พุทธบูรณา รำลึก 100 ปีชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 33)
33. อิทัปปัจจยตา
"ถ้าทำจิตให้บริสุทธิ์ได้ตามวิธีของพุทธศาสนาเรา ต้องทำจิตให้แจ่มแจ้งใน อิทัปปัจจยตา มันจึงจะบริสุทธิ์จากกิเลสได้"
พุทธทาสภิกขุ
2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 (ค.ศ. 1995) ณ มหาปรินิพพานกาญจนสถูป เมืองกุสินารา
หลังจากออกจากพุทธคยาอันเป็นสถานที่ตรัสรู้ อินทปัญโญได้เดินทางไปธัมเมกขสถูปที่สารนาถ อันเป็นสถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในแขวงเมืองพาราณสี จากนั้น อินทปัญโญแวะกลับไปเยี่ยมชม เวฬุวันมหาวิหาร ซึ่งเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา และตั้งอยู่ในเมืองราชคฤห์ พระพุทธเจ้าเสด็จมาประดิษฐานพระพุทธศาสนาที่เมืองนี้ ซึ่งถือว่าเป็นที่ที่เหมาะสมที่สุดแล้ว ถ้าพิจารณาจากแง่การเมืองในสมัยนั้น เพราะพระเจ้าพิมพิสารผู้ปกครองเมืองราชคฤห์ก็หันมานับถือพระพุทธศาสนา เป็นองค์ศาสนูปถัมภก นอกจากนี้ พระพุทธองค์ทรงได้อัครสาวกซ้ายขวา คือพระสารีบุตร และพระมหาโมคคัลลานะก็ที่นี่เช่นกัน
หลังจากตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าได้บำเพ็ญพุทธกิจเสด็จจาริกแสดงธรรมอีกเป็นเวลา 45 พรรษา ในระหว่างนั้น พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษาหลายแห่ง แต่ที่ที่พระพุทธเจ้าทรงจำพรรษามากมีอยู่ 2 แห่งเท่านั้น คือเมืองราชคฤห์ ในพรรษาที่ 2-3-4, 17 และ 20 กับ เมืองสาวัตถี ณ วัดเชตวัน ของ อนาถบิณฑิกเศรษฐี และ วัดบุพพาราม ของ นางวิสาขา อันเป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าจำพรรษามากที่สุดถึง 25 พรรษา แบ่งเป็นที่วัดเชตวัน 19 พรรษา และวัดบุพพารามอีก 6 พรรษา โดยเฉพาะตั้งแต่พรรษาที่ 21 ถึงพรรษาที่ 44 พระพุทธเจ้าทรงจำพรรษาตลอดที่เมืองสาวัตถี
พรรษาที่ 45 หรือพรรษาสุดท้าย ทรงไปจำพรรษาที่ เวฬุวคาม ใกล้เมืองเวสาลี ก่อนจะทรงปลงพระชนมายุสังขาร แล้วเสด็จไปดับขันธ์ปรินิพพานที่ใต้ร่มต้นสาละคู่ ณ เมืองกุสินารา ซึ่งบัดนี้อินทปัญโญได้มานั่งเจริญจิตตภาวนา ณ มหาปรินิพพานกาญจนสถูป แห่งนี้แล้ว
พระพุทธเจ้าทรงสอนอะไร? อะไรคือหัวใจคำสอนของพระพุทธองค์? อินทปัญโญตั้งคำถามกับตัวเองก่อนที่ตัวเขาจะตอบในใจกลับมาโดยไม่ลังเลใจเลยว่า คำสอนเรื่องอิทัปปัจจยตา (หรือ ตถตา) คือ หัวใจ ของพุทธศาสนาที่สุด และสำคัญที่สุดในการจะเข้าถึงตัวพุทธศาสนาโดยแท้จริง!
