พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 31)
31. ดงคสิริ
"ถิ่นนี้มีภูมิภาคอันรื่นรมย์ มีหมู่ไม้ร่มรื่นน่าสบายใจ ทั้งมีแม่น้ำไหลผ่าน น้ำใสไหลเย็น และมีท่าน้ำ คือ ชายหาดที่ราบเรียบ ทั้งหมู่บ้านที่จะภิกขาจารก็มีอยู่โดยรอบ นับเป็นสถานที่ควร บำเพ็ญเพียร"
พระไตรปิฎก
25 ตุลาคม พ.ศ. 2498 (ค.ศ. 1955)...ณ เขาดงคสิริ
อินปัญโญ กำลังนั่งเจริญสมาธิภาวนาอยู่ในถ้ำเล็กๆ บนเขาดงคสิริ อันเป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าไป บำเพ็ญเพียร อยู่บริเวณนั้นเป็นเวลายาวนานถึง 6 ปี เขารำพึงในใจว่า คนเราทุกคนล้วนเกิดมาเป็นคนพร้อมๆ กับ "สามไม่รู้" คือ ไม่รู้ ว่าจะตายเมื่อไหร่ กับ ไม่รู้ ว่าจะบรรลุธรรมเมื่อใด และ ไม่รู้ ว่าจะบรรลุธรรมได้อย่างไร เพราะ "สามไม่รู้" นี้เองที่ทำให้คนเราต้อง "แสวงธรรม" ซึ่งพระพุทธเจ้าตอนยังเป็นพระโพธิสัตว์ ก็ไม่มีข้อยกเว้นคืออยู่ใน "สามไม่รู้" เหมือนกับคนอื่น พระองค์จึงต้องดิ้นรนแสวงหาอย่างถึงที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อขจัดความไม่รู้เหล่านั้น อินทปัญโญปล่อยจิตของเขาให้ล่องลอยย้อนกลับไปในสมัยที่พระพุทธองค์ยังทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา ณ ที่เขาดงคสิริแห่งนี้...
เมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีก่อน เขาดงคสิริแห่งนี้ยังมีต้นสาละ ซึ่งแผ่กิ่งก้านดกทึบแลดูสดใสอยู่ไปทั่ว รอบๆ เขาดงคสิริก็ยังเป็นป่ารกเต็มไปด้วยโขดเขา และถ้ำเล็กๆ สถานที่แห่งนี้มีบรรยากาศของความสงบสันโดษและเงียบสงัด แต่ก็ดูมีมนต์ขลังน่าเกรงขาม มันเงียบสงัดเสียจนไม่มีกระทั่งเสียงนกร้อง ข้างๆ ภูเขาดงคสิริแห่งนี้ มีแม่น้ำเนรัญชราสายใหญ่อยู่ใกล้ๆ เป็นแม่น้ำที่กว้างใหญ่มาก สถานที่แห่งนี้มีโยคีผมยาวเป็นกระเซิงมานั่งบำเพ็ญตบะอยู่ด้วยวิธีการต่างๆ โดยที่พระโพธิสัตว์เป็นเพียงหนึ่งในบรรดาโยคีผู้แสวงหาความหลุดพ้นคนหนึ่งเท่านั้น
หลังจากเสด็จออกบรรพชาแล้ว พระโพธิสัตว์ไปเรียนฝึกปฏิบัติฝึกสมาธิกับอาฬารดาบส กาลามโคตร และอุททกดาบส รามบุตร จนจบความรู้ของอาจารย์ทั้งสอง และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์เสมอกับอาจารย์ของตน เจ้าชายสิทธัตถะโพธิสัตว์ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมายจากอาจารย์ทั้งสองก็จริง แต่ก็เห็นว่ายังไม่บรรลุจุดหมาย จึงกราบลาผู้เป็นอาจารย์ออกมาบำเพ็ญเพียรแสวงหาด้วยพระองค์เอง
