29. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 29 อโศการาม 14/11/2549

29. พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส ตอน 29 อโศการาม 14/11/2549

พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 29)


29. อโศการาม

"ผมเห็นว่า พุทธศาสนาสูญไปจากประเทศอินเดีย เพราะว่าพุทธบริษัทเริ่มตีความหลักพุทธศาสนาผิดเอง อธิบายพุทธศาสนาผิดเสียเอง เช่น อธิบายปฏิจจสมุปบาทที่เป็นพุทธแท้ๆ ให้กลายเป็นฮินดูหรือเป็นพราหมณ์ไป คือ กลายเป็นคร่อม 3 ชาติ กลายเป็นมีอัตตาไป เพียงเท่านี้เท่านั้น มันก็เป็นไปโดยพฤตินัยแล้ว"

"นั่นแหละโดยความจริงแล้ว พุทธศาสนาหมดไปจากประเทศอินเดียทันที เพราะพออธิบายปฏิจจสมุปบาทผิดกลายเป็นมีอัตตาตัวตนไปแล้ว ก็แปลว่า พุทธศาสนาหมดแล้วไม่มีเหลืออยู่แล้วในประเทศอินเดีย คือได้ไปผนวกเป็นศาสนาพราหมณ์ที่มีอาตมันเสียแล้ว"

พุทธทาสภิกขุใน "ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์"...21 ตุลาคม พ.ศ. 2498 (ค.ศ. 1955)

ณ วัดอโศการาม เมืองปัตนะ ประเทศอินเดีย

อินทปัญโญ กำลังยืนอยู่ใน วัดอโศการาม อันเป็นวัดที่พระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงสร้างขึ้น และเคยเป็นที่ทำสังคายนาครั้งที่ 3 ที่มีพระเถระจำนวนหนึ่งพันรูปมาประชุมกันทบทวนร้อยกรองพระธรรมวินัย เมื่อพุทธศักราช 235 จากนั้น พระเจ้าอโศกมหาราชก็จัดการส่งพระศาสนทูตไปประกาศพระศาสนาในดินแดนต่างๆ ถึง 9 สาย โดยที่สายหนึ่งได้เดินทางไปยังสุวรรณภูมิหรือดินแดนแถบประเทศไทย จึงเห็นได้ว่าวัดอโศการามแห่งนี้คือ จุดเริ่มต้นของการเผยแผ่พุทธศาสนามายังประเทศไทย ทำให้คนไทยมีวาสนาได้พบเจอพุทธธรรมมาจนทุกวันนี้

ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่อินทปัญโญเดินทางมาประเทศอินเดีย ทั้งๆ ที่ตัวเขาก็บวชมานานแล้ว และศึกษาพุทธศาสนามาเกือบตลอดชีวิตของเขา การที่ตัวเขาเดินทางมาเยือน "พุทธภูมิ" ในครั้งนี้ ก็เพื่อที่จะสอบสวนข้อสงสัย และปัญหาบางประการเกี่ยวกับพุทธประวัติซึ่งเกิดจากข้อความในหนังสือต่างๆ ที่กล่าวไว้ไม่ตรงกันหรือไม่น่าเชื่อถือ เขาจึงตัดสินใจเดินทางมาอินเดียเพื่อสืบค้นด้วยตัวของเขาเอง เขาเชื่อว่า การที่ตัวเขาได้มาเห็น "พุทธภูมิ" กับตา และได้มาเจริญสมาธิภาวนา ณ ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ตามพุทธสังเวชนียสถานต่างๆ จะทำให้ตัวเขาได้รับคำตอบที่สำคัญมากต่อการชุบชีวิตศาสนาพุทธในประเทศไทย ให้มีชีวิตมีพลังทางสังคมอีกครั้ง