อิทัปปัจจยตา คือ คำย่อของเรื่องปฏิจจสมุปบาท โดยมีใจความแต่เพียงว่า "เมื่อมีสิ่งนี้ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆ ย่อมเกิดขึ้น"
อิทัปปัจจยตา มีความหมายกว้างทั่วไป เป็นภูมิปัญญาจากการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าที่ใช้ในการพิจารณา และรู้ทันธรรมชาติทั้งหมดทั้งสิ้นอย่างแจ่มแจ้ง ซึ่งครอบคลุมทุกๆ เรื่องที่เกี่ยวกับโลกและชีวิตในแง่มุมต่างๆ
ขณะที่ ปฏิจจสมุปบาท จะแยกใช้อย่างจำกัดเฉพาะเรื่อง การเกิดทุกข์และการดับทุกข์โดยตรงในพุทธศาสนาเท่านั้น โดยที่ใจความสำคัญเป็นอย่างเดียวกัน คือ มุ่งแสดงถึง กระแสแห่งปัจจัย และสิ่งที่เกิดขึ้นตามปัจจัย เป็นสายสืบเนื่องยืดยาวไปเท่านั้น เพราะนี่คือสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบ และตรัสรู้จนได้เป็นพระพุทธเจ้า
ความสำคัญของ อิทัปปัจจยตา นั้นอยู่ที่ เป็นคำสอนของพระพุทธองค์ที่มุ่งหมายให้เหล่าลูกศิษย์ทั้งหลายของพระองค์ ขจัดความเห็นผิด ความสำคัญผิด ว่ามีตัวตนมีสัตว์ มีบุคคล ตามที่ปุถุชนคนทั่วไปมักรู้สึกกันเช่นนั้นเองตามสัญชาตญาณและความไม่รู้ของตน
ยิ่งไปกว่านั้น อิทัปปัจจยตา (หรือ ตถตา) ยังเป็นคำสอนที่ทำให้ผู้นั้นเกิดปัญญาญาณสามารถมองเห็นตามความเป็นจริงได้ว่า แท้จริงแล้วไม่มีดี ไม่มีชั่ว ไม่มีบุญ ไม่มีบาป ไม่มีการได้ ไม่มีการเสีย ไม่มีความเป็นคู่ตรงข้ามใดๆ เพราะนั่นเป็นสิ่งที่มนุษย์บัญญัติขึ้นมาเองตามความรู้สึกของมนุษย์ด้วยความไม่รู้ ทั้งๆ ที่โดยความจริงแล้ว ความเป็นคู่ทุกๆ คู่ ล้วนแล้วแต่เป็นเพียง "กระแสแห่งอิทัปปัจจยตา" อย่างเสมอกันหมดทั้งสิ้น
ถ้าหากเข้าใจเรื่องอิทัปปัจจยตาแล้ว แม้แต่ปัญหาคนตายแล้วเกิดหรือไม่เกิดก็จะหมดไปทันที เพราะผู้นั้นย่อมได้คำตอบด้วยปัญญาอย่างพุทธะว่า...ไม่มีคน ไม่มีการตาย ไม่มีการเกิด มันเป็นเพียง กระแสแห่งอิทัปปัจจยตา ที่คนเราไปสมมติหรือบัญญัติเอาว่า ระยะนั้นเรียกว่า เกิด ระยะนั้นเรียกว่า ตาย แล้วก็เกิดความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นจนรู้สึกรัก โกรธ เกลียด กลัว เศร้า ฯลฯ ไปตามความเขลาของบุคคลผู้ยังไม่รู้เรื่องอิทัปปัจจยตานี้เท่านั้น
การที่พระพุทธเจ้าทรงออกผนวชก็เพราะทรงอยากทราบเรื่องอิทัปปัจจยตานี้!
ก่อนที่จะทรงตรัสรู้ พระองค์ก็ครุ่นคิดอย่างหนักในเรื่องนี้!
เมื่อพระองค์ตรัสรู้เสร็จใหม่ๆ ก็ทรงทบทวนแต่เรื่องนี้!
จากนั้นตลอดพระชนมายุของพระองค์ ก็ทรงสอนแต่เรื่องนี้เท่านั้น
เพียงแต่สอนในรูปแบบที่ต่างกันไป จนบางคนดูไม่ออก
แม้หลังจากตรัสรู้แล้ว ยามอยู่ตามลำพัง พระพุทธองค์ก็มักนำเอาอิทัปปัจจยตา นี้มา "ท่อง" อยู่เป็นประจำเหมือนกับการ "ฮัมเพลง" เล่นอยู่เป็นนิตย์