ในสมัยที่เจ้าชายสิทธัตถะกำลังบำเพ็ญทุกรกิริยา เพื่อแสวงหาการตรัสรู้นั้น ความคิดความเชื่อเรื่อง "กรรม" กับ "วัฏสงสาร" เป็นความเชื่อดั้งเดิมที่ดำรงอยู่ และเป็นกระแสหลักที่ "ครอบงำ" ปรัชญาเพื่อการหลุดพ้น ของอินเดียอยู่ก่อนแล้ว
กรรม คือ แรงผลักดันภายในที่ทำให้เกิดวัฏสงสาร ส่วน วัฏสงสาร คือการเวียนว่ายตายเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกของ "ใจ" ที่มีเอกลักษณ์หนึ่งๆ ซึ่ง "ใจ" อันนี้ พวกนักคิดอินเดียในรุ่นโบราณก่อนพระพุทธองค์เรียกว่า "อาตมัน" โดยถือว่า "อาตมัน" (ใจ) ของมนุษย์คือส่วนหนึ่งของ "พระจิต" ที่แตกตัวออกมาจาก "พระพรหม" (พรหมัน) ผู้สร้างโลก สร้างจักรวาล
"การหลุดพ้น" ในทัศนะของนักคิดอินเดียโบราณ คือ การสลัดความยึดติดต่อสิ่งทั้งปวงของอาตมัน ไม่ว่าจะเป็นร่างกายนี้ รวมทั้งลาภ ยศ สรรเสริญทั้งปวงในโลกนี้ เพื่อกลับคืนสู่ "พรหมัน" และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสิ่งนั้น
6 ปีแห่งการบำเพ็ญทุกรกิริยา ทุกรูปแบบของพระโพธิสัตว์ที่เขาดงคสิริ คือ การตรวจสอบความเชื่อเรื่อง "วิธีการหลุดพ้น" ของนักคิดอินเดียโบราณข้างต้น โดยที่พระองค์เอาตัวของพระองค์เองเป็นเครื่องทดลองอย่างยอมเอาชีวิตเข้าแลก เพื่อพิสูจน์ว่า วิธีการที่บอกว่า สืบต่อกันมาแต่โบราณเหล่านี้ จะนำไปสู่ความรู้แจ้งได้จริงหรือไม่ ซึ่ง เป็นการมุ่งเอาชนะ "ความไม่รู้" ประการที่สาม เรื่องไม่รู้จะบรรลุธรรมได้อย่างไร นั่นเอง
คนที่จะสถาปนา "แนวทางใหม่" "ความเชื่อใหม่" และ "หลักการใหม่" ขึ้นมาได้ เขาผู้นั้นจำเป็นจะต้อน เจนจบ ในแนวทางเก่า ความเชื่อเก่า และหลักการเก่าเสียก่อน จนเห็นถึงข้อจำกัดของสิ่งเหล่านี้ได้อย่างทะลุปรุโปร่ง จนกล้าที่จะละทิ้งสิ่งเหล่านี้เอาไว้เบื้องหลังได้อย่างไม่เสียดาย และอย่างไม่ค้างคาใจ
29 ปีแห่งการเป็นเจ้าชาย พระโพธิสัตว์ได้ผ่านการใช้ชีวิตเสพสุขทางวัตถุ และผัสสะอย่างสุดๆ เท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะสัมผัสได้มาแล้ว มาในครั้งนี้ พระโพธิสัตว์จึงตัดสินใจลองใช้ชีวิตอย่างสุดขั้วในด้านตรงข้าม โดยพยายามดำเนินชีวิตอย่างแร้นแค้นลำบากอย่างถึงที่สุด ที่เรียกว่า "การบำเพ็ญตบะ" ดูบ้าง
เริ่มจากการทดลองเดินทางไปไหนมาไหน โดยไม่นุ่งห่มเสื้อผ้า ปฏิบัติตนเป็นคนนุ่งลมห่มฟ้า เพื่อฝืนความรู้สึกละอายหรือควบคุมความรู้สึกอื่นๆ ให้เป็นปกติที่สุด แต่พระโพธิสัตว์ก็พบว่า มันเป็นเพียงการกดความรู้สึกไว้ชั่วขณะเท่านั้น แต่ความรู้สึกที่แท้ก็ยังดิ้นรนต่อสู้ ความละอายก็ยังมีอยู่ จึงหันมาใช้เครื่องปกปิดอวัยวะ แต่ก็ใช้เสื้อผ้าอย่างหยาบที่สุด เพื่อมิให้รู้สึกเพลิดเพลินยินดีในเครื่องนุ่งห่มนั้น
