พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 28)
28. ธรรมมาตา
"เพศหญิงสอนเพศหญิงด้วยกันได้ดีกว่า สะดวกกว่า ผลแนบเนียนกว่า"
พุทธทาสภิกขุ
...ต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2497 (ค.ศ. 1954)...ย่างกุ้ง ประเทศพม่า วันที่ย่างกุ้งอวลอิ่มไปด้วยลมหนาว อินทปัญโญเป็นตัวแทนคณะสงฆ์ไทยบินจากสนามบินดอนเมืองมาที่ย่างกุ้ง เพื่อร่วมงานฉัฏฐสังคายนา ครั้งที่ 6 ที่พม่าเขามาเพื่อกล่าวคำปราศรัยเรื่อง "ลักษณะน่าอัศจรรย์บางประการของพุทธศาสนาแบบเถรวาท" ในนามของคณะสงฆ์ไทยที่มีพระพิมลธรรมเป็นหัวหน้าคณะ
เสร็จจากการร่วมสังคายนาแล้ว อินทปัญโญก็พาตัวเองมาถึง มหาเจดีย์ชเวดากอง ซึ่งเป็นเจดีย์ใหญ่สีเหลืองทองอร่ามตาใจกลางเมือง ความหมายของชเวดากองคือ พระเจดีย์ทองคำแห่งเมืองตะเกิง โดยที่คำว่า ตะเกิง คือชื่อเดิมของเมืองย่างกุ้ง และคำว่า ย่างกุ้งมีความหมายว่า อวสานแห่งสงคราม เจดีย์ใหญ่แห่งนี้มีอายุเก่าแก่กว่าพันปี เรียกได้ว่าเป็นศาสนสถานอันเก่าแก่ที่สุดของพม่า ที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอลองพญาโดยช่างชาวมอญ
มหาเจดีย์ชเวดากองแห่งนี้ คือ ศูนย์รวมจิตใจของชาวพม่าโดยแท้ แม้ในวันธรรมดาอย่างวันนี้ อินทปัญโญก็ยังแลเห็นผู้คนเนืองแน่นเข้ามากราบไหว้เจดีย์สีทองแห่งนี้ จนชเวดากองแทบแคบไปถนัดตา
นานี บาลา บารัว (ชาตะ พ.ศ. 2454-มรณะ พ.ศ. 2531) ก็พาลูกสาวของนางที่ชื่อว่า ทีปะ มาไหว้มหาเจดีย์ชเวดากองในวันนั้นด้วยเช่นกัน...นานี เกิดที่เบงกอล ประเทศอินเดีย เมื่อนานีมีอายุเพียง 12 ปี เธอถูกทางบ้านบังคับให้ออกจากโรงเรียนมาแต่งงานกับคู่หมั้นซึ่งมีอายุ 25 ปี คู่หมั้นของเธอชื่อ รัชนี รันจัน บารัว เป็นวิศวกร และกำลังถูกส่งตัวไปทำงานที่พม่าเป็นเวลานานปี
พอนานีอายุได้ 14 ปี เธอก็ถูกนำลงเรือไปเมืองย่างกุ้ง เพื่อไปเริ่มต้นชีวิตใหม่กับชายที่เธอรู้จักเพียงหนึ่งสัปดาห์เท่านั้น นานีต้องใช้เวลานานนับปีกว่าจะทำใจรักรัชนีสามีของเธอได้ ตัวรัชนีเองก็เป็นคนดี สุภาพและดูแลเธออย่างเสมอต้นเสมอปลาย ปัญหามีอยู่ว่า หลายปีผ่านไป นานีก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะมีบุตร ตอนนั้นรัชนีตัดสินใจปักหลักอาศัยอยู่ที่พม่าตลอดแล้ว
นานีสนใจในพุทธศาสนามาตั้งแต่เด็กแล้ว และมีความประสงค์ที่จะปฏิบัติธรรม เธอจะขออนุญาตจากรัชนีอยู่เสมอว่าจะไปปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน แต่รัชนีมักจะแนะนำว่ารอให้เธอแก่เสียก่อนจึงค่อยไปปฏิบัติธรรม ตามประเพณีแบบอินเดีย
หลังจากที่พยายามจะตั้งครรภ์มาถึงยี่สิบปี นานีก็ตั้งครรภ์ได้เป็นครั้งแรก เมื่อเธอมีอายุได้ 35 ปี เธอคลอดลูกคนแรกเป็นเด็กผู้หญิง แต่เพียงแค่สี่เดือนบุตรสาวของเธอก็ป่วยและเสียชีวิต ทำให้เธอเสียใจมากจนล้มป่วยเป็นโรคหัวใจ แต่สี่ปีต่อมา นานีก็ตั้งครรภ์อีกครั้ง และก็ได้บุตรสาวอีก เธอตั้งชื่อว่า ทีปะ แปลว่า แสงสว่าง ตัวนานีเองก็ได้รับชื่อเล่นใหม่ว่า แม่ทีปะ หรือแม่ของทีปะนั่นเอง ทีปะเป็นเด็กแข็งแรง และเมื่อทีปะเดินได้แล้ว นานีจึงตั้งครรภ์อีกครั้ง คราวนี้เธอได้บุตรชาย แต่เด็กชายก็เสียชีวิตหลังคลอดได้ไม่นาน ทำให้นานีเสียใจมาก และเกิดความต้องการที่จะปฏิบัติธรรมอย่างรุนแรงเพื่อให้คลายทุกข์ แต่สามีของเธอก็ยังคงบอกว่า เธอยังอายุน้อยอยู่ ทั้งๆ ที่ในตอนนั้นเธอมีอายุสี่สิบกว่าแล้ว
จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในชีวิตของนานีมาถึงในปี พ.ศ. 2500 เมื่อสามีของเธอที่ทำงานเป็นวิศวกรเสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน ด้วยโรคหัวใจล้มเหลวเพราะการทำงานหนักและเครียดจากการทำงาน นานีกลายเป็นสตรีวัยกลางคนที่เป็นหม้าย และต้องเลี้ยงบุตรสาววัย 7 ขวบด้วยตนเอง ในช่วงสิบปีมานี้ เธอต้องสูญเสียบุตรสองคน เสียสามี และเสียสุขภาพ บิดามารดาของเธอก็เสียชีวิตไปตั้งนานแล้ว ตัวเธอมีแต่ความทุกข์ และความสับสนในชีวิต แต่เธอก็รู้ดีว่า เธอจะอยู่รอดได้ด้วยการปฏิบัติธรรมเท่านั้น
ในช่วงที่ตกต่ำที่สุดในชีวิต นานีฝันเห็นพระพุทธเจ้า เมื่อเธอตื่นขึ้น เธอเชื่อว่า นิมิตที่เธอเห็นในฝันต้องการจะบอกเธอว่า หากเธอต้องการความสงบที่แท้จริง เธอต้องปฏิบัติธรรมจนกว่าเธอจะหลุดพ้นจากความติดยึดและความเศร้าโศก ในที่สุด เธอก็ได้รับการชักชวนจากกัลยาณมิตรของเธอให้ไปปฏิบัติธรรมที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของพระคุณเจ้า "มหาสียาดอ" พระภิกษุที่เป็นอาจารย์สอนวิปัสสนากรรมฐานที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศพม่าขณะนั้น
เพียงระยะเวลาแค่หกวันที่นานีทำการเจริญสมาธิภาวนาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง การเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งก็บังเกิดขึ้นภายในตัวเธอ นานีมีประสบการณ์ของการบรรลุธรรมในขั้นแรก ในทันทีที่เธอบรรลุความดันโลหิตของเธอก็กลับเป็นปกติ และอาการของโรคหัวใจก็เบาบางลง ความเศร้าโศกต่างๆ ที่เธอเคยมี ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืนหายไปหมด ความกลัวที่เคยครอบงำเธออยู่ก็หายไป คงเหลือแต่ความสบายใจและความเข้าใจในชีวิตอย่างลึกซึ้ง ทำให้เธอสามารถจัดการกับทุกสิ่งทุกอย่างได้โดยไม่มีความทุกข์ ขณะนั้น นานีมีอายุได้ 50 ปีพอดี
ผู้คนที่เคยรู้จักนานีมาก่อน รู้สึกอัศจรรย์ใจในความเปลี่ยนแปลงของเธอที่เกือบจะเรียกได้ว่าเพียงชั่วข้ามคืนเท่านั้น จากผู้หญิงที่ขี้โรคอ่อนแอ ช่วยตัวเองแทบไม่ได้ และมีความเศร้าโศกอยู่ตลอดเวลา กลับกลายมาเป็นคนแข็งแรง เป็นอิสระ ร่าเริง และสดใส
นานีบอกกับคนรอบๆ ข้างว่า "พวกเธอเคยเห็นฉันว่าเป็นคนท้อแท้ เป็นคนหัวใจสลายอันเนื่องมาจากการตายของสามีและลูกๆ ของฉัน ฉันมีความเจ็บปวดทุกข์ใจเป็นอันมาก แต่เวลานี้พวกเธอเห็นอะไรในตัวฉันบ้าง? โรคภัยไข้เจ็บหายไป ฉันเหมือนตายแล้วเกิดใหม่ทางจิตวิญญาณ ฉันมีแต่ความสดชื่น ไม่มีอะไรในจิตใจฉันเลย ไม่มีความเศร้าโศกเสียใจ มีแต่ความสุขสงบเท่านั้น ถ้าพวกเธอเข้ามาฝึกปฏิบัติธรรม พวกเธอก็จะมีความสุขสงบเช่นนั้นได้"
ต่อมา นานีเริ่มกลายเป็นผู้นำให้ผู้อื่นฝึกปฏิบัติธรรม และเริ่มเป็นอาจารย์สอนวิปัสสนากรรมฐานในเมืองย่างกุ้ง เธอมีความสุขที่ได้มีโอกาสบอกเล่าถึงความรู้สึกสุขสงบที่เธอได้พบ และอยากให้ผู้อื่นค้นพบเหมือนกับเธอ นานีจึงชักชวนเพื่อนๆ และญาติพี่น้องให้เข้ามาฝึกกับเธอ
