พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 24)
24. ศรีบูรพา
"การปฏิบัติธรรม เป็นกิจสำคัญอันยิ่งยวดของพุทธศาสนิกชน และทำให้เกิดความรู้สึกประทับใจว่า เพียงแต่เรียนรู้ข้อธรรมต่างๆ ในพระพุทธศาสนานั้น หาเป็นการเพียงพอที่จะทำให้ใครๆ เรียกตัวเองว่าเป็นพุทธศาสนิกชนที่แท้จริงได้ไม่"
จดหมายจาก กุหลาบ สายประดิษฐ์
ถึงพุทธทาส ภิกขุ ลงวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2494
วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495 (ค.ศ. 1952)...สวนโมกข์
กุหลาบ สายประดิษฐ์ นักหนังสือพิมพ์ และนักเขียนนามอุโฆษแห่งยุคมีความเลื่อมใสในตัวอินทปัญโญมาตั้งนานแล้ว นับตั้งแต่ที่เขาไปฟังปาฐกถาพิเศษของอินทปัญโญที่พุทธสมาคมเรื่อง "วิถีแห่งการเข้าถึงพุทธธรรม" เมื่อพ.ศ. 2483 หลังจากนั้นตัวเขาก็ติดตามผลงาน และความเคลื่อนไหวของอินทปัญโญมาโดยตลอด แม้กุหลาบจะมีอายุแก่กว่าอินทปัญโญหนึ่งปีก็ตาม แต่ตัวเขามีความเลื่อมใสในภูมิธรรมของพระผู้อ่อนเยาว์กว่ารูปนี้เป็นอย่างยิ่ง ทุกครั้งที่อินทปัญโญขึ้นไปเทศน์ที่พุทธสมาคม กรุงเทพฯ กุหลาบก็จะมาฟังทุกครั้ง แล้วเอาไปเขียนลงหนังสือพิมพ์ที่เขาทำอยู่ ด้วยความศรัทธาที่จะเผยแผ่หลักธรรมของอินทปัญโญ
ตอนที่กุหลาบได้รู้จักกับอินทปัญโญเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2483 เมื่อเขามีอายุได้ 35 ปีนั้น กุหลาบเป็น นักเขียนชื่อดัง ภายใต้นามปากกา "ศรีบูรพา" แล้ว "สงครามชีวิต" (2475) เป็น นิยายเพื่อชีวิต เรื่องแรกของเขาที่เขาอิงมาจากเค้าโครงเรื่องของนวนิยายรัสเซียของดอสโตเยฟสกี้ แต่เขาก็ได้นำเสนอบทวิพากษ์สังคมไทยไว้อย่างเฉียบคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอำนาจของเงิน ช่องว่างทางชนชั้น ช่องว่างทางเศรษฐกิจ ความเชื่อในศาสนาแบบผิดๆ หลังจากที่กุหลาบได้เดินทางไปดูกิจการหนังสือพิมพ์ที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 6 เดือน ในพ.ศ. 2479 (ค.ศ. 1936) พอกลับมาเมืองไทยเขาก็ได้แต่งนวนิยายรักโรแมนติกเรื่อง "ข้างหลังภาพ" (2480) ซึ่งทำให้นามปากกา "ศรีบูรพา" ของเขาเป็นที่รู้จักในหมู่นักอ่านคนรุ่นใหม่มากที่สุด
เมื่อกุหลาบได้เดินทางไปศึกษาวิชาการเมืองที่ออสเตรเลียในระหว่าง พ.ศ. 2490-2492 ทันทีที่เขาเดินทางกลับมา เขาก็ได้เขียนนวนิยายเรื่อง "จนกว่าเราจะพบกันอีก" (2493) นวนิยายเรื่องนี้เป็นนวนิยายการเมืองที่กล่าวถึงนักเรียนไทยหนุ่มเสเพลลูกคนรวยที่ไม่มีอุดมการณ์ใดๆ ในชีวิต ที่ไปเรียนเมืองนอกที่ออสเตรเลีย แล้วได้พบกับหญิงสาวชาวออสเตรเลียที่มีอุดมคติ ซึ่งสามารถเปลี่ยนทัศนคติ และวิถีชีวิตของชายหนุ่มให้มีความต้องการกลับมาเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ดีขึ้น
กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ "ศรีบูรพา" ในพ.ศ. 2493 (ค.ศ. 1950) จึงเป็น ปัญญาชนหัวก้าวหน้าระดับแนวหน้า ของสังคมไทยในสมัยนั้น อย่างไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ แต่แม้กระนั้นลึกๆ แล้ว กุหลาบยังรู้สึกเสมอว่าตัวเองยังขาดอะไรไปบางอย่างอยู่ การมีแค่อุดมการณ์ อุดมคติ ทฤษฎีทางการเมืองเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมอยู่เต็มหัว ดูเหมือนจะยังไม่เพียงพอ เพราะกุหลาบก็ยังรู้ตัวว่า ตัวเขายังทุกข์อยู่ และยังขาดศานติในหัวใจ เขาจึงนึกถึงอินทปัญโญ และเริ่มเขียนจดหมายติดต่อกับอินทปัญโญ เพื่อมาขอปฏิบัติธรรมที่สวนโมกข์สักครั้ง
ในตอนหนึ่งของจดหมายที่กุหลาบเขียนถึงอินทปัญโญ ลงวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2494 เขาเขียนว่า
"ผมแสวงหาการออกไปเสียจากสิ่งแวดล้อมในพระนครอันล้วนเป็นข้าศึกต่อความสงบทางจิตใจเพื่อการพิจารณาธรรม ผมจึงดีใจมากที่ท่านได้กรุณาให้โอกาสผมออกไปพำนักที่สวนโมกข์อย่างเต็มใจ การออกไปพำนักที่สวนโมกข์จะเป็น การทดลองอันใหม่ ของผม เพื่อที่จะได้ทราบว่า การพิจารณาธรรม และการฝึกฝนตนเพื่อน้อมชีวิตไปสู่วิถีพุทธธรรม ในบรรยากาศอันสงบสงัดเช่นนั้น จะได้ผลต่างกันเพียงใดกับการปฏิบัติภายใต้สิ่งแวดล้อมชีวิตในพระนคร"
อินทปัญโญได้ตอบจดหมายของกุหลาบ จากสวนโมกข์ ลงวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2494 มีใจความตอนหนึ่งว่า
"การที่คุณมีความประสงค์ จะเขยิบการศึกษาทางพุทธศาสนาของคุณขึ้นไปสู่ขั้นที่จะทำให้ได้รับสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านต้องการให้ทุกคนได้รับ กล่าวคือ ขั้นปฏิบัติธรรม อาตมาจะรู้สึกมีความยินดีอย่างยิ่ง และจะมีความยินดีอย่างที่สุด ถ้าหากคุณจะอุทิศความพยายามของคุณจนทำให้เกิดความสนใจในสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านต้องการให้ทุกคนได้รับนี้ ขึ้นในวงการของนักประพันธ์แห่งประเทศไทยอย่างทั่วถึง..."
"...การปฏิบัติธรรมนั้น ที่แท้ก็คือการประพันธ์นั่นเอง แต่เป็นการประพันธ์ชนิดที่ไม่ต้องเขียนลงเป็นตัวอักษร การปฏิบัติธรรมนั้นคือ การมีชีวิตอยู่ด้วยการพิจารณา จนเข้าใจในชีวิตและสิ่งทั้งหลายทุกสิ่งอันเนื่องกันอยู่กับชีวิตอย่างถูกต้อง นี่แหละคือ ตัวการปฏิบัติธรรมแท้..."