อโศการามแห่งนี้ เป็นจุดตั้งต้นของการเผยแผ่พุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศไทยก็จริง แต่ก็ยังเป็นเหตุการณ์ในสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งประสูติหลังพุทธกาลตั้งเกือบ 200 ปี ถ้าจะสืบสาวพุทธประวัติก็ต้องย้อนถอยหลังไปอีก ในสมัยพุทธกาล ประเทศอินเดีย ตอนนั้นเรียกว่าชมพูทวีปซึ่งประกอบด้วยแว่นแคว้นใหญ่ถึง 16 แว่นแคว้น แต่แคว้นที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาในยุคพุทธกาล ได้แก่ แคว้นมคธ แคว้นวัชชีและแคว้นโกศล โดยที่แคว้นมคธกับแคว้นวัชชีแข่งอำนาจกันเป็นหลัก แต่หลังพุทธกาลไม่นาน แคว้นวัชชีก็สูญเสียอำนาจแก่แคว้นมคธ ตามมาด้วยแคว้นโกศล ในที่สุด จึงเหลือแคว้นมคธอยู่แคว้นเดียวที่ใหญ่ที่สุด เรื่อยมาจนถึงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช

เมืองปัตนะ อันเป็นที่ตั้งของวัดอโศการามที่อินทปัญโญกำลังยืนอยู่นี้ ชื่อเดิมคือ เมืองปาตลีบุตร ซึ่งต่อมาได้มาเป็นเมืองหลวงของพระเจ้าอโศกมหาราช เมืองปาตลีบุตรนี้เพิ่งจะเริ่มก่อสร้างในตอนที่พระพุทธเจ้าใกล้จะปรินิพพาน เมืองหลวงของแคว้นมคธก่อนหน้านี้ในสมัยพุทธกาลคือ เมืองราชคฤห์ ที่พระพุทธเจ้าเคยประทับอยู่ และทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาที่นั่น ครั้นเมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว เมืองราชคฤห์ก็ได้เป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพราะเป็นที่ทำสังคายนาครั้งที่ 1

ความเชื่อมโยงระหว่างเมืองราชคฤห์กับเมืองปาตลีบุตรในสมัยพุทธกาลมีไม่มากนัก กล่าวคือ เมืองราชคฤห์เป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธในสมัยพุทธกาลซึ่งปกครองโดยพระเจ้าพิมพิสาร ต่อมาโอรสของพระเจ้าพิมพิสารคือพระเจ้าอชาตศัตรูได้ปลงพระชนม์พระราชบิดาแล้วขึ้นครองราชย์ที่เมืองราชคฤห์นั่นแหละ จนถึงปลายพุทธกาลจึงมีเรื่องราวของเมืองปาตลีบุตรเกิดขึ้น คือ ตอนนั้นพระพุทธเจ้าเสด็จพุทธดำเนินจะไปเมืองที่จะปรินิพพานคือ เมืองกุสินารา แล้วทรงเสด็จผ่าน ปาตลิคาม หรือหมู่บ้านปาตลิ ซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้เป็นเมืองปาตลีบุตร ต่อมาพระเจ้าอชาตศัตรูต้องการจะรุกรานแคว้นวัชชี จึงทรงดำเนินการสร้างปาตลิคามให้เป็นเมืองหน้าด่าน เพื่อจะสู้รบกับแคว้นวัชชี จึงเกิดเป็นเมืองปาตลีบุตรขึ้นมา

พระเจ้าอโศกมหาราชเอง ความจริงมิใช่อยู่ในวงศ์ของพระเจ้าอชาตศัตรู ถึงแม้จะอยู่แคว้นมคธ แต่ก็เป็นกษัตริย์วงศ์อื่น เรื่องมีอยู่ว่า กษัตริย์วงศ์พระเจ้าพิมพิสารที่ครองแคว้นมคธนั้น เหมือนต้องคำสาปคือ ลูกฆ่าพ่อตลอด พระเจ้าอชาตศัตรูฆ่าพระเจ้าพิมพิสาร ต่อมาโอรสของพระเจ้าอชาตศัตรูก็ฆ่าพระบิดาอีก และตัวเองก็ถูกโอรสของตนฆ่าตายอีกเช่นกัน คือฆ่ากันมาหลายชั่วกษัตริย์ จนพวกอำมาตย์และราษฎรทนไม่ไหวก็เลยยึดอำนาจแล้วตั้งราชวงศ์ใหม่ขึ้นมาปกครองแทน จนกระทั่งถูกยึดครองโดยกษัตริย์วงศ์หนึ่งคือ วงศ์โมริยะ ที่มี จันทรคุปต์ เป็นผู้นำ พระเจ้าจันทรคุปต์นี้คือ ปู่ของพระเจ้าอโศกที่เชี่ยวชาญในการรบมากจนรบชนะแคว้นมคธ และเข้าครอบครองแผ่นดินมคธ ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ราชวงศ์ใหม่ได้สำเร็จ