อาหารที่เสวย ก็เป็นอาหารตามธรรมชาติ ที่ปรุงง่ายที่สุดรสชาติไม่อร่อย ไม่น่ายินดีเพลิดเพลิน ผมเผ้าหนวดเคราก็ปล่อยยาวตามธรรมชาติ ไม่ตัด ไม่โกน อิริยาบถส่วนใหญ่มักจะยืนกระโหย่งเท้า คือเหยียบลงไปเพียงครึ่งเดียวเพื่อหลีกเลี่ยงความสบายจากการยืน
แม้พระโพธิสัตว์จะได้บำเพ็ญตบะอย่างครบถ้วนเคร่งครัดแล้ว ก็ยังไม่พบทางที่จะเข้าถึงความสงบที่แท้ได้ จึงทดลองปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่ให้เคร่งครัดมากขึ้นกว่าเดิม คือ ไม่ให้ความสนใจไยดีใดๆ กับชีวิตของตน ไม่อาบน้ำปล่อยให้ฝุ่นจับเกรอะตามเนื้อตัวเป็นเดือนเป็นปีจนหนาดำเป็นตอตะโก
การปฏิบัติเช่นนี้เรียกว่า ลูขวัตร หรือข้อปฏิบัติที่ทำให้ร่างกายเศร้าหมอง ห่อหุ้มด้วยธุลีมลทิน อันเป็นการทรมานกิเลสที่ลุ่มหลงอยู่กับความงามแห่งผิว แม้จะทำถึงขั้นนี้แล้ว เมื่อพระโพธิสัตว์มองเข้าไปในจิตของตนเองตรงๆ ก็ยังพบว่า ความรักสวยรักงามในระดับที่ละเอียดประณีต ก็ยังไม่หมดไปด้วยการปฏิบัติเช่นนั้น
พระโพธิสัตว์เคยลองทดสอบจิตใจของตนว่ามั่นคง แน่วแน่เพียงใด ด้วยการทดลองไปบรรทมใกล้ๆ กองกระดูกสัตว์ พวกเด็กเลี้ยงโคนึกว่าเป็นคนตายจึงเข้ามาถ่มน้ำลายรดบ้าง ถ่ายปัสสาวะรดบ้าง เอาฝุ่นโรยตัวบ้าง เอาหญ้าแหย่ที่ช่องหูบ้าง พระโพธิสัตว์ก็ไม่มีความรู้สึกโกรธเด็กซนเหล่านั้นเลย
การทดลองครั้งสำคัญที่สุดในการบำเพ็ญตบะของพระโพธิสัตว์ คือ การเจริญฌานแบบไร้ลมปราณ เริ่มด้วยการกัดฟันแน่น เอาลิ้นกดเพดานปาก ข่มจิตไว้ให้คิดอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ให้วอกแวกไปไหน จนเหงื่อท่วมตัว แม้ร่างกายจะพบกับสภาพที่อึดอัดทรมานอย่างนั้น ก็ยังคงตั้งใจแน่วแน่ ไม่หวั่นไหว ยังคงตั้งสติไว้อย่างมั่นคง สุดท้าย พระโพธิสัตว์ก็ทดลองกลั้นลมหายใจทางจมูก และทางปากตามธรรมชาติ จนลมต้องไปออกทางหูทั้งสองข้าง จากนั้นก็เอานิ้วอุดรูหูทั้งสองข้าง ลมจึงตีกลับขึ้นเสียดแทงศีรษะเจ็บปวดระบมไปทั่วทุกเส้นผม รู้สึกปวดหัวอย่างรุนแรง จากนั้นลมก็ลงเบื้องล่างปั่นป่วนในท้องเจ็บปวดอย่างรุนแรง
แม้ร่างกายของพระโพธิสัตว์จะเจ็บปวดทรมานยิ่งนัก แต่ทว่าจิตใจของพระโพธิสัตว์ยังคงบริสุทธิ์มั่นคงอยู่ มิได้เสวยทุกขเวทนาอย่างที่เกิดขึ้นทางกายนั้นเลย พระโพธิสัตว์เริ่มมีจิตอยู่เหนือทุกขเวทนา และประจักษ์ชัดว่าความลุ่มหลงมัวเมา ความอยากได้ อยากมี อยากเป็นและความกระวนกระวายในกามมิได้มีเลย ในขณะที่ทรมานร่างกายนั้น
