าจิตเป็นใคร แม้แต่ความหมายรู้ใดๆ เกี่ยวกับรูปก็ไม่ปรากฏ (ลักษณะที่ 9 ศพเป็นกระดูกที่ผุพังลงเป็นผง)

"จิตที่ว่าง" จากความหมายรู้ทางรูปหรือ "นิรรูป" โดยผ่านการฝึกสมถะวิปัสสนาด้วย นวสีวถิกาบรรพในมหาสติปัฏฐานสูตรนี้ เป็นจิตที่มีความตั้งมั่นอันประกอบพร้อมด้วยปัญญาที่เห็นอนิจจังทางกาย เห็นอนัตตาทางรูป ในความว่างจึงมีปัญญารู้อยู่ บวกตนเองได้แจ่มแจ้งอยู่ว่า วันหนึ่ง กายของเราย่อมไม่อาจล่วงพ้นไปจากความเป็นศพสภาพต่างๆ จนกลายเป็นผงธุลีในที่สุด จึงหาสาระแก่นสารให้ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้เลย

จิตของอินทปัญโญหมดจากเครื่องยึดทางกายแล้วกลับมาสู่สภาพรู้ของจิตเองเป็นธรรมดา หลังจากที่จิตของเขาทำเจโตสมาธิจนไปถึงที่สุดคือ เห็นความว่างเหลือแต่อาการรู้ของจิตเอง เมื่อเขาออกจากสมาธิกลับคืนสู่สำนึกปกติ จึงเป็นไปอย่างธรรมชาติ กระทั่งรู้ตัวตามปกติ จิตของอินทปัญโญแก่กล้ายิ่งขึ้น สดใสและหนักแน่นยิ่งขึ้นถึงขนาดที่ตัวเขาสามารถมองตัวเองเป็นศพได้ทุกเมื่อ เป็นโครงกระดูกขาวได้ทุกเมื่อ ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถเดิน ยืน นั่ง นอน หลับตา หรือลืมตา ก็ตาม

เขาเกิดความตระหนักรู้ขึ้นมาเองว่า ความตาย อยู่กับเราตลอดเวลา แต่ ความเกิด ก็อยู่กับเราตลอดเวลาเช่นกัน ชีวิต อยู่กับเราตลอดเวลา และ นิพพาน ก็อยู่กับเราตลอดเวลาเช่นกัน




 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้