"...นักประพันธ์ที่ไม่ปลอม ย่อมบรรยายสิ่งที่ตนเองเห็นจากชีวิต และสิ่งทุกสิ่งที่เนื่องกันอยู่กับชีวิตในแง่ใดแง่หนึ่งเสมอ แต่ส่วนมากที่สุดนั้นมันไปเสียในแง่ที่ทำให้คนตกเป็น ทาสอารมณ์ ยิ่งขึ้น แทนที่จะเป็นไปในทางเป็น อิสระเหนืออารมณ์ หรือสิ่งทั้งปวงที่มาเกี่ยวข้องกับชีวิตยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม นักประพันธ์ที่แท้ย่อมทำงานของตนด้วยการพิจารณาชีวิตและสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิต โดยแง่ใดแง่หนึ่งเสมอ อาตมาจึงเห็นว่า นักปฏิบัติธรรมก็คือนักประพันธ์ นั่นเอง เป็นแต่ว่าไม่บรรยายลงเป็นตัวอักษร และ มองสิ่งทั้งปวงในแง่ที่เป็นอิสระเหนืออารมณ์ เท่านั้น..."
กุหลาบตัดสินใจลงมาปฏิบัติธรรมที่สวนโมกข์ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495 ในสมัยนั้น การเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังสวนโมกข์มีความยากลำบากมาก ต้องตั้งใจไปจริงๆ เพราะเมื่อลงจากสถานีรถไฟแล้วจะไปสวนโมกข์ต้องเดินทางด้วยเท้าเท่านั้น ผ่านทุ่งนา คันนา และคูคลองอีกหลายแห่งกว่าจะถึง แต่กุหลาบก็มาแล้ว
อินทปัญโญยืนรอกุหลาบที่ลานวัดอยู่ก่อนแล้ว โดยไม่รอช้าเขาสั่งให้กุหลาบนั่งขัดสมาธิบนพื้นดินหลับตาอยู่เพียงลำพังคนเดียวบนลานดิน พร้อมกับกำชับว่า
"คุณกุหลาบโปรดหลับตา หน้าที่ของคุณในตอนนี้มีอยู่เพียงอย่างเดียว คือ ค้นหา ใจ ของคุณให้เจอ และคว้าจับ ใจ ให้ได้ อาตมาจะเฝ้าคุณอยู่ตรงหน้านี้แหละไม่ไปไหน"
สมาธิภาวนา โดยพื้นฐานแล้วมีอยู่สองแบบ แบบแรกเป็นการติดต่อสื่อสารกับนามธรรมภายนอก หรือนามธรรมสากลที่เรียกว่า "พระเจ้า" แบบที่สอง เป็นการค้นพบธรรมชาติแห่งสภาวธรรม สมาธิภาวนาที่อินทปัญโญกำลังถ่ายทอดให้แก่ "ศรีบูรพา" คือแบบที่สองนี้
กุหลาบนั่งหลับตาทำสมาธิ ค้นหาใจตามที่อินทปัญโญบอก แต่ไม่ว่าจะค้นหาเท่าไหร่ก็หาไม่พบ เวลาผ่านไปเนิ่นนานแล้ว...นานพอที่จะทำให้ใจที่ตอนแรกยังฟุ้งซ่านอยู่ของกุหลาบค่อยๆ สงบลง และ "ความตระหนักรู้ในปัจจุบันขณะ" เข้ามาแทนที่ใจที่ค่อยๆ ดับไปแล้วนั้น ขณะนั้นใกล้ค่ำแล้ว ลมพัดเรื่อยๆ เย็นสบาย ใบหน้าของกุหลาบสงบนิ่งสง่างามอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ร่างกายของกุหลาบสั่นเทิ้มเล็กน้อยด้วยปีติที่ตัวเขาเพิ่งได้เข้าถึง "บรมสันติ" อย่างเป็นประสบการณ์โดยตรงเป็นครั้งแรกในชีวิตของเขา