นักเรียนคนแรกที่เป็นศิษย์ของเธออย่างเป็นทางการ คือ เพื่อนบ้านชื่อ มาลาตี บารัว แม่หม้ายผู้พยายามเลี้ยงลูกทั้งหกคนของเธอแต่ผู้เดียว มาลาตีก็อยากปฏิบัติธรรมแต่ไม่สามารถละทิ้งบ้านได้ ขณะที่นานีก็เชื่อว่า การบรรลุธรรมสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ทุกสถานที่และไม่จำกัดเพศวัย นานีสามารถหาทางที่จะให้มาลาตีศิษย์ของเธอได้ปฏิบัติธรรม โดยไม่ต้องออกจากบ้าน โดยเธอแนะนำให้มาลาตี เพ่งอยู่ที่บุตรของเธอซึ่งกำลังดูดนมโดยสำรวมจิตให้ตั้งมั่น แน่วแน่ มั่นคงทุกครั้งที่ให้นมบุตรโดยการทำเช่นนี้ ทำให้มาลาตีสามารถมีเวลาในการปฏิบัติธรรมได้วันละหลายชั่วโมง และมีความก้าวหน้าในทางธรรมได้
จากนั้น นานีก็เริ่มต้นการสอนของเธอ ด้วยการช่วยแนะนำให้พวกแม่บ้านที่ต้องทำงานบ้านได้ปฏิบัติธรรมในเวลาที่ต้องทำงานหนักที่บ้านได้ โดยใช้ การทำงานเป็นการปฏิบัติธรรม เธอสอนให้ศิษย์ของเธอใช้เวลาทุกขณะที่ทำงานปฏิบัติธรรมไปด้วย นานีบอกว่าสามารถใช้ได้กับกิจกรรมทุกชนิด เช่น การพูด การรีดผ้า การทำอาหาร การจ่ายตลาด การเลี้ยงเด็ก
นานีพูดแล้วพูดอีกอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยว่า
"จงทำงานด้วยความรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา" ซึ่งหมายความว่า ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม จงทำอย่างรู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ จงปฏิบัติธรรมในท่ามกลางความวุ่นวายในบ้านหรือในที่ทำงาน และจงอย่าแยกการปฏิบัติธรรมออกจากชีวิตประจำวัน
มีคนเข้ามาขอคำแนะนำจากนานีอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เวลาเช้าตรู่ จนถึงตอนดึก นานีไม่เคยปฏิเสธใคร ไม่ว่าเธอจะเหน็ดเหนื่อยเพียงใด เพราะเธอรู้ดีว่า ผู้คนที่มาหาเธอล้วนแต่กระหายธรรมะ การปรากฏตัวของนานีและวิธีที่เธอติดต่อกับผู้อื่น เป็นไปอย่างสงบเสงี่ยม สุภาพ ปฏิบัติต่อทุกคนด้วยความกรุณา แต่ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของผู้อื่นโดยไม่จำเป็น ไม่แสดงความโกรธ พยายามทำตัวสบายๆ เพื่อให้เป็นแบบอย่าง
ปี พ.ศ. 2510 รัฐบาลพม่ากลายเป็นเผด็จการ และได้สั่งให้ชาวต่างประเทศรวมถึงชาวอินเดียที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศพม่าออกจากประเทศ นานีอยู่ในสถานะที่ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะไปหรือจะอยู่ มีพระสงฆ์บอกรับรองกับเธอว่า เธอสามารถขอรับการอนุญาตเป็นพิเศษให้อยู่ได้ในฐานะที่เป็น อาจารย์สอนสมาธิ และบุตรสาวของเธอก็สามารถอยู่ได้ด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มีชาวต่างประเทศเคยได้รับเกียรติเช่นนี้เลย โดยเฉพาะแม่หม้ายลูกติดอย่างเธอ
นานีคำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นจากความเป็นไปได้ที่เธอจะอยู่ แต่สถานการณ์ทางการเมืองที่เริ่มเลวร้ายลงผนวกกับความเป็นห่วงในเรื่องการเรียนของบุตรสาว ทำให้นานีตัดสินใจว่า ถึงเวลาแล้วที่เธอควรออกจากประเทศพม่าคืนสู่อินเดีย กลับคืนสู่รากเหง้าเดิมของตน นานีและบุตรสาวจึงย้ายเข้าไปอยู่ในบ้านญาติที่ชานเมืองกัลกัตตา และกลายเป็นครูสอนวิปัสสนากรรมฐานที่โด่งดังไปจนถึงต่างประเทศ นานีสอนธรรมะอยู่ที่เมืองกัลกัตตาจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ในปี พ.ศ. 2531 เมื่ออายุได้ 78 ปี วันที่เธอเสียชีวิต เธอรู้สึกไม่สบาย คนที่ดูแลเธอสวดมนต์ให้ด้วยพระสูตรที่เธอสอน เธอพนมมือรับคำสวดมนต์ แล้วก้มตัวลงกราบพระพุทธรูป แต่ไม่เงยหน้าขึ้นมาอีกเลย เธอหมดลมหายใจในท่ากำลังกราบพระศาสดา ใบหน้าของเธอสงบและมีความสุข...