แม้จะฝึกจิตได้จนถึงขั้นนี้แล้ว คือ สามารถฝึกจิตจนอยู่เหนือเวทนาได้แล้ว แต่พระโพธิสัตว์ก็ทรงทราบดีว่า ด้วยสภาพจิตเช่นนี้ก็ยังไม่บรรลุอิสรภาพถาวรที่แท้จริงที่ทรงต้องการ จึงตัดสินใจใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดด้วยการอดอาหารอย่างหนัก จนมีอาการปางตาย แต่ก็ยังไม่บรรลุ
แม้พระโพธิสัตว์จะได้ทดลองบำเพ็ญในสิ่งที่พวกนักบวชในสมัยนั้นเชื่อกันว่า ถ้าใครผ่านกระบวนการนี้แล้ว จะได้เป็น ผู้วิเศษ ในโลกนี้ หรือหากตายไปในขณะที่ทำอย่างนั้น ก็จะได้ไปเกิดในพรหมโลก เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับ พรหมัน ได้ เมื่อพระโพธิสัตว์ทดลองทำทุกอย่างมาหมดแล้ว โดยยังไม่เสียชีวิต พระโพธิสัตว์จึงกล้าสรุปอย่างเชื่อมั่นและเด็ดขาดว่า
"สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในอดีต ในอนาคต หรือในปัจจุบันนี้ ที่บำเพ็ญตบะเสวยทุกขเวทนาอย่างสูงสุด ก็ทำได้เพียงแค่นี้อย่างที่ตัวเราได้ลองทำมาแล้ว ไม่มียิ่งไปกว่านี้อีกแล้ว แต่ตัวเราก็ยังมิได้บรรลุการรู้แจ้งด้วยทุกรกิริยาอันสาหัสนี้ เพราะฉะนั้น หนทางแห่งการตรัสรู้ จะต้องเป็น ทางอื่น อย่างแน่นอน"
เมื่อพระโพธิสัตว์ได้พบข้อผิดพลาดแล้วก็ไม่ท้อแท้หวั่นไหว ทรงดำริว่า "เรายังจำได้ว่า เมื่อเรายังเด็กและอยู่ในงานพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญที่พระบิดาทรงเสด็จเป็นประธาน เรานั่งอยู่ใต้ต้นหว้าอันร่มเย็นสงัดจากกามทั้งหลาย สงัดจากอกุศลกรรมทั้งหลาย เราบรรลุ ปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติอันเกิดแต่วิเวกอยู่ ชะรอยทางนั้นพึงเป็น ทางแห่งการตรัสรู้ กระมัง เรากลัวความสุขที่เว้นจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายหรือ? ก็เปล่า เราไม่กลัวความสุขเช่นนั้น"
พระโพธิสัตว์ผู้เป็น ยอดคน ที่ได้เดินมาบนเส้นทางแห่งการทรมานร่างกายจนสุดสายที่เขาดงคสิริแล้ว จึงพบว่าเป็นทางตันไม่สามารถนำไปสู่การตรัสรู้ได้ พระโพธิสัตว์จึงตัดสินใจย้อนกลับมาตั้งต้นใหม่บนเส้นทางที่เคยเดินมาแต่เยาว์วัย นั่นคือ การกลับมาหาลมหายใจอย่างมีสติ โดยพระโพธิสัตว์หวังใจว่า นี่น่าจะเป็น เส้นทางสุดท้าย ของพระองค์...
อินทปัญโญเดินลงจากเขาดงคสิริปัจจุบันที่เหลือต้นไม้ไม่กี่ต้น แม้แต่ภูเขาก็แทบจะเป็นภูเขาโล้นที่มีแต่ก้อนหิน เขาเดินข้ามแม่น้ำเนรัญชราที่ปัจจุบันเหลือแต่พื้นทรายเป็นส่วนใหญ่ มุ่งหน้าไปสู่ ต้นศรีมหาโพธิ์ ที่พระโพธิสัตว์ทรงตรัสรู้และกลายเป็นพระพุทธเจ้า