ในการฝึก สมาธิแบบพุทธ การมี ความตระหนักรู้ในปัจจุบันขณะ เป็นหัวใจของการภาวนา ผู้นั้นไม่ได้มุ่งที่จะเข้าถึงสภาวะที่สูงกว่าแต่อย่างใด ผู้นั้นเพียงแต่พยายามที่จะมองให้เห็นสิ่งที่อยู่ "ที่นี่ และเดี๋ยวนี้" โดยปราศจากจุดมุ่งหมายหรือความทะเยอทะยานใดๆ ผู้นั้นเพียงแค่มีสติระลึกรู้อยู่กับปัจจุบันโดยการตามรู้ลมหายใจอย่างละเอียดสุขุม เช่นเดียวกับคนผู้หิวกระหายที่กำลังกินอาหาร จนเขาไม่รู้สึกกระทั่งว่าตนกำลังกินอาหารอยู่ เพราะเขาหมกมุ่นกับอาหารเสียจนกระทั่ง ตัวเขากลายเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งที่เขากำลังกระทำอยู่โดยสิ้นเชิง และแทบจะกลายเป็นหนึ่งเดียวกับรสชาติและความอิ่มเอมในรสนั้น การทำ สมาธิแบบอานาปานสติ ก็เช่นกัน ผู้นั้นจะต้องเป็นหนึ่งเดียวกับการหายใจ ลมหายใจ และผลที่ได้จากอารมณ์สมาธินั้นอย่างแนบแน่น จึงจะถือว่าใช้ได้
เมื่อกลับมาถึงกรุงเทพฯ กุหลาบได้เขียนจดหมายถึงอินทปัญโญ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2495 มีใจความตอนหนึ่งว่า
"ผมใคร่จะเรียนแก่ท่านว่า การที่ผมได้ออกไปพำนักที่สวนโมกข์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์นั้น แม้จะเป็นช่วงระยะเวลาอันสั้นเพียงหนึ่งสัปดาห์ แต่ผมก็รู้สึกว่าเป็นเวลาอันมีค่ายิ่งแก่การฝึกฝนอบรมทางจิต ผมรู้สึกว่าได้มีความก้าวหน้าขึ้นใหม่ในการน้อมชีวิตไปสู่การปฏิบัติธรรมของตัวผม..."
หลังจากกลับมาจากสวนโมกข์แล้ว กุหลาบกับอินทปัญโญก็ยังมีจดหมายติดต่อกันเป็นระยะ อินทปัญโญเคยเสนอให้กุหลาบเขียนหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาสักเล่ม กุหลาบก็ตอบไปว่า เขาเขียนแน่ แต่ว่าจะมาเขียนใกล้ๆ อินทปัญโญ คือตั้งใจจะลงไปสวนโมกข์อีกที แล้วจะมาเขียนหนังสือที่สวนโมกข์ ขณะที่กำลังเตรียมการอยู่นั้น กุหลาบก็ถูกจับเสียก่อนพร้อมๆ กับมิตรสหายในวงการหนังสือพิมพ์ด้วยข้อหา กบฏภายใน และภายนอกราชอาณาจักร หรือที่รู้จักกันดีในนาม "กบฏสันติภาพ" เมื่อ พ.ศ. 2495
สาเหตุที่กุหลาบและมิตรสหายถูกจับก็เพราะพวกเขามีกิจกรรมที่ต่อต้านรัฐบาลตามวิถีประชาธิปไตย เช่น เรียกร้องให้รัฐบาลเลิกเซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์ และคัดค้านการทำสงครามเกาหลี กุหลาบถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 13 ปี 4 เดือน แต่ได้รับนิรโทษกรรม ในพ.ศ. 2500 (ค.ศ. 1957) เนื่องในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ รวมเวลาที่เขาติดคุกคือ 4 ปีเศษ