* * *
ธรรมาศรม ธรรมมาตา (มารดาของโลก) เป็นอาศรมสำหรับสตรีผู้ประสงค์จะมีชีวิตพรหมจรรย์ที่หมดจดงดงาม ฝึกอบรมตนเองเพื่ออุทิศชีวิตแด่พระธรรมให้เป็นธรรมทูตสามารถเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้สูงสุด อาศรมนี้เกิดขึ้นตามคำดำริของอินทปัญโญก่อนที่ตัวเขาจะละสังขาร เพื่อแสดงกตเวทิตาต่อเพศมารดา และเพื่อเสริมแทนภิกษุณีที่ยังขาดอยู่
ในระหว่างที่อินทปัญโญยังมีชีวิตอยู่นั้น เขามักปรารภเสมอในเรื่องควรมีการจัดการศึกษาอย่างให้โอกาส และให้ความไว้วางใจแก่เพศหญิงอย่างเต็มที่ในการปฏิบัติธรรม และประพฤติพรหมจรรย์ อินทปัญโญมักจะกล่าวว่า
"เพศหญิงสอนเพศหญิงด้วยกันได้ดีกว่า สะดวกกว่า ผลแนบเนียนกว่า" และ
"สตรีก็เป็นบัณฑิตได้เช่นเดียวกับบุรุษ ในที่เดียวกันนั้น ถ้าผู้หญิงคนใดขัดเกลาจิตใจ และพัฒนาชีวิตของตนให้เข้าสู่ความเป็นผู้มีสติปัญญาเพิ่มพูนขึ้น สว่างกระจ่างแจ้งมากขึ้นได้ ศักยภาพของหญิงนั้นก็จะไม่ด้อยไปกว่าชายเลย"
อินทปัญโญกล่าวเช่นนี้ได้ เพราะเขามีประสบการณ์ด้วยตนเอง กล่าวคือ ในปี พ.ศ. 2500 มีแม่ชีรูปหนึ่งชื่อ แม่ชีกิมเลี้ยง วัชรางกูร ได้เข้ามาขอปฏิบัติธรรมที่สวนโมกข์กับอินทปัญโญ แม่ชีรูปนี้เป็นผู้มี สุปฏิบัติ จนได้รับการยกย่องจากอินทปัญโญอยู่เสมอ แม้ในเมื่อใกล้สิ้นลมหายใจ แม่ชีก็ยังสามารถกำหนดสติรู้วาระจิตของตนได้ เมื่อแม่ชีผู้นี้ตายลง อินทปัญโญจึงให้จัดการเผาศพขึ้นในสวนโมกข์เป็นรายแรก ในปี พ.ศ. 2521 โดยที่อินทปัญโญมาเป็นประธานในพิธีเผาศพครั้งนี้ด้วยตนเอง
ธรรมมาตา...อาศรมแห่งผู้เป็นมารดาของโลก ผู้สละโลก เพื่ออุทิศชีวิตแก่ธรรมะ คนเราควรยกย่องพระคุณมารดากตัญญูกตเวทีต่อมารดาของโลก ให้โลกประกอบด้วยธรรมยิ่งขึ้น ให้ "มารดา" ได้รับประโยชน์สูงสุด ให้มารดาได้คลอดบุตรทางวิญญาณ ให้ธรรมครองโลกยิ่งขึ้น แทนภิกษุณีบริษัทที่ขาดไป