สุดท้ายเมื่อพระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานอยู่ในนาทีสุดท้าย ก็ยังตรัสบทสรุปออกมาว่า "สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา" ซึ่งโดยใจความก็คือเรื่อง อิทัปปัจจยตา นั่นเอง
พระพุทธองค์ถึงทรงตรัสว่า ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นพระองค์ โดยที่ปฏิจจสมุปบาทก็คือ อิทัปปัจจยตานั่นเอง การภาวนา "อิทัปปัจจยตา" จนเป็นคำที่ติดปาก พลั้งปากจึงเป็นการภาวนาถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์จริง ยิ่งกว่าจะพลั้งปากว่า "พุทโธๆๆ" เสียอีก
ยิ่งไปกว่านั้น อิทัปปัจจยตา ยังเป็นอีกชื่อหนึ่งของ มัชฌิมาปฏิปทา หรือ ทางสายกลาง ชนิดสูงสุด ยิ่งไปกว่าที่พระพุทธองค์ทรงแสดงด้วย กามสุขัลลิกานุโยค และ อัตตกิลมถานุโยค คือไม่เอียงไปทางความมีและความไม่มี คนที่ยังยึดถือในความมี หรือความไม่มีนั้น ชื่อว่ายังแล่นไปสุดโต่งข้างหนึ่งข้างใดอยู่ ทั้งๆ ที่การโต่งไปทางมี หรือไม่มีก็ตาม มันก็เป็นเพียงอิทัปปัจจยตาเท่ากัน
ดังนั้น ผู้ที่เข้าถึงอิทัปปัจจยตาแล้วจะไม่รู้สึกในความแตกต่างของความมี และความไม่มีแต่ประการใดเลย ในทำนองเดียวกัน ผู้ที่เข้าถึงอิทัปปัจจยตาแล้ว ย่อมทำให้ไม่แล่นไปสุดโต่งในเรื่องการได้-การเสีย หรือการแพ้-การชนะ กระทั่งสวย-ไม่สวย ฯลฯ กล่าวคือ ทุกๆ คู่ของสิ่งที่ปุถุชนยึดถือโดยความเป็นของตรงกันข้ามทั้งหมด ผู้ที่เข้าถึงอิทัปปัจจยตาแล้วย่อมเป็นอิสระ และข้ามพ้นความเป็นคู่เหล่านั้นได้
นอกจากนี้ การเข้าถึงกระแสแห่งอิทัปปัจจยตาได้ จะทำให้ผู้นั้นไม่เกิดความรู้สึกว่ามีตัวเองหรือผู้อื่น ไม่เกิดความรู้สึกเป็นตัวตนหรือของตน
ปัญหาจึงมีอยู่เพียงว่า การเข้าถึงกระแสแห่งอิทัปปัจจยตาจะเป็นไปได้ ก็ต่อเมื่อมีการปฏิบัติธรรมจนถึงที่สุดก่อนแล้วเท่านั้น การเข้าใจอิทัปปัจจยตาที่เป็นคำสอน เป็นตัวหนังสือในเชิงความคิด หรือในเชิงปรัชญา แม้จะมีความสำคัญก็จริง แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ "เข้าถึง" ได้
การปฏิบัติ ในปฏิจจสมุปบาทหรือในหลักแห่งอิทัปปัจจยตา คือ การเจริญสติตามแนวสติปัฏฐาน 4 ของพระพุทธองค์อยู่ทุกขณะจิต ไม่เผลอให้อวิชชาเข้าครอบงำ ในขณะที่ตาเห็นรูป ในขณะที่หูได้ยินเสียง เป็นต้น จนไม่เกิดการยึดมั่นถือมั่นในเวทนาใดๆ จนเกิดทุกข์
เพราะ ผัสสะ เป็นต้นตอให้เกิดอวิชชา ถ้าผู้ใดมี สติ ในขณะมีผัสสะได้ก็ย่อมไม่เกิดอวิชชา และจะกลายเป็นการดับกิเลสในกระบวนการปฏิจจสมุปบาทย้อนกลับเพื่อการดับทุกข์ได้
จึงเห็นได้ว่า การรู้เรื่องอิทัปปัจจยตาหรือปฏิจจสมุปบาทเป็นจุดตั้งต้นของตัวพรหมจรรย์ที่แท้จริง!
พรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึง การปฏิบัติที่ถูกต้องตรงต่อนิพพาน หรือกล่าวในอีกนัยหนึ่งได้ว่า จุดตั้งต้นของการลุถึงนิพพานนั้น อยู่ที่การเข้าถึง อิทัปปัจจยตา นั่นเอง
เพราะเมื่อเริ่มมีความเข้าใจใน อิทัปปัจจยตา จึงจะเกิด ศรัทธาที่แท้จริง ในคำสอนของพระพุทธองค์ขึ้นมาได้ โดยไม่หลงงมงายไปกับการเกิดขึ้น และดับไปของความทุกข์ตามกฎแห่งอิทัปปัจจยตา แต่จะสามารถแจ่มแจ้งในกระแสแห่งความจริงของอิทัปปัจจยตาที่เกี่ยวกับการเกิดทุกข์-ดับทุกข์ เห็นแจ้งอยู่ในใจของตนในแต่ละขณะจิต ถึงกระแสห่งอิทัปปัจจยตาอย่างรู้สึกอยู่ในใจเช่นนั้นจริงๆ จนสามารถถอนความยึดมั่นในสิ่งทั้งปวงเสียได้ กระทั่งถึงระดับที่ไม่มีคนคนนั้น ไม่มีคนอื่น จากคนนั้น ไม่มีผู้กระทำกรรม และไม่มีผู้รับผลแห่งกรรมได้แล้ว ผู้นั้นก็จะถึงสิ้นซึ่งความสิ้นไปแห่งกรรม ทั้งกรรมเก่าและกรรมใหม่ไม่กลับมาสู่การเกิดใหม่ด้วยอำนาจตัณหาอุปาทานอีกต่อไป
อิทัปปัจจยตา คือตัวจริงของทุกสิ่ง คือหัวใจของทุกสิ่ง มันคือ ตถตา หรือ ความเป็นอย่างนั้น ความไม่ผิดไปจากความเป็นอย่างนั้น มันคือ กฎของธรรมชาติ มันคือ พระเป็นเจ้า (God) มันคือ พรหมัน มันคือ เต๋า มันคือ จักรวาฬ (Kosmos) มันคือ สุญญตา มันคือ ธรรมธาตุ มันคือ ธรรมจิต (Spirit)
มันเป็นทุกๆ อย่างที่มันเป็นอยู่ มีอยู่ในเอกภพนี้ อะไรๆ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นอิทัปปัจจยตาทั้งสิ้น
การมองโลกและชีวิตเป็นกระแสแห่งอิทัปปัจจยตาที่ข้ามพ้นความเป็นคู่หรืออทวิภาวะ (mondual) คือการมองโลกและชีวิตในระดับจิตของพุทธะหรือพระพุทธเจ้า อิทัปปัจจยตา คือสิ่งที่อยู่เต็ม และยึดครองจิตใจของพุทธะอยู่ตลอดเวลา
การที่คนเราลุกขึ้นออกมา แสวงธรรม ก็เพราะ กฎเกณฑ์ของอิทัปปัจจยตามันบังคับ มันเป็นความแก่รอบสุกงอมของสติปัญญาของผู้นั้นที่ต้องการจะยกระดับจิตให้สูงส่งยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ
การค้นพบ พุทธธรรม ของคนผู้นั้น จนกระทั่งได้เข้าใจเรื่องอิทัปปัจจยตา ก็ด้วยอำนาจการบังคับของอิทัปปัจจยตาอยู่ดี
แม้แต่การรู้แจ้งจนมีดวงตาเห็นธรรมของคนผู้นั้น มันก็ยังเป็นเรื่องของการพิจารณาอิทัปปัจจยตาอยู่นั่นเอง พิจารณาทบทวนจดจ่ออยู่แต่เรื่องอิทัปปัจจยตาจนจิตของผู้นั้นถูกย้อมย้ำเอิบอาบไปด้วยอิทัปปัจจยตาอยู่ตลอดเวลา
คนที่ตรัสรู้หรือรู้แจ้งแล้ว ก็คือผู้ที่ตรัสรู้หรือรู้แจ้งในอิทัปปัจจยตาหรือตถตานั่นเอง สำหรับบุคคลผู้นั้น โลกทั้งใบ เอกภพทั้งเอกภพ ไม่ว่าเขาจะเหลียวไปทางไหน เขาจะเห็นเหมือนกันหมด เสมอกันหมด เขาจึงไม่เกิดความรัก ความชัง ไม่เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลงในสิ่งใดได้อีกต่อไป เขากลายเป็นคนที่อยู่เหนือความทุกข์ ไม่มีความทุกข์ทางใจอีกต่อไป เพราะเห็นอิทัปปัจจยตาในทุกสิ่งได้อย่างถ่องแท้แล้ว
คำสอนในพระไตรปิฎกทั้ง 84,000 หัวข้อ ทั้งหมดไม่มีเรื่องอะไรนอกจากเรื่อง อิทัปปัจจยตา เท่านั้น
ถ้าพุทธศาสนาจะมี "พระเจ้า" กับเขาบ้าง "พระเจ้า" นั้นก็คือ อิทัปปัจจยตา ถ้าพระเจ้าคือทุกสิ่ง ทุกสิ่งนั้นก็คือ อิทัปปัจจยตา สิ่งที่พระเจ้าสร้างขึ้นมาทั้งหมดทุกสิ่งก็คือ อิทัปปัจจยตา ปรากฏการณ์ รวมทั้งกิริยาอาการของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงก็คือ อิทัปปัจจยตา ความรู้ในเรื่องเหล่านี้ ก็เป็น อิทัปปัจจยตา การปฏิบัติธรรมทั้งหลายก็เป็น อิทัปปัจจยตา ผลของการปฏิบัติธรรมนั้น ก็เป็น อิทัปปัจจยตา เช่นกัน นี่คือ คำสอนสูงสุดของพระพุทธเจ้า