โอรสของพระเจ้าจันทรคุปต์มีพระนามว่า พินทุสาร พระเจ้าอโศกเป็นหนึ่งในโอรสของพระเจ้าพินทุสาร เดิมทีตอนยังเป็นเจ้าชายอโศกทรงเป็นผู้ที่มีความทะเยอทะยานและกระหายอำนาจมาก เพราะเมื่อพระเจ้าพินทุสารผู้เป็นพระราชบิดาสวรรคต เจ้าชายอโศกได้ฆ่าพี่น้องร่วม 100 องค์ เหลือไว้เฉพาะพระอนุชาร่วมมารดาองค์เดียวเท่านั้น เพื่อตั้งตัวเป็นกษัตริย์ยิ่งใหญ่แต่เพียงผู้เดียว ครั้นเมื่อขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ของแคว้นมคธได้แล้ว ก็ยังไม่พอยังมุ่งแสวงอำนาจต่อไปด้วยการยกทัพไปรุกรานประเทศอื่น รบชนะมาเรื่อย โดยหวังจะเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชมพูทวีป

การรบเพื่อชิงอำนาจครั้งสุดท้ายของพระเจ้าอโศก คือ การรบกับแคว้นกลิงคะที่มีกองทัพที่เข้มแข็ง ทั้งสองฝ่ายรบกันอยู่เป็นเวลานาน แม้ในที่สุด ฝ่ายพระเจ้าอโศกจะชนะสามารถตีแคว้นกลิงคะได้ก็ตาม แต่การรบครั้งนั้น ทำให้ผู้คนล้มตายกันเป็นแสนๆ คนทั้งสองฝ่าย พระเจ้าอโศกเห็นศพของเหล่าทหารหาญของทั้งสองแคว้นที่นอนตายเกลื่อนสนามรบโลหิตไหลนองแล้วเกิดความสลดพระทัย พระองค์มิได้เกิดความปีติยินดีในชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ในครั้งนั้นเลย ตรงกันข้าม นี่เป็นครั้งแรกที่พระองค์ทรงสำนึกเสียใจในการก่อสงคราม พระองค์จึงหันมานับถือพุทธศาสนาแล้วเปลี่ยนนโยบายใหม่จากการมุ่งชนะด้วยสงครามมาสู่การเอาชนะด้วยธรรมแทน

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงลึกในจิตใจของพระเจ้าอโศกพระองค์เดียว แทบเปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์พุทธศาสนาของโลกหลังจากนั้นไปอย่างสิ้นเชิง

จากกษัตริย์ธรรมดาองค์หนึ่งที่มุ่งแสวงหาความยิ่งใหญ่ให้แก่ตนเอง แสวงหาโภคทรัพย์และอำนาจเพื่อบำรุงบำเรออัตตาของตนเองเหมือนกษัตริย์สมัยโบราณทั่วๆ ไป กลายเป็น กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่และเปี่ยมไปด้วยคุณธรรม คำสอนของพุทธศาสนาได้ย้อมเปลี่ยนจิตใจของกษัตริย์องค์นี้ จนมีดวงตาเห็นธรรม แลเห็นความจริงของชีวิตได้อย่างถ่องแท้ว่า

"ทรัพย์สินเงินทอง อำนาจความยิ่งใหญ่ทั้งปวง ล้วนเป็นอนิจจังเป็นสิ่งไม่เที่ยง เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็ดับไป ไม่มีสาระที่แท้จริง และไม่ควรเอาชีวิตอันมีค่าของตนไปฝากไว้กับสิ่งเหล่านี้ และ ไม่ควรหวังความสุขที่แท้จากอำนาจ และทรัพย์สินเงินทอง เพราะมันไม่มีคุณค่าที่แท้จริง มันเป็นเพียงสิ่งนอกกาย ชั่วคราว ไม่ยั่งยืน"