ในระหว่างที่ติดคุกนี่เอง กุหลาบภายใต้นามปากกา "ศรีบูรพา" ได้เขียนนวนิยายที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผลงานที่ดีที่สุดของเขา คือ "แลไปข้างหน้า" ภาคปฐมวัย (พ.ศ. 2498) และ "แลไปข้างหน้า" ภาคมัชฌิมวัย (พ.ศ. 2500) นวนิยายของ "ศรีบูรพา" เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคมไทยอย่างชัดเจน ผ่านชีวิตของเด็กบ้านนอกคนหนึ่งที่เข้ามาอาศัยเป็นเด็กรับใช้ในบ้านเจ้านายผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ "ศรีบูรพา" ได้ตีแผ่ให้เห็นระบบโครงสร้างของสังคมไทยที่ก่อให้เกิดปัญหาซับซ้อนหลายระดับ ความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบท ช่องว่างทางชนชั้น จารีตประเพณีที่ล้าหลัง และการครอบงำของค่านิยมเก่า ในขณะเดียวกันเขาก็นำเสนอความคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความยุติธรรม และความมีมนุษยธรรมแทรกลงไปในนิยายเรื่องนี้ด้วย
หลังจากออกจากคุกใน พ.ศ. 2500 กุหลาบเตรียมลงไปปฏิบัติธรรมที่สวนโมกข์กับอินทปัญโญอีกครั้ง พร้อมกับเตรียมเขียนหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาตามที่ได้เคยรับปากกับอินทปัญโญเผอิญเขาได้รับเชิญไปแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีนแดงในขณะนั้น) เสียก่อน จึงเปลี่ยนแผนเป็นตั้งใจจะลงไปสวนโมกข์หลังจากกลับจากเมืองจีนแล้ว
แต่ในระหว่างที่กุหลาบเดินทางอยู่ในประเทศจีนนั้นเอง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำการรัฐประหาร มีการจับกุมคุมขังนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักอุดมการณ์หัวก้าวหน้าเป็นจำนวนมาก กุหลาบจึงต้องขอลี้ภัยอยู่ในประเทศจีน ไม่มีโอกาสได้กลับมาเมืองไทยอีกเลย จนสิ้นชีวิตที่นั่น เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2517 ด้วยโรคปอดบวม และเส้นโลหิตหัวใจตีบตัน สิริอายุ 69 ปี
"ศรีบูรพา" หรือกุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้รับการยกย่องจากปัญญาชนรุ่นหลังๆ ว่าเป็น หนึ่งในสามมหาบุรุษที่เป็นสามัญชนไทยแห่งศตวรรษที่ 20 ซึ่งได้แก่ ปรีดี พนมยงค์ กุหลาบ สายประดิษฐ์ และพุทธทาสอินทปัญโญ
ท่านปรีดี เป็นตัวแทนนักการเมืองที่มีคุณธรรม ท่านกุหลาบเป็นนักหนังสือพิมพ์และนักเขียนที่มีคุณธรรม มีอุดมคติ ทั้งสองท่านนี้กลับมาอยู่เมืองไทยไม่ได้ต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ไปตายในต่างประเทศ ส่วน ท่านพุทธทาสเป็นตัวแทนของพุทธศาสนาที่แท้ ท่านเป็นหนึ่งในสามมหาบุรุษสามัญชนข้างต้นคนเดียวที่สามารถอยู่รอดปลอดภัยมาได้เพราะว่ามีพุทธศาสนาเป็นเครื่องปกป้องท่านเอาไว้ ทั้งท่านปรีดี และท่านกุหลาบ ต่างก็รู้จักและยอมรับท่านพุทธทาสเป็นอย่างดี และมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันมาตลอดก่อนที่ "ชะตากรรม" จะพรากคนทั้งสามให้แยกจากกันไปคนละทาง
แต่สุดท้ายแล้ว มหาบุรุษทั้งสามท่านนี้ก็กลับเข้ามาอยู่ในหัวใจของคนไทยรุ่นหลัง...ตลอดไป