พระเจ้าอโศกมหาราช รอดพ้น "จุดจบ" ที่จะถูกนักประวัติศาสตร์รุ่นหลัง และประชาชนคนรุ่นหลังประณามว่าเป็น ทรราช ได้ ก็เพราะปัญญาและการตื่นทางจิตวิญญาณของพระองค์เองโดยแท้ ขณะที่ผู้มีอำนาจส่วนใหญ่ล้วนล้มเหลวต่อการหลุดรอดจาก "กับดักแห่งอำนาจ" และจบสิ้นชีวิตลงภายใต้การสาปแช่งของประชาชนในข้อหา ทรราช

แม้พระเจ้าอโศกจะมองไม่เห็นทรัพย์สินเงินทอง และอำนาจมีความหมายอีกต่อไปแล้ว แต่พระองค์ก็ไม่ได้ทรงทิ้งทรัพย์และอำนาจ แต่ทรงกลับใช้ทรัพย์และอำนาจของพระองค์เป็น "เครื่องมือแห่งธรรม" กล่าวคือทรงใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์ ทำความดีงามและประโยชน์สุขให้แก่ปวงชน

กล่าวคือ แทนที่จะทรงใช้ทรัพย์และอำนาจมาบำรุงบำเรอตนเอง พระองค์กลับใช้ทรัพย์ของพระองค์ในการสร้างโรงพยาบาลทั่วพระราชอาณาจักร สร้างถนนหนทาง ปลูกต้นไม้ ขุดบ่อน้ำ สร้างที่พักคนเดินทาง ให้การศึกษาประชาชน ทำศิลาจารึกประกาศธรรมแถลงเรื่องที่เป็นนโยบายของรัฐในทางธรรม เพื่อให้ผู้บริหารท้องถิ่นนำไปสั่งสอนประชาชน ตลอดจนอุปถัมภ์พุทธศาสนาอย่างมากมาย เพราะพระองค์ได้ทรงสร้างวัดขึ้นทั้งหมด 84,000 วัดทั่วราชอาณาจักรของพระองค์ ซึ่งวัดที่พระเจ้าอโศกทรงสร้างไว้หลายแห่ง ยังมีซากเหลืออยู่จนทุกวันนี้

ในศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกแห่งหนึ่งมีข้อความจารึกไว้ตอนหนึ่งว่า ยศ หรือ ความยิ่งใหญ่ของพระองค์นั้นจะไม่มีความหมายเลย ถ้าหากไม่เป็นไปเพื่อช่วยให้ประชาชนของพระองค์ได้ประพฤติธรรม...

อินทปัญโญได้ข้อคิดจากเรื่องราวของพระเจ้าอโศกมหาราชว่า คนเราถ้ามีความคิดดี มีเจตนาดี มีสติปัญญาดี แล้วมีทรัพย์ มีอำนาจหนุนหลัง คนผู้นั้นก็ย่อมสามารถสร้างผลสะเทือนที่ยิ่งใหญ่และกว้างขวาง เหมือนดังพระเจ้าอโศกมหาราชได้ ทรัพย์และอำนาจ เมื่อเป็นเครื่องมือของธรรม จะทำให้ผู้นั้นกลายเป็นรัฐบุรุษ แต่ถ้าทรัพย์และอำนาจกลายเป็นจุดหมายของชีวิตโดยตัวของมันเอง และคอยบงการชีวิตของคนผู้นั้น มันจะทำให้คนผู้นั้นกลายเป็นมารและเป็นทรราช

อโศการามที่อินทปัญโญกำลังยืนอยู่ไม่หลงเหลือร่องรอยความยิ่งใหญ่ในอดีตสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชอีกต่อไปแล้วก็จริง อินทปัญโญเหลียวแลไปรอบๆ พร้อมๆ กับปลงสังเวช อาณาจักรเหล่านั้นในสมัยพุทธกาล และหลังพุทธกาลสิ้นไปหมดแล้ว แต่ภูเขายังอยู่ แผ่นดินยังอยู่ ท้องฟ้าก็ยังอยู่ ธรรมชาติและกฎของธรรมชาติก็ยังคงทำหน้าที่ของมันต่อไป เขารำพึงในใจก่อนจากที่นั้นมา เพื่อเดินทางท่อง "พุทธภูมิ" ต่อไป





 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้